×

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ กับการเรียนสื่อสารมวลชนที่อังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสิ่งพิมพ์และออนไลน์

29.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time  index

02.24 เหตุที่จะเป็นนักเรียนนอก

13.10 เริ่มไปเรียนที่ลอนดอน

16.45 การเรียนใน City University

23.50 สิ่งที่ได้จากการเรียนมหาวิทยาลัย

24.48 บรรยากาศของวงการสื่ออังกฤษ

27.02 ได้ไปฝึกงานที่ The Independent และ BBC

32.32 กับทัศนคติที่คนคิดว่าสำนักข่าวต่างประเทศซื้อได้

35.54 มุมมองของเพื่อนนักข่าวต่างชาติต่อคนไทย

39.03 ประสบการณ์ทำข่าวที่ชอบ

44.59 มีคนบอกว่าทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียแล้วทุกคนก็เป็นนักข่าวได้

เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ เป็นหน้าที่หลายคนอาจจะคุ้นตากันดีในวงการสื่อโทรทัศน์บ้านเรา เอมเคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการทำข่าวโดยตรงที่ประเทศอังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย City, University of London ที่นั่นเอมได้ลงพื้นที่ทำข่าวจริงในสังคมยุโรป ได้ฝึกงานกับสำนักข่าวระดับบิ๊กทั้ง The Independent และ BBC ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์


ไปฟังประสบการณ์ที่เอมได้รับจากการฝึกงานที่นั่น ในยุคนี้ที่เขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เฟื่องฟูที่สุดของวงการสื่อมวลชน

 

 

ตัดสินใจจะเป็นนักเรียนนอก

ช่วงนั้นทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาสักระยะแล้ว เอมก็รู้สึกว่าชีวิตเริ่มดรอปๆ รู้สึกไม่ได้ทำข่าวอย่างที่ชอบทำ ถนัดทำข่าวการเมือง ข่าวสิทธิมนุษยชน ข่าวภาคสนาม ข่าวสถานการณ์ น้ำท่วม เอมเริ่มทำงานตอน 23 และตัดสินใจไปเรียนต่อตอน 31 มันก็ทำงานมา 7-8 ปีแล้ว รู้สึกว่าไปช้าไปด้วยซ้ำ รู้สึกไม่มีอะไรใหม่ๆ ทำ ไม่มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอแล้ว มันเหมือนหมดของ


คนเราถ้ามีของมากขึ้นแล้วเจอสถานการณ์เดิมๆ มันก็จะรีแอ็กได้สนุกขึ้น มีอะไรใหม่ๆ มากขึ้น ถ้าเจอข่าวเดียวกัน ก่อนเรียนกับหลังเรียนเอมก็มองข่าวต่างกันแล้ว


ก็เลยสอบชิงทุน Chevening ไปเรียนคณะ International Journalism (สื่อสารมวลชนนานาชาติ) ไปเรียนทำข่าวที่มหาวิทยาลัย City, University of London เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านสื่อ ดังมาก หรือที่อื่นๆ ถ้าใครสนใจเรียนที่เน้นด้านปฏิบัตินอกจากที่ซิตี้ก็จะเป็น Goldsmiths, University of London ถ้าเป็นสาย Policy ก็จะมี University ot Westminster หรือว่า University of Sheffield แล้วแต่จะเลือก

 

การขอทุน Chevening

ยุคนี้ปีหนึ่งจะขอทุนได้ประมาณ 30 คน ก็เป็นจำนวนที่ได้ลุ้นอยู่ ต้องส่งพอร์ตโฟลิโอด้านการทำงาน คีย์เวิร์ดของเขาคือ Leadership และ Networking เป็นสองสิ่งสำคัญ เกรดเฉลี่ยก็ไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่สุด เอมเองก็เป็นคนเรียนไม่เก่ง เกรดไม่ได้ดีมาก ก็มีทุนนี้แหละที่เป็นทุนระดับท็อปแล้วได้ลุ้น


เกณฑ์ของทุนคือต้องมีคะแนน IELTS 6.5 ต้องมี unconditional offer จากมหาวิทยาลัยใดก็ได้ในอังกฤษ ซึ่งยื่นขอทุนและยื่นสมัครเข้าเรียนพร้อมๆ กันได้ แต่วันที่เดินทางไปเราต้องมีที่เรียนเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้สอบ IELTS ก่อน เพราะใช้สมัครได้ทั้งทุนและมหาวิทยาลัย อีกอย่างที่ต้องใช้คือ Statement of Purpose เป็นเอกสารที่แสดงตนว่าทำไมเราถึงควรได้ทุนไปเรียน


Chevening เป็นทุนของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการให้ทุนกับคนที่ทำงานภาคสังคมอยู่แล้ว คือถ้าใครทำงานกิจการส่วนตัวหรือกิจการที่บ้านมาตลอดก็ยากหน่อย เอมก็ขายตัวเองไปว่าทำงานด้านสื่อ และจะไปเรียนด้านสื่อ กลับมาก็มาทำงานด้านสื่อ เอมก็เดาว่าทางทุนคงเห็นภาพชัดว่าถ้าให้ทุนไปแล้วจะไปทำอะไรต่อ

 

เริ่มไปเรียนที่ลอนดอน

ที่นั่นเป็นเมืองที่แพงที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง ยกตัวอย่าง เรื่องการกิน ถ้าเราหิวแล้วอยู่นอกบ้านก็ต้องซื้อแซนด์วิชกินราคา 5 ปอนด์ เท่ากับราว 250 บาท นี่คือถูกสุดแล้ว เป็นโมเมนต์ที่กินกันตาย เป็นเมืองที่ต้องมีสัก 2,000 บาทต่อวัน รวมค่าที่พัก 1,000 บาท ซึ่งน่าจะได้ที่พักแบบรูหนู ต้องไปแชร์แฟลตรวมกับคนอื่น


เอมไปเรียนอยู่ 1 ปี และฝึกงานอีกครึ่งปี รวมแล้วปีครึ่ง


สิ่งที่ได้มาสูงสุดจากการไปเรียนยิ่งกว่าวิชาชีพคือการทำกับข้าว


การเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนหนักมาก แต่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่า มันเลยพอมีเวลาให้บริหารได้ ทำกับข้าวได้ ทำงานพาร์ตไทม์ส่งให้ที่เมืองไทยบ้าง

 

การเรียนที่ City University

ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ที่แบ่งออกเป็นหลายส่วน มหาวิทยาลัยนี้จะอยู่ในส่วน Borough of City เป็นเหมือนเทศบาล เป็นเขตหัวใจของลอนดอน เทียบกับเมืองไทยก็เป็นแถวสนามหลวง เป็นกรุงเก่า City University ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ประจำอยู่ตรงนั้น แถวสถานีรถใต้ดิน Angel สถานี Barbican เดินทางสะดวก อยู่แถบกลางค่อนไปทางเหนือ บรรยากาศไม่ค่อยขลัง เพราะอยู่กลางเมืองเลย เดินเข้าไปก็จะเหมือนออฟฟิศ


วิชาเรียนก็มีเรื่องกฎหมายสื่อ เรื่องการทำสื่อ เรื่องการทำสื่อสมัยใหม่ ดิจิทัลมีเดีย แต่ที่หนักคือการปฏิบัติ เข้าไปเทอมแรกอาจารย์ให้ทำข่าวสัปดาห์ละชิ้น ข่าวแรกที่ทำคือมหาวิทยาลัยซ่อมแล้วเสียงดัง คือก็บ่นกัน ก็ทำจากทำข่าวใกล้ๆ ตัวก่อน ซึ่งเพื่อนแต่ละคนที่มาจากหลากหลายประเทศก็จะสนใจต่างกันไป อย่างมีวันหนึ่งที่อาจารย์ให้ออกไปใช้ชีวิตในเมืองแล้วหาข่าวมาทำ เอมเป็นสายการเมืองก็ดิ่งไปที่เวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นรัฐสภา ก็ไปเจอผู้ชุมนุมมาประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ถ่ายภาพมาเขียนข่าว ส่วนเพื่อนชาวอิตาลีซึ่งเป็นประเทศรุ่มรวยด้านวัฒนธรรมกว่าก็ไปอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นย่านศิลปะ เพราะช่วงนั้นมี London Fashion Week ก็ไปทำข่าวที่เซ็กซ์ช็อปว่าชอบลอนดอนแฟชั่นวีกไหม ปรากฏเจ้าของร้านบอกไม่ชอบ เพราะพอมีกิจกรรมใหญ่ นักข่าวก็มาเยอะ คนเยอะ ลูกค้าก็หาย คนไม่เข้าเซ็กซ์ช็อปอะไรอย่างนี้

 

สิ่งที่ได้จากการเรียนมหาวิทยาลัย

ได้วิธีการทำงาน การลงมือทำจริงๆ หลายอย่างเคยเห็นมาจากอินเทอร์เน็ตก็สงสัยว่าเขาทำกันยังไง อาจารย์ก็บอกให้ลองทำเลย ไม่เคยใช้โฟโต้ช็อปก็ต้องลองใช้ ตัดต่อไม่เก่งก็ต้องลองทำ ก่อนหน้าไปเรียนเอมเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นสาย announcer ทำเป็นแต่การพูด สกิลอื่นๆ ไม่ค่อยเป็นเท่าไร ตอนเรียนก็ได้ลองทำเลย แม้ตอนนี้ไม่ได้ตัดต่อเก่งหรือทำโฟโต้ช็อปเก่งเท่าสายกราฟิก แต่ก็ทำได้แล้ว

 

บรรยากาศของวงการสื่ออังกฤษ

สื่อส่วนมากของอังกฤษจะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ถ้าติดตามก็จะรู้ว่าที่นี่เป็นลิเบอรัล ที่นี่คอนเซอร์เวทีฟ ที่นี่เลเบอร์ ฯลฯ ถ้าสมมติเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา สื่อที่เลเบอร์ก็จะเรียกร้องเรื่องสิทธิ์คนจนว่าทำไมชีวิตแย่ ถ้าเป็นสื่อเอียงขวาหน่อยก็จะไปหากล้องวงจรปิดว่าคนวางเพลิงเป็นคนดำหรือเปล่า สร้างบรรยากาศให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องเชื้อชาติ


เรื่องการเลือกข้างมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนอังกฤษอยู่แล้ว เพราะนโยบายของนักการเมืองแต่ละพรรคจะส่งผลกับคนต่างชาติอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะอินกัน อย่างเอมเข้าไปทำข่าวก็ทำในมุมคนไทย อย่างเช่นช่วงนโยบายรถไฟใต้ดินวิ่ง 24 ชม. ​ก็ไปสัมภาษณ์นักศึกษาไทยที่ต้องอ่านหนังสือดึก ก็สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตคนไทยที่นั่นว่าเป็นยังไง

 

 

ได้ไปฝึกงานที่ The Independent และ BBC

ทางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้ฝึก แค่เชียร์ให้ไปฝึก แต่เอมก็อยากไปฝึกเอง ที่แรกคือที่ The Independent เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่ากลับมาเป็นโนบอดี้มากๆ อีกครั้ง เป็นเหมือนไอ้หัวดำผิวเหลืองคนหนึ่งที่เดินเข้ามาฝึกงาน รอคำสั่ง สิ่งที่ได้ทำ เช่น กองเขาทำข่าวช่วงสิ้นปี แนะนำ Travel list ก็เอาฐานข้อมูลปีที่แล้วมาดู แล้วเขาก็ให้เอมโทรเช็กแต่ละที่หน่อย อัพเดตข้อมูลหน่อย ก็รู้สึกว่างานเรามันช่างเป็นฟันเฟืองที่เล็กที่สุดในองค์กรดี ทำให้เราเข้าใจว่าคนทำงานจริงๆ มันเป็นยังไง


นอกนั้นก็คือได้เขียนข่าว แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะได้ลงในหนังสือพิมพ์ เสียดายเหมือนกัน แต่ก็รู้ตัวว่าตัวเองมาทางทีวี มาทางสื่อบรอดแคสต์มากกว่า


แล้วก็ได้เห็นการทำงานที่นั่น บางทีหนังสือพิมพ์ 40 หน้าทำกันอยู่ 8 คน บางคนเขียนไป 7 ข่าว ก็เป็นประเด็นเรื่องวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์ คนทำงานก็น้อยลง ต้อง downsize สุดท้ายก็ไม่รอด เขาก็ผันตัวไปเป็นออนไลน์อย่างเดียว


ต่อมาก็ไปฝึกงานที่ BBC เป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ โชคดีมากที่เอมได้เจอ พี่กิ๋ง-อิสสริยา พรายทองแย้ม ที่ให้โอกาสได้ไปทำงานด้วย ก็ต้องมีผลงานออกเลย เอมไม่ได้เป็นช่างภาพ ไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าว แต่ทำงานด้วยตัวเองเลย จะทำยังไงก็ได้ให้มีหน้าโผล่ หรือมีแค่เสียง หรือมีแค่ภาพก็ได้ แต่ต้องมีข่าวออกให้ได้


ตอนนั้นก็ได้ทำข่าวหลากหลาย เช่น งานลอยกระทงที่อังกฤษ หรือข่าวหนักๆ อย่างช่วงรับร่างรัฐธรรมนูญก็ไปสัมภาษณ์คนไทยที่นั่น หรือตอนวันที่ 13 ตุลาคมที่ชาวไทยพบกับข่าวร้ายเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราก็ live คนไทยที่ออกมาจุดเทียน หรือได้นั่งอ่านข่าวในสตูดิโอก็มี ก็ได้ทำหลายอย่างครับ


สิ่งที่ได้เพิ่มจากที่นี่คือการทำคลิปข่าวออนไลน์ การนำเสนอว่าควรตัดยังไงให้เหมาะกับออนไลน์มากกว่าทีวี ช่วงนั้นที่เอมไปเรียนเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากทีวีมาออนไลน์อย่างชัดเจน

 

กับทัศนคติที่คนคิดว่าสำนักข่าวต่างประเทศซื้อได้

มันไม่น่าจะซื้อได้หรอก มันไม่เมกเซนส์ แต่ต้องบอกว่ามันมีสองส่วนใหญ่ๆ คือต้องยอมรับว่าคนไทยมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ไม่ได้กว้างมาก มันก็เป็นบทสนทนาเดิมๆ หรือสิ่งที่เราเห็นจนคุ้นชิน เลยไม่ทราบมุมมองจากภายนอก ซึ่งเป็นมุมมองที่เราต้องยอมรับว่าคนคิดกันได้ ก็ต้องเลือกเสพสื่อดีๆ เพื่อปรับทัศนวิสัย มุมมองของเรา


อีกมุมคือบางสื่อที่เสนอข่าวในทางลบ ไม่ใช่ว่าเขาถูกซื้อ แต่เป็นเรื่องตลาดของคนที่เสพเขามากกว่า มันเหมือนเป็นดราม่า เป็นพล็อตเรื่องที่เขารู้และเสพมาตลอด คือคนแต่ละเชื้อชาติจะมีการสเตอริโอไทป์ที่ต่างกันไป คนไทยก็เป็น เราก็จะรู้สึกว่าคนจีนเสียงดัง คนญี่ปุ่นมีระเบียบ ฉะนั้นถ้าเอาข่าวที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นมีระเบียบมาขาย คนก็จะรับง่าย แต่ถ้าเป็นข่าวคนญี่ปุ่นไม่มีระเบียบ คนก็จะ ‘ใช่เหรอวะ?’


คือเราก็ต้องเลือกเสพสื่อ บางข่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีก็รับฟังไว้เพื่อพัฒนาประเทศ แต่บางข่าวมันเกินไปก็ไม่ต้องไปฟัง

 

มุมมองของนักข่าวต่างชาติต่อคนไทย

เขามองดีนะ ไม่ใช่แค่นักข่าว แต่เป็นคนส่วนมากที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน ไปถามเขาเรื่องเมืองไทยก็จะนึกถึงอาหารไทย ทะเล การท่องเที่ยว คนไทยจิตใจดี ซึ่งก็จะมีเรื่องที่เอมมองว่าไม่ใช่เรื่องแย่นะ อย่างเช่น เรื่องโสเภณี เรื่องเลดี้บอย เอมก็ไม่ได้มองว่ามันแย่ เป็นเรื่องปกติ ในเมื่อเมืองไทยมีเสน่ห์ตรงนี้ เราก็อาจมองเป็นจุดขายก็ได้ ก็เหมือนกัน เรามองอังกฤษก็สงสัยว่าทำไมมึงระเบิดทุกวันเลยวะ เขาก็รับได้ มันเป็นเรื่องจริง ก็เป็นปัญหาของเขาที่ต้องแก้ไข ต้องพัฒนา

 

ประสบการณ์ทำข่าวที่ชอบ

ได้ไปฟินแลนด์ ทำข่าวเรื่องการศึกษา ไปเดนมาร์ก ทำข่าวเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็ดี แต่ถ้าบอกว่าชอบที่ไหนสุดคือชอบที่ไปทำข่าวที่อัมสเตอร์ดัม ไปทำข่าวเรื่องการค้าบริการทางเพศแบบถูกกฎหมายที่นั่น เอมชอบข่าวชิ้นนี้ที่สุด มันเชื่อมโยงกับคนไทยได้ชัด อย่างเรื่องการศึกษาหรือรัฐสวัสดิการมันเป็นโครงสร้างใหญ่ กว่าจะปรับได้ก็ยาก แต่เรื่องการค้าบริการทางเพศแบบถูกกฎหมายมันใกล้กับไทยมาก ที่นั่นคือเขาทำให้ถูกกฎหมาย เม็ดเงินก็เข้ารัฐบาล แล้วก็เอาเงินมาดูแลผู้ค้าอีกด้วย แต่ที่เมืองไทยคือผิดกฎหมายนะ แต่คนก็ยังไปเที่ยวกันอยู่ เงินก็เข้ากระเป๋าตำรวจ ผู้มีอิทธิพล เราทำแล้วก็เห็นภาพว่าประเทศที่กล้ายอมรับความจริงแล้วทำให้มันเป็นระบบระเบียบ จัดการให้ถูกต้อง มันก็ที่มาที่ไป

 

“ที่ลอนดอนจะมีอีเวนต์ระดับโลกทุกวันแน่นอน ไม่ว่าจะของเอกชนหรือรัฐบาล อยู่แล้วจะรู้สึกว่าเราได้อะไรทุกวัน นั่นคือส่วนที่ชอบ”

 

 

มีคนบอกว่าทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียแล้วทุกคนก็เป็นนักข่าวได้

เรียกว่าทุกคนมีสื่อในมือดีกว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นนักข่าวได้ แต่ไม่ได้แปลว่านักข่าวศักดิ์สิทธิ์กว่าคนทั่วไปนะ การที่ทุกคนมีสื่อในมือข้อดีก็คือหูตาเราเยอะขึ้น ทุกคนมีกล้องถ่ายคลิปเหตุการณ์ที่ถ้าเมื่อก่อนเราคงไม่อาจเห็นได้เลย เรามีกระบอกเสียงของคนมากขึ้น ตอนเอมทำข่าวใหม่ๆ ก็จะมีแหล่งข่าวไม่กี่แหล่ง ถ้าเป็นข่าวเศรษฐกิจก็จะมีอยู่ 3-4 คน ซ้ำหน้าไปมา ทุกวันนี้เราก็จะเห็นตามโซเชียลบ้างว่าคนนี้พูดเรื่องนี้ดี ก็จะมีหน้าใหม่ๆ บ้าง

 

บางคนถึงขั้นบอกว่าสำนักข่าวก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

อืม… มันยังมีความจำเป็นอยู่นะ ถ้านักข่าวและสื่อยังทำงานได้ดี ยังทำหน้าที่ในการบันทึกเหตุการณ์เรื่องราวในสังคมได้ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นยังจำเป็น ในวงการนี้คือถ้าสำนักข่าวยังทำฟังก์ชันเหล่านี้ได้ดี มันก็ยังจำเป็นอยู่ เรายังต้องการการ verify ข่าวในโซเชียลมีเดีย


แต่ถ้าจะถามว่าแนะนำให้ไปเรียนวารสารศาสตร์หรือเปล่า ถ้าเอมมีลูก เอมก็คงคิดหนักเหมือนกัน เพราะเอมคิดว่ามันเป็นศาสตร์ที่อาจไม่ต้องเรียนถึง 4 ปี เรียนแค่ 1-2 ปีก็อาจจะพอแล้ว


หรือถ้าลูกอยากจะเรียนวารสารจริงๆ ก็ได้แหละ แต่ระหว่างเรียนก็ต้องฝึกถ่ายภาพให้เก่ง ตัดต่อให้ได้ ต้องมีสกิลเพิ่มเติม แต่เราไม่เห็นด้วยกับคำที่ว่าวงการสื่อมันซบเซา เพราะจริงๆ วงการสื่อเฟื่องฟูที่สุดแล้วในยุคนี้ ที่คนเปลี่ยนจากมีจอทีวีบ้านละ 1 จอ ตอนนี้มีจอส่วนตัวคนละจอ บางคนมีหลายจอ ดูบอลไปด้วย เสพคอนเสิร์ตไปด้วย ช่องทางมันเยอะขึ้นมาก ถ้าคุณทำงานในวงการสื่อแล้วมีความสามารถ คุณก็ไม่ตาย

 

“จะขอปิดท้ายว่าทักษะมันสำคัญกว่าใบปริญญา”

 


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising