×

ไปเรียนกราฟิกดีไซน์ที่ซานฟรานซิสโก จนได้รับเชิญเข้าทำงานที่ Apple

08.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02.38 ชีวิตกราฟิกดีไซเนอร์ไทยก่อนจะเป็นนักเรียนนอก

07.38 แรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อ

10.33 ปัจจัยที่ทำให้เลือกเรียนที่สหรัฐอเมริกา

14.22 การเรียนดีไซน์ที่ซานฟรานซิสโก

21.51 ปรัชญาเป็นสิ่งสำคัญของงานดีไซน์?

31.00 ชีวิตการทำงานที่สหรัฐอเมริกา

42.15 ได้รับเทียบเชิญไปทำงานที่ Apple

45.21 บรรยากาศการทำงานในฐานะ Apple Team

     แป๋ม-ปรารี กิตติดำเกิง เป็นดีไซเนอร์ชาวไทยที่ได้รับเทียบเชิญจากบริษัทนวัตกรรมระดับโลกอย่าง Apple ให้เข้าทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Apple Park ออฟฟิศแห่งใหม่ของบริษัท ที่คูเปอร์ติโน แคลิฟอร์เนีย

     ชวนฟังเส้นทางการเรียนของนักเรียนดีไซน์แบบปรารี กับการปรับตัวเข้ากับการเรียนดีไซน์แบบตะวันตก การทำงานในสหรัฐอเมริกา และบรรยากาศการทำงานในบริษัท Apple ที่ลึกลับอย่างกับอยู่ในซีไอเอ!

 


 

ชีวิตกราฟิกดีไซเนอร์ไทยก่อนจะเป็นนักเรียนนอก

     แป๋ม-ปรารี กิตติดำเกิง จบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศน์ศิลป์ เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เมื่อจบมากลับไม่ได้ทำงานสายโฆษณาอย่างที่เรียนมา จริงๆ แล้วอยากเรียนเอกภาพประกอบ แต่ไม่ใช่คนวาดรูปเก่ง เลยผันตัวมาทำงานด้านดีไซน์แบรนดิ้ง โปรดักต์ หรือ Corporate Identity มากกว่า

     หลังจากจบมหาวิทยาลัย แป๋มไปทำงานด้านโปรดักต์ดีไซน์อยู่สักพักก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่าไร ด้วยความที่ไม่ได้จบมาสายนี้ จึงไปทำแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ที่ S&P ได้ทำร้าน Vanilla ที่สยามพารากอน ทำกราฟิก ทำลายโต๊ะ ทำโลโก้

     หลังจากนั้นก็ไปทำงานดีไซน์แฟชั่นอยู่พักหนึ่ง เพราะชอบงานเท็กซ์ไทล์ เลยไปทำที่ Shaka (ในตอนนั้นคือ Shaka London) ก็ทำอยู่สักพักเช่นกัน

 

แรงจูงใจที่ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อ

     หลังจากผ่านมาหลายงาน แป๋มก็ได้โอกาสไปเป็นอาจารย์ช่วยสอนแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ที่ ม.กรุงเทพ อยู่ 1 เทอม

     แต่งานสอนไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย ด้วยความที่แป๋มดูเด็ก นักเรียนก็ไม่รู้ว่าเป็นอาจารย์ สอนก็ไม่เคยสอน บุคลิกก็ไม่ได้ดูเป็นครูมาก ทำให้นักเรียนไม่ฟัง ไม่สนใจ ไม่มีวินัยในห้อง จนแป๋มเกิดความรู้สึกว่าตัวเองอยากสอน แต่กลับไม่สามารถควบคุมคลาสได้ เป็นจุดที่ทำให้แป๋มอยากเก่งกว่านี้ อยากมีภูมิมากกว่านี้ ไปมีประสบการณ์ในสายงานมากกว่านี้ เลยทำให้อยากไปเรียนต่อ อย่างน้อยก็สามารถ inspire เด็กได้

     ปัญหาหลักคือการที่ทำงานดีไซน์ได้ไม่ได้แปลว่าจะวิจารณ์งานได้ จะแนะนำนักเรียนไปทางไหน ถ้าความรู้ของผู้สอนไม่มากพอ ไม่กว้างพอ ก็จะเอาความชอบในแนวทางของตัวเองไปให้นักเรียนแทนที่จะเป็นสิ่งที่เหมาะกับความสนใจของนักเรียนเอง

 

ปัจจัยที่ทำให้เลือกเรียนที่สหรัฐอเมริกา
     จริงๆ แล้วสนใจงานดีไซน์ยุโรปมากกว่า แต่คอร์สปริญญาโทที่ยุโรปมีแต่แบบ 1 ปี ไปถึงก็ทำธีสิสเลย ซึ่งแป๋มรู้สึกว่าเร็วไป จึงเบนเข็มมาหาคอร์สเรียน ป.โท 2 ปี ซึ่งมีที่สหรัฐอเมริกา พอปรึกษาจากเพื่อนที่เติบโตที่ต่างประเทศ ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปเรียนที่ SVA

     และด้วยความที่การเรียน ป.โท ที่ SVA ต้องการคะแนน TOEFL สูงมาก แป๋มจึงตัดสินใจออกจากงานไปทุ่มเทเรียนภาษาที่นิวยอร์ก เพื่อจะสมัครเรียนที่ SVA ให้ได้

     พอถึงช่วงที่สมัครเข้าเรียน ปรากฏว่าคะแนน TOEFL ของแป๋มไม่ถึงเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย (80 คะแนน) ขาดไปแค่ 2 คะแนนเท่านั้น จึงยังสมัครเรียนไม่ได้ เลยไปเดินดูบูธของ SVA ที่งาน Portfolio Day ที่จะให้คนที่อยากสมัครเรียนมาส่งพอร์ตให้มหาวิทยาลัยที่สนใจ

     ที่งาน แป๋มพบว่า SVA ไม่ได้เปิดบูธที่งาน แต่ด้วยความที่มาแล้วก็เลยเอาพอร์ตไปคุยกับหลายสถาบัน จนไปที่บูธของ CCA (California College of Arts) ทางหัวหน้าสาขาที่บูธก็สนใจพอร์ตของแป๋มมาก แต่ที่นี่ต้องการคะแนน TOEFL 100 คะแนน มากกว่าที่ SVA เสียอีก

     แป๋มก็พูดไปตามตรงว่าไม่น่าจะได้ 100 คะแนนแน่ๆ ทางอาจารย์ที่บูธก็แนะนำให้เขียนชื่อเขาเป็น Statement of Purpose ไปกับใบสมัครดู แป๋มก็เขียนไป ก็เลยได้อีเมลรับเชิญไปดูโรงเรียนที่ซานฟรานซิสโก

     แป๋มจึงเดินทางไปดูโรงเรียนที่ซานฟรานซิสโก

 

การเรียนดีไซน์ที่ซานฟรานซิสโก

     แป๋มไม่เคยไปซานฟรานซิสโกเลย โรงเรียนที่นั่นก็จะต่างจากที่นิวยอร์ก ที่จะเป็นสไตล์เหมือนกรุงเทพฯ คือแบ่งเป็นตึกๆ ตามสาขา แต่ที่ซานฟรานซิสโกโรงเรียนสภาพเหมือนโกดังร้าง ก็ตกใจ ดูเท่มาก อินดัสเทรียลสไตล์ มีทั้งเครื่องเลเซอร์คัต 3D Printer แป๋มจึงตัดสินใจไปเรียนที่ซานฟรานซิสโก สาขา MFA Design

     ที่นั่นแบ่งสาขาเป็น Graphic, Industrial, Interaction คลาส MFA รวมทุกสิ่งอยู่ในนั้น ซึ่งการเรียนรวมๆ กันทำให้แป๋มได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้เยอะมาก

     ซานฟรานฯ เป็นเมืองเทคโนโลยี ทำให้สาขา Interaction ค่อนข้างฮิต เป็นเรื่องโรบอต เรื่องแอปฯ แต่แป๋มเป็นสายคราฟต์ ทำมือ กราฟิกมือ เสียมากกว่า แต่สุดท้ายก็ได้ซึมซับความรู้เหล่านั้นมา

 

“การเรียนรวมกันมันทำให้เรา absorb ความรู้เหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมันดีมาก”

 

     มีวิชาหนึ่งที่แป๋มชอบมาก คือ Media Matters เป็นคลาส 2 วัน อาจารย์ 2 คน วันหนึ่งเป็นคลาสอ่าน อีกวันเป็นคลาสปฏิบัติ ซึ่งสิ่งที่ต้องเรียนคือปรัชญา ซึ่งต้องอ่านมาถกกันในคลาส พอเป็นคลาสปฏิบัติ อาจารย์อีกคนก็ให้นำแก่นที่เรียนจากวันก่อนมาทำเป็นงาน

     ซึ่งแป๋มไม่เข้าใจเลย เพราะอ่านช้า ด้วยความที่ไม่ได้เรียนเรื่องปรัชญาและ critical thinking มาสักเท่าไร ทำให้ไม่รู้จักแนวคิดแบบเพลโต แบบนักปรัชญาอื่นๆ เคยแต่ได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าแก่นคืออะไร

     ที่น่าน้อยใจคือเพื่อนต่างชาติคนอื่นๆ ในคลาสที่เป็นคนจีน คนเกาหลี มีตำราเวอร์ชันแปลเป็นภาษาเหล่านั้น แต่คนไทยอย่างแป๋มกลับไม่มีตำราแปลไทย ทำให้การเรียนของแป๋มไปช้ากว่าที่ควร แต่สิ่งนี้ก็ทำให้แป๋มพัฒนาภาษาอังกฤษได้เก่งขึ้นไปอีก

     อีกปัญหาที่พบในคลาสคือแป๋มไม่ค่อยพูดในคลาส เพราะพูดไม่ทัน คิดไม่ทัน แป๋มพูดได้ ฟังได้ แต่เขียนไม่เก่ง ทำให้มีปัญหาเวลาเขียนงานส่ง ตารางเรียนก็แปลก บางวิชาเรียน 2 ทุ่ม ด้วยความที่อาจารย์ที่มาสอนสะดวกเวลานั้น ทำให้เลิกเรียนดึกมาก ไปยืนรอรถเมล์กลับบ้านก็ร้องไห้ เรียนไม่รู้เรื่อง

 

ปรัชญาเป็นสิ่งสำคัญของงานดีไซน์?

     ก่อนหน้าไปเรียนก็ไม่คิดว่าสำคัญ แต่พอไปเรียนแล้วพบว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด การรู้ปรัชญาทำให้คิดงานได้ลึกขึ้น

 

“ทั้งปรัชญา การเมือง ศิลปะ ล้วนเกี่ยวข้องกันหมด มันทำให้เราคิดอะไรไกลขึ้น ก่อนนี้เราก็ดีไซน์เพราะอยากให้มันสวย แต่พอรู้เรื่องพวกนี้มันก็ทำให้เราได้วิธีคิด โปรเซสมันเปลี่ยนไป”

 

     อาจารย์เคยอีเมลมาว่า ทำไมแป๋มไม่เคยพูดในคลาสเลย ก็ตอบไปตามตรงว่าเรียนไม่เข้าใจ ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะอย่างเพื่อนในคลาสที่เป็นคนอินเดียก็มักจะตอบคำถามแล้วลิงก์ไปที่เรื่องการเมืองหรือหลักการอะไรของบ้านเขา

     อาจารย์เฮ้วมาก บอกแป๋มว่า ถ้าไม่รู้เรื่องก็พูดมาตามตรงได้เลยให้พูดใหม่ ให้ shut up นะ อาจารย์ก็เริ่มบังคับให้พูด ชี้ให้แป๋มพูด ให้พยายาม

 

“สิ่งที่ประทับใจมากคืออาจารย์บอกว่า ยูไม่ต้องเข้าใจเนื้อหาที่ไอพูดทั้งหมดหรอก แต่จับเอาสิ่งที่ชอบในนั้นมาพัฒนางานสิ”

 

     พอภายหลังแป๋มก็เหมือนปลดแอก ไม่กลัวโชว์โง่แล้ว เพราะกลัวไปก็ไม่ฉลาดขึ้น สุดท้ายก็จบมาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.8

 

เพื่อนๆ ร่วมคลาสโรงเรียนกราฟิกดีไซน์

     แป๋มไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เพื่อนที่นี่ แต่ปรากฏว่ามันมีการพัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นมาจากการที่แป๋มฟังอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องแล้วไปถามเพื่อนบ่อยๆ จนต่อมาเพื่อนคนนั้นถึงกับจดเลกเชอร์มาให้ ภายหลังก็ช่วยกันฟังช่วยกันจดคอมเมนต์ให้กันเวลาอาจารย์วิจารณ์งาน จนกลายมาเป็นเพื่อนกัน และกลายเป็นคอมมูนิตี้ของนักออกแบบในคลาสเรียนเล็กๆ

 

“มันจะมีคำติดปากเราว่า ‘เห้ย กู๊ดอะ’ เพื่อนฟังแล้วก็ชอบ ก็เอาไปใช้ กู๊ดอะๆ”

 

เริ่มชีวิตการทำงานที่สหรัฐอเมริกา

     พอเรียนจบแล้วแป๋มก็ไม่ได้กลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะเมื่อจบปริญญาที่อเมริกาก็ได้จะ OPT คือสามารถทำงานที่นั่นได้ 1 ปี

     พอเห็นว่า 1 ปี แป๋มก็ชิลล์ แต่ค้นพบภายหลังว่าแม้จะทำงานได้ 1 ปี แต่ต้องหางานให้ได้ภายใน 3 เดือน หลังจากเรียนจบ ไม่งั้นต้องออกนอกประเทศ เลยรีบทำพอร์ต รีบหางาน ซึ่งก็ยาก เพราะแทบไม่มีคอนเน็กชันที่นั่นเลย บวกกับการที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานในอเมริกา ซึ่งทำให้หลายบริษัทที่สนใจไม่รับเข้าทำงาน แม้จะมีประสบการณ์ทำงานในไทยมาแล้วก็ตาม

     จึงทำให้แป๋มตัดสินใจเริ่มฝึกงานที่สหรัฐอเมริกา จนเริ่มมีประสบการณ์ทำงานที่นี่

     ช่วงที่หางานแป๋มก็ได้มีโอกาสส่งประกวดงานดีไซน์ของ The Society of Typographic Arts ซึ่งแป๋มก็ได้ลองเอางานพอร์ตที่เคยทำไว้ส่งไป จนได้ตำแหน่งชนะเลิศในสาขา Experimental Design จากงานอักษรเบรลล์

 

ได้รับเทียบเชิญไปทำงานที่ Apple

     วันหนึ่งทางหน่วย Creative Recruiter ของ Apple Team ก็ส่งอีเมลมา

 

“เขาส่งอีเมลมาว่า เราคือ Apple Team เราสนใจงานของคุณ ว่างคุยไหม เราก็บอกไปว่าว่าง”

 

     แป๋มก็ถามว่าจะให้ไปทำงานส่วนไหน ทางทีมงานก็ไม่บอก พอบอกว่าถ้าไม่รู้เนื้องานแล้วจะตอบรับงานได้ไง ทางทีมงาน Apple ก็หัวเราะ บอกว่าทางเราเห็นงานคุณแล้ว เรารู้ว่าคุณทำอะไรได้ นั่นแปลว่าทาง Apple รับแป๋มเข้าทำงานแล้ว

     สรุปก็ได้ไปร่วมงานในส่วนการทำ Apple Park ซึ่งคือ Main Campus แห่งใหม่ของ Apple เป็นเหมือนอาณาจักรยิ่งใหญ่ แป๋มไปทำเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ส่วนที่แป๋มทำคือโปรดักต์ที่จะมีวางขายแค่ที่ Apple Park เท่านั้น ไม่มีขายที่อื่นเลย

 

บรรยากาศการทำงานในฐานะ Apple Team

     วันแรกที่ไปทำงานแป๋มตื่นเต้นมาก เพราะมันลึกลับมาก ต้องไปรอรถ Apple Bus ตามเวลานัดหมาย ซึ่งสิ่งที่ทีมงานบอกมาคือให้ไปยืนรอตรงริมถนนแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีป้ายบอกอะไรว่าจะมีรถมารับ ตอนขึ้นรถก็ต้องมีพาสเวิร์ดที่ต้องปรินต์ไปยื่นให้คนขับ ไม่งั้นไม่ได้ขึ้นรถ

     สิ่งที่ประทับใจคือตอนไปปฐมนิเทศ เขาบอกว่าที่ Apple มาถึงจุดนี้ได้เพราะพนักงานทุกคนเก็บความลับ ที่ออฟฟิศห้ามถ่ายรูปในโซนที่ทำงาน แล้วก็ไม่มีหน้าต่างเลย แต่ก็มีโซนรีแล็กซ์อยู่

     บรรยากาศการทำงาน คือ ก่อนจะได้งานแต่ละชิ้นมาทำ เจ้านายต้องเข้าไปคุยงานเพื่อนำมาแจกจ่าย จากนั้นก็ต้องรอ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ access สำหรับเข้าไปดูไฟล์งานที่ได้รับมอบหมายนั้น ซึ่งทำให้แป๋มรำคาญอยู่เหมือนกัน เพราะรอนานมาก

     วันแรกที่เข้าไปทำงานคือรู้สึกผิดมาก เพราะนั่งเฉยๆ อยู่ครึ่งวันจนต้องเดินไปถามเจ้านายว่ามีอะไรให้ทำไหม เจ้านายบอกว่ารอก่อน เพราะ request ไปแล้ว รอดำเนินการก่อน

 

“การทำงานที่นี่ทำให้เราภูมิใจนะ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ยิ่งใหญ่มาก มันเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ แม้เราจะไม่ได้ทำอะไรยิ่งใหญ่มากก็ตาม”

 

     แนวคิดที่ดีมากๆ ของที่นี่คือเรื่องแบรนดิ้งที่แข็งแรง และแป๋มชอบที่ Apple เป็นบริษัทที่เน้นดีไซเนอร์เป็นหลัก การตลาดเป็นรอง เขาเห็นความสำคัญของงานดีไซน์ เนี้ยบมาก เขาทำให้คนทำงานรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่

 

ทิ้งท้ายให้คนที่อยากไปเรียนต่อทางด้านดีไซน์

     เราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการอะไร เพราะอย่างโรงเรียนของแป๋มเน้นด้าน experimental design ดังนั้นก็จะไม่เน้นด้าน commercial การที่เรารู้ว่าเราต้องการอะไรจึงสำคัญมาก หรือถ้าไม่รู้แต่ชอบลองก็มาลองดู ตั้งใจทำให้ดี

 

“มันมีหลายคนที่เป็นเพื่อนที่เรียนเพราะต้องเรียนโท แล้วเรารู้สึกว่าเขาไม่มีแพสชันในการเรียน ซึ่งมันสำคัญมากกับงานดีไซน์ มันต้องมีอินสไปเรชันอะ”


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest ปรารี กิตติดำเกิง

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising