×

ถูกพ่อส่งไปเรียนที่พม่าจนได้เรื่องมาเขียนเป็นหนังสือ ‘โยดายาบอย’

15.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time  index

02.15 เหตุผลที่ทำให้ไปเรียนต่อที่พม่า

07.00 เริ่มชีวิตในย่างกุ้ง

12.25 บรรยากาศการเรียนภาษาที่พม่า

20.45 เพื่อนในพม่า

26.00 ชีวิตในพม่าขั้นแอดวานซ์

32.30 กลับมาเมืองไทย

35.40 แนะนำรุ่นน้องที่จะไปเรียนพม่า

วิชัย มาตกุล คือนักเขียนสำนวนยียวน และครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแซลมอนเฮาส์ โปรดักชันเฮาส์ที่ยียวนไม่ต่างจากตัววิชัยเอง ก่อนหน้านี้วิชัยออกพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มหนึ่งชื่อว่า โยดายาบอย  ที่เล่าเรื่องชีวิตตัวเองในสมัยที่ถูกพ่อส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่พม่าหลังจบ ม.6 (ใช่ ไปเรียนภาษาอังกฤษที่พม่า พ่อมีเหตุผลของพ่อ – วิชัยบอกอย่างนั้น) นั่นทำให้วิชัยต้องใช้เวลาวัยรุ่นเพียงครั้งเดียวในประเทศที่ไม่เคยคิดอยากไป แต่มันกลับเป็นวันเวลาที่หล่อหลอมเขาขึ้นมาเป็นคนใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เหตุผลที่ทำให้ไปเรียนต่อที่พม่า

ตอนนั้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ช่วงปี 1999 วิชัยไปเรียนภาษาที่พม่า เพราะพ่อส่งไป เหตุผลของพ่อคือเด็กที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลา 4 ปีในการเรียน พอจบมาก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำงานที่ชอบหรือเปล่า อาจต้องเปลี่ยนงานอีกสัก 2 ปี แปลว่าต้องเสียเวลาอย่างน้อย 5-6 ปีถึงจะได้งานที่อยากทำจริงๆ อยู่ตัวจริงๆ


แต่ถ้าไปพม่า เรียนแค่ 2 ปี แล้วก็กลับมาหางานทำอีกสัก 2 ปี ก็แปลว่าเราจะเร็วกว่าคนในรุ่นเดียวกันอยู่ 2 ปี ส่วนที่ต้องส่งไปพม่าเพราะไม่มีสตางค์ ส่งไปได้แค่นี้


ซึ่งจริงๆ วิชัยก็ไม่อยากไป ทะเลาะกัน ไม่คุยกันอยู่เป็นปีเลย แต่สรุปว่าก็ต้องไป


ยุคนั้นพม่าดูน่ากลัวมาก ไม่รู้อะไรในพม่าเลย ไม่รู้ว่าสภาพสังคมเป็นยังไง ได้แต่อนุมานจากคนพม่าที่แม่สอด วิชัยเป็นคนแม่สอด ก็รู้สึกว่าคนพม่าดูเถื่อนมาก ที่ย่างกุ้งจะเป็นยังไง


สรุปว่าก็ไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาจีนที่ย่างกุ้ง พ่อส่งไปอยู่กับญาติที่นั่น

 

“แม่บอกว่าเมื่อเราเดินทางออกนอกประเทศไปเรียน ภาษาไทยที่เรารู้สึกภูมิใจ มันจะไม่มีประโยชน์เลย ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ แค่เราบินไปย่างกุ้งก็ไม่มีใครพูดไทยแล้ว”

 

เริ่มชีวิตในย่างกุ้ง

การไปย่างกุ้งเป็นการเดินทางครั้งแรกในชีวิต พอไปถึงก็เหวอมากเลย จำความรู้สึกได้แม่นเลยว่าทำไมทุกคนใส่กระโปรงกันหมดเลย ดูวุ่นวายไปหมด คนเยอะเหมือนอินเดียตอนนี้ รถเยอะ บีบแตร โฆษณาบุหรี่เยอะมาก


ช่วงแรกก็ต้องไปอยู่ห้องเช่าของอาคนเดียว เพราะอาทำบ้านอยู่ ก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ก็เหวอมาก ซึมมาก เหงามาก ปกติเป็นคนติดเพื่อนมาก แต่พอมาอยู่ที่นี่ต้องอยู่คนเดียว โทรศัพท์ก็ไม่มี เขียนจดหมายก็ไม่ได้ งงไปหมด


ไปได้วันสองวันก็มีครูสอนพิเศษชาวพม่ามาเคาะห้อง มาสอนภาษาอังกฤษ ที่นั่นใช้วิธีการสอนตามบ้านกัน ต่างจากเมืองไทยที่มีสถานที่สอนพิเศษที่นักเรียนต้องไปรวมตัวกัน


ชีวิตช่วงนั้นคือต้องตื่นเช้ามาเรียนภาษาอังกฤษกับครูที่บ้าน แล้วก็เดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง แล้วตอนเย็นๆ ก็กลับไปที่บ้านอาเพื่อเรียนภาษาจีน มีคนมาสอนภาษาพม่าเหมือนกัน แต่ตอนนั้นวิชัยต่อต้านมาก งอแง รู้สึกว่ามันอ่านยากไป ก็เลยให้สอนแค่เลขหนึ่งถึงสิบ เอาไว้ขึ้นรถเมล์ก็พอแล้ว


ตอนหลังก็ไปเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์จะมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถติดต่อกับเพื่อนที่ไทยได้ทางเน็ต แต่ปรากฏว่าคอมที่โรงเรียนไม่มีเน็ต ก็เสียเงินฟรี แพงมาก

 

บรรยากาศการเรียนที่พม่า

เป็นการเรียนตัวต่อตัว สอนดีมาก ไม่ได้เน้นท่องจำแบบที่ไทย ที่พม่าสอนเป็นโครงสร้างประโยค โครงสร้างแกรมมาร์มากกว่ามาท่องจำเทนส์ว่ามีอะไรบ้าง ทำให้คนพม่าเก่งแกรมมาร์มาก สอบ TOEIC ได้ 750-800 กันเต็มไปหมด 900 นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง แต่แกรมมาร์เก่งมาก


วิธีการสอนภาษาอังกฤษที่นั่นสนุกมาก คลาสที่ชอบมากคือครูไม่สอนอะไรเลย แต่ให้เด็กออกไปหน้าห้อง ไปพูดอะไรก็ได้ครึ่งชั่วโมง แล้วต้องเอาตัวรอดให้ได้ พอพูดจบ ครูก็จะมาคอมเมนต์ว่าที่พูดเมื่อกี๊ ประโยคที่อธิบายยาวมากเนี่ย อธิบายได้ด้วยคำนี้คำเดียวนะ เด็กก็จะจำคำได้เลย จากนั้นก็จะให้เพื่อนถามภาษาอังกฤษต่อ สนุกมาก


ที่พม่ามีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเยอะมาก บางคลาสก็มีคนต่างชาติมาเรียนด้วย มีฝรั่ง มีญี่ปุ่น เกาหลีมาเรียนเหมือนกัน วิชัยก็เป็นนักเรียนฟรีแลนซ์ เดินเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ไปเรื่อยๆ


คนพม่าไว้ตัวมาก ในคลาสก็พูดกันดี แต่พอจบคลาสก็จะ “อะไรแก อย่ามาพูดกับชั้น” ซึ่งทุกคนใช้วิธีเดินเรียนกันหมดเลย เป็นนักเรียนฟรีแลนซ์ ที่นั่นมหาวิทยาลัยโดนปิดอยู่ ไม่มีปริญญาในพม่าเลย


ส่วนใหญ่คนที่มาเรียนภาษาด้วยกันจะเป็นคนมีฐานะหน่อย เพราะคลาสเรียนค่อนข้างแพง มีที่โรงเรียน WCA ที่คลาสถูกหน่อย หลัก 100 บาทไทย มีข้อสอบ TOEFL มาให้ลองทำในคลาส เสียอย่างเดียวเดินไกลหน่อย นั่งรถเมล์ไป ก็นั่งเลยป้ายประจำ เพราะอ่านภาษาพม่าไม่ค่อยออก

 

 

เพื่อนในพม่า

ตอนนั้นเรียนค่อนข้างไร้จุดหมาย ไม่มีสัญญาณอะไรจากพ่อแม่เลยว่าจะให้เรียนไปถึงเมื่อไร จนกระทั่งวิชัยรู้สึกว่าเรียนเลยอาจารย์ที่มาสอนที่บ้านไปแล้ว ก็เลยบอกเขาว่าไม่ต้องมาสอนแล้วนะ อารมณ์ว่าไล่อาจารย์ออก


แต่ที่ช่วยเรื่องภาษามากๆ คือเพื่อน เป็นเพื่อนต่างชาติและคนไทยที่ได้มาจากการไปเล่นบาส ก็รู้สึกว่าคุยกันรู้เรื่องนะ


อีกอย่างคือร้านหนังที่พม่าเยอะมาก เป็นหนังซาวด์แทร็กซับอังกฤษทั้งหมด เราก็ดูหนังจนวันหนึ่งรู้สึกตัวว่าไม่ต้องดูซับแล้ว ฟังได้เลย ดูได้เลย ซึ่งได้เยอะกว่าโรงเรียนอีก เพราะโรงเรียนไม่สอนคำหยาบ คำสแลง ก็เอาคำที่ได้จากหนังมาใช้กับเพื่อน เริ่มเห็นความสนุกของการเรียนภาษาอังกฤษ


พอมีเพื่อนก็เริ่มงอแงว่าไม่อยากเรียนแล้ว อยากทำงาน อาก็ให้ไปทำงานโรงงาน งาน QC เสื้อผ้าก็ยอม เพราะตอนนั้นคิดว่าทำอะไรก็ได้ให้ผู้ใหญ่ไม่มาอะไรกับเรา ตอนเย็นก็ไปเล่นบาส ช่วงหลังๆ ก็ไม่เบื่อการใช้ชีวิตในพม่าแล้ว


เพื่อนต่างชาติก็พาไปเจอเพื่อนต่างชาติเยอะขึ้นเรื่อยๆ เอ็นจอย สนุก

 

 

ชีวิตในพม่าขั้นแอดวานซ์

ก็เริ่มไปเที่ยวไกลขึ้นเรื่อยๆ มีเงินอยู่ 500 จ๊าด ก็นั่งรถเมล์ไปมั่วๆ หลงก็นั่งแท็กซี่กลับ เริ่มไปหาอะไรกินแปลกๆ ไปถนนที่ไม่เคยไป

 

“พอกลับมาประเทศไทย เรารู้สึกว่าเราโตกว่าคนในวัยเดียวกันนะ เรารู้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่แล้ว”

 

ยุคนั้นที่พม่าเริ่มมีวัฒนธรรมกางเกงยีนส์เข้าไปแล้ว เสื้อยืดลายเจ เจตริน อัลบั้ม 108-1009 ฮิตมาก ผู้หญิงก็เริ่มใส่กางเกงกัน เคยจีบผู้หญิงพม่า จีบยากมาก เพื่อนสนิทชาวพม่าก็มีแค่เฉพาะก๊วนที่เล่นบาสกัน เขาก็จะรู้ว่าคำบางคำที่วิชัยพูดผิด จริงๆ แล้วมันแปลว่าอะไร


อย่างในหนังสือ โยดายาบอย ก็มีเขียนไว้ว่าวิชัยพูดคำเรียกผู้หญิงผิดมาตลอด เพราะใช้คำว่า มะ ซึ่งแปลว่าเมีย ตอนที่มีคนมาบอกก็รู้สึก “เชี่ย ทำไมไม่มีใครเตือนกูเลยวะ!”


ตอนนั้นติดเพื่อนพม่ามาก ไปเที่ยวด้วยกัน แฮงเอาต์ด้วยกัน แต่ 30% ของเพื่อนพม่าติดยาหมดเลย แต่เขาก็ดีนะที่ไม่เคยชวนเล่นยาเลย


หลังจากอยู่ไป 2 ปี แม่ก็เรียกกลับบ้าน เป็นจุดที่วิชัยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกลับบ้านแล้วก็ได้ เดี๋ยวหางานที่พูดภาษาไทยทำ แล้วอยู่ที่นี่ไปเลยก็ได้นะ แต่แม่ก็เรียกกลับ

 

กลับมาเมืองไทย

กลับมาได้ 2 เดือนก็หาอะไรที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเรียน ก็ไปเจอหลักสูตรการโรงแรม ก็รู้สึกว่าเราโตกว่าเพื่อน เราจะไม่ทำผิดพลาดอะไรที่เราเคยทำมาก่อน


หลังจากนั้นก็ได้กลับไปพม่าอีกครั้ง ก็เสียดายเหมือนกันนะ เมืองดูโทรมลงมาก เหมือนเดิมแต่โทรมลง แต่มือถือบูมมาก มีระบบเอทีเอ็มแล้ว เหมือนเมืองไทยเมื่อก่อน แต่ว่าซิมการ์ดราคา 20 เหรียญต่อ 1 ใบ ถ้าเงินหมดก็ต้องเปลี่ยนเบอร์ แปลว่าต้องเปลี่ยนเบอร์ทุกๆ 3-4 เดือน ปีต่อมาที่วิชัยกลับไปก็เปลี่ยนอีกที ไม่มีแล้ว

 

 

แนะนำรุ่นน้องที่จะไปเรียนพม่า

โห ไปเรียนที่อื่นเถอะ มันฮาร์ดคอร์ไป ถ้ามีเงินเราสามารถไปเรียนที่อื่นที่ฮาร์ดคอร์น้อยกว่านี้ได้ ไม่ต้องไปลำบากขนาดนี้หรอก


แต่ถ้าชอบแบบนี้ ไปอินเดียดีกว่า น่าจะมันกว่า พม่าตอนนี้มีความครึ่งๆ กลางๆ เจริญก็ใช่ ไม่เจริญก็ได้ แต่ถ้าไปทำกินก็อีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้เอเจนซีก็ไปเปิดสาขาที่พม่าเยอะ

 

สิ่งที่ได้กลับมาจากพม่า

พูดแบบเท่ๆ คือได้ไปเรียนรู้ตัวเอง คลิเช่นะ แต่มันจริง ทำให้รู้ว่าอะไรที่เราชอบ อะไรที่เราไม่ชอบ กลับมาเราก็แน่วแน่กลับสิ่งนี้มาก มันทำให้เรารู้จักคน รู้จักตัวเอง แล้วที่ดีที่สุดคือเราเขียนไดอะรี ซึ่งมันต่อยอดมาให้เรียนเขียนหนังสือได้


ทำให้เรามาคิดว่าที่พ่อพูดน่ะ มันจริง

 

แนะนำคนที่จะไปพม่า

ก็เรียนภาษาพม่าหน่อยก็ดี แล้วก็ไปย่างกุ้ง ไปกินชเวบาสุ่ง แล้วก็ไปเที่ยวชเวดากอง แค่นี้แหละครับ

 


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest วิชัย มาตกุล

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photos วิชัย มาตกุล

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising