×

สัมภาษณ์งาน อย่างไร ให้ได้งาน

12.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:21 ก่อนถึงวันสัมภาษณ์งาน

03:35 ระหว่างสัมภาษณ์งาน

08:29 เทคนิคการแนะนำตัว

22:44 คำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต

27:00 Resume ต้องแคร์แค่ไหน

35:01 ทิ้งท้ายสำหรับคนที่สัมภาษณ์งานครั้งแรก

สัมภาษณ์งาน คือด่านแรกของการเข้าไปเป็นมนุษย์ออฟฟิศอย่างเต็มตัว บ้างก็ได้สัมภาษณ์กับคุณหัวหน้าหรือเจ้านายโดยตรง แต่บ้างก็ได้เจอคุณพี่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR)

 

ที่จริงการ สัมภาษณ์งาน นั้นไม่มีสูตรตายตัว แต่เราก็สามารถดูบางแนวคิดเอาไว้เป็นแนวทางคร่าวๆ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อนได้ อย่างบทความนี้ที่เราถอดเคล็ดลับการ สัมภาษณ์งาน ออกมาจากการพูดคุยของ บองเต่า-ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์ และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ในพอดแคสต์ I HATE MY JOB เพื่อให้ใครที่กำลังหางานอยู่ตอนนี้เอาไปประยุกต์ใช้ รวมไปถึงผู้เป็นเจ้านายหรือหัวหน้าที่กำลังหาคำถามเด็ดๆ มาทดสอบพนักงานใหม่ก็สามารถนำไอเดียจากบทความนี้ไปใช้ได้เช่นกัน

 

ก่อนถึงวันสัมภาษณ์งาน

 

ท่าเบสิกมาตรฐานในการเตรียมตัวมีไม่กี่ข้อ และทำได้ไม่ยาก

 

1. ทำความรู้จักบริษัทที่เรากำลังจะไปสมัครให้ดี นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด จงตอบให้ได้ (ในภาษาของตัวเอง อย่าท่องมาจากเว็บไซต์ขององค์กร) ว่านี่คือบริษัทประเภทไหน ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร จุดแข็งคืออะไร บริษัทคู่แข่งคือใคร เหมือนและต่างกันอย่างไร จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งคืออะไร


2. เตรียมพร้อมสำหรับความประหลาดใจทุกรูปแบบ เช่น แทนที่จะเป็นการสัมภาษณ์หนึ่งต่อหนึ่ง เราอาจถูกผู้สัมภาษณ์จำนวน 8 คนรุมถามด้วย 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เพราะฉะนั้นเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่สุดก็พอ นอกนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของการใช้สติและปัญญาไหลไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า

 

3. แต่งกายเรียบร้อยตามมาตรฐานเอาไว้ก่อน คุมโทนสีและสไตล์ให้สุภาพ ไม่ฉูดฉาดหรือพิลึกพิลั่นจนเกินไป

 

ระหว่างสัมภาษณ์งาน

 

แน่นอนว่าเราย่อมรู้สึกตื่นเต้น โดยเฉพาะถ้าเป็นการสัมภาษณ์งานครั้งแรกๆ ให้ลองสูดลมหายใจลึกๆ นึกถึงสิ่งที่เตรียมมา ที่สำคัญ อย่าลืมเป็นตัวของตัวเองในขอบเขตที่ตำแหน่งที่เราสมัครอนุญาตให้ทำได้ ไม่ใช่ว่าเป็นตัวของตัวเองเวอร์ชันเต็มร้อย เพราะความเป็นตัวเราอาจไม่เหมาะที่จะแสดงออกมาทั้งหมดในที่ทำงานก็ได้

 

ส่วนอาการมือสั่นหรือเสียงสั่นเพราะความประหม่าอาจควบคุมไม่ง่ายและแก้ไขไม่ได้ในทันที แต่สามารถพัฒนากันได้ เช่น ฝึกพูดคนเดียว หาโอกาสพูดในที่สาธารณะบ่อยๆ อย่างการพรีเซนต์งานหน้าห้องเรียน หรือทำหน้าที่พิธีกรในกิจกรรมต่างๆ ของคณะหรือสถาบันก็สามารถช่วยได้

 

แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ได้งานง่ายๆ เสียทีอาจกลายเป็นเรื่องดี เพราะการได้ตระเวนสัมภาษณ์งานหลายแห่งจะเป็นโอกาสให้เราซักซ้อมและสั่งสมประสบการณ์อันหลากหลาย อาการสั่นประหม่าที่เคยเป็นก็อาจลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อได้สัมภาษณ์บ่อยๆ เข้า เพราะฉะนั้นอย่ากังวลไปหากการสัมภาษณ์ครั้งแรกจะไม่ออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะมันจะเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าครั้งต่อไปต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหนบ้าง พวกมนุษย์ประหลาดที่สัมภาษณ์ครั้งแรกแล้วได้งานทันทีจะไม่มีโอกาสได้รับบทเรียนล้ำค่าเหล่านี้เหมือนเรา

 

เทคนิคการแนะนำตัว

 

คนที่จะได้มานั่งสัมภาษณ์ในเก้าอี้ตัวเดียวกันกับเราตรงนี้ในวันนี้มีจำนวนมากมาย มีทั้งคนที่ดีกว่าเรา แย่กว่าเรา และเราจะถูกกลืนหายไปในที่สุด ตระหนักได้ตามนี้แล้วก็จงตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า  

 

1. เราจะแนะนำตัวอย่างไรให้เขาจดจำเราได้ในทันที ในมุมกลับกัน เจ้านายที่เป็นผู้สัมภาษณ์ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้สมัครงานครีเอทีฟความเป็นตัวเองออกมาได้มากที่สุดด้วยวิธีต่างๆ

 

2. เราจะแนะนำตัวด้วยเรื่องราวอะไรได้บ้าง นึกภาพการประกวดนางงาม ทุกคนสวยหมด ยืนเรียงกันจนแทบแยกไม่ออก แต่คนที่เราจะจำได้เป็นพิเศษคือคนที่มาพร้อมสตอรี เช่น นางงามคนหนึ่งอาจเล่าว่าในวัยเด็กเคยถูก bully มาก่อน… “ฉันรู้ว่าการเป็นเหยื่อรู้สึกอย่างไร ฉันเลยลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม!” …รับรองเลยว่านางงามคนนี้ทุกคนจะจดจำได้

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนเคยทำงานในตำแหน่งกองบรรณาธิการ ตำแหน่งนี้ทำให้ได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับคนเยอะมาก เมื่อไปสัมภาษณ์งานที่ใหม่ เจ้านายถามว่าก่อนหน้านี้ทำงานอะไร แทนที่จะตอบว่า “เป็นกองบรรณาธิการครับ” เฉยๆ เขากลับตอบว่า “งานของผมคืองานที่ต้องทำให้คนตกหลุมรักภายใน 7 วินาทีแรกที่เจอกัน” พร้อมอธิบายด้วยสตอรีต่อไปว่า งานที่ต้องสัมภาษณ์คนแปลกหน้านั้นจำเป็นต้องทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยและไว้ใจเราเพื่อที่จะเล่าเรื่องที่ไม่เคยเล่ามาก่อน มันคือการทำให้คนแปลกหน้าสองคนคลิกกันในเวลาสั้นที่สุด

และคำถามสุดท้ายที่เจอในการสัมภาษณ์งานครั้งนั้นคือ แล้วคุณท้อฟฟี่จะทำอย่างไรให้เจ้านายผู้สัมภาษณ์ตกหลุมรักภายในเวลาสั้นที่สุด ท้อฟฟี่ขอเวลา 2 นาทีเพื่อเล่าเรื่องของมาดอนน่า

ในปี 1996 มาดอนน่าอยากเล่นบท เอวิตา (Evita, 1999) ที่สุด แต่บทนี้มีตัวแม่รอแย่งชิงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มิเชล ไฟเฟอร์ หรือเมอรีล สตรีป แต่กระนั้นมาดอนน่าก็คิดว่าบทนี้เกิดมาเพื่อเธอจริงๆ เธอจึงเขียนจดหมายไปหาผู้กำกับ บอกว่าให้บทนี้กับเธอเถอะ แล้วจะพิสูจน์ให้ดูว่าเธอเป็นเอวิตาที่ดีที่สุด ผู้กำกับประทับใจกับจดหมายฉบับนั้นมากจนสุดท้ายมาดอนน่าก็ได้เล่นบทนี้สมใจ แถมยังคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำในปีนั้นอีกด้วย

ท้อฟฟี่เปรียบเทียบว่าตัวเขาตอนนี้ก็ไม่ต่างจากมาดอนน่า เพราะมีคนมากมายอยากได้งานนี้ บางคนอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่า แต่ท้อฟฟี่เชื่อมั่นว่าไม่มีใครมีแพสชันในงานนี้มากเท่าตัวเขา และสุดท้ายท้อฟฟี่ก็ได้งานนั้นจริงๆ ด้วยเรื่องเล่าของมาดอนน่านั่นเอง

 

คำถาม สัมภาษณ์งาน ยอดฮิต

 

เป็นเรื่องคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้เลยว่าคำถามที่เราจะเจอระหว่างการสัมภาษณ์งานจะเป็นอย่างไร อาจเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือเป็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์คิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเพื่อให้เหมาะกับตัวเรา แต่โดยส่วนใหญ่คำถามสัมภาษณ์งานจะมีโครงสร้าง 2 ส่วน ส่วนแรกคือคำถามพื้นฐานจำพวกการแนะนำตัว คุณเป็นใคร  ครอบครัวเป็นอย่างไร เรียนจบอะไรมา เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่เกร็งจนเกินไป จากนั้นค่อยเข้าสู่ส่วนที่ 2 ที่จะลงลึกเฉพาะทางและเกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพมากขึ้น

 

นอกจากนั้นเราอาจเจอคำถามยอดนิยมอย่าง “จุดอ่อนหรือข้อเสียของคุณคืออะไร” หลายคนอาจทำตามคำแนะนำตามบทความโหลๆ บนอินเทอร์เน็ตว่า ให้บอกข้อเสียที่สามารถบิดกลับมาเป็นข้อดีได้ เช่น “เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ ถ้างานไม่สมบูรณ์แบบดีพร้อมจะยอมไม่ได้ และจะทำจนมันออกมาดีที่สุด” แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อฝ่ายบุคคลหรือเจ้านายได้ฟังดังนี้อาจกลอกตาสูง เพราะมนุษย์ออฟฟิศทั่วโลกใช้คำตอบนี้กันมาแล้วหลายสิบปี

ท้อฟฟี่ยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นเขาจะตอบไปเลยตรงๆ ตามความจริงว่า “สิ่งที่ผมอ่อนคือการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เพราะผมถนัดที่จะสื่อสารโดยการเขียนมากกว่า แต่มันคือสิ่งที่เตรียมตัวได้ ถ้าผมรู้ว่าผมต้องทำ ผมจะฝึก ผมจะซ้อม เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาได้ แม้แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเรา” ตอบอย่างนี้มงก็คงจะลงแล้วลงอีก

 

นอกจากนี้แล้ว ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์อาจเจออีกหนึ่งคำถามยอดฮิตนั่นคือ “มีอะไรจะถามไหม” ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เลยถามคำถามอย่าง มาสายได้ไหม หรือต้องกลับดึกมากไหม นี่กลายเป็นการเสียโอกาสอันสำคัญ

เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถาม เราควรถามคำถามที่แสดงศักยภาพของเรา พร้อมกับการถามสิ่งที่เราสามารถนำมุมมองของรุ่นพี่มาใช้เป็นประโยชน์ได้จริงๆ เช่น “ตั้งแต่ทำงานมา พี่ประทับใจอะไรในออฟฟิศนี้บ้าง” หรือ “สิ่งที่พี่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากได้ทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้วคือเรื่องอะไรบ้าง” คำถามโชว์กึ๋นที่แสดงความสนใจใคร่รู้อย่างแท้จริงเหล่านี้จะทำให้เราเป็นคนน่าสนใจขึ้นในสายตาของบริษัท และยังเป็นฉากจบการสัมภาษณ์อย่างสวยงามและน่าจดจำของทุกฝ่ายอีกด้วย

 

พูดถึงคำถามวัดกึ๋น…

 

คำถามเหล่านี้อาจไม่ได้เจอในการสมัครงานทั่วไป แต่อาจจะเจอได้ในงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เช่น งานการตลาด หรืองานครีเอทีฟ อาจจะเป็นได้ทั้งคำถามที่วัดการตัดสินใจ หรือการให้เล่นบทบาทสมมติเพื่อแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ บองเต่ายกตัวอย่างคำถามเช่น  “จะทำอย่างไรหากวันนี้ลูกค้าชวนไปกินข้าว ทั้งๆ ที่เรานัดแฟนไว้แล้ว”

 

ท้อฟฟี่ในฐานะผู้สัมภาษณ์ เคยใช้คำถามว่า “ความท้าทายที่สุดในชีวิตที่เคยเจอมาคืออะไร แล้วผ่านช่วงเวลานั้นไปได้อย่างไร” คำถามนี้ไม่ได้โชว์แค่วิธีคิด แต่จะทำให้เห็นแบ็กกราวด์ของคนคนนั้น รู้ว่าเอาชนะสถานการณ์นั้นด้วยวัยในขณะนั้นได้อย่างไร เพราะการทำงานจริงๆ จะต้องเจอเรื่องที่ต้องรับมือและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา นี่จะเป็นอีกคำถามหนึ่งที่วัดกึ๋นผู้สมัครได้

 

สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์มองหาในตัวผู้สมัครงาน

 

1. Capability หรือความสามารถ อาจจะไม่ได้มาจากใบสมัครงานหรือพอร์ตโฟลิโอเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งก็สร้างคำถามเฉพาะหน้าเพื่อให้แก้ปัญหา หรือที่เรียกกันว่าวัดกึ๋นกันก็ได้ เช่น งานทางการตลาดที่ไม่มีถูกมีผิด ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้

บองเต่าเล่าว่า เขาเคยใช้คำถาม “ประเทศไทยมีบ้านกี่หลัง” ผลคือบางคนใช้วิธีเสิร์ชกูเกิล บางคนอาจจะใช้วิธีเอาจำนวนประชากรมาตั้งแล้วหารออกมาเพื่อหาจำนวนครอบครัวโดยประมาณ หรือบางคนอาจจะแยกเป็นกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีถูกมีผิด แต่ความจริงผู้สัมภาษณ์กำลังดูว่าผู้สมัครแต่ละคนมองหา ‘วิธีการ’ หรือมี ‘กระบวนการคิดหาคำตอบ’ กันอย่างไรบ้างต่างหาก

ส่วนเทคนิคที่เราอาจคุ้นเคยกันดี เช่นให้สวมบทบาทและพยายามขายสินค้าของบริษัท (ในกรณีที่เป็นงานที่เกี่ยวกับการขาย) บองเต่าบอกว่าเขาจะขอปรับนิดหนึ่งเป็น “ถ้าคุณต้องขายของสักอย่าง ของที่คุณมั่นใจว่าจะขายได้ดีที่สุดคืออะไร” แล้วค่อยให้เขาสวมบทบาท การตั้งคำถามแบบนี้นอกจากจะทำให้เห็นทักษะในการขาย เห็นบุคลิกเวลาขาย ยังบอกให้รู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาอินคืออะไร แพสชันของเขาคืออะไร

 

2. Charisma หรือความมีเสน่ห์ บางครั้งผู้สัมภาษณ์พลิกเกมจากที่เป็นคนถามแล้วผู้สมัครเป็นคนตอบ เปลี่ยนมาเป็นให้น้องตั้งคำถามให้พี่ตอบ หรือคุยภาษาไทยกันอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนปุบปับเป็นภาษาอังกฤษ หรือจู่ๆ สวมบทบาทเป็นลูกค้าโมโหร้ายแล้วตบโต๊ะปัง! เหล่านี้ช่วยบอกได้ว่าแต่ละคนมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร บางคนเหวอ บางคนสู้ตาย ความพยายามในการแก้โจทย์ที่คาดไม่ถึงจะเป็นตัวดึงเสน่ห์ของบางคนออกมาได้เป็นอย่างดี

หลายคนคิดว่าคาริสมาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่นั่นเป็นจริงแค่ส่วนเดียว เพราะเรื่องเหล่านี้บางอย่างสามารถฝึกกันได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะได้รับอนุญาตให้ทำตัวตามสบาย แต่ก็ไม่ต้องตลกมาก แม้จะเป็นคนตลกมากจริงๆ โดยนิสัย เพราะอย่างไรนี่ก็คือการสัมภาษณ์งานอยู่ดี ควรรู้จักกาลเทศะ ทำตัวธรรมชาติได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมความเป็นมืออาชีพด้วย ขอแบบตลกกำลังพอดี ไม่ต้องคาริสมาเว่อร์

 

Resume ต้องแคร์แค่ไหน

 

ในความเห็นของบองเต่าและท้อฟฟี่แล้วเรซูเมมีผลแค่ 20% เท่านั้น เพราะมันแทบไม่ได้ทำให้รู้จักตัวตนของคนคนนั้นเท่าการสัมภาษณ์ แต่เรซูเมจะมีผลอย่างมากในแง่ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการรู้จักตัวตนของผู้สมัครเพิ่มเติมในบางแง่ที่อาจเป็นสิ่งน่าสนใจ เช่น บางคนได้เกรด 3.8 แต่ปี 1 เทอมแรกมีเกรด D หลุดมาหนึ่งตัว ผู้สัมภาษณ์สามารถชวนคุยได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น

บางคนกรอกงานอดิเรกหรือทักษะต่างๆ ในเรซูเมไว้น่าสนใจ ทำให้น่าชวนคุยต่อ เช่น ผู้สมัครคนหนึ่งที่บองเต่าเคยสัมภาษณ์เขียนเล่าถึงงานอดิเรกว่าชอบไปทำงานพิเศษที่ตลาดนัดจตุจักร เพราะอยากฝึกภาษาอังกฤษ พอซักต่อก็ได้ความว่าเขาไปทำงานช่วยส่งของทางไปรษณีย์กลับประเทศให้ชาวต่างชาติที่มาช้อปปิ้งที่จตุจักร ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากมายให้ฝึกภาษากับสถานการณ์จริงนอกห้องเรียนโดยไม่ต้องเสียเงินไปเรียนแพงๆ การขุดจุดที่น่าสนใจจากเรซูเมขึ้นมาเปิดประเด็นเช่นนี้ทำให้องค์กรได้เจอคนที่มีวิธีคิดและทัศนคติน่าชื่นชมขึ้นมาหนึ่งคนทันที

 

นอกจากนั้น ทุกวันนี้บริษัทสามารถทำความรู้จักผู้สมัครได้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของแต่ละคน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม โดยดูจากภาษาที่ใช้ และทัศนคติ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการถูกรับเข้าทำงานอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง

 

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่สัมภาษณ์งานครั้งแรก

 

1. ซ้อมแต่พอดี แต่จำไว้ว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคำถามที่เราจะเจอหน้างานมีอะไรบ้าง ไม่มีใครเก็งโจทย์ได้ถูกทุกข้อ ดังนั้นไม่ต้องเครียด ทำใจให้สบาย สัมภาษณ์งานตอนสติดีและอารมณ์ดีนั้นดีที่สุด

 

2. อย่ากลัวความผิดพลาด การสัมภาษณ์งานครั้งแรกแล้วไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าชีวิตนี้จบสิ้น และไม่ได้แปลว่าโอกาสในการทำงานกับองค์กรนี้จะหมดสิ้นแล้วตลอดไป เพราะบางครั้งการที่เราไม่ได้งานไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง แต่อาจแปลว่ามีคนเก่งกว่าและเหมาะกว่าเราในวันนั้น หรือองค์กรอยากได้ตัวเรา แต่ไม่ใช่สำหรับตำแหน่งที่เขารับในวันนั้น ถ้าบริษัทชอบเรามากพอ เขาอาจเก็บใบสมัครเราเอาไว้กับฝ่ายทรัพยากรบุคคล และถ้าในวันหน้ามีการเปิดรับตำแหน่งงานใหม่ๆ เขาอาจเรียกตัวเราเข้าไปคุยอีกครั้งก็เป็นได้

 

สมัครงาน อย่างไร ให้ได้งาน กับ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรด์ชอว์


  • ชมฝีมือการสัมภาษณ์ของท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ที่สร้างความคุ้นเคยจน พลอย เฌอมาลย์ ยอมเล่าเรื่องที่ไม่เคยเล่ามาก่อนใน คลิปนี้ 
  • ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Evita นำแสดงโดย มาดอนน่า ที่ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เล่าเรื่องตอนสัมภาษณ์งาน 

 

Credits
The Host
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising