ซินดี้ สิรินยา คุยกับ คุณหมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ในประเด็นเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจและเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวที่มีลูกเป็นกลุ่มเพศหลากหลาย ในรายการ Balanced Mama Podcast
ความหมายของคำว่ากลุ่มเพศหลากหลาย
เรียกย่อสั้นๆ ว่า LGBTQ โดยแต่ละตัวอักษรแทนความหมายดังนี้
L คือ Lesbian ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน
G คือ Gay ผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน
B คือ Bisexual คนที่มีความชอบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
T คือ Transgender คนที่เกิดมามีลักษณะเป็นเพศหนึ่ง แต่จิตใจเป็นอีกเพศหนึ่ง
Q คือ Queer หรือ Questioning คนที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศแบบไหน
ซึ่งจากการทำวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า มีเด็กที่เป็นกลุ่ม Queer อยู่จำนวนมาก เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังไม่เข้าข่ายในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้
ทำอย่างไรให้ลูกกล้าเปิดใจคุยกับพ่อแม่
ก่อนที่จะให้ลูกมาพูดเปิดใจ หมอว่าพ่อแม่ควรลองย้อนคิดไปถึงท่าทีในชีวิตประจำวันของตัวเองที่ส่งผลต่อการแสดงออกเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับเพศหลากหลาย หลายครั้งเราอาจทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติ มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังนั่งดูโทรทัศน์กับพ่อ พอถึงฉากที่มีเกย์สองคนรักกัน พ่อแสดงท่าทีรังเกียจพร้อมพูดว่า “น่าเกลียด ผู้ชายอะไรมารักกันเอง วิปริตผิดเพศ” ทันทีที่พูดจบ ลูกจะซึมซับความคิดเห็นและจดจำว่าพ่อมีมุมมองต่อกลุ่มเพศหลากหลายเช่นนี้ ฉะนั้นหากวันหนึ่งเด็กค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์ เขาจะตัดสินใจไม่เปิดเผยต่อครอบครัวแน่นอน กลับกัน ถ้าพ่อแม่บ้านไหนเปิดใจพูดอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความผิดปกติ และสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนผู้ชายหรือผู้หญิง การแสดงออกแบบนี้จะส่งผลให้ลูกที่อยากเปิดเผยตัวเองกล้าเข้ามาพูดคุยได้ง่ายกว่ามาก
เรื่องเพศเป็นสิ่งใกล้ตัว มันอยู่กับเราตลอดเวลา ทุกการแสดงของพ่อแม่มีผลต่อการตัดสินใจเปิดเผยตัวตนของเด็ก และทัศนคติเชิงบวกไม่ได้มีผลกระตุ้นทำให้เด็กเป็นหรือไม่เป็นกลุ่มเพศหลากหลายแต่อย่างใด เด็กที่เป็นก็คือเป็นอยู่แล้ว ที่ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่
คนสมัยนี้เป็นเพศทางเลือกมากกว่าสมัยก่อนจริงหรือ
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้กลุ่มเพศหลากหลายมีจำนวนมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มานานแล้ว แถมยังพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ดังนั้นเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ธรรมชาติมาก ทางการแพทย์จึงได้มีการถอดเรื่องนี้ออกจากอาการผิดปกติ หรือความเข้าใจแต่ก่อนที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง และปรับมุมมองใหม่ว่าเป็นเพียงเรื่องของรสนิยมที่แตกต่าง ไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ที่มันส่งผลกระทบกับหลายๆ คน เพราะความไม่เข้าใจของครอบครัวและสังคมต่างหาก
พ่อแม่บางคนอาจรับไม่ได้ที่ลูกเป็นเพศทางเลือก แต่จำได้ไหมว่าคุณเริ่มรู้สึกรักเขาตั้งแต่เมื่อไร มันเริ่มตั้งแต่วันที่รู้ว่าเขาจะเกิดมาโดยยังไม่รู้เพศเลยด้วยซ้ำ
สูตรสำเร็จของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่การแต่งงานมีลูกเสมอไป
สิ่งที่ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์คือความคาดหวังที่สูงเกินไป ทุกคนอยากเห็นลูกมีชีวิตที่ดี เชื่อว่าการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูกหลาน คือชีวิตที่มีความสุข แต่จากข้อมูลพบว่า การแต่งงาน 40% มีการหย่าร้าง และการมีลูกไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขเสมอไป คนสมัยนี้มีความสุขได้หลายรูปแบบ คู่รักเพศเดียวกันหลายคู่อาจมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและมีความสุขกว่าความรักของชายหญิงด้วยซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้อย่างแน่นอน คือการได้เป็นตัวเอง คนที่เรารักยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ฉะนั้นพ่อแม่กลุ่มนี้ต้องจัดการความคาดหวังของตัวเอง และเปิดใจรับในสิ่งที่ลูกเป็นให้ได้
เพศทางเลือก: ไม่ได้เลือกที่จะเป็น แต่เลือกที่จะเปิดเผย
พ่อแม่หลายคนมักทุกข์ใจจากความคิดที่ว่าเพศทางเลือกคือสิ่งที่ลูกเลือกเป็น แต่จริงๆ แล้ว คนเป็นเกย์ ตุ๊ด ดี้ กะเทย ทอม ไม่เคยเลือกว่าตัวเองจะเป็นเพศไหน มันคือสิ่งที่เขาเป็นเองมาตั้งแต่เด็ก เขาไม่เคยเลือกเลยว่าอยากชอบผู้ชายด้วยกันเอง เช่นเดียวกับผู้ชายผู้หญิง ที่ไม่เคยคิดขึ้นมาเองว่าถึงเวลาแล้วที่ฉันจะชอบเพศตรงข้าม ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สิ่งเดียวที่กลุ่มเพศหลากหลายเลือกได้คือการเลือกที่จะเปิดเผยมันออกมาเท่านั้น
ทดลองคบเพศเดียวกัน ทั้งที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเพศหลากหลาย
เรื่องนี้มีผลลัพธ์ได้ทั้งสองแบบ ทั้งที่ลองแล้วรู้ว่าใช่ก็มี หรือลองแล้วมาค้นพบตอนโตว่าไม่ใช่ก็มี มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ และมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเรื่องสังคมของเด็กโรงเรียนหญิงล้วน ผู้หญิงวัยรุ่นมักมองหาไอดอลในดวงใจ พอเจอรุ่นพี่ที่เป็นทอมก็เลยชอบ พอเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนมาชอบผู้ชายตามปกติ ในขณะที่บางคนอาจค้นพบว่าตัวเองชอบได้ทั้งสองเพศ หรือกรณีที่ชายหญิงแต่งงานแล้วหย่ามาคบเพศเดียวกันก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ปัญหาของเด็กที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ
ถ้าพ่อแม่กลัวลูกไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ให้ลุกขึ้นมาเป็นคนแรกที่ยอมรับลูกให้ได้ก่อน เพราะพลังใจจากคนใกล้ชิดจะทำให้เด็กพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ภายนอก บอกเขาไปเลยว่า “ไม่ว่าใครจะไม่ยอมรับ ไม่ว่าใครจะมองไม่เห็นสิ่งที่ลูกเป็น แต่พ่อแม่มองเห็นและเป็นกำลังใจให้ลูกเสมอ” หมอเชื่อว่าในสังคมอีก 10-20 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น
ส่วนปัญหาของเด็กที่ไม่ได้การยอมรับจากครอบครัว จะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า การคิดฆ่าตัวตาย การติดสารเสพติด การมีปัญหาทางเพศ และการถูกรังแกสูงกว่าเด็กที่ได้รับการยอมรับ มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กกลุ่มที่พ่อแม่ยอมรับ 92% เชื่อว่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข แต่เด็กที่พ่อแม่ไม่ยอมรับมีเพียงแค่ 10% ที่คิดว่าตัวเองจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เพราะฉะนั้นการยอมรับของครอบครัวสำคัญมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้
คลินิกเพศหลากหลาย
พ่อแม่ท่านไหนที่อยากปรึกษาคุณหมอ สามารถติดต่อได้ที่คลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทางคลินิกจะดูแลเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กที่มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทางเพศ โดยมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย เช่น หมอต่อมไร้ท่อ หมอศัลยกรรม คอยดูแลให้คำปรึกษากับเด็กกลุ่มนี้
Credits
The Host ซินดี้ บิชอพ
The Guest พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
Show Creator ซินดี้ บิชอพ
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor นทธัญ แสงไชย
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Photographer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic