×

เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน โทษ PMS ได้ไหม? มีวิธีป้องกันหรือบรรเทาอย่างไร

25.04.2019
  • LOADING...
PMS

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • PMS (Premenstrual Syndrome) คือกลุ่มอาการก่อนเป็นประจำเดือน พบมากถึง 80% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือน ส่วนใหญ่รับมือได้ แต่ในบางกรณี PMS ที่รุนแรงนั้นอาจเกิดอันตรายจากปัญหาทางจิต หรือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder)
  • เราสามารถลดอาการ PMS ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น ดูแลน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ทำสมาธิ มองโลกแง่บวก รับประทานอาการวิตามินสูง เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารทะเล ปลา และเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงใช้ยาคุมกำเนิด หรือเสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อไม่ให้ฮอร์โมนแปรปรวนก่อนประจำเดือนมา

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยรู้สึกถึงอารมณ์ที่แกว่ง หรือจู่ๆ รุนแรงขึ้นจนคนรอบข้างอาจประหลาดใจช่วงก่อนมีประจำเดือน บ้างอาจรู้สึกเศร้าผิดปกติ หรือฉุนเฉียวในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เรามาทำความรู้จัก PMS กันเสียหน่อย

 

PMS (Premenstrual Syndrome) คือกลุ่มอาการก่อนเป็นประจำเดือน พบมากถึง 80% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือน โดยส่วนใหญ่รับมือได้ แต่ในบางกรณี PMS ที่รุนแรงนั้นอาจเกิดอันตรายจากปัญหาทางจิต หรือ PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) แต่พบเพียง 2% เท่านั้น

 

 

ส่วนสาเหตุของ PMS นั้น แม้จนทุกวันนี้ยังไม่ทราบเหตุที่ชัดเจน แต่งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า PMS เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้ค่ะ

 

1. พันธุกรรม คนที่เป็น PMS รุนแรงหรือ PMDD พบยีน ESR1 (Estrogen Receptor Alpha) ที่ถ่ายทอดจากพันธุกรรม

 

2. ความแปรปรวนของฮอร์โมนเพศหญิง เชื่อว่าเป็นความไวของแต่ละคน พบค่าของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในคนที่เป็น PMS และไม่เป็น ไม่แตกต่างกัน แต่ในคนที่เป็น PMS หากไม่มีการแปรปรวนของฮอร์โมน เช่นโดนตัดรังไข่สองข้าง หรือได้รับยาหยุดการทำงานของรังไข่ จะไม่มีอาการ PMS เมื่อเสริมฮอร์โมนอาการ PMS จะกลับคืนมา

 

3. อุปนิสัยและสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่าคนยากจน การศึกษาน้อย สูบบุหรี่ เครียดง่ายเป็น PMS มากกว่า

 

4. สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) การแปรปรวนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดสารสื่อประสาท Opioid, GABA, เบต้าเอ็นโดรฟิน (Beta endorphin) และเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า งานวิจัยพบสารสื่อประสาทเหล่านี้ลดลงในคนที่เป็น PMS การใช้ยาที่ทำให้ระดับของสารสื่อประสาทเหล่านี้เพิ่มขึ้น ลดอาการ PMS

 

5. วิตามิน พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินวิตามินบี 1 บี 2 ขนาดสูงกับการลดลงของ PMS การรักษาโรคนี้ด้วยวิตามินบี 6, อี, ซี, แคลเซียม, แมกนีเซียม หรือเชสต์เบอร์รีได้ผลในบางราย  

 

 

การวินิจฉัย PMS

เราสามารถวินิจฉัยจากอาการที่เป็นก่อนประจำเดือน 5-11 วัน (เฉลี่ย 6 วัน) หายเมื่อประจำเดือนหมด (วันที่ 4-7 ของประจำเดือน) และรบกวนชีวิตประจำวัน อาการ PMS มีถึงกว่า 150 อาการเชียวค่ะ ส่วนอาการที่พบบ่อยนั้นได้แก่ อาการทางอารมณ์ เช่น โมโห ฉุนเฉียว เหวี่ยง วีน เครียด วิตกกังวล แปรปรวน ซึมเศร้า โกรธ แปลกแยก หงุดหงิด ฯลฯ และอาการทางกาย เช่น ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย ปวดหัว คัดเต้านม บวมตามแขนขา หิวบ่อย หรือไม่อยากกินอะไร รวมถึงปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป ฯลฯ

 

 

รักษาและอยู่ห่างไกล PMS อย่างไร

เพราะผู้หญิงต้องอยู่อย่างมีประจำเดือนเป็นเพื่อน ดังนั้นเรามาดูกันว่าจะสามารถใช้ชีวิตให้ห่างไกล และบรรเทาความไม่สบายตัวไม่สบายใจจาก PMS กันได้อย่างไรบ้าง

 

  • รักษาสุขภาพกายใจ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น ดูแลน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ทำสมาธิ มองโลกแง่บวก รับประทานอาหารที่มีวิตามินสูง เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารทะเล ปลา และเลี่ยงสูบบุหรี่
  • กินยาตามอาการ และปรับฮอร์โมน โดยใช้ยาคุมกำเนิด หรือเสริมฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อไม่ให้ฮอร์โมนแปรปรวนก่อนประจำเดือนมา   
  • พบแพทย์ หากสังเกตว่ามีอาการทางจิตร่วมกับทางกายอย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นความผิดปกติทางจิตเวช PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) ที่ต้องพบจิตแพทย์ค่ะ

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

GIF: giphy.com

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising