สถานการณ์ PM2.5 ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ถึงขั้นทำให้ประชาชนสามารถเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ ทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งหลายจังหวัดหัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพและเชียงใหม่ ต่างเผชิญฝุ่นมรณะปกคลุม จนดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ หรือ AQI (Air Quality Index) ยกให้ติดอันดับโลก
ทั่วโลกมีสัญญาณบ่งชี้อันตรายจาก PM2.5 ที่เพิ่มมากขึ้น โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย เผยแพร่งานวิจัยมลพิษทางอากาศล่าสุด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet Planetary Health ซึ่งมีการเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 5,446 แห่งใน 65 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2000-2019 หรือตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
เนื้อหาที่น่าตกใจของงานวิจัยฉบับนี้ คือพื้นที่บนโลกกว่า 99.82% หรือแทบทั้งหมดนั้น ไม่มีสถานที่ใดปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศอีกแล้ว และพบว่ามีประชากรโลกเพียง 0.001% ที่ยังได้รับอากาศบริสุทธิ์ที่มีมลพิษในระดับต่ำ
มลพิษทางอากาศนั้นคร่าชีวิตผู้คนบนโลกมากถึงปีละกว่า 6.7 ล้านคน และเกือบ 2 ใน 3 เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านระบบทางเดินหายใจเข้าไปถึงกระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้
สำหรับประเทศไทย เผชิญกับปัญหานี้มานานหลายปี และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนน่ากังวล โดยการรับมือและลดปัญหา PM2.5 ของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนทั้งด้านข้อมูลและแนวทาง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่ ‘จริงจัง’ และ ‘เห็นผล’ ทำให้ตอนนี้คนไทยยังคงมองไม่เห็นความหวังหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการรอดพ้นจากวิกฤตฝุ่นมรณะนี้