×

นายกฯ เตรียมร่วมประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ แสดงวิสัยทัศน์เรื่องโลกร้อน เสนอยุทธศาสตร์ลดก๊าซเรือนกระจก

โดย THE STANDARD TEAM
28.10.2021
  • LOADING...

วันนี้ (28 ตุลาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางนำคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ในการประชุมระดับผู้นำ COP 26 ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยต่อความท้าทายสำคัญของโลก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทย และการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

“เป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะได้แสดงบทบาทและความมุ่งมั่นร่วมกับนานาประเทศในการตระหนัก และการกำหนดนโยบายเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนในโลก โดยในปีนี้สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้เชิญประมุขและผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย คำเชิญดังกล่าวแสดงถึงความสำคัญสำหรับผู้นำระดับโลกในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่มุ่งเป้าไปที่การบรรลุเป้าหมาย COP ที่ประสบความสำเร็จและการดำเนินการที่ประสานกันเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

สำหรับการประชุม COP26 จะมีผู้นำโลกกว่า 120 ประเทศร่วมเข้าประชุม ซึ่งถือเป็นการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ เพื่อผลักดันความพยายามในการลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก โดยการประชุมครั้งนี้เลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวและความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ที่มีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และเป้าหมายใหญ่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising