พลาสติกห่ออาหารที่กำลังพูดถึง ไม่ใช่ถุงพลาสติกหรือแพ็กเกจจิ้งชิ้นใหญ่โต (ที่นั่นก็เป็นขยะพลาสติกอยู่แล้ว) แต่งานวิจัยชิ้นนี้กำลังพูดถึงพลาสติกแรป หรือพลาสติกห่ออาหารที่จากเดิมเราเข้าใจว่าการห่อ ผัก ผลไม้ที่ยังไม่ได้ใช้นั้น จะช่วยยืดอายุของวัตถุดิบ แต่กลายเป็นว่า พลาสติกห่อนี่แหละกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะจากอาหาร (Food Waste) มากขึ้น
งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นโดยองค์กรการกุศลเพื่อความยั่งยืน Waste & Resources Action Programme หรือย่อสั้นๆ ว่า Wrap ซึ่งใช้เวลาศึกษาการซื้อขายของผักผลไม้ ได้แก่ กล้วย บรอกโคลี และแตงกวา เป็นเวลา 18 เดือน ก่อนพบว่าการใช้พลาสติกห่อหุ้มอาหารนั้นทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ามากขึ้น ด้วยความเข้าใจว่าพลาสติกช่วยยืดอายุอาหาร แต่ความเข้าใจนั้นกลับนำไปสู่การซื้อมากกว่าความจำเป็นและก่อให้เกิดขยะจากอาหารนั่นเอง
Marcus Gover ผู้บริหารของ Wrap อธิบายว่า ทีมนักวิจัยของเขาพบว่า ‘พลาสติกห่ออาหารนั้นไม่ได้ช่วยยืดอายุของอาหารเสมอไป เพราะในความเป็นจริงมันมีส่วนก่อให้เกิดขยะอาหารมากขึ้นด้วยซ้ำ’
“การเก็บอาหารสดในตู้เย็นในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสนั้นช่วยยืดอายุของอาหารได้เป็นวันหรือสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารแต่ละชนิด อย่างแอปเปิ้ลนั้นสามารถอยู่ได้ร่วมเดือน” เขาอธิบายต่อ “เรายังพบอีกว่า สำหรับอาหารสดส่วนใหญ่ พลาสติกที่ห่อนั้นแทบไม่ได้ช่วยยืดอายุของอาหารเพิ่มจากการเก็บใส่ตู้เย็นปกติเลย สำหรับกรณีนี้มันเลยสร้างความเข้าใจที่ผิด ทำให้ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น และกลายเป็นขยะในที่สุด”
ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในโลกเพื่อการบริโภคนั้นจะกลายเป็นขยะ คิดเป็นตัวเลขได้เท่ากับ 1.3 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเกิดจากระดับครัวเรือนหรือ Households มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยร้านอาหาร และร้านค้าปลีก อย่างกรณีในสหราชอาณาจักรนั้น มีขยะจากผักสดกว่าครึ่งล้านตัน และขยะจากผลไม้สดอีก 1 ใน 4 ล้านตัน ที่พบว่าสุกเกินไปจนเน่าเสีย ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้วถือว่าสูญเสียราว 2.1 พันล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว
นักวิจัยยังเสนอคำแนะนำอีกว่า หากแอปเปิ้ล กล้วย บรอกโคลี และมันฝรั่งนั้นถูกวางขายโดยปราศจากพลาสติกห่อหุ้มและป้ายบอกวันหมดอายุ การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยลดขยะพลาสติกได้ถึง 10,300 ตัน และลดขยะจากอาหารได้ราว 1 แสนตันเลยทีเดียว
ภาพ: ShutterStock
อ้างอิง: