ไม่ผิดนักถ้าเราจะบอกว่า การตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด สัดส่วน 35% ของแพลน บี ในครั้งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในดีลใหญ่สร้างปรากฏการณ์ความน่าสนใจไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงและธุรกิจสื่อพอสมควร
วันพุธที่ 23 พฤษภาคม บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเข้าลงทุนในบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด ในอัตราส่วน 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 182.25 ล้านบาท
โดยจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 17.5% โดยครั้งแรกจะเข้าลงทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม (350,000 หุ้น) มูลค่าไม่เกิน 82,250,000 บาท ส่วนอีกครั้งจะซื้อหุ้นจำนวน 538,500 หุ้นหลังเพิ่มทุน มูลค่าไม่เกิน 100,000,000 ล้านบาท งบลงทุนทั้งหมดนี้มาจากกระแสเงินสดการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งบอร์ดบริหารของบริษัทได้อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นของบีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3 ของบริษัทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว
พวกเขาให้เหตุผลว่าการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น 35% ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างโอกาสการเพิ่มรายได้จากความหลากหลายและความนิยมของธุรกิจบริษัท บีเอ็นเค48 รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีศักยภาพทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
หลังประกาศข่าวดีออกมาตั้งแต่เมื่อวาน เช้าวันนี้หุ้นของแพลน บี ก็ขยับเพิ่มถึง +0.20 บาทต่อจุด เปิดตลาด (10.00 น.) ที่ 6.60 บาท ท่ามกลางคำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้นมากมายว่าดีลในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับประโยชน์อะไรจากความร่วมมือในครั้งนี้
แพลน บี เป็นใคร ทำธุรกิจอะไรบ้าง?
บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจสื่อโฆษณานอกที่อยู่อาศัย (OOH: Out of Home Media) ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศไทย และเป็นที่รู้จักมายาวนานต่อเนื่องกว่า 13 ปี
แพลน บี เริ่มดำเนินธุรกิจเป็นครั้งแรกในปี 2548 โดยเริ่มต้นจากการให้บริการสื่อโฆษณาประเภทรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ จำนวนกว่า 2,000 คัน ก่อนขยายการเติบโตของพอร์ตธุรกิจไปเรื่อยๆ ผ่านแพลตฟอร์มสื่อโฆษณานอกที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบ จนเรียกได้ว่าเกือบจะครอบคลุมครบทุกพื้นที่สาธารณะแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณากลางแจ้ง สื่อโฆษณาบริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะ สื่อโฆษณาบนระบบขนส่งมวลชน สื่อโฆษณาบนทางด่วน สื่อโฆษณาภายในระบบรถไฟฟ้า MRT สื่อโฆษณาภายในห้างสรรพสินค้า สื่อโฆษณาประเภทดิจิทัล รวมถึงสื่อโฆษณาออนไลน์ เป็นต้น
กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2558 บริษัทก็ได้ฤกษ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสียที โดยตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทก็โตวันโตคืน มีรายรับที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องเกือบทุกปี
- ปี 2558 รายได้รวม 2,170.08 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 400.21 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้รวม 2,448.07 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 351.60 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้รวม 3,016.38 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 460.52 ล้านบาท
ปัจจุบันแม้จะยังไม่ครบปีดี แต่แพลน บี ก็กวาดรายได้รวมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ไปแล้วกว่า 805.84 ล้านบาท พร้อมกำไรสุทธิอีก 139.10 ล้านบาทแล้ว ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 22,765.97 ล้านบาท
จากการประเมินของบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) ผู้วิจัยและตรวจวัดข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนนี้ ยังระบุอีกด้วยว่า สื่อโฆณา OOH มีมูลค่ารวมทั้งตลาดที่ประมาณ 2,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 190 ล้านบาทหรือประมาณ 9.50% ซึ่งในด้านการเติบโตถือว่าเป็นรองเพียงแค่สื่อโฆษณาแพลตฟอร์มดิจิทัลทีวี (+21.82%) และโรงภาพยนตร์เท่านั้น (+14.39%)
ขณะที่การคาดการณ์ของบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด ได้ประเมินว่าในปีนี้ สื่อโฆษณานอกบ้านน่าจะมีมูลค่ารวมทั้งตลาดอยู่ที่ประมาณ 10,900 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 19.8% จากปีที่แล้ว (9,103 ล้านบาท) นั่นหมายความว่าในฐานะผู้เล่นรายยักษ์ของอุตสาหกรรมนี้ แพลน บี น่าจะยังมีอนาคตที่สดใส และผลประกอบการที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องเช่นเคย
ช้างศึก x BNK48 จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ดีล 182 ล้านบาท
เบื้องหลังดีลนี้น่าจะมีการพูดคุยกันมานานแล้ว โดยแหล่งข่าววงในที่ใกล้ชิดกับแพลน บี ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่าน่าจะเริ่มประมาณช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเริ่มต้นพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับศิลปินกลุ่มไอดอล BNK48 ในฐานะพาร์ตเนอร์ร่วมโปรโมตราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ)
ส่วนถ้าถามว่าทีมฟุตบอลทีมชาติไทยมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปไกลกว่านั้น
ในช่วงเดือนเมษายน 2559 แพลน บี ได้ทุ่มงบเป็นจำนวนกว่า 3,240 ล้านบาทเพื่อปิดดีลคว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนบริหารสิทธิประโยชน์ดูแลลิขสิทธิ์ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย และบริษัท พรีเมียร์ ลีก (ไทยแลนด์) จำกัด (PLT) เป็นระยะเวลา 4 ปี (สิ้นสุด 2563)
ไม่แปลกที่แพลน บี ในฐานะผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ทีมชาติไทยจะเล็งเห็นถึงศักยภาพและความทรงพลังของศิลปินกลุ่มไอดอลหญิง BNK48 จากการร่วมงานในครั้งที่ผ่านมา จนนำไปสู่การพูดคุยและการปิดดีลในครั้งนี้ (Boxset ทีมชาติไทยที่ทำร่วมกับ BNK48 จำนวน 10,000 ชุด ขายหมดเกลี้ยง!)
มุมมองความเห็นจากแหล่งข่าววงในเชื่อว่า แพลน บี เล็งเห็นว่าธุรกิจของบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ มีแนวโน้มและโอกาสทางการเติบโตที่สูงเป็นอย่างมาก ประกอบกับช่วงระยะหลังๆ ทางวง BNK48 เองก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถขยายช่องทางความนิยมไปได้ในหลากหลายธุรกิจ
ดังนั้นหากดีลนี้ยิ่งเกิดได้เร็วขึ้นเท่าไรก็ย่ิงจะเป็นผลดีให้บริษัทเข้ามาอยู่ในตลาดได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น รวมถึงยังสามารถเข้าซื้อหุ้นของบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ในราคาที่ยังไม่สูงจนเกินไปอีกด้วย
“แพลน บี จะมีช่องทางทำธุรกิจมากขึ้น เพราะเดิมทีเขาก็มีธุรกิจสื่อในมืออยู่แล้ว ในอนาคตนอกจาก BNK48 จะช่วยดึงดูดโฆษณาเข้ามาที่บริษัทได้แล้ว ก็นับเป็นการแตกไลน์ธุรกิจรูปแบบหนึ่งอีกด้วย ผู้บริหารแพลน บี ก็คงมองธุรกิจอื่นๆ ที่มีศักยภาพจะเติบโต และหากเป็นธุรกิจที่ตรงกับกลยุทธ์ของบริษัท พวกเขาก็น่าจะมีแพลนลงทุนต่อไป เมื่อเทียบจากความเป็นไปได้ของ 2 ดีลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน” แหล่งข่าววงในกล่าว
ก่อนหน้านี้เดือนมกราคมที่ผ่านมา แพลน บี ได้เข้าซื้อหุ้น 19.48% ในบริษัท แบงคอกเมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด บริษัทในเครือ BEM บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT)
เสน่ห์เกินต้านทานของบีเอ็นเค48 ออฟฟิศ และโอกาสทางธุรกิจที่ท้าทายของแพลน บี
ต้นปีที่ผ่านมา THE STANDARD เคยนำเสนอเรื่องราวกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขับเคลื่อนศิลปินกลุ่มไอดอลหญิง BNK48 ให้โด่งดังและประสบความสำเร็จภายใต้การบริหารงานของ จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด มาแล้ว (คลิกอ่านที่นี่)
ในตอนนั้นเราประเมินเบื้องต้นไว้ว่าศิลปินไอดอลหญิงขวัญใจโอตะในประเทศกลุ่มนี้ น่าจะมีรายรับช่วงปี 2560 ซึ่งนับเป็นปีแรกของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอยู่ที่ราวๆ หลักหลายสิบล้านบาท
เพราะแค่เบื้องต้นซีดีเพลงทั้ง 2 ซิงเกิลที่จำหน่ายพร้อมรูปภาพศิลปินไอดอลหญิงและบัตรจับมือทั้ง ‘อยากจะได้พบเธอ’ และ ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ก็ขายได้รวมกัน 43,500 แผ่น คิดเป็นมูลค่า 15,225,000 บาทแล้ว (แผ่นละ 350 บาท) ส่วนบัตร Founder Member BNK48 ก็ลือกันว่าขายออกไปได้หมดกว่า 400 ใบ คิดเป็นมูลค่า 8,000,000 บาท นี่ยังไม่นับรวมรายได้จากงานโชว์ตัวและการออกอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งรวมๆ กันแล้วก็น่าจะเฉียดหลักหลายล้าน
ด้วยความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง บวกรวมกับความรักที่กลุ่มโอตะมีให้สมาชิกในวงทุกคนนี่เอง ปีนี้กระแสความนิยมของ BNK48 จึงฮอตปรอทแตกยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว วัดจากการที่วงได้โอกาสเป็นพรีเซนเตอร์และแบรนด์แอมบาสเดอร์ผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ จำนวนไม่ถ้วน
ไล่เลียงตั้งแต่ แลคตาซอย, True, Fujifilm, A.P. Honda, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, เกม Dragon Nest M, Jele Beautie, Lotte Toppo Thailand รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 8 ราย และน่าจะไม่หยุดอยู่แค่เท่านี้แน่นอน และแต่ละรายก็น่าจะมีมูลค่าสัญญาที่แตกต่างกันตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลักสิบล้าน
ขณะที่สินค้าอื่นๆ จากฝั่ง BNK48 ในปีนี้ก็ยังทำรายได้ดีต่อเนื่อง
- ซิงเกิลที่ 3 ‘วันแรก (Shonichi)’ จำหน่ายได้ประมาณ 170,000 ชุด = คิดเป็นรายได้ประมาณ 59.5 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมซิงเกิลใหม่ River ที่ยังไม่วางจำหน่าย)
- บัตร Founder Member BNK48 ที่จำหน่ายหมดไปแล้ว 1,000 ใบ ใบละ 20,000 บาท = คิดเป็นรายรับทั้งหมด 20 ล้านบาท
- BNK48 Campus Card (บัตรที่นั่งล่วงหน้าสำหรับ BNK48 Theater พร้อมบัตรเข้าร่วมอีเวนต์จับมือ) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจำหน่ายผ่าน 3 ช่องทาง = ทำเงินไปทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านบาท (ใบละ 600 บาท)
- BNK48 x Changsuek ‘Surprise! BOX SET’ (ทำร่วมกับทีมชาติไทย) จำหน่ายได้ทั้งหมด 10,000 ชุด ชุดละ 3,000 บาท = คิดเป็นรายรับประมาณ 30 ล้านบาท (ยังไม่นับรวมยอดพรีออร์เดอร์ Photoset BNK48 x CHANGSUEK ที่ขายชุดละ 250 บาท และตอนนี้น่าจะจำหน่ายได้แล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ชุด คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท)
- บัตรคอนเสิร์ต BNK48 1st Concert 2 รอบ จำหน่ายได้รวมกันแบบ Sold out ที่ 11,000 ที่นั่ง ราคาที่นั่งเฉลี่ยตั้งแต่ 800, 1,000, 1,500 และ 2,000 บาท
- บัตรเข้าชมการแสดงใน BNK48 Theater ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งใน 1 สัปดาห์จะมีการแสดงทั้งหมด 3 รอบ (วันเสาร์ 2 รอบ วันอาทิตย์อีก 1 รอบ) รวมรอบละ 350 ที่นั่ง ราคาใบละ 400 บาท โดยตั้งแต่เปิดทำการโรงละครตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ (ไม่นับรวมรอบ Founder) มีการจำหน่ายบัตร Sold out ออกไปหมดแล้วทั้ง 9 รอบ รวม 3,150 ที่นั่ง = คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.26 ล้านบาท
- ช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้ (มิถุนายน-ธันวาคม) หากมีการแสดงทุกสัปดาห์ก็จะทำรอบได้มากกว่า 93 รอบ และหากจำหน่ายที่นั่งได้เต็มทุกรอบจำนวน 32,550 ใบ ก็จะทำเงินได้มากกว่า 13 ล้านบาท
- ที่โรงละคร BNK48 Theater จะมี BNK48 Cafe ซึ่งจำกัดรับวันละแค่ 1,250 คิว มีจำหน่ายเครื่องดื่มชา กาแฟต่างๆ โดยที่ร้านจะมีโปรฯ ซื้อเมนูซิกเนเจอร์ครบ 200 บาท ต่อ 1 ใบเสร็จได้รับที่รองแก้ว ซึ่งปกติแล้วเมนูซิกเนเจอร์ก็จะขายดีหมดภายใน 2 ชั่วโมง เมื่อครบโควต้า แต่อยากได้ที่รองแก้วก็จะต้องซื้อเมนูปกติให้ครบ 250 บาทต่อ 1 ใบเสร็จ เฉลี่ยใน 1 วันน่าจะจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ใบเสร็จ = คิดเป็นเงินประมาณ 125,000 บาท
- นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ระลึกเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่ขายดิบขายดีตลอดทั้งปี ประเมินคร่าวๆ จนถึงตอนนี้ BNK48 น่าจะทำรายรับรวมทั้งสิ้นสูงกว่า 200 ล้านบาทไปแล้ว! (จิรัฐตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่าต้องทำรายรับแตะหลักร้อยล้านให้ได้)
ล่าสุด THE STANDARD ได้ติดต่อไปยัง จิรัฐ บวรวัฒนะ เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมหลังการประกาศดีลในครั้งนี้ โดยจิรัฐบอกว่า “ทางคุณบี-ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แพลน บี) และเราคุ้นเคยในฐานะเพื่อนกันมานานแล้ว ช่วงที่เราเริ่มต้นฟอร์มวง BNK48 เราก็ไปขอมีเดียจากเขามาช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ ‘We need you BNK48’ หลังจากนั้นช่วงที่จะทำมิวสิกวิดีโอ Shonichi เราคิดว่าอยากทำเป็นแคมเปญร่วมกับนักฟุตบอลทีมชาติไทย เล่าเรื่องผสมผสานระหว่างความเป็นนักกีฬาและไอดอลสไตล์ BNK48 เพื่อถ่ายทอดความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความพยายามออกมา
“ความร่วมมือในครั้งดังกล่าวประกอบด้วยการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ การโชว์เพลงครั้งแรกในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ รวมไปถึงการพาน้องๆ เข้าไปร่วมเชียร์ที่สนามในฐานะทีมเชียร์อย่างเป็นทางการ การทำสินค้าที่ระลึกร่วมกันเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปให้ทีมชาติไทยและมูลนิธิต่างๆ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 4 ส่วนได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยและ BNK48 ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
“หลังจากนั้นทางแพลน บี ก็เริ่มเห็นศักยภาพของ BNK48 มากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การพูดคุยว่าเราพอจะเป็นพันธมิตรกันได้อย่างไรบ้าง ฝั่งเขาก็ให้สื่อผมในการประชาสัมพันธ์น้องๆ ผ่านทางแพลน บี มีเดีย ส่วนสื่อของเขาเองก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเหมือนกัน ขณะที่น้องๆ ของเราเองก็เป็นที่รู้จักของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้องๆ ออกซิงเกิลใหม่และต้องเปลี่ยนชุด สื่อดิจิทัลมีเดียของแพลน บี ก็เข้ามาตอบโจทย์ในการสื่อสารแต่ละแคมเปญออกไปได้ค่อนข้างดี”
ความร่วมมือและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี่เองที่นำไปสู่การพูดคุยที่จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดได้กลายเป็นการเข้ามาลงทุนกับบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด ในสัดส่วน 35% โดยปัจจุบัน บริษัท โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอยู่ที่ 55% ตามมาด้วย บริษัท AKS จากประเทศญี่ปุ่น (ผู้ก่อตั้ง AKB48) 10%
จิรัฐบอกว่าก่อนหน้านี้มีบริษัทและหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุนใน บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ทุกรูปแบบ ทั้งบริษัทในญี่ปุ่น บริษัทในไทย กองทุนและกลุ่มนักลงทุนต่างๆ แต่เนื่องจากบีเอ็นเค48 ออฟฟิศ มองถึงประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน (Synergy) ที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ แพลน บี จึงตอบโจทย์ของพวกเขาได้มากที่สุด
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จิรัฐบอกว่าโรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ ยังคงรับหน้าที่ด้านการบริหารจัดการอยู่เช่นเคย ส่วนแพลน บี จะเข้ามาให้การสนับสนุนผ่านการทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเงินที่เพิ่มทุนเข้ามาก็ยังจะนำช่องทางสื่อ OOH ที่มีอยู่ในมือมาสร้างการรับรู้แคมเปญหรือการปล่อยซิงเกิล หรือกิจกรรมต่างๆ ของวง BNK48 ให้แข็งแรงและแพร่หลายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ เครือข่ายพาร์ตเนอร์สื่อของแพลน บี ในต่างประเทศ ก็ยังจะเป็นหนึ่งในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ BNK48 มีความยั่งยืนในการเติบโต และขยับขยายความนิยมออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น”
ดังนั้นหุ้น 35% หรือประมาณ 182.25 ล้านบาทที่แพลน บี เข้าซื้อจาก บริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด จึงถือเป็นจำนวนเงินที่สมน้ำสมเนื้อเมื่อเทียบกับความนิยมของวง BNK48 ในปัจจุบัน (เนื่องจากยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงพอจะประเมินได้ว่าปัจจุบัน บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ มีมูลค่ารวมๆ มากกว่า 520.71 ล้านบาท)
ขณะที่ในเร็วๆ นี้ หลังเพิ่งประกาศเปิดตัวสมาชิก BNK48 รุ่น 2 อีก 27 คนออกมาเพื่อผนึกกำลังร่วมกับสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 26 คนก็จะครบ 53 คนพอดี ทำให้ครอบครัว BNK48 ยิ่งมีกำลังในการขยายความนิยมและความสำเร็จออกไปได้อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองที่โน้มน้าวและเชื้อเชิญให้แพลน บี ต้องรีบตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นบีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ในสัดส่วนดังกล่าว เพราะนอกจากประโยชน์ด้านรายรับที่ทั้ง 2 บริษัทจะได้รับร่วมกันแล้ว ก็ยังพลอยทำให้แพลน บี สามารถต่อยอดโอกาสธุรกิจบันเทิงได้ด้วย (ก่อนหน้านี้เจาะตลาดกีฬากับทีมฟุตบอลทีมชาติไทยและสมาคมไทยลีก)
ฟากบีเอ็นเค48 ออฟฟิศ ก็มีผู้สนับสนุนรายใหม่ ที่ไม่ได้มีศักยภาพแค่ด้านทรัพยากรเงินทุนเท่านั้น แต่ยังนับรวมช่องทางโปรโมตแพลตฟอร์มการโฆษณาแบบ OOH ที่แพลน บี มีอยู่ในมือเป็นทุนเดิม
นั่นหมายความว่าในอนาคตเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นสาวๆ BNK48 ตามสื่อนอกบ้านมากขึ้น หรืออาจจะมีแคมเปญสนุกๆ ให้เหล่าโอตะ โอชิเข้ามามีบทบาทและเอ็นเกจกับศิลปินได้ใกล้ชิดกว่าที่เคย และแน่นอนว่าแพลน บี ยังจะช่วยขยายช่องทางความโด่งดังของ BNK48 ให้เป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย
อ้างอิง:
- www.set.or.th/set/newsdetails.do?newsId=15270325598511&language=th&country=TH
- www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=PLANB&language=th&country=TH
- www.planbmedia.co.th
- investor-th.planbmedia.co.th/company_history.html
- www.goal.com/th/news/4280/ฟุตบอลไทย/2016/04/22/22672112/มหาศาลPlan-Bทุ่ม-3240-ล้านคว้าสิทธิประโยชน์สบอลPLT-4-ปี
- www.kaohoon.com/content/213569)
- www.facebook.com/bnk48official/posts/1383912355069352
- www.thaiticketmajor.com/map/4289-th.html
- music.trueid.net/detail/3VdvDGMM1E0
- www.bnk48.com/#/home