เมื่อ พิต้า ตอฟาโตฟัว นักกีฬาเทควันโดจากประเทศตองกา มาร่วมโอลิมปิกอีกครั้ง และเสียงฮือฮาจนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกอยู่ ณ เวลานี้ ด้วยการปรากฏตัวในฐานะผู้ถือธงชาติตองกา ที่มาในชุดพื้นเมือง โชว์หุ่นที่ชโลมน้ำมันให้เห็นมัดกล้ามอันแข็งแกร่งและซิกแพ็กที่แบนราบ ไม่ต่างจากพิธีเปิดโอลิมปิกปี 2016 ที่ประเทศบราซิล และโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง เกาหลีใต้ ที่เขาเคยเดินเปลือยอกเข้าสนามมาแล้ว ครั้งนี้เราเลยจะมาถอดรหัสการดูแลตัวเองและวิธีฟิตหุ่นของนักกีฬาตองกาวัย 37 ปีคนนี้ ว่าเขาทำอย่างไรถึงได้ยังฟิตอยู่เสมอ
1. เล่นกีฬาที่หลากหลาย
แม้พิต้าจะติดโอลิมปิก 2020 ในฐานะนักกีฬาเทควันโด แต่ตัวเขาเองมีความชอบกีฬาที่หลากหลาย เพราะเป็นทั้งนักกีฬาสกีข้ามทุ่ง (Cross-country skiing) และพายเรือแคนู (Canoe) ที่ต้องใช้ทักษะในการเล่นที่หลากหลาย รวมถึงการใช้งานร่างกายที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับกีฬาทั้งสามประเภท พิต้าจึงต้องหมั่นฟิตร่างกายให้ครบทุกส่วน ทั้งทางด้านความแข็งแกร่ง ความอึด รวมถึงความคล่องตัว ส่งผลให้เขามีกล้ามเนื้อที่สมส่วน ทั้งช่วงบนอย่างอก ไหล่ แขน หลัง แกนกลางลำตัว และขาอันทรงพลัง
ภาพจาก @PITA_TOFUA
2. ฝึกทั้งเวตเทรนนิ่ง คาร์ดิโอ และทักษะเฉพาะทาง
อย่างที่บอกว่าพิต้ามีความชอบกีฬาที่หลากหลาย ดังนั้น การออกกำลังกายของเขาจึงไม่ได้จำกัดแค่การยกเวตเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่ง แต่ยังรวมถึงการเพิ่มความทนทานหรือความอึด ทำให้สามารถเล่นกีฬานานๆ ได้โดยที่แรงยังไม่ตก เช่นเดียวกับการฝึกความคล่องตัวและไหวพริบ ซึ่งเป็นทักษะของกีฬาเทควันโด จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นเขาทั้งเข้ายิมยกเวตหนักๆ คาร์ดิโอเผาผลาญไขมัน และเพิ่มความอึดด้วยเครื่องกรรเชียงบก (Rower) ที่ดัดแปลงที่จับให้มีลักษณะคล้ายไม้พายแคนู
นอกจากนี้ยังใช้อุปกรณ์ฟรีเวตที่อาจไม่ได้มีน้ำหนักมากนักอย่างเชือกออกกำลังกาย เมดิซินบอล ล้อรถขนาดใหญ่ ฯลฯ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อด้วยท่าที่เครื่องออกกำลังกายขนาดใหญ่ไม่สามารถมอบให้ได้ เช่น การใช้บอลเล่นแกนกลางลำตัวในท่าบิดเอว รวมถึงการฝึก Plyometric เพื่อให้ร่างกายสามาถเค้นพละกำลังสูงสุดได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักกีฬา
ภาพจาก https://www.facebook.com/TeamPita
-
เอ็นจอยกับการกิน หาบาลานซ์ที่ลงตัว
พิต้าเผยว่า หากอยู่ในช่วงเก็บตัว เขามักเอ็นจอยกับการกินอาหารที่มีแคลอรีสูง เพราะต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อและใช้พลังงานในการฝึกซ้อม แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงแข่งขัน การสะสมน้ำหนักตัวหรือไขมันที่มากเกินไปอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนักสำหรับกีฬาบางประเภท เช่น การวิ่งมาราธอน ดังนั้น เคล็ดลับของเขาคือการหาจุดตรงกลางที่ทำให้ตนเองมีความสุข และไม่เบียดเบียนกีฬาที่เล่นอยู่
ภาพจาก https://www.facebook.com/TeamPita
เขาจึงเลือกกินอาหารที่ทำให้เขามีความสุขและเฮลตี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่มากเกินจนเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬา สำหรับโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ พิต้าได้รีดน้ำหนักตัวลงจาก 103 กิโลกรัม ให้มาอยู่ที่ 98 กิโลกรัม (เขาโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งเทควันโด ในขณะที่การแข่งสกีข้ามทุ่งเมื่อปี 2018 เขามีน้ำหนักตัวเพียง 90 กิโลกรัมเท่านั้น
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล