×

ศิริกัญญาบอกเศรษฐาแถลงนโยบายเหมือน GPS ที่หลงทาง ไม่ชัดเจน-ไร้กรอบเวลา-ไร้ที่มางบ ให้คะแนนต่ำกว่าประยุทธ์-ยิ่งลักษณ์

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2023
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

วันนี้ (11 กันยายน) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มอภิปรายถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคนแรก โดยกล่าวว่า การแถลงนโยบายเป็นคำมั่นสัญญาและเป็นคัมภีร์ที่จะต้องติดตามตรวจสอบไปตลอด 4 ปี จะเป็นโอกาสที่ท่านได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะนำความก้าวหน้าอะไรมาให้และด้วยวิธีการใด ซึ่งจะถือเป็นความรับผิดรับชอบที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

 

ศิริกัญญาเปรียบเทียบคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเหมือน GPS ที่หลงทาง ขาดความชัดเจน พร้อมเปรียบเทียบกับการแถลงนโยบายของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยย้ำว่าจะต้องบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ มิเช่นนั้นจะถือว่าทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน และการเลือกตั้งคงไร้ความหมาย ซึ่งคำแถลงนโยบายของเศรษฐาถือว่าได้รับคะแนนน้อยกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดกรอบเวลาและที่มาของงบประมาณไว้อย่างชัดเจนและตรงกับนโยบายที่หาเสียงไว้ ต่างกับเศรษฐาที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การเขียนแถลงนโยบายเป็นเหมือนคำอธิษฐาน 

 

ศิริกัญญาระบุอีกว่า ในรายละเอียดหาเสียงบางส่วนยังมีความแตกต่างกับการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เป็นค่าแรงขั้นต่ำเป็นทำเงินเดือนเป็นธรรม เป็นต้น และมีนโยบายบางส่วนหายไป เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมแนะนำให้นำแผนการทำงานในภาคเอกชนมาใช้ในการแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้นำการทำงานแบบนี้มาใช้ ทำให้เป็นการแถลงที่ขาดความทะเยอทะยาน เสมือนหลับตาข้างหนึ่งเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่มีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ หรือกล้าแตะเรื่องยากๆ ที่เป็นต้นตอ ต่างกับตอนหาเสียงเป็นอย่างมาก ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้ตามสัญญา หากทำไม่ได้ก็ไม่ควรหลอกประชาชนในการหาเสียงตั้งแต่แรก และอีกเหตุผลที่ทำไม่ได้คือการเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว นโยบายผสมกันไม่ได้ จึงต้องเขียนให้ลอยๆ และเกรงใจกลุ่มอำนาจทุน ทำให้ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ พร้อมย้ำว่าไม่ใช่แค่เศรษฐาที่เปลี่ยน แต่พรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยน 

 

ส่วนเรื่องแหล่งรายได้และที่มาของเงินโดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ศิริกัญญาระบุว่า ต้องใช้จำนวนเงินมหาศาล 5.6 แสนล้านบาท จำเป็นต้องมีเงินจริงมากองไว้ และงบประมาณปี 2567 มีเงินสดไม่เพียงพอ หากจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น การกู้ยืมเงินจากหน่วยงานภาครัฐ การใช้กองทุนหมุนเวียนของผู้ประกันตนหรือข้าราชการบำนาญ หรือการขายกองทุนวายุภักษ์ จะทำให้งานแรกของรัฐเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐเลยหรือไม่

 

ศิริกัญญายังระบุอีกว่า การแจกเงินครั้งใหญ่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง แต่หากวินิจฉัยโรคไม่ถูกจะเป็นการรักษาไม่ตรงจุด หากไม่รักษาอาการป่วยที่เรื้อรัง ก็จะทำให้งบประมาณที่เสียไปไม่คุ้มค่า 

 

“เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แน่นอนว่ากระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ แต่ไม่ได้เพียงพอให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำไว้บรรเทาภัยแล้ง ไม่สามารถทำให้เกษตรกรได้เอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตัวเองได้ ไม่สามารถช่วยให้ผู้ส่งออกส่งออกเพิ่ม หรือไม่ตัดโอทีคนงานได้ ขอให้ท่านบริหารจัดการให้ดี การบริหารจัดการแผ่นดินไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าแบบนี้ไม่ได้” ศิริกัญญากล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising