×

ปกรณ์ พงศ์วราภา เปิดใจที่แรก เบนเข็มจีเอ็มกรุ๊ปสู่อีคอมเมิร์ซ ลดสัดส่วนสื่อเหลือ 25%

05.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ปกรณ์ตั้งเป้าในอนาคตให้อีคอมเมิร์ซเป็นหัวหอกทำรายได้ 50% ของจีเอ็มกรุ๊ป และอาจจะเปลี่ยนนิยามบริษัทจากจีเอ็ม ‘มัลติมีเดีย’ เป็น ‘โฮลดิ้ง’ ลดสัดส่วนสื่อเหลือไม่ถึง 25%
  • เขาไม่เสียดาย หากสื่อออนไลน์ GM Live จะมีตัวตนไม่เหมือน GM เพราะธรรมชาติของสื่อทั้งสองชนิดต่างกันโดยสิ้นเชิง
  • ปกรณ์ตั้งเป้าเกษียณใน 4 ปีข้างหน้า เขาย้ำว่าแม้สื่อสิงพิมพ์จะซบเซา แต่ก็ไม่เคยเสียใจที่ทำงานด้านนี้ เพราะตลอด 30 ปีที่ผ่านมานี้ได้สัมผัสคนเก่งๆ ความคิดดีๆ มากมาย เป็นกำไรที่มีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

“ภรรยาผมยังงงอยู่เลย ทำหนังสือมาตลอดชีวิต จู่ๆ จะไปทำของขาย”

 

ไม่ใช่แค่ภรรยาของปกรณ์เท่านั้น เพราะเราเองก็ยังตกใจและประหลาดใจกับคำตอบของเขา

 

ในวงการสื่อสารมวลชน ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ ปกรณ์ พงศ์วราภา เขาคือผู้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตนิตยสารผู้ชาย GM ที่มียอดผู้อ่านสูงสุดตลอด 32 ปี และนิตยสารในเครืออีก 6 เล่ม ได้แก่ GM BIZ, GM 2000, GM Car, GM Watch, 247 และ Mother & Care

 

ชีวิตของปกรณ์เหมือนหนังดราม่าชั้นยอด เขาเป็นลูกชาวสวนคนจีนจากนครปฐม จบแค่ ม.3 เข้ากรุงเทพฯ มามือเปล่า เริ่มงานหนังสือที่นิตยสาร ลลนา ของสุวรรณี สุคนธา สร้างชื่อจากการเป็นนักเขียนเพื่อชีวิต ข้ามมาเป็นเจ้าของหนังสือปลุกใจเสือป่า หนุ่มสาว และนิตยสาร ไฮคลาส ก่อนจะปักหลักกับนิตยสาร GM ผ่านวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า เคยติดหนี้ 88 ล้านบาท เคยปิดหัวนิตยสารนับไม่ถ้วน แต่ก็กัดฟันผ่านมาได้ทุกครั้ง

 

ปัจจุบันผู้คร่ำหวอดในวงการนิตยสาร วัย 71 ปี เป็นตัวแทนของคนที่ทำงานหนักจนประสบความสำเร็จ เขามีตึกชื่อนามสกุลตัวเอง มีพนักงานในเครือกว่า 100 คน มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และมีเพนต์เฮาส์สุดหรูอยู่บนชั้น 7 ของอาคารจีเอ็มกรุ๊ป

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีรายได้เทียบเป็น 50% ของบริษัท พูดง่ายๆ ว่าธุรกิจขายของที่เราวางไว้ในอีก 3 ปีข้างหน้ามันจะเติบโตเป็นรายได้ครึ่งหนึ่งของจีเอ็ม

 

แต่แล้วเมื่อพายุลูกใหญ่ที่ชื่อ Digital Disruption เข้าจู่โจม หนังเรื่องนี้ก็ถึงจุดพลิกผัน นิตยสารหลายหัวของเพื่อนฝูงปิดตัวเป็นว่าเล่น ปกรณ์ประสบความยากลำบากในการพยุงบริษัทไปต่อในระดับที่เจ้าตัวเปรยว่า ‘หนักที่สุดในชีวิต’ หลายคนเฝ้ามองว่ายักษ์ใหญ่จะปรับตัวอย่างไร

 

สื่อออนไลน์ GM Live หนึ่งในคำตอบของคำถามดังกล่าว ตลอด 9 เดือนที่ทีมงานปลุกปั้นเริ่มได้รับกระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Know the World, GM Live ซึ่ง ณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ GM Live ประกาศข่าวดีว่าเว็บไซต์มีคนอ่านต่อเดือนมากกว่า 1 ล้านวิวแล้ว

 

THE STANDARD เตรียมคำถามเกี่ยวกับการปรับตัวของสื่อ กดลิฟต์ขึ้นชั้น 7 ไปยังเพนต์เฮาส์โอ่อ่าบนตึกจีเอ็มกรุ๊ป ปกรณ์ออกมาต้อนรับด้วยความกันเอง บนชั้นหนังสือยังมีนิตยสาร GM เล่มครบรอบ 10 ปี 20 ปี 30 ปี วางเด่นเป็นสง่า  

 

ทว่าคำตอบของเขาทำให้เราประหลาดใจชนิดเปลี่ยนคำถามแทบไม่ทัน!

 

นี่คือการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของ ปกรณ์ พงศ์วราภา ที่บอกเราว่า อนาคตของจีเอ็มอาจไม่ใช่บริษัท ‘สื่อ’ อีกต่อไป เพราะเขากำลังเลี้ยวรถไปอีกเส้นทางที่ต่างจาก 32 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง

ในอีกมุมหนึ่ง คุณจะถือว่าผมเป็นคนเก่งไหม จาก 45 ล้านหมุนจนเป็น 400-500 ล้านได้ ลองให้ผมสัก 400 ล้านสิ ผมจะหมุนเป็น 4,000 ล้านให้ดู

 

ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา นิตยสารที่เป็นเพื่อนคุณล้มหายตายจากไปหลายเล่ม ความรู้สึกส่วนตัวของคุณตอนนี้เป็นอย่างไร

ปัญหาสื่อสิ่งพิมพ์ส่อเค้ามาตั้งแต่เมืองนอกแล้ว ผมเริ่มรู้แล้วว่าภูมิทัศน์ของสื่อต้องเปลี่ยน แต่ไม่เคยนึกว่าจะเร็วขนาดนี้ ปี 2558-2559 บริษัทเริ่มขาดทุนเป็นครั้งแรก ก่อตั้งมา 30 ปีไม่เคยขาดทุนเลย ก็ต้องปรับธุรกิจใหม่ พยายามลดคนและไม่ไปหวังอะไรกับสิ่งพิมพ์มากนัก ขอให้มันมีชีวิตอยู่ของมันไปได้ ขาดทุนได้ แต่อย่าเยอะ ไม่ได้มองเรื่องกำไร

 

ผมก็เริ่มปรับตัว ต่อยอดคอนเทนต์ เปลี่ยนรูปแบบไปทางอื่นบ้าง เช่น รายการทีวี (Journey The Series) อีเวนต์ แต่มันไม่ได้ง่ายหรอก เพราะค่าใช้จ่ายโปรดักชันรายการทีวีเราสูงมาก ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนมาเป็นรับจ้างผลิต แล้วก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่น

 

ธุรกิจอื่นที่ว่านั้นคืออะไร

ขายของพวกสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) เรามีนิตยสาร Mother & Care ที่ทำมาสิบกว่าปีแล้ว เราก็เริ่มออกผลิตภัณฑ์ชื่อ Mommy Juicy เป็นน้ำหัวปลีกล้วย อินทผลัม ยอบ้าน เครื่องดื่มสำหรับคุณแม่เพื่อเตรียมน้ำนม มีคุณสมบัติช่วยทำให้คุณแม่มีน้ำนมเยอะ ผมพิสูจน์ด้วยตัวเองกับคนในครอบครัว ลูกสะใภ้ผมกินตอนท้อง นมเยอะจนหลานกินไม่ทัน ต้องซื้อตู้เย็นแบบไอศกรีมมาแช่น้ำนม

 

 

ขายดีไหม

จะเรียกว่าดีก็คงไม่ได้ ไม่ดีก็ไม่ได้ ธุรกิจเราเพิ่งเริ่ม ตลาดที่เราจะหาคนซื้อยังไม่กว้างเมื่อเทียบกับคนที่ทำธุรกิจด้านนี้มาตลอดหลายสิบปี ช่องทางการจัดจำหน่ายเขากว้างกว่าเรามาก แต่หลังจากที่ลงไปทำก็คิดว่าไม่ต่างอะไรกับการทำหนังสือ มันเหมือนกันเลย โรงงานก็เหมือนโรงพิมพ์ ทุกคนก็มองหาลูกค้าที่จะเข้าไป โรงงานแต่ละแห่งก็มีผลิตภัณฑ์ของเขา ซึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้วว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีประโยชน์ ก็เพียงแต่รอคนที่จะเอาไปปั้น ตั้งชื่อ ออกฉลากใหม่ แล้วก็ไปทำตลาดใหม่ เอาเป็นว่าไม่ลำบากใจที่จะหาของออกไปขาย ลำบากใจตรงช่องทางการจัดจำหน่ายที่ต้องค่อยๆ หามากกว่า

 

มีธุรกิจอื่นที่ตั้งใจจะทำอีกไหม

ก็มีอีเวนต์ที่ทำอยู่แล้ว และตั้งเป้าจะทำหนังด้วย อยู่ในขั้นตอนการเขียนบทอยู่ ผมไม่ได้ลุยถึงขนาดจะไปแข่งกับพวกแกรมมี่ ปีหนึ่งทำสักเรื่องสองเรื่อง ส่วนอีเวนต์ก็ปีหนึ่งทำสัก 3-4 ครั้ง

จีเอ็ม มัลติมีเดีย มันอาจจะเปลี่ยนเป็น ‘จีเอ็ม โฮลดิ้ง’ ก็ได้ ผมอาจจะมีบริษัทลูกทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหรือสินค้าจำพวกอาหารออกมา แต่อย่างไรก็ตาม สื่อเป็นสิ่งที่ผมยังต้องเก็บไว้

 

จีเอ็มกรุ๊ปจะไม่ได้ทำแค่สื่ออีกต่อไป?

ผมเปรียบธุรกิจของจีเอ็มตอนนี้เป็นเหมือนต้นไม้หนึ่งต้น แล้วแตกกิ่งก้านออกเป็น 7-8 กิ่ง มีทั้งนิตยสาร สื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ อีเวนต์ อีคอมเมิร์ซ ผมเคยประมาณง่ายๆ ว่าธุรกิจของจีเอ็มต่อจากนี้อีก 3-4 ปีข้างหน้าว่า ธุรกิจกระดาษน่าจะเป็นสัดส่วนรายได้ 10% สื่อออนไลน์ 15% ที่เหลืองานอีเวนต์ จัดนิทรรศการ งานรับทำหนังสือให้องค์กรนอก รวมๆ กันแล้วก็จะเป็นอีก 25% ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีรายได้เทียบเป็น 50% ของบริษัท พูดง่ายๆ ว่าธุรกิจขายของที่เราวางไว้ในอีก 3 ปีข้างหน้ามันจะเติบโตเป็นรายได้ครึ่งหนึ่งของจีเอ็ม

 

ทำไมจึงเบนเข็มไปขายของ

มันเป็นไปได้นะครับ ในอนาคตเรายังมีผลิตภัณฑ์อีกมากที่จะปล่อยออกมา อย่างเครื่องดื่มบำรุงน้ำนมแม่ เราก็จดทะเบียนในชื่อบริษัทจีเอ็ม เฮลท์ (GM Health) และกำลังจะจดทะเบียนอีกบริษัทชื่อ จีเอ็ม อินเตอร์ฟู้ดส์ (GM Interfoods) เน้นทำอาหารถุงสำหรับคนรุ่นใหม่ ถั่วดาวอินคา, คั่วกลิ้งปลาแซลมอน, คั่วกลิ้งเห็ด และมีแผนจะทำผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายอีกด้วย เช่น กาแฟเพื่อสุขภาพผสมถังเช่าหรือกระชายดำ จะว่าไปสินค้าพวกนี้มันก็มีคนทำในตลาดอยู่แล้วแหละ แต่เมื่อเราเลือกทำแล้ว มันก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะหาช่องว่างในตลาดได้หรือเปล่า

 

 

มีประสบการณ์การทำสินค้าเหล่านี้หรือเปล่า

ไม่มีครับ ครั้งหนึ่งภรรยาเขาเห็นผมไปยุ่งกับการทำธุรกิจ (อีคอมเมิร์ซ) เลยมาถามว่า พูดตรงๆ นะ ยังงงๆ อยู่เลย ทำหนังสือมาตลอดชีวิต จู่ๆ จะไปทำของขาย ผมเลยบอกเขาว่า เชื่อไหม ผมเป็นมนุษย์พันธ์ุพิเศษ เรียนรู้อะไรไว แค่ 6-7 เดือนเท่านั้นผมก็เข้าใจแล้วว่าธุรกิจพวกนี้มันไม่ได้ต่างอะไรจากการทำหนังสือขายเลย

 

ทำไมมั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับบริษัท

ธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพและอาหารมันเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ ขนาดของตลาดมันใหญ่กว่าตลาดการอ่านด้วยซ้ำ ในเมื่อผมยังอยู่กับสิ่งพิมพ์ที่เริ่มเล็กลงเรื่อยๆ มาได้ตั้ง 20-30 ปี ตอนนี้มันคือการหาตลาดทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแข่งกับผู้ค้ายักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ หรอก เพราะเขามียอดขายแต่ละปีเป็นหลักแสนล้านบาท ผมขอแค่ 500 ล้านบาทก็พอแล้ว

ผมอาจจะไม่เรียกว่าเป็นการกลายพันธ์ุ มันคือการหาหนทางทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ถึงจะไปทำผลิตภัณฑ์ขาย แต่ดีเอ็นเอในตัวก็ยังเป็นคนทำสื่อ

 

สัดส่วนโครงสร้างรายได้ของจีเอ็มกรุ๊ปตอนนี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้ถ้าพูดถึงตัวเลข บิลลิ่งมันก็ไม่ได้ตกมาก 10 ปีที่แล้วที่จีเอ็มมีสิ่งพิมพ์อย่างเดียว บิลลิ่งต่อปีเราเคยอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาท แต่ตอนนี้ก็หล่นลงมาเหลือ 220 ล้านบาท อาจจะหายไปไม่เยอะ แต่ถ้าวัดเฉพาะธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างเดียวเทียบกับอดีต รายได้มันก็ตกเกินครึ่งนะ แต่ตอนนี้เราก็มีช่องทางรายได้จากส่วนอื่นๆ อย่างรายการทีวีแค่รายการเดียวในปีนั้น เราก็มีบิลลิ่งเข้ามา 50 ล้านบาทแล้ว ก็ถือว่าไม่ได้กำไรและขาดทุน

 

ไม่มีใครเชื่อว่าทุนจดทะเบียนเริ่มต้นของจีเอ็มอยู่ที่ 45 ล้านบาท ผู้ใหญ่บางคนมาคุยกับผมยังแปลกใจเลย เพราะเขารู้สึกว่าจีเอ็มดูเป็นองค์กรที่ใหญ่โต มีตึกเป็นของตัวเอง ผมก็บอกเขาไปว่า ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง คุณจะถือว่าผมเป็นคนเก่งไหม จาก 45 ล้านหมุนจนเป็น 400-500 ล้านได้ ลองให้ผมสัก 400 ล้านสิ ผมจะหมุนเป็น 4,000 ล้านให้ดู

 

นิยามและจุดยืนของจีเอ็มกรุ๊ปจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป?

ผมเคยพูดสนุกๆ กับคนใกล้ตัวว่า จีเอ็ม มัลติมีเดีย มันอาจจะเปลี่ยนเป็น ‘จีเอ็ม โฮลดิ้ง’ ก็ได้ ผมอาจจะมีบริษัทลูกทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหรือสินค้าจำพวกอาหารออกมา แต่อย่างไรก็ตาม สื่อเป็นส่ิงที่ผมยังต้องเก็บไว้ เพราะในธุรกิจนี้ คนมีสื่ออยู่ในมือมีแค่ไม่กี่รายหรอก ฉะนั้นทำไมเราถึงต้องทิ้งมันล่ะ สำหรับสื่อกระดาษไม่ต้องไปหวังกำไรหรอก ขาดทุนก็ยังได้เลย แต่อย่าเยอะ พยายามรักษามันไว้แล้วเบี่ยงไปทางออนไลน์แทน เพราะต้นทุนมันน้อยกว่า

 

 

ทำสื่อมานาน เสียดายไหมที่อาจไม่ได้โฟกัสกับมันเหมือนเดิม

ถ้าเสียดายแล้วจะยังไงต่อล่ะครับ หลายคนถามผมว่าเสียดายไหม เศร้าหรือเปล่า ผมบอกว่าก็คงเศร้า แต่อย่านานนัก เศร้าไปทั้งปีก็ช่วยอะไรไม่ได้ ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องทำความเข้าใจว่าจะนำประสบการณ์และคอนเทนต์ที่มีอยู่แปลงเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร มันมีทางไปต่อได้อีกหลายทาง การมาทำอีคอมเมิร์ซก็นับเป็นการแปลงคอนเทนต์รูปแบบหนึ่ง เวลาปล่อยผลิตภัณฑ์ ผมก็มีเรื่องเล่าให้กับสินค้าทุกตัว ผมยังไม่ได้ทิ้งความเป็นคนทำคอนเทนต์

 

คนในบริษัทรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ไหม เขารับได้หรือเปล่า

ทุกคนก็น่าจะเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดคนที่อยู่กับสื่อเก่าอย่างปรินต์ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าตอนนี้มันไปต่อได้ยาก แต่ผมก็ไม่ได้เอาคนเหล่านั้นมาทำอีคอมเมิร์ซนะ เพราะเขาคงไม่เข้าใจอยู่แล้ว คนที่มาทำอีคอมเมิร์ซคือคนอีกพันธ์ุหนึ่ง เรียกว่าเป็นขุนพลใหม่ของจีเอ็มก็ได้

 

ผมเชื่อว่าอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ ปรินต์ยังลงได้อีก ผมเคยพูดไว้เมื่อหลายปีที่แล้วว่าปัญหาของสื่อสิ่งพิมพ์พวกนิตยสารคือจำนวนหัวจาก 500 เล่มจะลดลงเหลือเพียง 50 เล่ม แล้วมันก็น่าจะอยู่ในมือค่ายใหญ่ๆ 2-3 ค่ายเท่านั้น อาจจะยังมีค่ายเล็กๆ ที่ทำด้วยใจรักอยู่บ้าง หน้าที่ของเราคือต้องเป็น 1 ใน 50 หัวนั้นให้ได้ แต่ตอนนี้ผมเริ่มกลับมาคิดว่าถ้าเราเป็น 1 ใน 50 หัวนั้นแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าร้านหนังสือทยอยปิดไปเรื่อยๆ  

 

เคยคิดเหมือนกันว่าถึงตอนน้ันแล้วจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้ร้านหนังสือตามสี่แยก ตามตรอกซอกซอยก็เริ่มปิดตัวกันไปเยอะแล้ว ที่เห็นจะเหลือก็มีแต่โมเดิร์นเทรดอย่างซีเอ็ด แล้วเวลานี้เขาก็มีหนังสือขายในร้านน้อยลงด้วย หรือเราอาจจะกลับมาหาระบบสมาชิก ก็ยังคิดไม่ออกว่าแล้วมันจะอย่างไร ในเมื่อตลอดชีวิตที่ผมทำหนังสือ ทุกคนก็มองหาสมาชิกกันหมด แต่ระบบสมาชิกบ้านเรามันไม่มีทางแข็งแรงเท่าเมืองนอกหรอก ยอดขายนิตยสารต่างประเทศกว่า 70% เขาก็ขายสมาชิกกันหมด  

ยิ่งลำบากแค่ไหน ผมยิ่งต้องอยู่ เวลาได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มันเหนื่อยก็จริง แต่พอผ่านมันไปได้ก็รู้สึกดี

 

การหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าขาย เราจะเรียกว่าคุณกำลังกลายพันธ์ุจากคนทำสื่อได้ไหม

(ครุ่นคิด) ..​.ก็น่าจะได้นะ แต่ผมอาจจะไม่เรียกว่าเป็นการกลายพันธ์ุ มันคือการหาหนทางทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ถึงจะไปทำผลิตภัณฑ์ขาย แต่ดีเอ็นเอในตัวก็ยังเป็นคนทำสื่อ ไม่ได้จางหายไปไหน แล้วก็อาศัยความเป็นคนทำสื่อมาใช้ประโยชน์กับการทำการตลาดผลิตภัณฑ์แทน

 

ย้อนกลับมาเรื่องสื่อ ปีที่แล้วเราเริ่มเห็นชัดเจนว่าจีเอ็มหันมาจับพื้นที่สื่อออนไลน์มากขึ้น

ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่แล้ว แนวคิดที่บอกว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป แล้วให้ปรับตัวไปทำออนไลน์แทน มันคือสิ่งที่ทุกคนพูดกันอยู่ตลอด แต่เมื่อเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่าก็จะพบว่ามันไม่เหมือนกัน ทำไม่ได้ ยากมากที่จะเอาคนทำปรินต์ไปทำออนไลน์ มันครึ่งๆ กลางๆ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้แต่เซลล์ที่ขายโฆษณาของปรินต์ พอต้องไปขายโฆษณาสื่อออนไลน์ เขาก็ทำไม่ได้อีก เราเสียเวลากับการทำส่วนนี้หลายปี และค้นพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น เลยตัดสินใจหาคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ชุดใหม่ทั้งทีมเลย 5-6 เดือนที่ผ่านมา GM Live ที่เคยเงียบๆ จึงเริ่มดีขึ้น และทำได้ดีเกินความคาดหมายของเราไปเยอะ

 

 

บุคลิกของ GM Live ไม่เหมือนกับตัวนิตยสาร GM เลย

ไม่เหมือนกันเลยสักอย่างเดียว ต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์มันต้องเล่นกับข่าวกระแส ขณะที่หนังสือรายเดือนหรือรายสัปดาห์ที่เราทำมันเล่นกับกระแสก็จริง แต่ก็ไม่เร็วเท่าออนไลน์ ทีมงานท่ีทำก็เป็นคนละทีมกัน ทีมออนไลน์ต้องใช้เวลาทุ่มเททำงานแทบจะทั้งวันทั้งคืน ไม่มีพัก ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจตรงนี้

 

ไม่รู้สึกว่าตัวตนความเป็น GM ที่มีมานานจะหายไป?

ผมว่าคำถามมันคือตัวตนที่เราเป็นบนออนไลน์เป็นเรื่องเลวร้ายหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เลวร้ายก็ไม่ต้องมาเสียดายตัวตนที่ GM เคยเป็น เพราะบุคลิกของ GM Live ถึงจะต่างกับนิตยสาร มันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มองย้อนกลับไป รากเหง้าความเป็น GM ก็ยังเหลืออยู่ ตัวนิตยสารยังคงเล่นกับกระแสสังคมและวัฒนธรรมเหมือนกัน สิ่งที่ GM Live ทำจะเรียกว่าไม่มีความเป็นตัวตนของ GM เลยเสียทีเดียวก็ไม่ถูก

 

ผมเข้าใจนะว่าในสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ สื่อมันเปลี่ยนไป มันก็คงต้องไปในรูปแบบนี้แหละ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เรารู้สึกว่าแปลกประหลาดจนรับไม่ได้ขนาดนั้น แน่นอน อาจจะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าความเป็นตัวตนของ GM ไม่ได้เกิดกับ GM Live แต่ขอให้เราได้มีที่ยืนก่อน แล้วเราก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ

ในช่วงระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาคือการที่ผมได้สัมผัสคนเก่งๆ ความคิดดีๆ แทบจะทุกคนในประเทศนี้แล้ว มันคือกำไรมหาศาลและความสุขที่ไม่สามารถระบุลงไปในช่องบัญชีทรัพย์สิน

 

กลยุทธ์ของ GM Live เป็นแบบไหน ตั้งเป้าหารายได้อย่างไร

คงรู้กันอยู่แล้วว่าถึงจะเป็นออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้มีเม็ดเงินเยอะมากมาย คิดกันง่ายๆ ปีหนึ่งยอดขายโฆษณาบนปรินต์และออนไลน์มีเท่ากันที่ 12 ล้านบาท (เดือนละ 1 ล้านบาท) สำหรับปรินต์แล้วถือว่าขาดทุนนะ เพราะต้นทุนสูงกว่า แต่กับ GM Live นี่ถือว่ากำไรเยอะนะ แนวทางตอนนี้จึงไม่พ้นการหาวิธีดึงคนมาเข้าเว็บไซต์เราให้เยอะๆ ก่อน

 

ทุกวันนี้ยังอ่านนิตยสารไหม

ก็ยังซื้ออยู่นะครับ แต่ส่วนใหญ่หลายปีที่ผ่านมาผมจะอ่านนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์มากกว่า ทั้ง Bioscope และ Filmax จนเขาเลิกกันไปแล้ว (Bioscope เปลี่ยนรูปแบบการตีพิมพ์จากรายเดือนไปเป็น issue พิเศษแทน) ตอนนี้ยังเหลือ Starpics อยู่เล่มหนึ่ง นอกจากนี้ผมก็อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ พ็อกเก็ตบุ๊ก แต่ก็ซื้อเก็บไว้เยอะเหมือนกัน แค่ยังไม่มีโอกาสอ่าน อย่างออนไลน์ผมไม่ได้อ่านเลย ไม่เล่นไลน์ด้วย จนมาทำ GM Live นี่แหละ เขาถึงบังคับให้ผมต้องเล่น แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปมอะไรนะ ไม่ได้ต้องไปตามขนาดนั้น ผมอยากมีชีวิตเงียบๆ ของผมบ้าง เพราะขนาดเล่นไลน์แค่ไม่กี่กลุ่ม มันยังเด้งเตือนตลอดทั้งวันเลย

 

บทบาทของคุณในจีเอ็มกรุ๊ปทุกวันนี้คืออะไร

ถ้าเปรียบสถานการณ์ของผมในเวลานี้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผมชอบดู ผมก็มีหน้าที่เหมือนผู้อำนวยการสร้าง จากเมื่อก่อนที่อาจจะเคยเป็นผู้กำกับก็ถอยมาโฟกัสกับการทำธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ แทน แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อออนไลน์

 

 

ถามแทนคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้โตมากับนิตยสาร เหตุผลดีๆ สักข้อที่เรายังต้องอ่านนิตยสารอยู่คืออะไร

ถึงจะยกเหตุผลขึ้นมาอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อหรอก (หัวเราะ) เพราะเขาโตมากับสิ่งแวดล้อมอีกแบบ ถ้าจะให้ผมตอบคำถามนี้คือการอ่านบนตัวกระดาษมันมีช่วงเวลาให้เราได้คิด อ่านทางออนไลน์มันก็มีช่วงเวลาให้ได้คิดแหละ แต่มันไม่เหมือนกันเลยเสียทีเดียว อ่านจากกระดาษมันทำให้คุณได้คิดลงไปลึกมากกว่า ไม่รู้นะว่าคนอื่นจะเป็นแบบที่ผมพูดหรือเปล่า แต่อย่าลืมนะว่าตั้งแต่มนุษย์เริ่มอ่านออกเขียนได้ เราเติบโตกับการอ่านบนกระดาษมาเนิ่นนานแล้ว มันคือดีเอ็นเอการอ่านของมนุษย์ ถ้าวันนี้เราต้องมาอ่านจากสมาร์ทโฟนเครื่องแค่นี้ (ชี้ไปที่โทรศัพท์ของตัวเอง) ผมว่ายังไงมันก็ไม่เหมือนกันหรอก ถ้าคนรุ่นใหม่อยากจะรู้ว่ามันต่างกันอย่างไรก็ต้องกลับไปอ่านตัวปรินต์ที่อาจจะเหลืออยู่ไม่เยอะ

 

แพสชันการทำงานทุกวันนี้คืออะไร เคยคิดอยากจะเกษียณไหม

ก็มันยังมีความสุข ถึงแม้จะเต็มไปด้วยปัญหา แต่ผมกลับรู้สึกท้าทาย ในเวลาอย่างนี้เรายิ่งลุกไปไหนไม่ได้เลย ต้องอยู่สู้กับมันสิ ยิ่งลำบากแค่ไหน ผมยิ่งต้องอยู่ เวลาได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มันเหนื่อยก็จริง แต่พอผ่านมันไปได้ก็รู้สึกดี

 

ปีที่แล้ววันเกิดผม 17 มิถุนายน ผมอายุครบ 70 ปีพอดี ก็ถามหลานสาว 4 ขวบที่นั่งดูหนังด้วยกันว่า รู้ไหม ปู่อายุ 70 ปีแล้วนะ เขาก็ถามผมกลับมาว่า ถ้าอย่างนั้นปู่ก็แก่แล้วสิ ผมบอกว่าปู่ไม่ได้แก่ แค่อายุเยอะ คนบางคนอายุ 25 ปีก็แก่แล้ว เพราะเขาไม่รู้ว่าการมีชีวิตอยู่มีความหมายอะไร ไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ อยู่ไปวันๆ ตอนนี้หลานผมเขาคงไม่เข้าใจหรอก (หัวเราะ) แต่วันหนึ่งถ้าเขารำลึกได้ก็จะเข้าใจความหมายของมันเอง

ถ้าอยู่โดยไม่มีความหวังก็ควรจะลุกไปเศร้าๆ ตายอยู่ที่ไหนสักมุมหนึ่งเถอะ คนเราจะเศร้าควรจะมีเวลา หนึ่งวันหรือสัปดาห์เดียวก็พอแล้ว ถ้าจะให้ไปเศร้าเป็นเดือนเป็นปีนี่ชีวิตคุณแย่แล้ว

 

ทุกวันนี้ความหมายในการดำรงชีวิตแต่ละวันคืออะไร ตื่นเช้ามาคุณคิดถึงอะไรบ้าง

คิดว่าในขณะที่บริษัทกำลังมีปัญหาอยู่ ผมจะทำอย่างไรให้เรือมันตั้งหลักและฝ่าคลื่นทะเลไปได้ ก็ต้ังเป้าไว้ว่าอายุครบ 75 ปีเมื่อไรก็จะขอพักแล้ว แต่คงไม่ได้ทิ้งไปเลยเสียทีเดียว อาจจะไม่ได้เข้ามาที่บริษัททุกวันเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นภายใน 4 ปีนี้ ผมจะทำให้กิ่งก้าน 7-8 กิ่งที่ผมเล่ามาแข็งแรงทุกกิ่ง ให้เป็นกิ่งก้านที่สามารถส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลังๆ ได้ สมมติถ้าผมมีกิ่งนิตยสาร GM กิ่งเดียว คุณลองคิดดูสิว่าผมจะส่งไม้ต่อได้อย่างไร มันยากมาก

 

ในวัย 75 ปี คุณอยากเห็นบริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป เป็นอย่างไร

ก็อยู่กับ 7-8 กิ่งก้านที่มีนี่แหละ แต่ละกิ่งก็อาจจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เสริมเข้ามา บริษัทไม่ได้ปิดกั้นอยู่แล้ว เพราะแต่ละหน่วยมีคนดูแลที่แข็งแรงพอ ส่วนอีคอมเมิร์ซที่เล่าให้ฟังมันก็ส่งไม้ต่อได้ง่าย แล้วเราก็มองตลาดต่างประเทศในเอเชียเป็นหลักด้วย

 

ถ้าเกษียณไปแล้วอยากจะทำอะไร ดูหนัง?

หนังนี่ดูทุกวันอยู่แล้ว ถ้ากลับบ้านไปช่วงเย็น สิ่งที่ผมจะทำเพื่อพักผ่อนสมองคือเดินห้างสรรพสินค้า ไปดูข้าวของใหม่ๆ แต่จะซื้อน้อยมาก สำคัญเลยคือไปหาหนังมาดู กลับถึงบ้านสักสามทุ่มครึ่งผมก็จะดูหนัง 1 เรื่อง ตื่นเช้ามาผมก็จะดูหนังอีกเรื่องก่อนเข้าออฟฟิศ ทำแบบนี้ต่อเนื่องมา 30 ปีแล้ว

 

ผมชอบดูหนังดราม่ามากๆ จนตอนนี้ไม่มีที่เก็บแผ่นดีวีดี ต้องทยอยยกไปให้คนอื่นไม่รู้กี่ลังต่อกี่ลัง ลูกชายผมยังบอกให้ไปสมัครสตรีมมิงวิดีโอ แต่ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความเคยชินของผม เปรียบเทียบก็เหมือนการได้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ไม่ได้อ่านบนสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้ถึงจะไม่ค่อยอ่านหนังสือแล้ว แต่ห้องอ่านหนังสือก็ยังอยู่ ยังซื้อหนังสืออยู่บ่อยๆ ยิ่งมีคนบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะตาย ผมก็ยิ่งอยากอุดหนุน ไม่อย่างนั้นอนาคตคนทำหนังสือจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ อย่างวันก่อน วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ออกหนังสือเล่มใหม่ วัยหนุ่ม แล้วจะเอามาฝาก ผมยังบอกเขาเลยว่าไม่ต้อง ผมอยากอุดหนุน เดี๋ยวไปซื้อเอง เล่มละ 300-400 บาท ผมก็มีกำลังซื้อ ทำไมจะอุดหนุนไม่ได้

 

 

มีอีกหลายๆ บริษัทที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ในฐานะที่ทำสื่อมานาน มีคำแนะนำสำหรับพวกเขาไหม

ผมไม่บังอาจจะให้คำแนะนำใคร (หัวเราะ) เพราะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเขา ตัวผมเองได้รับคำแนะนำมาเยอะ แต่ก็บอกได้เลยว่ามันก็คือ ‘คำแนะนำ’ เวลาทำจริงๆ มันทำไม่ได้ง่ายๆ หรอก อย่างมาบอกผมว่านิตยสารเล่มไหนขาดทุนก็ให้เลิก ปลดพนักงานออก แล้วไปหาเงินมาจ่ายชดเชยให้เขา พูดแบบนี้มันง่ายมากเลยนะ แต่ทำจริงมันยากกว่าอีก

 

ความสุขและความภูมิใจของการทำงานวงการสื่อตลอด 30 ปีที่ผ่านมาคืออะไร

เมื่อ 5-6 เดือนที่แล้วผมได้คุยกับเจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่ผมเป็นลูกค้ามาประมาณ 30 กว่าปี เราสนิทกันมากๆ และนับถือเขาเป็นกัลยาณมิตรคนหนึ่ง ย้อนกลับไปในอดีต เขามีพี่น้องที่ไปลงหุ้นบริษัทผลิตน้ำมันพืช แต่ละปีมีกำไรไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ได้ขยายโรงงานต่อเนื่อง ส่วนตัวเขาเองมาเปิดโรงพิมพ์ จนกระทั่งปัจจุบันคนทำสื่อและโรงพิมพ์ก็ประสบสภาวะไม่ต่างกัน เมื่อหนังสือทยอยปิดตัวลง โรงพิมพ์ก็มีงานน้อยลงไปด้วย

 

เขาถามผมว่า คุณปกรณ์ เราคิดผิดหรือเปล่าที่มาอยู่ตรงนี้กัน ผมตอบเขากลับไปว่าไม่ผิดหรอก ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะอยู่ตรงนี้เหมือนเดิม เราแต่ละคนเกิดมาก็มีหน้าที่ต่างกันออกไป ผมถูกกำหนดมาให้ทำสื่อ คุณถูกกำหนดมาให้ทำโรงพิมพ์ ถ้าผมไม่มีคุณก็ไม่รู้จะไปพิมพ์กับใคร ไม่รู้จะไปหาคนดีๆ แบบคุณได้ที่ไหน แล้วที่เราเป็นตัวเป็นตนได้ทุกวันนี้ก็เพราะสิ่งนี้นะ แม้มันใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่ความผิดของมันเลย ยังไงผมก็ยังยินดีกับมัน แล้วสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด อย่างน้อยในช่วงระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาคือการที่ผมได้สัมผัสคนเก่งๆ ความคิดดีๆ แทบจะทุกคนในประเทศนี้แล้ว การได้สนทนาวิสาสะกับเขาเหมือนที่วันนี้ผมได้สนทนากับคุณ มันคือกำไรมหาศาลและความสุขที่ไม่สามารถระบุลงไปในช่องบัญชีทรัพย์สิน

 

2 ปีที่แล้ว เพื่อนคนหนึ่งเคยถามผมว่าเหลือเงินถึงพันล้านบาทไหม ผมตอบเขาว่าทำไมถึงถามแบบนี้ คุณทำสื่อเหมือนผมก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีทางเหลือเงินได้ขนาดนั้นหรอก แต่ผมอยากให้คุณถามผมใหม่ว่าทุกวันนี้มีความสุขเหลือถึงพันไหม ผมจะตอบคุณว่าผมมีความสุขเหลือเป็นหมื่นเป็นแสน มันมีความทุกข์ตรงไหน นี่คือกำไร ผมได้รู้จักคนเยอะแยะ เมื่อ 50 ปีที่แล้วผมยังไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาอยู่ตรงนี้เลย ตอนนั้นผมคือเด็กหนุ่มลูกคนจีนที่จบแค่ ม.3 เข้ากรุงเทพฯ มามือเปล่า มาลุยธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์โดยไม่รู้จักใครเลย ชีวิตที่มาอยู่ตรงนี้ได้มันโคตรจะกำไรเลยนะ

ผมชอบคำว่า Magazine Man หรือผู้ชายที่ทำแมกกาซีนนะ อยากให้ชื่อนี้ติดอยู่กับผมจนลาจากโลกนี้ไป

 

มองว่าวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้หนักหนาสาหัสขนาดนั้น

หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอ หนักกว่าตอนที่ติดหนี้ 88 ล้านบาทอีก เพราะตอนนั้นบริษัทยังไม่ได้ใหญ่โตขนาดนี้ ความรับผิดชอบยังน้อยอยู่ สมัยนั้นผมมีพนักงานแค่ 20-30 คน แต่ทุกวันนี้ผมมีพนักงาน 140-150 คน มันคือภาวะที่เราต้องฝ่าฟันให้ได้ ตอนปัญหาหนี้ 88 ล้านบาท ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ วงการสื่อก็เหมือนกำลังเริ่มผลิบาน เรายังเก็บเกี่ยวกับมันได้ แต่ปัจจุบันมันคือช่วงร่วงโรย สิ่งที่เกิดขึ้นมันเหนือการควบคุม ไม่รู้จะต้องไปรบกับใคร แต่ก็ต้องสู้ แต่ก็ยังมีความหวังนะ ถ้าอยู่โดยไม่มีความหวังก็ควรจะลุกไปเศร้าๆ ตายอยู่ที่ไหนสักมุมหนึ่งเถอะ ซึ่งเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมถึงบอกว่าคนเราจะเศร้าควรจะมีเวลา หนึ่งวันหรือสัปดาห์เดียวก็พอแล้ว ถ้าจะให้ไปเศร้าเป็นเดือนเป็นปีนี่ชีวิตคุณแย่แล้ว

 

เห็นคุณคุยกับสุทธิชัย หยุ่น แล้วบอกว่าตัวเองเป็น Last Man Standing

แต่ผมไม่ได้อยากเป็นนะ เดียวดายตายเลย การต้องเหลืออยู่คนเดียวไม่มีประโยชน์หรอก เพื่อนฝูงที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันต้องอยู่เป็น Last Man Standing ด้วยกันสิ มันควรจะมี Last Man สัก 10-20 คน ถ้าเป็นคนเดียวก็ไม่อยากเป็นหรอก​ (หัวเราะ)

 

คนทำงานด้านสื่อจะมองคุณเป็นผู้บริหาร ผู้บุกเบิก GM หรือครูโรงเรียนสอนทำหนังสือ ลึกๆ แล้วคุณอยากให้คนนอกมองตัวคุณเป็นอย่างไร

หลายปีที่ผ่านมามีคนเคยมาสัมภาษณ์ผม แล้วเขาก็จะนิยามผมว่าเป็นอะไร ผมชอบคำว่า Magazine Man หรือผู้ชายที่ทำแมกกาซีนนะ ทุกวันนี้ก็ยังชอบคำนี้อยู่ ถึงแม้คำว่าแมกกาซีนจะอยู่ในภาวะร่วงโรย แต่ผมอยากให้ชื่อนี้ติดอยู่กับผมจนลาจากโลกนี้ไป ให้ผมเป็น Business Man คงไม่เอา เพราะชีวิตผมตั้งแต่เริ่มอ่านออกเขียนได้ตอน 8 ขวบก็ฝันอยากจะเป็นเจ้าของหนังสือมาตลอด แล้วทำไมต้องไปเปลี่ยนมันด้วยล่ะ

 

FYI
  • คอนเซปต์ของสื่อออนไลน์ GM Live คือ ‘Know the World’ แนวทางการทำคอนเทนต์มีความเป็นยูนิเซ็กซ์มากขึ้น ไม่เน้นจับกลุ่มผู้อ่านผู้ชายเป็นหลักเหมือนตัวนิตยสาร GM สนุกในการมองปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปรากฏการณ์พี่ตูน บอดี้สแลม, BNK48, บุพเพสันนิวาส และพยายามหาคำตอบหรือกรอบการเล่าเรื่องนั้นๆ ออกมา ไม่ใช่สำนักข่าวเต็มรูปแบบ แต่เป็น ‘เว็บคอนเทนต์’ ที่เล่นกับกระแสสังคมด้วยความเร็วและลึกในคาแรกเตอร์แบบนิตยสาร GM
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X