×

รู้จัก ‘ไผ่ ดาวดิน’ เส้นทางชีวิตนักกิจกรรม เยาวชนต้นแบบ และนักโทษคดี 112

15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาให้จำคุก ‘ไผ่ ดาวดิน’ 5 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี 6 เดือน หลังจากที่ในวันนี้เขาได้ตัดสินใจรับสารภาพ ในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์บทความจากบีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
  • ไผ่ เป็นคนไทยคนที่สอง ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน

     ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 237 วันแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ถอนประกัน ตามที่พนักงานสอบสวนร้องต่อศาล โดยระบุเหตุผลว่าทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว เขาจึงถูกคุมขังที่เรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้จะยื่นขอประกันตัวมานับสิบครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต

     คดีความล่าสุดของ ไผ่ ดาวดิน นั้นถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง ในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์บทความจากบีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ซึ่งพบการแชร์บทความดังกล่าวเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ. เมืองขอนแก่น

     ล่าสุด ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี 6 เดือน หลังจากวันนี้เขาได้ตัดสินใจรับสารภาพ

     นี่คือสถานการณ์ล่าสุด ของ ไผ่ ดาวดิน หลายคนยังสงสัยว่า เขา เป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร และนี่คือ เส้นทางชีวิตของเขา โดยสังเขป

ดาวที่เห็นสวยงามอยู่บนท้องฟ้า ที่จริงแล้วก็คือก้อนดิน แต่มนุษย์เรากลับให้คุณค่ามันมากเกินไป จริงๆ แล้ว ดาวกับดินก็ค่าเท่ากัน

ไผ่ ดาวดิน คือใคร?

     ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ชื่อเล่น ไผ่) เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534  ปัจจุบันอายุ 26 ปี เป็นนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน

     ไผ่ เป็นลูกชายของ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา เป็นคนพื้นเพ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมีพ่อและแม่ประกอบอาชีพทนายความ พ่อของไผ่เคยเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานร่วมกับตำนานทนายคนยาก อย่างนายทองใบ ทองเปาด์

     ไผ่ มักร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นสมาชิกกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มดาวดิน’

     เมื่อปี 2556 กลุ่มดาวดินที่เขาสังกัด ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และจากกรณีการขอประทานบัตรเหมืองทองคำที่จังหวัดเลย ซึ่งพวกเขาได้ใช้ตัวเองเป็นรั้วกั้นชาวบ้านระหว่างเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องชาวบ้านที่เผชิญกับความไม่ยุติธรรม ทำให้ได้รับรางวัล ‘เยาวชนต้นแบบ’ ในงานประกาศผลรางวัล ‘คนค้นฅน อวอร์ด’ ครั้งที่ 5

     หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไผ่และเพื่อนเคยเคลื่อนไหว ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว พร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า “ไม่เอารัฐประหาร” ต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. ที่สนามหน้าศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการ

     และเมื่อปี 2559 ในช่วงรณรงค์เพื่อประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไผ่และเพื่อน รวมทั้งนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ได้ร่วมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จนถูกจับกุมขณะเดินแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว พร้อมถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ด้วยข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และส่งฟ้องศาลจังหวัดขอนแก่น

     เดือนเมษายน ปี 2560 ไผ่ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเขาถูกเสนอชื่อโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยที่ผ่านมามีคนไทยคนแรกที่เคยได้รับรางวัล คือ นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อปี 2549 ไผ่ จึงเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รางวัลนี้ แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเอง ณ ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว จึงเป็นพ่อและแม่ของเขาที่เดินทางไปเป็นตัวแทนรับรางวัลดังกล่าว

 

กลุ่มดาวดิน มาจากไหน?

     ไผ่ หนึ่งในนักศึกษากลุ่มดาวดิน เล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มดาวดินไว้ใน รายงาน ‘เรื่องของดาวดิน…ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า’  ซึ่งเผยแพร่โดยเว็บไซต์ไอลอว์ว่า

     ‘ดาวดิน’ คือ กลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พวกเขารวมตัวกันทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภาคอีสาน กลุ่มดาวดินเกิดขึ้นมาพร้อมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นที่ 1 ที่ได้ไปลงพื้นที่ศึกษาปัญหาของชาวบ้านในตอนนั้นเป็นเรื่องพืชจีเอ็มโอ

     สมัยนั้นรุ่นพี่ของเขาไปแบบนักศึกษาทั่วไป ไม่ได้รู้เรื่องอะไร แต่หลังกลับจากลงพื้นที่รุ่นพี่ของพวกเขาก็ตั้งคำถามกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน รวมถึงตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามกับทฤษฎีทางกฎหมายที่พวกเขาร่ำเรียนมาในชั้นเรียน พวกเขาสงสัยว่าทำไมวิชานิติศาสตร์ที่เขาเรียนจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสังคมและปัญหาของชาวบ้านที่พวกเขาได้สัมผัส ต่อมาจึงเกิด ‘กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม’

     ส่วนชื่อ ‘ดาวดิน’ คือ ชื่อวารสารของกลุ่มกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เป็นวารสารที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรก จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มได้จากการลงพื้นที่เรียนรู้

     ส่วนความหมายของดาวดิน สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มเล่าว่า ดาวดินเป็นชื่อที่รุ่นพี่ได้มาตอนพูดคุยกันในวงเหล้า ตอนนั้นถกเถียงกันเรื่องปัญหาสังคมแล้วมีพี่คนหนึ่งแหงนหน้ามองท้องฟ้าเห็นดาว แล้วก็บอกว่า “ดาวที่เห็นสวยงามอยู่บนท้องฟ้า ที่จริงแล้วก็คือก้อนดิน แต่มนุษย์เรากลับให้คุณค่ามันมากเกินไป จริงๆ แล้ว ดาวกับดินก็ค่าเท่ากัน

     เมื่อย้อนกลับไป การก่อตั้งกลุ่มเกิดขึ้นเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบันกลุ่มดาวดินมีอายุครบ 14 ปี

 

ไผ่ ดาวดิน ต่อจากนี้?

     กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของนายจตุภัทร์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว นายจตุภัทร์ มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ต้องรอการหารือกับครอบครัวก่อนสำหรับทิศทางต่างๆ ของคดี โดยผลการตัดสินคดีในวันนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

     อย่างไรก็ตามหากคำนวณระยะเวลาที่นายจตุภัทร์ต้องรับโทษจริงๆ จะคงเหลือโทษ 1 ปี 10 เดือน จาก 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากต้องหักลบในส่วนของระยะเวลา 8 เดือน ที่ถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดีออกด้วย

     “การอุทธรณ์ เป็นสิทธิของทั้งโจทก์และจำเลย ฝ่ายอัยการก็สามารถอุทธรณ์โทษของคดีได้เช่นเดียวกัน หากเห็นว่ายังได้รับโทษที่ไม่เหมาะสม ขณะที่การประกันตัวครอบครัวรวมทั้งไผ่คงจะต้องปรึกษากันก่อน ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว จะต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำเช่นเดิม คาดว่าจะชัดเจนใน 2-3 วันนี้”

 

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising