×

บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่นกว่า 40% มีแผนย้ายฐานจากจีน หวังเพิ่มทางเลือกลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เล็ง ‘อินเดีย-อาเซียน’ เป็นฐานผลิตใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
30.12.2020
  • LOADING...
บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่น

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นเปิดเผยผลการสำรวจความเห็นของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศเกี่ยวกับระบบห่วงโช่การผลิตของบริษัทหรือซัพพลายเชน พบว่ามากกว่า 40% ของบริษัทเทคโนโลยีมีแผนที่จะโยกย้ายฐานการผลิตรวมถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาจีน และเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและโรงงานผลิต

โดยบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่ามีความอ่อนไหวสูง เพราะเกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงปลอดภัย

รายงานระบุแนวคิดที่จะลดการพึ่งพาการผลิตในจีนและลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของบริษัทสัญชาติซามูไรครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอย่างดุเดือดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และมีขึ้นในช่วงเวลาที่โรงงานการผลิตในจีนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ก่อน ทำให้การผลิตสินค้าอื่นๆ ต้องลดทอนความสำคัญลงไป

ทั้งนี้ 44% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม หรือเท่ากับบริษัท 42 แห่งจากทั้งหมด 96 แห่งที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามกล่าวว่า สาเหตุหลักที่จะย้ายฐานการผลิตก็เพื่อสร้างความหลากหลาย เพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทให้มากขึ้น โดย 44% นี้วางแผนที่จะย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังอินเดียและนานาประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวเกียวโดได้ดำเนินการสำรวจด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนในตลาด 150 แห่ง โดยมี 96 แห่งที่ตอบกลับมา ซึ่งรวมถึงบริษัทชั้นนำอย่าง Canon Inc., Toyota Motor Corp., KDDI Corp., NEC Corp., Kobe Steel Ltd. และ Mitsubishi Heavy Industries Ltd.

การสำรวจยังพบอีกว่ามีบริษัทเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ตั้งใจจะลดขนาดโรงงานผลิตหรือถอนตัวออกจากจีนอย่างถาวร และมีบริษัท 8 แห่งเท่านั้นที่ระบุว่าจะพิจารณาดำเนินมาตรการตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายโรงงานผลิตกลับบ้านเกิดเพื่อลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน

ขณะเดียวกัน ราว 60% ของบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งทำธุรกิจกับทั้งสหรัฐฯ และจีนกล่าวว่าได้จัดคอร์สฝึกอบรมและบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหวอย่างเข้มงวด โดยมีเพียง 27% หรือบริษัท 26 แห่งระบุชัดว่าได้ออกกฎเกณฑ์บังคับใช้กับพันธมิตรในกรณีที่ต้องทำวิจัยร่วมกันเพื่อไม่ให้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นโดนลอกเอาไปใช้

นอกจากนี้มีเพียง 6 แห่งเท่านั้นที่ไม่คิดดำเนินการใดๆ และ 59% หรือบริษัท 57 แห่งกล่าวว่าได้มีการจัดวางระบบที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกิจที่หลายบริษัทเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากลที่ต่อต้านการใช้แรงงานทาส ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้มีขึ้นหลังพบว่ามีบริษัทหลายแห่งที่ดำเนินการค้าการลงทุนกับจีนต้องสงสัยว่าอาจจะมีส่วนสนับสนุนการบังคับใช้แรงงานของชาวอุยกูร์

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising