×

เรามาจากไหนกันแน่?

29.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า ‘อู่แห่งมนุษย์’ น่าจะอยู่ในแอฟริกาตะวันออก ในแถบที่เป็นประเทศเอธิโอเปียปัจจุบัน โดยมนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นในบริเวณนั้นเมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว
  • ล่าสุดมีการค้นพบฟอสซิลจากเหมืองเก่าและภูเขาห่างไกลในประเทศโมร็อกโก เป็นการ ‘หักล้าง’ ทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งหมดที่เคยมีมา
  • การค้นพบใหม่ครั้งนี้ทำให้โลกตื่นตะลึง เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่บรรพบุรุษของเราจะถือกำเนิดมาตั้งแต่ 280,000 ถึง 350,000 ปีที่แล้ว นั่นคือ มนุษย์อาจเก่าแก่กว่าที่เราเคยคิดมาตลอด!

     มนุษย์หยิ่งทะนงว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นผู้ครอบครองโลก เป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้า แต่เรื่องหนึ่งที่มนุษย์ไม่เคยรู้เลยก็คือ เราเป็นใคร, เรามาจากไหน, เรามีต้นกำเนิดมาอย่างไร

     คำถามนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตอบได้ง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว!

     ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า มนุษย์น่าจะกำเนิดในแถบแอฟริกา แถบๆ ทะเลทรายซาฮารา ในราว 56,000 ปีก่อน จากนั้นก็ค่อยแพร่กระจายขึ้นเหนือไป แล้วไปก่อตั้งอารยธรรมยุคหินหรือ Stone Age กันในเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย

     แต่ทฤษฎีนี้ก็ถูกหักล้างด้วยการค้นพบต่อมา โดยข้อสรุปในขั้นถัดมา (จนถึงปัจจุบัน) ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อก็คือ ‘อู่แห่งมนุษย์’ (หรือจะเรียกว่า ‘สวนอีเดน’ ก็น่าจะได้) น่าจะอยู่ในแอฟริกาตะวันออก ในแถบที่เป็นประเทศเอธิโอเปียปัจจุบัน โดยมนุษย์ หรือ Homo sapiens ได้ถือกำเนิดขึ้นในบริเวณนั้น เมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว

     แต่แล้วทฤษฎีนี้ก็กำลังจะถูกหักล้างลงอีกครั้ง!

     ล่าสุด มีการค้นพบฟอสซิลจากเหมืองเก่าและภูเขาห่างไกลในประเทศโมร็อกโก เป็นโครงกระดูกของมนุษย์อย่างน้อยห้าร่าง ในบริเวณที่เรียกว่า Jebel Irhoud ซึ่งเคยเป็นเหมืองเก่า อยู่ห่างจากเมืองมาราเกซไปทางตะวันตกราว 100 กิโลเมตร

     แน่นอน ตอนขุดค้นเจอโครงกระดูกเหล่านี้ ใครๆ ก็รู้ว่า โครงกระดูกเหล่านี้ต้องเก่าแก่แน่ แต่ไม่มีใครคิดหรอกครับว่าโครงกระดูกเหล่านี้จะเก่าแก่ถึงระดับ ‘300,000 ปี’

     เพราะมันคือการ ‘หักล้าง’ ทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งหมดที่เคยมีมา!

     หลายแสนปีก่อน มนุษย์กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ ในถ้ำบนที่สูง เหนือที่ราบอันเขียวชอุ่มของดินแดนโมร็อกโกในปัจจุบัน คนเหล่านี้พำนักอยู่ที่นี่ สร้างกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่น แถมยังออกล่า และมีร่องรอยหลักฐานของเครื่องมือหินหลงเหลืออยู่ บ่งชี้ว่าคนเหล่านี้ออกล่าสัตว์นำมาทำเป็นอาหาร ทั้งยังตายกันที่นี่ ฝังร่องรอยของตัวเองเป็นโครงกระดูกเก่าแก่อยู่ในชั้นดิน

     มนุษย์เหล่านี้คือ Homo sapiens หรือมนุษย์สปีชีส์เดียวกับพวกเราในปัจจุบัน!

     ซากกระดูกของพวกเขา คือซากกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดของ Homo sapiens เท่าที่เคยค้นพบกันมาก่อนหน้านี้ ฟอสซิลกระดูกที่พบในเอธิโอเปียก็ทำให้โลกต้องตื่นตะลึงมากพอแล้ว ด้วยอายุราว 160,000 ถึง 195,000 ปี ซึ่งไปลบล้างการสันนิษฐานเดิมว่า มนุษย์คงไม่ได้เก่าแก่อะไรมากขนาดนั้นหรอก

     แต่การค้นพบใหม่ที่ Jebel Irhoud รวมไปถึงเครื่องมือหินต่างๆ ทำให้โลกยิ่งต้องตื่นตะลึง เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่บรรพบุรุษของเราจะถือกำเนิดมาตั้งแต่ 280,000 ถึง 350,000 ปีที่แล้ว

     นั่นคือ มนุษย์อาจเก่าแก่กว่าที่เราเคยคิดมาตลอด!

     ที่สำคัญก็คือ มันทำให้คำถามเดิมต้องถูกถามซ้ำ คำถามนั้นคือ แล้วมนุษย์มีต้นกำเนิดมาจาก ‘ที่ไหน’ กันแน่?

     จากแถบทะเลทรายซาฮารา มาเป็นบริเวณเอธิโอเปีย แล้วคราวนี้จะต้องย้ายมาแถวๆ โมร็อกโก กระนั้นหรือ

     ถ้าดูจากแผนที่เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับว่า ทะเลทรายซาฮารา, เอธิโอเปีย และโมร็อกโกนั้นไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย แต่มันกินพื้นที่ในแอฟริกาตั้งแต่ฝั่งซ้ายสุดจนถึงขวาสุด ซึ่งแปลความได้อย่างเดียวว่า ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ น่าจะ ‘ซับซ้อน’ กว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์เอาไว้มากนัก

     เหมือง Jebel Irhoud เคยเป็นเหมืองแบไรต์ (Barite) มาก่อน แต่เมื่อขุดๆ กันไปก็เกิดพบกับฟอสซิลหัวกะโหลกมนุษย์ รวมไปถึงกระดูกอื่นๆ อีกหลายชิ้น มีทั้งกรามของเด็ก ชิ้นส่วนของกระดูกแขนและกระดูกสะโพก ชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่แรกพบเลย แต่เนื่องจากเป็นการค้นพบมาตั้งแต่ปี 1961 และไม่ได้บันทึกพื้นที่ที่ค้นพบเอาไว้อย่างถูกต้อง ทำให้การหาอายุของกระดูกเหล่านี้เป็นเรื่องยาก

     แรกทีเดียว นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นกระดูกของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาล ที่มีอายุราวๆ 40,000 ปี แล้วหลังจากค้นพบกระดูกพวกนี้ ก็ไม่ได้มีใครสนใจ Jebel Irhoud กันอีก จนกระทั่งถึงปี 2004 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังก์ ในด้านวิวัฒนาการมานุษยวิทยาชื่อ ศาสตราจารย์ฌ็อง-ฌัก อูว์แบล็ง (Jean-Jacques Hublin) ก็ได้นำทีมไปขุดค้นอีก หลังจากขุดไปได้ระยะหนึ่งก็ค้นพบกระดูกเพิ่มเติมอีก มีตั้งแต่ชิ้นส่วนกะโหลก ชิ้นส่วนกระดูกใบหน้า กรามที่เกือบสมบูรณ์ และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่พบว่าเป็นของมนุษย์อย่างน้อยก็ห้าคน

     ที่สำคัญ กระดูกใบหน้าเหล่านี้มีลักษณะเหมือนกับใบหน้ามนุษย์ในปัจจุบันมาก แม้ว่าจะมีบริเวณคิ้วที่ปูดออกมามากหน่อยก็ตาม ที่ไม่เหมือนมีอยู่อย่างเดียวคือบริเวณท้ายทอยด้านหลัง เพราะท้ายทอยมนุษย์ปัจจุบันจะกลมและโป่งออกมา แต่ที่พบนี้จะแบนและลาดลงมามากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามองด้านหน้าจะเหมือนมนุษย์ แต่ถ้ามองด้านหลัง อาจคิดว่าเป็น Homo erectus ได้

     ส่วนสมองนั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่าน่าจะมีขนาดใหญ่เท่ากับสมองของมนุษย์ แต่มีรูปร่างต่างออกไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในกระบวนวิวัฒนาการนั้น สมองของมนุษย์น่าจะเริ่ม ‘เข้าที่’ มาตั้งแต่ 300,000 ปีท่ีแล้ว แต่ว่าตัวโครงสร้างยังมีลักษณะโบราณอยู่เท่านั้นเอง

     นอกจากกระดูก สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือหิน เพราะมีการลับให้แหลม เมื่อมีการตรวจสอบอายุ พบว่าเครื่องมือเหล่านี้เก่าแก่มาก ซึ่งในตอนแรกไม่ ‘แมตช์’ กับอายุของฟอสซิลกระดูก เนื่องจากในช่วงแรก มีการตรวจสอบอายุของกระดูกที่ค้นพบตั้งแต่ปี 1961 และพบว่ากระดูกเหล่านั้นมีอายุเพียงราว 160,000 ปี แต่ตอนหลังมีการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง และคำนวณค่ากันใหม่ให้ละเอียดแม่นยำขึ้น พบว่าฟอสซิลเหล่านั้นเก่าแก่ถึงราว 286,000 ปี ซึ่งสอดคล้องลงตัวกับอายุของเครื่องมือหินพอดี

     ก่อนหน้านี้ ใครๆ ก็คิดว่า แม้มนุษย์จะมีกำเนิดในแอฟริกาก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่แอฟริกาเหนือ (แบบโมร็อกโก) อู่แห่งมนุษย์น่าจะอยู่ทางใต้ลงไปกว่านี้ แต่ซากกระดูกนี้คือการสาวกลับไปถึง ‘ราก’ แห่งมนุษย์ที่ยาวนานและในแห่งหนที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

     การที่มนุษย์อยู่มานานขนาดนี้ แปลว่าสปีชีส์ของเราน่าจะได้อพยพย้ายถิ่นไปมาในแถบแอฟริกา และมีการเดินทางไกลในระดับทวีปมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะมีการค้นพบเครื่องมือหินที่มีอายุเก่าแก่ถึงราว 300,000 ปี อยู่ทั่วแอฟริกา ซึ่งในตอนแรกก็สร้างความงุนงงสงสัยให้นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อย หลายคนคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่มนุษย์โบราณ (Hominid) สปีชีส์อื่นสร้างเอาไว้ แต่การค้นพบฟอสซิลครั้งใหม่นี้ยืนยันว่า มนุษย์ Homo sapiens เองก็สร้างเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาด้วย แถมยังเป็นเครื่องมือที่เบากว่า เล็กกว่า (เช่น ขวาน หรือปลายหอก) แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สูงกว่าอีกด้วย

     แต่กระนั้น การค้นพบนี้ก็ยังไม่ใช่ที่สุดของที่สุดหรอกนะครับ ยังมีคำถามค้างคาอีกมากมายรอให้นักวิทยาศาสตร์ตอบกันอยู่ ช่วงเวลา 300,000 ปี คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราต้องย้อนกลับไปศึกษากันอย่างละเอียดอีกครั้งว่า มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาได้อย่างไร มันเป็นช่วงเวลาแห่งการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านร่างกายและพฤติกรรมของบรรพบุรุษของเรา

     เพื่อตอบคำถามที่ว่า เรามาจากไหนกันแน่ ต่อไป

 

ภาพประกอบ: AeA oranun

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X