×

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่: วิทยาศาสตร์แห่งไสยศาสตร์

05.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เซอร์ไอแซก นิวตัน เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายอย่าง เช่นเดียวกับนีลส์ บอห์ร คือนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ที่แขวนเครื่องรางอย่างเกือกม้านำโชคไว้ที่บ้าน
  • นักวิทยาศาสตร์เรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่า ‘พฤติกรรมเชิงไสย’ (Superstitious Habits หรือ Superstitious Behavior) เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความคิดที่เรียกว่า ‘ความคิดแบบเวทมนตร์’
  • สมองของมนุษย์ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้หาเหตุผลมาอธิบายเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นบางครั้งกลไกนี้ก็เลยนำไปสู่คำอธิบายที่เหนือพ้นธรรมชาติได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเราพยายามทำความเข้าใจโลก และโลกก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแบบสุ่ม (Random) มากมายเหลือเกิน

 

“ในโลกแห่งความไม่แน่นอน คุณต้องเลือกระหว่างเชื่อหรือไม่เชื่อ”

– เควิน ฟอสเตอร์ (Kevin Foster)

นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

     เซอร์ไอแซก นิวตัน เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายอย่าง ไม่แปลกที่เขาจะเป็นคนเคร่งศาสนา เชื่อในพระเจ้า แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เขายังเชื่อใน ‘เลขศาสตร์’ (Numerology) และการตามหา ‘หินแห่งนักปรัชญา’ หรือ Philosopher’s Stone ที่เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนโลหะให้เป็นทองได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาเชื่อในเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุด้วย

     หลายคนอาจจะบอกว่า โธ่! ก็นิวตันอยู่ในศตวรรษที่ 17-18 เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวเข้าสู่ ‘วิทยาศาสตร์ใหม่’ (หรือ New Science ที่มีการทดลองเป็นหัวใจสำคัญ) ด้วยซ้ำ ต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก แต่อยู่ในยุคแบบนั้น ก็คงต้องเชื่ออะไรเหนือธรรมชาติอยู่บ้างละน่า

     ถ้าอย่างนั้นไปดูนักฟิสิกส์ยุคใหม่อีกคนหนึ่งกันบ้างครับ นีลส์ บอห์ร คือนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญไม่แพ้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แต่ถึงกระนั้น ที่บ้านของเขาก็มีการแขวน ‘เครื่องราง’ เอาไว้ด้วย เครื่องรางที่ว่าคือเกือกม้านำโชค

     เคยมีคนถามเขาว่า เขา ‘เชื่อ’ จริงๆ หรือ ว่าเกือกม้านี้จะนำโชคมาให้เขา บอห์รบอกว่าเขาไม่ได้เชื่อหรอก แต่เขาเข้าใจว่ามันจะนำโชคมาให้ถ้าเราเชื่อว่ามันจะนำโชคมาให้

     เป็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง!

     แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเซอร์ไอแซก นิวตัน หรือกระทั่งนีลส์ บอห์ร ถึงมีความเชื่อบางอย่างที่แลดู ‘เหนือธรรมชาติ’ หรือเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้

     อะไรทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้

     ตอนที่บารัก โอบามา ชนะคะแนนเสียงไพรมารีโหวตที่ไอโอวา เขาเล่นบาสเก็ตบอลในตอนเช้า หลังจากนั้นเวลาจะมีการประกาศผลไพรมารีโหวต เขาก็จะลุกมาเล่นบาสเกตบอลเสมอ คือทำเป็น ‘พิธีกรรม’ (Ritual) กันเลยทีเดียว ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็อย่างที่รู้ๆ กัน คือเขาได้เป็นประธานาธิบดี

     พวกนักกีฬาดังๆ หลายคนมีอะไรคล้ายๆ โอบามาอยู่ไม่น้อย คนที่โด่งดังมากเรื่องนี้คือราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชื่อก้องโลก ก่อนจะเสิร์ฟลูก เขาต้องทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ เช่น ดึงกางเกง (ใน) เอามือไปปัดผมทัดหู เคาะลูก ฯลฯ จนบางทีก็เกินเวลาถึงขั้นถูกกรรมการเตือน บางคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Habit แต่บางคนก็เรียกว่า Routines แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร มันคือ ‘ความเชื่อ’ ในเชิงไสยศาสตร์เหนือจริงว่าจะทำให้ผลการแข่งขัน (หรือการเสิร์ฟ) ออกมาดีนั่นเอง

     นักวิทยาศาสตร์เรียกพฤติกรรมเหล่านี้ (แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ่อมดหมอผี) ว่า ‘พฤติกรรมเชิงไสย’ (Superstitious Habits หรือ Superstitious Behavior) เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความคิดที่เรียกว่า ‘ความคิดแบบเวทมนตร์’ (Magical Thinking) นิยามของมันก็คือการทำอะไรบางอย่างที่เชื่อว่าจะเป็น ‘เหตุ’ ให้เกิด ‘ผล’ อีกอย่างหนึ่งขึ้นมา แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ใดๆ เลย ว่าสองเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกัน เช่น เล่นบาสเกตบอลตอนเช้าแล้วจะชนะเลือกตั้ง หรือดึงกางเกงในที่เข้าวินแล้วจะเสิร์ฟดี ฯลฯ

     เรื่องนี้ไม่ได้ต้องเกิดข้ึนกับเฉพาะคนด้อยโอกาส มีการศึกษาน้อย หรือเชื่อถือโชคลางไสยศาสตร์เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้วเท่านั้น

แต่ใครๆ ก็เป็นได้!

     มีการศึกษาเหล่านักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ MIT ทั้งนักฟิสิกส์ นักเคมี และนักธรณีวิทยา พบว่าถ้าเมื่อไหร่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เกิดความกดดันเร่งรัดขึ้นมา จะเกิดการยอมรับในคำพูดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลบางอย่างเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ตัวอย่างประโยคที่ว่าก็คือ – ต้นไม้สร้างออกซิเจนขึ้นมาให้สัตว์หายใจ ซึ่งถือว่าเป็นตรรกะวิบัติแบบหนึ่ง (ต้นไม้สร้างออกซิเจนจริง แต่มันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้สัตว์หายใจโดยเป็นเหตุและผลตรงๆ อย่างนั้น) แต่ความเร่งร้อนเร่งรัดขณะตัดสินใจ ทำให้คนที่มีความคิดเชิงตรรกะแบบวิทยาศาสตร์มองข้ามความไร้เหตุผลนี้ และคิดว่ามันเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาได้

     แม้แต่คนที่เป็นอเทวนิยม (Atheist) ก็ยังมีการศึกษาพบว่า ลึกลงไปในจิตใต้สำนึกแล้ว ก็ยังมีความกริ่งเกรงบางอย่างอยู่ไม่น้อย เช่น ถ้าให้ตะโกนออกมาดังๆ ว่า “ข้าขอท้าพระเจ้าให้ทำให้พ่อแม่ข้าจมน้ำตาย” หลายคนก็ยังพูดออกมาด้วยความยากลำบากอยู่ หรือถ้าตกอยู่ในความเครียด ความเชื่อเรื่องไม่มีพระเจ้าก็จะคลอนแคลนไป เขาบอกว่า คนเรากลัวสภาวะ Mortality หรือพูดง่ายๆ ก็คือ กลัวความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราตายนั่นเอง

     นักชีววิทยาวิวัฒนาการอย่าง เควิน ฟอสเตอร์ (Kevin Foster) บอกว่าความเชื่อเชิงไสยนั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะในมนุษย์อย่างเดียว แต่มีอยู่ในสัตว์อื่นๆ ด้วย โดยต้องย้อนกลับไปย้ำถึงนิยามของพฤติกรรมเชิงไสยก่อนนะครับ ว่าไม่ได้หมายถึงต้องมีผีสางนางไม้อะไรมาร่วมด้วย แต่นิยามของพฤติกรรมเชิงไสยที่ว่า ก็คือการที่สัตว์ (หรือมนุษย์) เอาสองเรื่องไม่เป็นเหตุเป็นผลกันมาเชื่อมโยงว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน

     ฟอสเตอร์ยกตัวอย่างนกพิราบ เขาบอกว่าถ้าเราตบมือ นกพิราบจะบินหนี ซึ่งหลายคนคิดว่าก็เป็นพฤติกรรมธรรมดาๆ มันก็ต้องบินหนีเพราะตกใจกลัวอยู่แล้ว แต่ที่จริงแล้ว นกพิราบนั้นเป็นสัตว์ที่ฉลาด มันแยกแยะได้ระหว่างการตบมือกับเสียงปืน (ที่จะทำให้มันตายได้) เวลาเราตบมือ มันบินหนีก็จริง แต่วิธีบินจะไม่เหมือนวิธีบินตอนเจอกับเสียงปืน คือมันรู้ว่าเสียงตบมือนั้นไม่ได้ทำให้มันบาดเจ็บ ดังนั้น ตามนิยามของฟอสเตอร์ การบินหนีเสียงตบมือของนกพิราบจึงเป็นพฤติกรรมเชิงไสยอย่างหนึ่ง

     ฟอสเตอร์ได้ทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อใส่ความเชื่อเชิงไสยเข้าไปในบริบททางชีววิทยา เขาพบว่าถ้าสัตว์มียีนที่จะตอบสนองเชิงไสย และมีพฤติกรรมเชิงไสยที่ว่า ก็มีแนวโน้มที่มันจะส่งผ่านยีนนี้ไปสู่รุ่นลูกได้มากขึ้น เพราะอัตราการรอดชีวิตของมันมากขึ้น เขาบอกว่า สัตว์ที่มีความเชื่อเชิงไสยจะมีความระแวดระวังต่อผู้ล่ามาก ต่อให้ผู้ล่าสูญพันธุ์ไปแล้ว มันก็ยังมีพฤติกรรมระแวงภัยอยู่เหมือนเดิม จึงมีผลทำให้สัตว์ที่เป็นแบบนี้มีโอกาสอยู่รอดในแง่ของวิวัฒนาการได้มากกว่าสัตว์ที่ระแวงภัยน้อยกว่า

     ฟอสเตอร์บอกว่ามนุษย์ก็เป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน แต่มนุษย์ซับซ้อนกว่า เพราะเราอยู่รอดมาได้ทั้งด้วยกระบวนการทางวิวัฒนาการและกระบวนการทางวัฒนธรรม อย่างเช่นในสังคมชนเผ่าโบราณ อาจมีพิธีเต้นขอฝน (ซึ่งถือเป็นไสยศาสตร์ เพราะการเต้นรำกับฝนไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน) การเต้นขอฝนกลายมาเป็นวัฒนธรรม ซึ่งยิ่งฝังลึกลงไปในตัวมนุษย์ ทำให้พฤติกรรมหรือความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงไม่น่าสงสัยว่า แม้กระทั่งในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็หนีไม่พ้นอิทธิพลนี้

     อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของฟอสเตอร์ที่ว่า สัตว์มี ‘ยีนไสยศาสตร์’ นั้น เป็นที่ถกเถียงของนักวิทยาศาสตร์อื่นอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับนิยามของคำว่าไสยศาสตร์ของฟอสเตอร์ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นนิยามที่แคบเกินไป

     บรูซ ฮู้ด (Bruce Hood) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลแย้งว่า สมองของมนุษย์ได้รับการออกแบบเพื่อให้หาเหตุผลมาอธิบายเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นบางครั้งกลไกนี้ก็เลยนำไปสู่คำอธิบายที่เหนือพ้นธรรมชาติได้ (ไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องยีนหรอก) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเราพยายามทำความเข้าใจโลก และโลกก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแบบสุ่ม (Random) มากมายเหลือเกิน มนุษย์ต้องการทำความเข้าใจสถานการณ์แบบสุ่มเหล่านี้ แต่เรามีชีวิตสั้นเกินกว่าจะอธิบายเรื่องต่างๆ ได้หมด (เช่น เราอาจไม่ได้มีชีวิตยาวพอจะอธิบายปรากฏการณ์ดาวหางหรือภูเขาไฟระเบิดที่มีคาบการเกิดนานหลายสิบหลายร้อยปี) ดังนั้น ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ความเชื่อหรือพฤติกรรมเชิงไสย จึงเป็นเหมือนการ ‘บันทึก’ เรื่องที่มนุษย์อธิบายไม่ได้เอาไว้ในจิตใต้สำนึกร่วมเสียก่อน จะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องลี้ลับอธิบายไม่ได้มากแค่ไหน มนุษย์ยิ่งจดจำกันได้มากเท่านั้น

     ถ้ามองแบบนี้ ความเชื่อเชิงไสยจึงเป็นเหมือนไดอะรีที่เราจดบันทึกเหตุการณ์ลึกลับเอาไว้ โดยที่ไม่รู้หรอกว่าจะอธิบายมันยังไง แต่ถ้าเรากลับมาอ่านอีกทีในอนาคต เมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ ความเชื่อใหม่ๆ เราอาจจะอธิบายมันก็ได้

     ดังนั้น ‘ประโยชน์’ ของความเชื่อเชิงไสยก็คือ มันมีไว้ให้ลบหลู่!

     ยังมีอีกการทดลองหนึ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนสักหน่อย คือเขาให้นักศึกษาหลายๆ คนมาแก้ปัญหาปริศนาคำ ซึ่งมีทั้งปริศนาที่แก้ได้และแก้ไม่ได้ ในกลุ่มที่เจอกับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้นั้น เขาให้ทำแบบสอบถามเพื่อดูว่ามีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มากน้อยแค่ไหน แล้วจากนั้นก็ให้แก้ปัญหาอีกชุดหนึ่ง พบว่าหลังผ่านอุปสรรค (คือแก้ปริศนาชุดแรกไม่ได้) มาแล้ว กลุ่มนักศึกษาที่มีความเชื่อในทางไสยศาสตร์สูง จะแก้ปริศนาชุดใหม่ได้ดีกว่า

     ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อทางไสยศาสตร์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงมี ‘ประโยชน์’ และมี ‘หน้าที่’ บางอย่างของมันอยู่ สิ่งที่เรียกว่า Routines ของนักกีฬานั้น อาจฟังดูไร้เหตุผล แต่ที่จริงคือการสร้างสมาธิแบบหนึ่ง และอาจถึงขั้นเป็นการ ‘ปลุก’ และ ‘เตรียมพร้อม’ กล้ามเนื้อด้วย

     ไอน์สไตน์เคยเขียนจดหมายไปหานักปรัชญาชื่อ อีริก กุตไคนด์ (Eric Gutkind) เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางศาสนา เขาเขียนไว้ประโยคหนึ่งว่า “วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีศาสนานั้นพร่อง ส่วนศาสนาที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ก็ตาบอด”

     เขาอาจไม่ได้เขียนถึงไสยศาสตร์ตรงๆ แต่คำพูดของไอน์สไตน์แสดงให้เราเห็นถึงการเปิดกว้างและเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องตรงข้าม

     วิธีคิดแบบนี้นี่แหละครับ คือการมองไสยศาสตร์ด้วยสายตาของวิทยาศาสตร์!

 

ภาพประกอบ: narissara k.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X