×

มนุษย์คือแบคทีเรีย

02.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของร่างกายมนุษย์เป็นแบคทีเรีย ประมาณกันว่า แค่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ก็มีแบคทีเรียอยู่ราว 500-1,000 สปีชีส์แล้ว
  • เรามักจะมองว่าแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่ร้ายกาจ แต่ที่จริงแล้ว แบคทีเรียที่ ‘เป็นมิตร’ กับเรามีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียที่เป็นปัญหา นักวิทยาศาสตร์มองว่า ที่จริงแล้วแบคทีเรียนั้นเป็นเหมือน ‘อวัยวะ’ ส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • ถ้าถามว่าแบคทีเรียสำคัญต่อร่างกายมนุษย์มากแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามันสำคัญมากเท่ากับชีวิตของเราเอง เพราะว่าแบคทีเรียอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกคลอด จะพูดว่าของขวัญชิ้นแรกที่แม่ให้กับลูกคือแบคทีเรียก็ไม่ผิด!

     คุณรู้ไหมว่า โดยเฉลี่ยแล้วในร่างกายของเรานั้น ต่อเซลล์ของมนุษย์ทุกๆ 1 เซลล์ จะมีเซลล์แบคทีเรียอยู่ 10 เซลล์

     พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของร่างกายมนุษย์เป็นแบคทีเรีย!

     ที่จริงแล้ว จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ (ที่เรียกว่า Human Microbiota หรือ Microbiome) ไม่ได้มีแต่แบคทีเรียอย่างเดียว แต่มีทั้งแบคทีเรีย อาร์เคีย รา และไวรัส แต่แบคทีเรียถือเป็นจุลินทรีย์ที่มีจำนวนมากที่สุด เรียกว่าเมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว มนุษย์เรามีแบคทีเรียอยู่ในตัวคิดเป็นปริมาณมากถึง 1-2.5 กิโลกรัมกันเลยทีเดียว

     โหย! แบบนี้ถ้ากำจัดแบคทีเรียไปได้หมด เราก็คงไม่อ้วนล่ะสิ หลายคนอาจกำลังคิดแบบนั้นอยู่

     ใช่ครับ ไม่อ้วนแน่ๆ แล้วก็ไม่มีชีวิตอยู่ด้วย!

     เรามักจะมองว่าแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่ร้ายกาจเป็นตัวก่อโรค แต่ที่จริงแล้ว แบคทีเรียที่ ‘เป็นมิตร’ กับเรามีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียที่เป็นปัญหานะครับ นักวิทยาศาสตร์มองว่า ที่จริงแล้วแบคทีเรียนั้นเป็นเหมือน ‘อวัยวะ’ ส่วนหนึ่งของร่างกายเราด้วยซ้ำ เพราะแบคทีเรียทำงานร่วมกับร่างกาย ก่อให้เกิดออกมาเป็น ‘ระบบนิเวศ’ หลายอย่างในตัวของเรา

     ประมาณกันว่า แค่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ ก็มีแบคทีเรียอยู่ถึงราว 500-1,000 สปีชีส์แล้ว สปีชีส์นะครับ ไม่ใช่จำนวนตัว โดยมีแบคทีเรียประเภท Firmicutes กับ Bacteroidetes เป็นผู้ครอบครองอาณาจักรอยู่ร่วมกับแบคทีเรียอื่นๆ อีกหลายต่อหลายชนิด

     เจ้า Firmicutes นี่สำคัญมาก เป็นตัวที่เรามักจะพบในโยเกิร์ตไงครับ เพราะว่าถ้าย่อยลงมาอีก มันก็คือแบคทีเรียพวกบาซิลลัส (Bacillus) หรือแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งถือว่าเป็นแบคทีเรียดีงาม ส่วนแบคทีเรียในไฟลัม Bacteroidetes ก็เป็นแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ข้าวหรือขนมปัง ฯลฯ) ซึ่งเป็นสิ่งที่เซลล์ของเราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึง ‘ทำงานร่วม’ กับร่างกายชนิดแนบชิดสนิทใกล้เป็นหนึ่งเดียวกันเลย

     ถ้าถามว่าแบคทีเรียสำคัญต่อร่างกายมนุษย์มากแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามันสำคัญมากเท่ากับชีวิตของเราเองเลยละครับ เพราะว่าแบคทีเรียอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด เรียกว่าตั้งแต่เราแรกคลอด แบคทีเรียมากมายก็กระโจนเข้าใส่เรากันเลย เร่ิมต้นจากแบคทีเรียประเภทแลคโตบาซิลลัสที่อยู่ตรงบริเวณช่องคลอดของแม่ จะเข้าไปหาตัวทารก มันเป็นแบคทีเรียประเภทที่ผลิตเอนไซม์เอาไว้ย่อยนม ดังนั้น การคลอดตามธรรมชาติจึงเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมทารกให้มีแบคทีเรียดีๆ อยู่ในตัวเอาไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้น เด็กที่ผ่าคลอดจึงมักจะไม่ได้รับแบคทีเรียชนิดนี้ แต่ได้รับแบคทีเรียอื่นจากผิวหนังส่วนอื่นของแม่แทน เช่น ได้รับ Staphylococcus และ Actinobacteria ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่ทารกที่ผ่าคลอดมีอัตราการป่วยเป็นโรคหอบหืดและภูมิแพ้มากกว่าหรือเปล่า

     แต่ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งก็คือ คนที่เป็นแม่นั้น เวลาที่ใกล้คลอด นักวิทยาศาสตร์พบว่า ไมโครไบโอม (โดยเฉพาะแบคทีเรีย) ในช่องคลอดของแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือแทนที่จะมีแบคทีเรียหลากหลายตามปกติ กลับมีแลคโตบาซิลลัสมากถึงราว 80 เปอร์เซ็นต์แทน คาดว่านี่คือการ ‘เตรียมพร้อม’ ที่จะมอบแบคทีเรียดีๆ ให้กับลูกตั้งแต่เกิด

จะพูดว่าของขวัญชิ้นแรกที่แม่ให้กับลูกคือแบคทีเรียก็ไม่ผิด!

     นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาแบคทีเรียในนมแม่ด้วย คือแต่เดิมเราเชื่อกันว่า นมแม่นั้นสะอาดปราศจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เอาเข้าจริงๆ เป็นนมแม่นี่แหละครับ ที่มีแบคทีเรียอยู่ตั้งหลายร้อยสปีชีส์ เรียกว่ามีอยู่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของแบคทีเรียที่พบทั้งหมดในร่างกายมนุษย์เลยก็ว่าได้

     คำถามก็คือ อ้าว! แล้วแบคทีเรียเข้าไปอยู่ในนมแม่ได้อย่างไร มีงานวิจัยใหม่ที่น่าตื่นเต้น บอกว่าอาจเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันในตัวแม่เองนั่นแหละครับ ที่ทำหน้าที่ ‘เลือก’ แบคทีเรีย จากระบบทางเดินอาหาร แล้วพามันผ่านเข้ามาในระบบน้ำเหลือง (ระบบน้ำเหลืองหรือ Lymphatic System เป็นเครือข่ายที่นำพาพลาสมาของเลือดไปทั่วร่างกาย) โดยเซลล์ภูมิคุ้มกันจะเลือกแบคทีเรียแล้วพามันผ่านไปยังเซลล์ในเต้านมที่เรียกว่า Dendritic Cells ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมนะครับว่า ทำไมเซลล์ภูมิคุ้มกันมันถึงทำแบบนั้นได้ เพราะยังไม่เป็นที่เข้าใจกันว่า แบคทีเรียถูกพาไปได้อย่างไร เช่น ผูกติดอยู่กับผิวของเซลล์ภูมิคุ้มกันบางอย่าง หรือว่าถูกกลืนเข้าไปอยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกัน (เหมือนเวลาที่เซลล์เม็ดเลือดขาว ‘กิน’ เชื้อโรค อะไรแบบนั้น)

     ส่วนใครที่อยากผอม อยากลดน้ำหนัก ต้องรีบฟังทางนี้กันนะครับ เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองว่า แบคทีเรียที่อยู่ในทางเดินอาหารของคนอ้วนกับคนผอมนั้นไม่เหมือนกัน

     แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนเรานั้น ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในร่างกาย มีการสำรวจคน 124 คน พบว่ายีนของแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนเหล่านี้มีอยู่ไม่ต่ำว่า 3.3 ล้านยีน ซึ่งมากกว่ายีนของเซลล์ร่างกายมนุษย์ที่มีอยู่แค่ไม่กี่หมื่นยีน นั่นแปลว่า แบคทีเรียมันทำหน้าที่อะไรต่อมิอะไรหลายอย่างในกระบวนการย่อยอาหารของเรา ซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราทำเองไม่ได้ เพราะเซลล์ของเราไม่สามารถผลิตเอนไซม์มาย่อยโน่นย่อยนี่ได้

     พูดอีกอย่างก็คือ ลำไส้ของเราเป็นแค่ ‘บ้านพัก’ ให้แบคทีเรียมาพำนักอาศัยอยู่ บ้านพักนี้อาจจะทำหน้าที่ย่อยโน่นนั่นนี่ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นแบคทีเรียผู้ผ่านทางมาพำนักอยู่ต่างหากที่ทำหน้าที่สำคัญ เช่น ย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนให้กลายเป็นโมเลกุลเล็กๆ แล้วร่างกายถึงจะดูดซึมได้ ถ้าไม่มีแบคทีเรีย อาหารที่ผ่านเข้ามาในลำไส้ถึง 10-30 เปอร์เซ็นต์จะไม่ได้รับการย่อยและดูดซึม

     อ้าว! แล้วเกี่ยวอะไรกับความอ้วนความผอมล่ะนี่

     ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่า แบคทีเรียเป็นเหมือนผู้ผ่านทางมาพำนักในลำไส้ของเรา แต่แบคทีเรียไม่ได้มาพำนักอยู่ชั่วคราวเท่านั้นหรอกนะครับ มันแทบจะอยู่ถาวรเลยก็ว่าได้ การอยู่ของมันจึงสร้างระบบนิเวศขึ้นมาด้วย ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนลำไส้ของเราเป็นป่าฝนเขตร้อนนั่นแหละครับ คือชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าที่มันทำทั้งกินกันเอง เกื้อหนุนกันเอง เกิดห่วงโซ่อาหารต่างๆ ขึ้นมาตามปริมาณฟ้าฝนที่ตกหล่นลงไป

     แบคทีเรียก็เป็นแบบนั้น แบคทีเรียที่ทำให้เราอ้วนกับแบคทีเรียที่ทำให้เราผอม มันจะขันแข่งกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากินเข้าไป

     มีการศึกษาในหนูพบว่า หนูที่ผอมจะอ้วนขึ้น ถ้านักวิทยาศาสตร์ใส่แบคทีเรียในลำไส้ของหนูอ้วนลงไปในหนูผอม และกลับกัน ในคนก็เช่นเดียวกัน คนที่อ้วนกับคนที่ผอมจะมีแบคทีเรียคนละชุดกัน และสิ่งที่จะเสริมส่งให้แบคทีเรียแบบไหนมีมากกว่าก็คือ อาหารท่ีเราได้รับเข้าไปในร่างกาย เช่น อาหารที่เป็นขนมขบเคี้ยว หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต (Processed Food) จะทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น

     มีการศึกษาโดยให้หนูกิน ‘อาหารตะวันตก’ โดยเลี้ยงอยู่ร่วมกับหนูผอมที่กินอาหารสุขภาพ พบว่าหนูเหล่านี้น้ำหนักขึ้น แม้ว่าจะได้รับอาหารปริมาณเท่ากันกับหนูผอม และพบว่าแบคทีเรียในลำไส้หนูไม่เหมือนกัน หลายคนจึงเชื่อกันว่า อาหารมีผลต่อแบคทีเรียในลำไส้ แต่กระนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า แบคทีเรียที่แตกต่างกันนี้เป็น ‘ผล’ หรือเป็น ‘เหตุ’ ของความอ้วนกันแน่ ซึ่งก็ต้องทำวิจัยกันต่อไป

     ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทำ ‘แผนที่ยีน’ ของเซลล์มนุษย์ได้แล้ว แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อยากทำต่อไปก็คือ การทำ ‘แผนที่ไมโครไบโอม’ เพื่อให้รู้ว่ายีนที่อยู่ในจุลินทรีย์ (โดยเฉพาะแบคทีเรีย) มีอะไรบ้าง และมันทำหน้าที่อะไรกับร่างกายของเรา โดยจะวิเคราะห์จากอุจจาระของคนแต่ละคน แล้วสามารถบอกออกมาได้เลยว่า คนแต่ละคนมีแบคทีเรียแบบไหนอยู่ในร่างกายมากน้อยอย่างไรบ้าง แล้วการที่ร่างกายมีแบคทีเรียแบบนั้นๆ จะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของเราทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

     แบคทีเรียกับมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนคำพูดที่ว่า มนุษย์คือแบคทีเรีย ไม่ใช่คำพูดที่ไกลเกินจริงนัก

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X