×

คนเปลี่ยนหัวคน

04.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปี 2013 ศัลยแพทย์ประสาทชาวอิตาเลียนชื่อ เซอร์จิโอ คานาเวโร (Sergio Canavero) ได้ตีพิมพ์ ‘วิธีการ’ (Protocol) ในการที่จะผ่าตัดเปลี่ยนหัวมนุษย์ เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง
  • วาเลอรี สปิริโดนอฟ (Valery Spiridonov) วัย 30 ปี เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ยังไม่มีวิธีการรักษา แต่คานาเวโรบอกว่า สิ่งที่จะทำได้ก็คือการ ‘ตัดร่างกาย’ ทิ้ง เอาหัวของสปิริโดนอฟไปใส่ไว้ในร่างกายของคนอื่นที่ยังแข็งแรง
  • กำหนดการเปลี่ยนตัวเปลี่ยนหัวของสปิริโดนอฟ จะเกิดขึ้นราวเดือนธันวาคม ปี 2017
  • ​ล่าสุด มีข่าวบอกว่า การผ่าตัดจะไม่เกิดข้ึน โดยยังไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด รู้แต่ว่า ทั้งสปิริโดนอฟและคานาเวโร แยกทางกัน คานาเวโรจะไปทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่จีน ในขณะที่สปิริโดนอฟจะหาวิธีรักษาอื่นแทน

     การเปลี่ยนหัวคน – คือข่าวที่ผมต้ังหน้าตั้งตารอมาหลายปีแล้ว!
     ​แต่อนิจจาน่าเสียดาย ที่ในที่สุด – ข่าวนี้ก็ไม่เป็นจริง
     ​เรื่องของเรื่องก็คือ ในปี 2013 ศัลยแพทย์ประสาทชาวอิตาเลียนชื่อ เซอร์จิโอ คานาเวโร (Sergio Canavero) ได้ตีพิมพ์ ‘วิธีการ’ (Protocol) ในการที่จะผ่าตัดเปลี่ยนหัวมนุษย์ เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ จะทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนหัวมนุษย์สำเร็จ
     ​ใช่ครับ – ฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ เหมือนเรื่องนี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่คานาเวโรบอกว่ามันทำได้จริงๆ
     นี่คือเรื่องช็อกโลก!
     โอกาสในการ ‘ทดลอง’ ทำจริงๆ ของคานาเวโรก็มาถึง เมื่อเขาได้อาสาสมัครชาวรัสเซีย ชื่อ วาเลอรี สปิริโดนอฟ (Valery Spiridonov) วัย 30 ปี เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นโรคที่หาได้ยากโรคหนึ่ง โรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ชื่อ Werdnig-Hoffmann Disease โรคนี้ทำให้ระบบประสาทดังกล่าวถูกทำลาย จึงไม่เกิดการส่งสัญญาณประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังกล้ามเนื้อ ผลลัพธ์ก็คือ กล้ามเนื้อของเขาอ่อนแรงและเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้อย่างรุนแรง แม้กระทั่งจะกลืนและหายใจก็ยังลำบาก เพราะกล้ามเนื้อทุกส่วน ไม่ว่าจะกล้ามเนื้อเรียบหรือกล้ามเนื้อลายไม่ตอบสนองต่อการสั่งการของสมอง
​     ปัจจุบันนี้ โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษา แต่คานาเวโรบอกว่า สิ่งที่จะทำได้ก็คือการ ‘ตัดร่างกาย’ ทิ้งไป เอาหัวของสปิริโดนอฟไปใส่ไว้ในร่างกายของคนอื่นที่ยังแข็งแรงดีอยู่
     แน่นอน นี่เป็นการผ่าตัดที่ใหญ่โต เสี่ยงอันตราย และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผลลัพธ์อาจจะเลวร้ายอย่างยิ่งก็ได้ เพราะแพทย์ต้องต่อเชื่อมเส้นประสาทไขสันหลังเข้ากับเส้นประสาทสมอง แล้วก็ไม่มีทางรู้เลยว่า หัวกับตัวมันจะปฏิเสธกันและกันหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือ ยังไม่เคยมีแพทย์ที่ไหนทำอะไรแบบนี้มาก่อน ความเสี่ยงจึงมหาศาลมาก
     แต่คานาเวโรไม่ได้ทำงานคนเดียว เขาร่วมงานกับศัลยแพทย์ประสาทอีกคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่วิทยาลัยแพทย์ในเมืองฮาร์บินของจีน ชื่อ เสี่ยวปิง เรน (Xiaoping Ren)
     ​เรน สนใจเรื่องเดียวกับคานาเวโรเปี๊ยบเลยครับ แต่เขาไม่ได้อาจหาญไปคิดจะเปลี่ยนหัวมนุษย์ตั้งแต่ต้น เขาเริ่มต้นเล็กๆ ก่อน ด้วยการเปลี่ยนหัวหนูมากกว่าหนึ่งพันตัว
     ขั้นตอนในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวหนูแต่ละครั้งนั้น ใช้เวลานานถึง 10 ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ หนูสามารถหายใจ ดื่ม และมองเห็นได้ แต่ปัญหาคืออะไรรู้ไหมครับ ปัญหาก็คือ ยังไม่มีหนูตัวไหนที่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวแล้ว สามารถมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยได้นานเกินสองสามนาทีเลย
​โอ๊ย! แบบนี้เรียกประสบความสำเร็จไหมนี่!
     ประวัติศาสตร์ความอยากเปลี่ยนหัว (ทั้งมนุษย์และสัตว์) ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้นนะครับ แต่มีความพยายามจะทดลองอะไรแบบนี้มานานแล้ว มันเริ่มจากการที่วิทยาการทางการแพทย์สามารถเชื่อมต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทได้
​     ในปี 1954 ศัลยแพทย์รัสเซียอย่าง วลาดิเมียร์ เดมิคอฟ (Vladimir Demikhov) ได้ทดลองผ่าตัดอะไรอย่างหนึ่งซึ่งลือลั่นสนั่นโลกมาก เขาทดลองผ่าตัดสิ่งนี้เพราะอยากจะปรับปรุงพัฒนาการผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยสิ่งที่เขาทำก็คือการผ่าตัดที่เอาส่วนหัวและลำตัวด้านบน (รวมถึงขาหน้าสองขา) ของสุนัขตัวหนึ่ง ไปปลูกถ่าย (Graft) ไว้บนสุนัขอีกตัวหนึ่ง เพื่อจะดูว่า สุนัขที่มีตัวเต็มๆ นั้น สามารถสูบฉีดเลือดไปให้สุนัขที่มีตัวแค่ครึ่งเดียวหรือเปล่า โดยไม่ได้ดูเรื่องระบบประสาทอะไร (ไปดูรูปได้ที่นี่)
     ​เขาทดลองแบบนี้หลายครั้ง และพบว่า โดยทั่วไปแล้วสุนัขสามารถอยู่ได้หลายวัน หนหนึ่งอยู่ได้นานถึง 29 วัน โดยสุนัขที่ถูกปลูกถ่ายลงไปนั้นสามารถขยับตัวและตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ แต่มันตายเพราะถูกร่างกายของสุนัขอีกตัวหนึ่งปฏิเสธ (อย่างที่เรียกว่า Graft Rejection)
     ​โอย…โหดร้ายมากๆ!
     ในปี 1970 โรเบิร์ต ไวท์ (Robert White) ศัลยแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ Case Western Reserve’s School of Medicine ได้ทดลองเปลี่ยนหัวที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก นั่นคือการเปลี่ยนหัวลิงชนิดหนึ่ง นำไปปลูกถ่ายไว้บนร่างใหม่ ผลก็คือ ลิงสามารถอยู่รอดได้นานเก้าวัน (โดยต้องใช้เครื่องพยุงชีวิต) ก่อนที่หัวจะปฏิเสธร่างใหม่อย่างเด็ดขาด แล้วก็ตายลง ที่สำคัญ เส้นประสาทไขสันหลังก็ไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับร่างของลิงได้ ที่สุดก็คือ ร่างกายของลิงไม่สามารถขยับเขยื้อนอะไรได้
     ​ขอบ่นอีกทีว่า – โอ๊ย! แบบนี้เรียกประสบความสำเร็จไหมนี่!
     ​ย้อนกลับมาที่คุณสปิริโดนอฟของเรากันครับ แรกทีเดียว กำหนดการจะเปลี่ยนตัวเปลี่ยนหัวของคุณสปิริโดนอฟนั้น จะเกิดขึ้นในราวเดือนธันวาคม ปี 2017 ที่จะถึงนี้ โดยมีผู้บริจาคร่างกายให้เขาแล้วด้วย เป็นคนหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต แต่ว่าร่างกายยังสมบูรณ์พร้อม สิ่งที่เสียไปคือหัว ดังนั้นจึงเหมาะเจาะลงตัวดีกับคุณสปิริโดนอฟไม่น้อย
     การผ่าตัดที่จะเกิดขึ้น จะกินเวลานาน 150 ชั่วโมง และต้องมีผู้ช่วยผ่าตัดมากถึง 36 คน ใช้เงินค่าผ่าตัดราว 12 ล้านปอนด์ โดยคานาเวโรบอกว่า โอกาสที่จะรอดชีวิตจากการผ่าตัดนั้นมากถึง 90% วิธีการผ่าตัดก็คือจะใช้เทคนิค Hypothermia คือแช่ศีรษะและร่างกายเอาไว้ในความเย็น เพื่อหยุดไม่ให้เซลล์สมองตาย แล้วค่อยนำมาต่อกัน โดยตอนเลื่อยคอออกจากร่าง จะต้องใช้เลื่อยพิเศษที่มีความละเอียดมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทต่างๆ จากนั้นก็ต้องรีบ ‘ต่อ’ หัวกับร่าง เพื่อลดความเสี่ยงทุกอย่าง
     ​หลังจากนั้น สปิริโดนอฟจะต้องอยู่ในสภาวะโคม่าทางการแพทย์ไปอีกนานราวหนึ่งเดือน เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง โดยคานาเวโรบอกว่า สปิริโดนอฟจะสามารถกลับมาเดินได้เหมือนคนปกติ ในเวลาเพียง 12 เดือน ซึ่งเขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยจากผู้เชี่ยวชาญมากมาย ว่าจะทำได้จริงหรือ เพราะมันมีความเสี่ยงมากมายมหาศาล
     ​อย่างไรก็ตาม สปิริโดนอฟบอกว่า เขายินดีรับความเสี่ยงทุกอย่างที่เกิดจากการผ่าตัด เพราะต่อให้ไม่ผ่าตัด เขาก็อาจเสียชีวิตอยู่ดี เนื่องจากอาการป่วยในปัจจุบันของเขาหนักมาก เขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เดินไม่ได้ ต้องให้คนมาช่วยตลอดเวลา และเขาคิดว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นดีมากพอและปลอดภัยพอที่จะใช้กับมนุษย์ได้แล้ว
     แต่…
     ล่าสุด เพิ่งมีข่าวบอกว่า การผ่าตัดจะไม่เกิดข้ึน โดยยังไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัดว่าเพราะอะไร รู้แต่ว่า ทั้งสปิริโดนอฟและคานาเวโร แยกทางกัน คานาเวโรจะไปทำวิจัยร่วมกับเรนที่จีน ในขณะที่สปิริโดนอฟจะหาวิธีรักษาอื่นแทน
     ​สรุปว่า สิ่งที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอคอยมาหลายปี – จะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการผ่าตัดเปลี่ยนหัวมนุษย์จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
     เพียงแต่เราอาจต้องรอกันต่อไปเท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X