×

ดัดแปลงโลกทั้งใบเพื่อรับใช้มนุษย์

11.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins Read
  • นักวิจัยจากทั่วโลกราว 100 คน ร่วมกันประชุมที่บอสตันเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อหาหนทางป้องกันโลกจากหายนะที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Solar Geoengineering
  • Geoengineering ที่หลายฝ่ายเสนอกันอยู่ มีเป้าหมายเดียวกัน คือลดภาวะโลกร้อน แต่วิธีการมีอยู่ด้วยกันสองอย่างใหญ่ๆ อย่างแรกคือ การจัดการกับแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า Solar Radiation Management หรือ SRM และอีกวิธีคือ การพยายามลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon dioxide Removal
  • Geoengineering ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม คือการ ‘ดัดแปลงภูมิอากาศ’ หรือ Modify the Climate ทั้งสิ้น คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นกับ Geoengineering ก็คือ มนุษย์นั้น ‘มีสิทธิ’ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยจงใจหรือเปล่า

     ปลายเดือนที่แล้ว นักวิจัยจากทั่วโลกราวๆ 100 คน แห่กันไปประชุมที่บอสตันด้วยเรื่องสำคัญยิ่งยวด

     นั่นก็คือ – พวกเขาจะ ‘กอบกู้โลก’ ได้อย่างไร

     ใครๆ ก็คงรู้กันอยู่นะครับ ว่าโลกของเรากำลังตกอยู่ในวิกฤตสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ถึงระดับที่อาจเกิดการสูญพันธ์ุใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ 4,500 ปีของโลก จนหลายคนบอกว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า (Anthropocene Epoch) หรือยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับมหึมาระดับยุคทางธรณีวิทยา – ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

     แล้วจะทำอย่างไรดี?

     สิ่งที่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มาประชุมกันที่บอสตัน ก็คือพวกเขากำลังหาหนทางป้องกันโลกจากหายนะที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Solar Geoengineering

     คุณเคยได้ยินคำว่า Geoengineering มาก่อนไหมครับ?

     คำนี้หมายถึงการที่มนุษย์ เข้าไป ‘รบกวน’ (มี Intervention) โดยจงใจ ในสเกลขนาดใหญ่มหึมากับระบบภูมิอากาศของโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะขัดขวางภาวะโลกร้อน บางทีก็เรียกว่า Climate Engineering หรือ Climate Intervention

     จริงอยู่ หลายคนบอกว่าการที่โลกมันร้อนขึ้นในยุคนี้ก็เกิดจากกระบวนการ Geoengineering ของมนุษย์ โดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัวนั่นแหละ ได้แก่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายๆ ชนิดขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ จนกระทั่งโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ Geoengineering ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ ‘ใหญ่’ ปานกัน แต่ว่าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

     หลายคนอาจคิดว่า Geoengineering เป็นเรื่องใหม่ แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่ามันนับย้อนกลับไปได้ถึงปี 1841 โน่นเลยนะครับ ตอนนั้นนักอุตุนิยมวิทยาอย่าง เจมส์ พอลลาร์ด เอสปี (James Pollard Espy) ได้เสนอว่า เรา (หมายถึงคนอเมริกัน) ควรจะทำให้เกิดฝนตกมากขึ้น ด้วยการเผาป่าในแถบแอปพาเลเชียน (Appalachian) (ซึ่งจริงๆ เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ยาวเฟื้อยหลายพันกิโลเมตร) ฟังแบบนี้ หลายคนอาจรู้สึกทะแม่งๆ เพราะเผาป่าแล้วจะมีฝนได้ยังไง

     แต่คุณเจมส์ พอลลาร์ด เอสปี นี่ เขาได้ชื่อว่าเป็น The Storm King หรือเจ้าแห่งการก่อพายุ เขาคิดโน่นนั่นนี่ออกมาเป็นทฤษฎีพายุและปรัชญาพายุหลายอย่าง โดยเฉพาะหนังสือ The Philosophy of Storms ของเขานี่ ถือว่าได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ซึ่งเขาก็อธิบายไว้อย่างพิสดารในหนังสือเล่มนี้นี่แหละครับ ว่าทำไมการเผาป่าในแถบแอปพาเลเชียนแล้ว จะทำให้ฝนตก โชคดีที่ไม่มีใครทำตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นร่องรอยแรกของ ‘แนวคิด’ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกขนานใหญ่ เพื่อให้โลกเปลี่ยนและก่อให้เกิดสภาวะที่ดีงามนำมารับใช้มนุษย์ได้

     มาถึงยุคปัจจุบันนี้ Geoengineering ที่หลายฝ่ายเสนอกันอยู่นั้น มันมีเป้าหมายเดียวกันนะครับ คือลดภาวะโลกร้อน แต่วิธีการมีอยู่ด้วยกันสองอย่างใหญ่ๆ

     อย่างแรกก็คือ – สิ่งที่ทำให้โลกร้อนคืออะไรครับ ก็คือแสงอาทิตย์ใช่ไหม ดังนั้นถ้าหากเราจัดการกับแสงอาทิตย์ได้อย่างที่เรียกว่า Solar Radiation Management หรือ SRM (ซึ่งก็คือ Solar Geoengineering ที่นักวิทยาศาสตร์ไปประชุมกันที่บอสตันนั่นแหละครับ) ก็น่าจะทำให้โลกลดความร้อนลงไปได้เหมือนกัน

     คำถามคือ – แล้วจะทำอย่างไร?

     เทคนิคที่มีการเสนอกันนั้นมีหลายแบบ เช่น การทำให้แสงอาทิตย์ไม่ส่องมาที่โลกมากเหมือนที่เป็นอยู่ หรือไม่ก็ทำให้ชั้นบรรยากาศหรือพื้นผิวโลกเอง สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปให้ได้มากที่สุด วิธีการก็มีอย่างเช่น

  • ถ้าเป็นที่ระดับพื้นผิวโลก ก็อาจใช้วัสดุทำหลังคาที่มีสีอ่อน, พยายามเปลี่ยนสีของมหาสมุทรให้เป็นสีอ่อนลง รวมไปถึงการเพาะปลูกพืชที่สะท้อนแสง
  • ถ้าเป็นในระดับชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ ก็อาจใช้วิธีฉีดพ่นน้ำทะเลขึ้นไปที่เมฆ ซึ่งจะทำให้เมฆสะท้อนแสงได้มากขึ้น เพราะว่ามีผลึกเกลือไปอยู่บนนั้น เรียกวิธีการนี้ว่า Marine Cloud Brightening ซึ่งคาดว่าจะลดอุณหภูมิโลกลงได้ราว 0.5-1.5 องศาเซลเซียส
  • ในชั้นบรรยาการที่สูงขึ้นไปอีก ก็อาจผลิตสารจำพวกแอโรซอล (Aerosol) ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง (เช่น Sulfafe Aerosols ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์) เอาขึ้นไปไว้บนนั้น ก็จะทำให้แสงอาทิตย์ตกลงมาถึงพื้นโลกน้อยลง
  • ในระดับอวกาศ อาจจะใช้กระจกหรือกลุ่มฝุ่นอวกาศอะไรบางอย่างไปขัดขวางแสงอาทิตย์

     ซึ่งวิธีคิดทั้งหมดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นวิธีที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเลย แถมทำๆ กันไปน่ะ ยังไม่รู้เลยว่าจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

     ดังนั้น จึงเกิดวิธีการที่มีฐานคิดอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการพยายามลดคาร์บอนไดออกไซด์ (หรือ Carbon dioxide Removal) ซึ่งไม่ใช่แค่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่ (พยายาม) ทำๆ กันอยู่นะครับ แต่ใช้วิธีในสเกลใหญ่มหึมาหลายอย่าง เช่น

  • สร้างสิ่งที่เรียกว่า Terra Preta ซึ่งแปลว่า Black Soil หรือ ‘ดินดำ’ เป็นดินแบบที่พบในแอ่งแอมะซอน (เขาเรียกว่า Amazon Dark Earth) พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นดินที่มีคาร์บอนอยู่ในนั้นมากมายมหาศาล วิธีการทำ Terra Preta มีรายละเอียดของมัน แต่หลักการก็คือการกักคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินหรือในรูปของของแข็ง ซึ่งก็ต้องทำกันในปริมาณมหึมามากๆ ถึงจะได้ผล
  • ดักจับคาร์บอนจากอากาศด้วยวิธีต่างๆ เพื่อเอาคาร์บอนไดออกไซด์แยกออกมา แล้วค่อยปล่อยอากาศกลับไปเหมือนเดิม
  • การปลูกป่าในระดับใหญ่ทั่วโลก (หรือบางที่ก็ถึงขั้นเสนอให้คนอพยพออกจากเขตร้อนไปเลย ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น ไม่อยู่ในเขต Green Belt) ซึ่งจะทำให้เกิดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น
  • การทำอะไรต่อมิอะไรกับมหาสมุทร ซึ่งมีตั้งแต่การเทสารบางอย่างลงไป อันจะทำให้มหาสมุทรดักจับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น จนกระทั่งถึงการปล่อยหุ่นยนต์จิ๋วลงไปในทะเล เพื่อให้มันไปกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์อีกทีหนึ่ง

     แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ต่อให้เป็นวิธีที่ต้องการจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ยังเกิดเสียงวิจารณ์กันอยู่ดี ว่าที่ทำๆ กันไปน่ะ เป็นไปเพราะต้องการจะลดภาวะโลกร้อน แต่เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าแต่ละวิธีจะก่อปัญหาใหม่อย่างไรบ้างหรือเปล่า

     Geoengineering นั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม คือการ ‘ดัดแปลงภูมิอากาศ’ หรือ Modify the Climate ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการทำในระดับใหญ่ (Large Scale) ที่นอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลแล้ว ผลกระทบยังไม่ได้กระทบกับคนในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่กระทบเป็นวงกว้างมากๆ

     คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นกับ Geoengineering ก็คือ มนุษย์นั้น ‘มีสิทธิ’ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยจงใจหรือเปล่า และถ้าทำได้ จะทำได้ในเงื่อนไขใดบ้าง ตัวอย่างเช่น ควรจะทำเพื่อ Minimize ภาวะโลกร้อน หรือทำเพื่อ Optimize ภูมิอากาศ ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน อย่างหนึ่งเป็นไปเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่อีกอย่างหนึ่งคือไปไกลถึงขั้นทำให้โลกมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์และสัตว์ (ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์) เป็นต้น

     บางคนวิจารณ์ Geoengineering ด้วยแนวคิดแบบเดียวกับ GMO หรือพืชตัดแต่งพันธุกรรมนั่นแหละครับ คือมนุษย์มีสิทธิทำแบบนี้ได้จริงหรือ มันจะไม่ก้าวก่าย ‘งานของพระเจ้า’ หรอกหรือ แต่บางคนก็ตั้งคำถามว่า เราไม่มีโอกาส ‘ทดลอง’ กับ Geoengineering มากนักนะครับ เพราะว่ามันมีขนาดใหญ่มาก การทดลองกับสเกลเล็กๆ ไม่น่าจะทำให้รู้ผลครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้นการเร่ิมลงมือทำ Geoengineering ทั้งหลาย จึงเท่ากับเป็นการ ‘ทดลอง’ ทั้งสิ้น

     นอกจากนี้ เรายังไม่รู้เลยว่ามันจะมีประสิทธิภาพจริงเหมือนที่คิดไหม ตัวอย่างเช่นการใส่ ‘ปุ๋ยเหล็ก’ (Iron Fertilization) ลงไปในทะเล ในบริเวณที่มีธาตุเหล็กต่ำ เหล็กเป็นธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง มันละลายในน้ำทะเลได้น้อย ทำให้ในทะเลหลายที่มีเหล็กในรูปที่แพลงตอนเอาไปใช้ได้จำกัด การใส่ ‘ปุ๋ยเหล็ก’ จึงทำไปเพราะคาดหมายจะให้แพลงตอนสังเคราะห์แสงมากขึ้น ซึ่งแปลว่ามันจะจับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นด้วย แต่ปรากฏว่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศไม่ได้ลดลงมากนัก เพราะพอแพลงตอนตาย มันก็ปล่อยคาร์บอนกลับขึ้นไปนั่นแหละ ไม่ได้พาคาร์บอนตกจมลงไปก้นทะเลเหมือนที่คิดไว้ในทฤษฎี

     ด้วยเหตุนี้ เรื่องของ Geoengineering จึงเป็นเรื่องทำนอง ‘ปากเหว’ มาก คือเหมือนกับมนุษยชาติกำลังจะพลัดหล่นลงไปในเหวแห่งภาวะโลกร้อนแล้ว แต่ก็มีตัวอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ไว้ใจได้หรือเปล่า ยื่นมือมาบอกว่าจะฉุดเราขึ้นไป แต่เราก็ยังไม่ค่อยกล้าให้มันฉุดเท่าไหร่ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าผลลัพธ์ของการฉุดจะเป็นอย่างไร ฉุดขึ้นไปกระทืบซ้ำแล้วโยนเราลงเหวเหมือนเดิมหรือเปล่า

     ดังนั้น การถกเถียงเรื่อง Geoengineering จึงจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องร้อน เรื่องรีบด่วน ที่มนุษย์ต้องถกเถียงกันอย่างเผ็ดแซ่บแน่ๆ นับตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X