×

คนอวัยวะหมู

04.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมีความพยายามจะนำเอาอวัยวะหมูมาปลูกถ่ายไว้ในร่างกายของมนุษย์ แต่ไม่สำเร็จ ถึงวันนี้แม้ยังไม่สำเร็จ แต่ความก้าวหน้าครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
  • แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่างหยางลูฮันกลับไม่ย่อท้อ โดยก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นหนึ่งในทีมทำงานเรื่องเทคโนโลยีตัดต่อยีนใหม่ล่าสุด CRISPR ที่พยายามหาทางตัดแต่งพันธุกรรมของลูกหมูเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์ หรือ Xenotranplantation
  • ขณะนี้หยางลูฮันสามารถระดมทุนได้ราว 38 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว โดยหวังว่าการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะได้ รวมทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การทดลองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

    นานมาแล้ว สมัยที่ผมยังทำนิตยสาร Trendy Man โดยมีพี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นบรรณาธิการบริหาร (ซึ่งมากกว่า 20 ปีที่แล้ว) คอลัมน์หนึ่งที่ผมเคยเขียนให้กับนิตยสารเล่มนี้เป็นเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์นี่แหละครับ

    ตอนนั้นจำได้ติดใจเลยว่ามีข่าวเรื่องนักวิทยาศาสตร์พยายามจะปลูกถ่ายอวัยวะ โดยนำเอาอวัยวะของหมูมาใส่ไว้ในร่างกายมนุษย์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอย่าว่าแต่มนุษย์กับหมูเลยครับ มนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันยังต้องทดสอบมากมายไม่ให้เกิดการปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่ปลูกถ่ายเข้าไป แล้วถ้าเป็นมนุษย์กับหมูที่อยู่กันคนละสปีชีส์ มันจะเกิดขึ้นง่ายๆ ได้อย่างไรกัน

    ใช่ครับ – ไม่สำเร็จ!

    ที่จริงต้องบอกว่าการผ่าตัดสำเร็จอยู่นะครับ แต่ว่าสำเร็จได้เพียงไม่กี่วันผู้ป่วยก็เสียชีวิตลง

    ผมรำลึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็เมื่อต้องจรดนิ้วมือลงพิมพ์คอลัมน์ Tomorrow ครั้งแรกให้กับ THE STANDARD นี่แหละครับ เพราะคอลัมน์นี้ตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ เป็นความก้าวหน้าใหม่ๆ ต่างๆ ที่ส่งผลต่อสังคมของเรา แล้วปรากฏว่าพอลองค้นข้อมูลดู ผมพบว่าเรื่องของการนำอวัยวะหมูมาใช้กับคนน่ะ ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปีมันก็ยังไม่สำเร็จนะครับ แต่กระนั้นความก้าวหน้าใหญ่ก็ดูเหมือนใกล้จะเกิดขึ้นเต็มทีแล้ว

    ดังนั้นเพื่อให้เป็นสิริมงคล (เป็นคำพูดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก!) และเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลายาวนานที่เคยทำงานกับพี่โหน่งมา (จริงๆ ชื่อคอลัมน์ว่า Tomorrow ก็เคยเขียนให้กับ a day ในช่วง 2 ปีแรกด้วย) ก็เลยขอหยิบเรื่องนี้มาเล่านะครับ

    หลายคนอาจจะคิดว่าการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะไม่น่าเป็นเรื่องยากเท่าไร ก็แค่เอาของใหม่ใส่เข้าไปก็สิ้นเรื่อง แต่เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกอย่าง หยางลูฮัน (Yang Luhan) ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์ชื่อดังอยู่ที่เคมบริดจ์ แมสซาชูเซตส์ บอกเราว่าไม่ง่ายเลยสักนิด

    แต่ที่บอกว่า ‘ไม่ง่าย’ นั้น หยางบอกด้วยหัวใจเต็มร้อยนะครับว่าถึงจะ ‘ไม่ง่าย’ แต่เธอไม่ยอมย่อท้อหรอก

    ฟังจากนามสกุลของเธอ เราคงรู้นะครับว่าเธอมีเชื้อสายจีน ดังนั้นเธอจึงสนใจการทำวิจัยเรื่องนี้มาก เพราะเธอรู้ว่าในจีนมีคนที่กำลังรอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอยู่มากถึง 2 ล้านคน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเร็วพอ คนเหล่านี้จะต้องตาย

    ก่อนหน้านี้หยางมีงานศึกษาวิจัยที่โด่งดังระดับโลกมาแล้ว สมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เธอเป็นหนึ่งในทีมที่ทำงานเรื่องเทคโนโลยีตัดต่อยีนใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า CRISPR-Cas9 ซึ่งย่อมาจากคำยืดยาวมากๆ ว่า Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats

    เห็นคำนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ แค่จับคำสุดท้ายว่า Repeats ให้ได้ก็จะพอเข้าใจแล้วละครับ

    คือไอ้เจ้า CRISPR มันคือดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่เรียกว่า โพรแคริโอต (prokaryote)​ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์ (โอ๊ย! ไปกันใหญ่แล้ว) เอาอย่างนี้แล้วกันครับ เอาเป็นว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดึกดำบรรพ์มาก แล้วข้างในตัวมันก็จะมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอลอยๆ อยู่ ไม่ได้อยู่ในนิวเคลียสอีกที เวลาเอามาทำอะไรๆ ก็เลยสะดวกหน่อย

    ในดีเอ็นเอมันจะเป็นสายพันธุกรรมที่มี ‘เบส’ เรียงเป็นตับ เบสพวกนี้มี 4 ตัว แต่จะเรียงสลับกันไปมายังไงก็แล้วแต่ แต่คำว่า Repeats จะเป็นช่วงของดีเอ็นเอที่มีการเรียงลำดับเบสแบบ ‘ซ้ำ’ กัน ซึ่งเป็นส่วนที่มีบทบาทในการ ‘ป้องกันตัว’ ของแบคทีเรีย สามารถเอามาทำหน้าที่เป็นคล้ายๆ ‘กรรไกร’ ตัดชิ้นส่วนของดีเอ็นเออื่นๆ ได้ โดย CRISPR มีอยู่หลายชนิด คำว่า Cas9 นั้นหมายถึงโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งก็เอาไว้ทำหน้าที่ในการ ‘ตัด’ ที่ต่างตำแหน่งกัน

    สรุปง่ายๆ อีกทีก็คือ คุณหยางนี่เธอทำวิจัยว่าจะหา ‘กรรไกร’ แบบไหนมาตัดต่อสารพันธุกรรมของหมูดี

    แล้วตัดทำไมกันล่ะ

    นี่แหละครับคือปัญหา เพราะมีการค้นพบว่าในสารพันธุกรรมของหมูนั้นมี ‘ยีน’ อยู่หลายสิบยีนที่เป็นอันตรายเวลาที่เราเอาอวัยวะของหมูมาใส่ไว้ในร่างกายมนุษย์ แต่เจ้า CRISPR สามารถทำตัวเป็นกรรไกรตัดยีนเหล่านี้ออกไปได้ถึง 62 ยีน (ซึ่งไม่ใช่ว่าตัดกันมั่วๆ นะครับ แต่ต้องจำเพาะเจาะจง)

    แล้วการตัดยีนที่ว่าก็ไม่ใช่เอาก้อนอวัยวะหมูมาก้อนหนึ่ง จากนั้นก็เอา CRISPR ไปทาๆ แล้วก็จะเกิดการตัดยีนที่ไม่พึงปรารถนาทิ้งไปในบัดดลนะครับ ทว่าสิ่งที่หยางต้องการจะทำก็คือตัดยีนเหล่านี้ในตัวอ่อนของหมูออก แล้วค่อยนำตัวอ่อนไปฝังในแม่หมูอีกทีหนึ่ง จะได้คลอดออกมาเป็นหมูที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้สามารถนำอวัยวะของหมูไปใส่ในร่างกายมนุษย์ได้โดยไม่เป็นอันตราย

    ปกติแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์ ( Xenotransplantation) แบบนี้คือจะเกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดเนื้องอก ลูคีเมีย หรือการเสื่อมของระบบประสาทได้ โดย CRISPR จะไปตัดยีนที่ทำให้เกิดอาการนี้ทิ้งไป ผลที่คาดหวังไว้ก็คือ Xenotransplantation จะเกิดขึ้นได้

    ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการปลูกถ่ายอวัยวะไปอย่างสิ้นเชิง!

    ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่างานของหยางกำลังจะประสบความสำเร็จนะครับ เพราะเธอเพิ่งจะระดมทุนได้ (ตอนนี้ได้มาราว 38 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว) แต่ในเวลาเดียวกัน หยางก็ไม่ได้คิดจะทำแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว เธอเพิ่งมีส่วนเขียนโครงการใหม่ที่ ‘ทะเยอทะยาน’ ขึ้นไปอีกขั้น

    หยางบอกว่า ก็ในเมื่อเราสามารถตัดต่อยีนได้แล้ว จะเอาอะไรมาต่อกับอะไรก็ได้ (อันนี้พูดกันแบบลวกๆ หยาบๆ นะครับ เพราะของจริงมันไม่ได้ง่ายอะไรปานนั้น) แล้วทำไมเราถึงไม่ ‘สังเคราะห์’ ยีนของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเลยล่ะ จะได้ทำให้เกิดยีนของมนุษย์ในแบบที่ปลอดมะเร็ง หรือสามารถต้านไวรัสได้ด้วยตัวเองในระดับยีนกันเลยทีเดียว

    พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คล้ายๆ สร้างมนุษย์ที่เป็น ‘จีเอ็มโอ’ ขึ้นมานั่นแหละครับ!

    อย่างไรก็ตาม หยางไม่ได้จะไปไกลถึงขั้นนั้นตั้งแต่ตอนนี้นะครับ เธอเพียงแต่วางแผนจะสร้าง designer pigs หรือหมูที่ผ่านการออกแบบทางพันธุกรรมให้ได้เสียก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ยังติดปัญหาอยู่หลายเรื่อง เช่น แม่หมูที่อุ้มท้องหมูแบบนี้มักจะแท้งเสียก่อน เป็นต้น

    หลายคนอาจจะบอกว่าการทดลองพวกนี้ผิดศีลธรรมหรืออะไรต่อมิอะไร แต่สำหรับหยาง เธอคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่มนุษย์จะต้อง ‘คิดใหญ่’ และก้าวไปข้างหน้า หยางบอกด้วยว่า คนทั่วไปคิดว่าการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์แบบนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะได้ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นงานใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เรื่องของการตัดต่อดีเอ็นเอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทดลองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย เช่น จะทดลองเรื่องนี้ในมนุษย์อย่างไร กับใคร และจะรู้ได้อย่างไรว่าได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจจริงๆ ไม่มีผลข้างเคียงประหลาดๆ ทั้งผลทางวิทยาศาสตร์และผลทางสังคมวัฒนธรรมด้วย

    มนุษย์ทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงได้แต่เฝ้าจับตาดูกันต่อไปว่าอนาคตของมวลมนุษยชาติในวันพรุ่งนี้,

    จะเป็นอย่างไร

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising