×

รวมเทคนิคการตลาดสำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่ ให้คนรู้จักเร็วที่สุด

01.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เวลาเราเปิดตัวสินค้าใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนรู้จักเรา เรียกชื่อสินค้าเราถูก เข้าใจว่าเราทำอะไรได้ และจดจำเราได้ เทคนิคหนึ่งที่อยากแนะนำ คือ Crowded Room หรือ ‘การแนะนำตัวเองในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คน’
  • จินตนาการว่า ‘สินค้า’ ของคุณ คือ คนหนึ่งคน ชื่อของคุณคือ Brand Name, การแต่งตัวคือ Brand Personality, วิธีการพูดและนิสัย คือ Brand Character เรื่องที่คุณเชี่ยวชาญหรือถนัด คือ Reason to Believe และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างความประทับใจแรกที่คนจะเข้าใจคุณได้ทันที หรือ First Impression ส่วนห้องที่วุ่นวายนั้นเปรียบเสมือน Clutter ของสื่อโฆษณาต่างๆ ที่พยายามดึงความสนใจ หรือพูดคุยกับคนอยู่
  • ‘ตะโกนเรียกร้องความสนใจ’ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันเยอะสุด และก็เวิร์กน้อยที่สุด เพราะคนจะหันมามองคุณด้วยความสงสัย และจะหันกลับไปด้วยความรำคาญ เปรียบเสมือนการทุ่มเงินโฆษณาแบบ Traditional Advertising หรือการโฆษณาด้วยสื่อประเภทกระจายภาพหรือเสียงนั่นเอง

     เวลาเราเปิดตัวสินค้าใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนรู้จักเรา เรียกชื่อสินค้าเราถูก เข้าใจว่าเราทำอะไรได้ และจดจำเราได้ แต่ท่ามกลางสินค้ามากมายมหาศาลกว่า 60,000 แบรนด์ในตลาด รวมไปถึง ผู้คนอีกมากมายที่ได้รับสื่อโฆษณาเต็มไปหมดในชีวิตประจำวัน เราจะมีวิธีการอย่างไรละ สำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่ให้เป็นที่รู้จัก

     เทคนิคหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอ คือเทคนิคที่เรียกว่า ‘Crowded Room’ หรือ ‘การแนะนำตัวเองในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คน’

     ลองนึกภาพห้องที่คนกำลังปาร์ตี้กันสนุกสนานเต็มไปหมดสิครับ มันเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่พูดคุยกัน มีเสียงเพลงดังสร้างบรรยากาศ หลายคนจับกลุ่มพูดคุยกันอย่างออกรส คุณเดินเข้ามาในห้องนี้ ไม่มีใครเข้ามาทักทายคุณแม้แต่คนเดียว

     คุณจะทำอย่างไรจึงจะสามารถแนะนำตัวคุณในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คน และเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนนี้ได้ ?

     คุณสามารถที่จะ…

  1. เปิดตัวเข้ามาในห้องอย่างยิ่งใหญ่
  2. ตะโกนเรียกร้องความสนใจ
  3. ขัดจังหวะด้วยการร่วมวงสนทนาอย่างสุภาพ
  4. หามุมที่เงียบกว่าในห้อง หรือ จังหวะที่ห้องเงียบๆ
  5. กระซิบข้างหู พูดคุยเป็นรายคน
  6. สัมผัส
  7. ให้คนอื่นแนะนำตัวคุณให้
  8. หากลุ่มที่ใกล้เคียงกับคุณ แล้วเข้าไปพูดคุย

 

     จินตนาการว่าสินค้าของคุณ คือ คนหนึ่งคน ที่ต้องแต่งตัวยังไง บุคลิกหน้าตา และทำไมคนถึงอยากรู้จักคุณก่อนที่จะเข้าไปทำความรู้จักในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนอย่างนี้ ชื่อของคุณคือ Brand Name การแต่งตัวคือ Brand Personality วิธีการพูดและนิสัย คือ Brand Character เรื่องที่คุณเชี่ยวชาญหรือถนัด คือ Reason to Believe และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างความประทับใจแรกที่คนจะเข้าใจคุณได้ทันที หรือ First Impression ส่วนห้องที่วุ่นวายนั้นเปรียบเสมือน Clutter ของสื่อโฆษณาต่างๆ ที่พยายามดึงความสนใจ หรือพูดคุยกับคนอยู่

     ซึ่งเทคนิคแต่ละเทคนิค ถ้าจะให้อธิบายเปรียบเทียบกับการออกสินค้าแล้ว จะเปรียบได้ดังนี้

     1. เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ทำตัวเด่นเป็นจุดสนใจ: หากเรามีงบประมาณมากๆ นี่คือ การทุ่มงบการตลาดมหาศาลทำแคมเปญโฆษณา หาพรีเซนเตอร์ หรือ จัดอีเวนต์ใหญ่โต หรือแต่งตัวให้เด่นที่สุดในงาน (การทำ Product Differentiation) เดินเข้างานมีแสงสปอตไลต์ เพื่อเปิดตัวคุณเข้ามาในห้องทำให้ทุกคนต้องหันมาสนใจคุณ ซึ่งเทคนิคนี้ได้ผลในการสร้างความสนใจแน่นอน แต่คนอยากจะรู้จักคุณต่อหรือไม่ ที่เหลือคือตัวของคุณเอง เทคนิคนี้คือการทำ Brand Activation หรือการปล่อยแคมเปญการตลาดที่ใช้เครื่องมือการตลาดครบทุกเครื่องมือนั่นเอง

     2. ตะโกนเรียกร้องความสนใจ: วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันเยอะสุด และก็เวิร์กน้อยที่สุด เพราะคนจะหันมามองคุณด้วยความสงสัย และจะหันกลับไปด้วยความรำคาญ วิธีนี้เปรียบเสมือนการทุ่มเงินโฆษณา เพื่อแนะนำตัวเองว่าเราเป็นใคร โดยที่ไม่ได้ใส่ใจบริบทของคนในห้องที่กำลังพูดคุยกันอยู่ และคุณก็จะถูกกลืนหายไปในที่สุด เทคนิคนี้คือ Traditional Advertising หรือการโฆษณาด้วยสื่อประเภทกระจายภาพหรือเสียงนั่นเอง

     3. ขัดจังหวะด้วยการร่วมวงสนทนา (อย่างสุภาพ): เป็นหลักการร่วมบทสนทนาของผู้คนเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่พูดคุยกันอยู่ อย่างถูกจังหวะ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ ทำให้คนที่พูดคุยกันอยู่ในวงสนทนา เหล่านี้คือ Content Marketing หรือ Newsjacking (การโหนกระแสอย่างมีชั้นเชิง) นั่นเอง ที่สำคัญเวลาที่คุณร่วมวงสนทนา สิ่งที่คุณพูดต้องเป็นประโยชน์ในวงสนทนาแล้วคนในวงนั้นจะถามคุณเองว่าคุณชื่ออะไร เป็นใคร และจะอยากรู้จักคุณมากขึ้น ถ้าคุณเข้าไปมัวแต่ขายเรื่องตัวเอง เค้าก็จะค่อยๆ ถอยห่างจากคุณ

     4. หามุมที่เงียบกว่า หรือ จังหวะที่ห้องเงียบ: คือการหาสิ่งแวดล้อม สื่อ หรือ ที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีความวุ่นวายสับสนอลหม่านของโฆษณา หรือ ไม่มีบทสนทนามากนัก ซึ่งความเงียบทำให้คนมีสมาธิฟังเรามากที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องที่พูดต้องเกี่ยวข้อง และเข้าหูคนฟังด้วย! เทคนิคนี้คือการหา New Media หรือพื้นที่สื่อใหม่ๆ นั่นเอง

     5. กระซิบข้างหู พูดคุยเป็นรายคน: ในบางครั้งสิ่งที่ได้ผลมากที่สุดไม่ใช่การพยายามตะโกนให้ดังที่สุด แต่กระซิบให้เบาแต่ถูกคนที่สุด ในกรณีนี้คือการทำ Personalization หรือ Direct Marketing (การตลาดทางตรงโดยใช้เครื่องมือที่ติดต่อไปยังลูกค้าคนต่อคน) นั่นเอง การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะใช่ และพูดคุยกับเขาอย่างใกล้ชิดในสิ่งที่เขาสนใจ

     6. สัมผัส: การสัมผัส (Touch) คือการทำความรู้จักผ่านการถ่ายทอดทางประสบการณ์ด้านอารมณ์ที่คำพูดทดแทนไม่ได้ ในบางครั้งมันถึงมีศาสตร์ในการอ่านคนเวลา Shake Hand จับมือแนะนำตัวเลยทีเดียว สำหรับวิธีนี้คือการสร้าง ‘Live Experience’ หรือสร้างประสบการณ์ร่วมที่จับต้องได้ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ให้กับคนกลุ่มเล็กๆ ก่อน ให้เค้ารู้สึกได้ถึงเราก่อนที่จะค่อยๆ พูดคุยกับคนถัดๆ ไป ซึ่งการทำ Live Experience มักจะเกี่ยวข้องกับการทำอีเวนต์เปิดตัวแบบพิเศษ การเดินสายโรดโชว์ โดยมีสินค้าหรือบริการให้ลองใช้จริงโดยเน้นไปที่ ‘อารมณ์’ มากกว่าขายของ

     7. ให้คนอื่นแนะนำคุณให้: คือการใช้ Brand Ambassador/Presenter หรือ Public Relations (ประชาสัมพันธ์) นั่นเอง แน่นอน การให้คนอื่นที่คนในห้องให้ความสนใจฟัง หรือพิธีกรในงานเลี้ยงแนะนำตัวคุณให้ก็เป็นวิธีที่ดีในการให้คนในห้องรู้จักคุณ! และที่สำคัญคนที่แนะนำคุณก็ควรเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ หรือมีคนฟัง ไม่เช่นนั้นคุณเองก็จะไม่มีคนฟังด้วยเช่นกัน

     8. หากลุ่มที่ใกล้เคียงกับคุณ แล้วเข้าไปพูดคุย: มนุษย์เราจะรู้สึกสบายใจเวลาที่เจอกลุ่มคนที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน และน่าจะเข้ากันได้ เช่น ถ้าเราเป็นผู้ชายที่เดินเข้าไปในห้องที่ไม่รู้จักใคร เราย่อมมองหากลุ่มผู้ชายที่ดูน่าจะเฟรนด์ลีคุยง่าย แล้วเข้าไปทำความรู้จักก่อน เช่นเดียวกันครับ ถ้าเราสามารถกำหนดแบรนด์ตัวเองได้ชัดและรู้ว่าใครที่น่าจะเข้ากับเราได้ การมองหากลุ่มที่ใกล้เคียงกับคุณ (Segment) แล้วเข้าไปพูดคุยก็มีโอกาสที่จะทำความรู้จักและสนิทพอที่จะให้คนกลุ่มนี้แนะนำคุณต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้

     ทั้งหมดนี้คือเทคนิคที่ให้คุณลองคิดและหยิบไปเลือกใช้สำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่ของคุณในครั้งหน้านะครับ ที่สำคัญคือ คุณต้องสร้างแบรนด์และหาข้อดีที่ทำให้กลุ่มคนอยากรู้จักคุณให้มากขึ้นด้วยครับ

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising