×

ถอดบทเรียน 15 ประการกับประกัน ‘เจอ จ่าย จบ’

08.10.2021
  • LOADING...
Insurance meet pay finish

ถอดบทเรียน 15 ประการกับประกัน ‘เจอ จ่าย จบ’

 

  1. หลักการของการประกันภัย คือ การชดเชยความสูญเสียทางด้านการเงิน (Financial Loss) ให้กับผู้ที่ซื้อประกัน 

 

  1. หลักการประกันภัยอีกข้อคือ ผู้ซื้อกรมธรรม์ไม่สามารถคาดหวังกำไรจากการซื้อประกันได้ หมายความว่า ถ้าเกิดเหตุร้ายขึ้นมา ความเสียหาย 1 แสนบาท แต่ถ้าได้เงินคืน 3 แสนบาท ก็หมายถึงจะได้กำไร 2 แสน ซึ่งถ้ามีกรมธรรม์แบบนี้จะทำให้ขัดต่อหลักการของการประกันภัย

 

  1. แม้แต่ความคุ้มครองชดเชยรายวัน ทางฝ่ายพิจารณาการรับประกันภัยก็ต้องดูรายได้ของคนที่มาซื้อประกันประกอบไปด้วย ไม่ใช่ว่ารายได้วันละ 300 บาท แต่เวลานอนโรงพยาบาลชดเชยรายวันได้วันละ 1,500 บาท ซึ่งก็จะขัดกับหลักการประกันตามที่กล่าวมาในข้อ 1 และ 2

 

  1. ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ ‘ทุนประกันภัย’ (Sum Assured) มีค่ามากกว่า ‘ความสูญเสียทางด้านการเงิน’ (Financial Loss) แล้ว เมื่อนั้นก็จะเกิดแรงจูงใจที่แปรผันโดยตรงกับการนำตัวเองไปเสี่ยงภัย ทำให้ผิดเจตนาของการรับประกันภัยไป 

 

  1. แบบประกันที่ออกมาทุกชนิด ทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ข้อ 4 ให้ได้ ซึ่งแม้แต่ประกัน เจอ จ่าย จบ ก็น่าจะถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนี้เหมือนกัน

 

  1. สำหรับ เจอ จ่าย จบ ใครที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แปลว่าความสูญเสียทางด้านการเงินที่ว่านี้จะน้อยลงไปมาก เพราะส่วนใหญ่จะติดแบบไม่แสดงอาการ

 

  1. เป็นเรื่องปกติของโรคระบาดที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ และเมื่อกลายพันธุ์แล้วอาจจะมีโอกาสติดเชื้อกันง่ายขึ้น (บทความ ‘บทเรียน 100 ปี จากโรคระบาด’ ที่เคยเขียนในเดือนมีนาคม 2563) โดยเฉพาะถ้าติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ก็จะแปลว่า ความสูญเสียทางด้านการเงินนั้นแทบจะไม่มีเลยเช่นกัน

 

  1. จนถึงตอนนี้ อัตราของคนที่ติดโควิดแบบสถานะ ‘สีเขียว’ นั้น มีมากกว่า 80% ซึ่งบางคนในกลุ่ม ‘สีเขียว’ นี้อาจจะไม่แสดงอาการ หรืออาจจะยังพอทำงานได้อยู่ ซึ่งความสูญเสียทางด้านการเงินนั้นจะมีไม่มากนัก

 

  1. ถ้าความสูญเสียทางด้านการเงินจากการที่เกิดภัยร้ายกับตัวเอง มีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ก็แปลว่าสินค้าประกันภัย เจอ จ่าย จบ อาจจะไม่เข้าหลักการประกันภัยอีกต่อไป (กลับไปที่ข้อ 1 และ 2)

 

  1. สมการของแรงจูงใจในการเจาะจงไปติดโควิด คือ [เงินที่จะได้รับจากบริษัทประกัน – ความเสียหายที่จะได้รับถ้าติดโควิด] x สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งก็แปลว่า ถ้าความเสียหายจากการติดโควิดน้อยลง (เช่น ติดโควิดไปส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นอันตรายร้ายแรง) ผนวกกับไม่มีอันจะกินเลย ทำให้เกิดแรงจูงใจให้พฤติกรรมไปทางนี้ เพราะจะทำให้คนคิดว่า ‘ติดโควิดดีกว่าอดตาย’

 

  1. ประกัน เจอ จ่าย จบ เป็นเรื่องที่ดี แต่ ‘สมการแรงจูงใจไปติดโควิด’ ตามข้อ 10 จะมีมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้หลายคนขาดรายได้ 

 

  1. ประกัน เจอ จ่าย จบ ส่วนใหญ่จะมีค่าชดเชยรายวันไปด้วย ซึ่งสถานการณ์โควิดทำให้คนตกงานไปเป็นจำนวนมาก ถ้าเราย้อนกลับไปที่ข้อ 3 เรื่องค่าชดเชยรายวัน ก็จะเห็นว่ามันยิ่งทำให้ ‘สมการแรงจูงใจไปติดโควิด’ นั้นเด่นชัดขึ้น

 

  1. มาตรการผ่อนปรนให้เคลมได้ง่ายขึ้น เช่น การนอน Hospitel 14 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือการเอาแค่ผล Lab โควิดโดยที่ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีและมีเจตนาดีต่อผู้บริโภค แต่ในมุมกลับกัน ก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการทุจริตเคลมสำหรับคนบางกลุ่มได้มากขึ้นเช่นกัน

 

  1. การกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินสินไหม 15 วันเป็นเรื่องที่ดีมาก และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ส่งผลให้บริษัทประกันที่มีระบบหรือบุคลากรไม่พอไปตรวจสอบเอกสารได้ทัน ทำให้คาดการณ์การมีทุจริตการเคลมปนเข้ามาเยอะมากกว่าสถานการณ์ปกติไปหลายเท่าตัว โดยอ้างอิงจาก ‘สมการแรงจูงใจไปติดโควิด’ เป็นต้น

 

  1. ประกันก็คือกระดาษที่ใส่เงื่อนไขบวกกับความน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าจ่ายเคลมให้ตามเงื่อนไขไม่ได้ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือนั้นหมดไป กรมธรรม์ประกันก็จะกลายเป็นเพียงกระดาษธรรมดาไป แต่ตัวแบบประกันภัยต้องเกิดประโยชน์และต้องไม่จูงใจให้ผู้บริโภคไปเสี่ยงภัย อีกทั้งต้องป้องกันการขบวนการทุจริตเคลมประกันภัย เพราะการทุจริตเคลมแต่ละครั้งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว เพราะหลักการประกันคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ที่มีตัวกลางคือบริษัทประกันคอยจัดการบริหารความเสี่ยง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising