คนเราทุกคนต่างก็อยากมีชีวิตที่มีความสุข เราจึงพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองมีความสุขได้
แต่คุณผู้อ่านเคยทราบมาก่อนไหมครับว่า ความสุขที่เราต่างก็ขวนขวายอยากที่จะมีกันนั้นสามารถแยกเป็นนิยามที่มีมิติเวลาแตกต่างกันได้ถึง 3 มิติใหญ่ๆ นั่นก็คือ ความสุขระยะสั้น ความสุขระยะยาว และความสุขระยะยาวมาก และแต่ละนิยามนั้นก็มีปัจจัยที่เป็นทั้งตัวแปรที่คล้ายๆ กันและแตกต่างกันไป
วันนี้ผมเลยถือโอกาสมาเล่าให้ฟังว่า อะไรคือความสุขระยะสั้น ความสุขระยะยาว และความสุขระยะยาวมาก และเราควรเลือกใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อเพิ่มความสุขที่มีมิติเวลาที่แตกต่างกันทั้ง 3 ประเภทนี้
ความสุขระยะสั้น
ความสุขระยะสั้นที่ผมกล่าวถึงก็คือ Affective well-being ซึ่งก็คืออารมณ์ รวมไปถึงความรู้สึกประจำวันที่เรามักจะรู้สึกกัน
เราสามารถเเบ่ง Affective well-being ออกเป็นความรู้สึกทางด้านบวก ซึ่งก็รวมไปถึงความรู้สึกสนุก (enjoyment), จำนวนการยิ้มของเราในเเต่ละวัน (smile), ความรู้สึกที่ได้จากการพักผ่อนเต็มอิ่ม (well-rested), ความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง (self-confidence) เป็นต้น
เเละความรู้สึกทางด้านลบ ซึ่งก็รวมไปถึงความรู้สึกโกรธ (anger), ความเสียใจ (sadness), ความกังวล (worry), ความเครียด (stress) เป็นต้น
จากการวิจัยของนักจิตวิทยาอย่างแดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) พบว่า ความสุขระยะสั้นพวกนี้มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสำคัญกับการใช้เวลาในเเต่ละวันของเรา เเต่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์เท่าไรกับสภาวะทางเศรษฐกิจเเละสังคมของคนเรา
ยกตัวอย่างงานของคาฮ์นะมันเเละทีมงานชิ้นหนึ่งที่เก็บเอาข้อมูลความสุขระยะสั้นสุทธิ (net affects) ของการเอาจำนวนความรู้สึกที่ดีของเมื่อวาน มาลบกับความรู้สึกที่ไม่ดีของเมื่อวานของผู้หญิงในรัฐเท็กซัสกว่าหนึ่งพันคน
พวกเขาพบว่ากิจกรรมที่เพิ่มความสุขระยะสั้นมากที่สุดคือการมีเซ็กซ์ (ซึ่งผู้หญิงในรัฐเท็กซัสใช้เวลาในการมีเซ็กซ์ประมาณ 0.2 ชั่วโมงต่อวัน) รองลงมาก็คือการสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงาน รองลงมาอีกคือการรับประทานข้าวเย็น เเละรองลงมาเป็นอันดับสี่ก็คือกิจกรรมที่ผ่อนคลายธรรมดาๆ (ที่มา: Kahneman et al (2003). )
ส่วนกิจกรรมที่ให้ความสุขระยะสั้นน้อยที่สุดคือการเดินทางไปทำงานตอนเช้า ดีขึ้นมาหน่อยก็คือช่วงเวลาทำงาน ดีขึ้นมาหน่อยคือการเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้านในตอนเย็น เเละดีขึ้นมาหน่อยก็คือช่วงเวลาในการเลี้ยงลูก
เเละพวกเขาก็ยังพบอีกว่า การใช้เวลากับเพื่อนฝูงนั้นให้ความสุขระยะสั้นกับผู้หญิงกว่าหนึ่งพันคนนี้มากที่สุด รองลงมาก็คือการใช้เวลากับพ่อเเม่ ญาติพี่น้อง รองลงมาก็คือสามี รองลงมาอีกก็คือลูก รองลงมาอีกก็คือเพื่อนร่วมงาน รองลงมาอีกก็คือลูกค้า รองลงมาอีกก็คือการอยู่คนเดียว เเละรั้งท้ายที่สุดก็คือการใช้เวลาอยู่กับเจ้านายของตัวเอง
สรุปง่ายๆ ก็คือ สำหรับคนที่มีจุดประสงค์เพื่อหาความสุขระยะสั้นใส่ตัวไปวันๆ อย่างเดียวล่ะก็ คำเเนะนำก็คือมีเซ็กซ์เยอะๆ กับเพื่อนๆ (เเต่อย่าไปมีกับเจ้านาย) ถ้ามีไม่ได้ก็ใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเยอะๆ เเละอย่าใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับจากที่ทำงานมากนัก ถ้าสามารถทำได้
เเต่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงไม่อยากจะทำอย่างนั้นใช่ไหมครับ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าเราต่างคนล้วนแล้วเเต่ต้องการความสุขที่เป็นระยะยาว เเละระยะยาวมากเช่นกัน
ความสุขระยะยาว
ความสุขระยะยาวในที่นี้หมายถึง Evaluative well-being ซึ่งก็คือความสุขที่ได้มาจากการทบทวนว่าเรามีความพึงพอใจในชีวิตตัวเองมากน้อยเเค่ไหน (Life Satisfaction)
พวกเรานักวิชาการทางด้านความสุขพบว่า ความสุขระยะยาวตัวนี้มีความสัมพันธ์ที่สำคัญกับสภาวะทางเศรษฐกิจเเละสังคมของคนเรา ทั้งนี้เป็นเพราะความพึงพอใจในชีวิตขึ้นตรงอยู่กับว่าเราบรรลุ (หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนไปสู่การบรรลุ) เป้าหมายชีวิต หรือ life goals ของเราหรือยัง
จากผลงานวิจัยหลายๆ ชิ้น เราสามารถสรุปได้ถึงตัวเเปรสำคัญๆ ของความพึงพอใจในชีวิตดังต่อไปนี้
อันดับหนึ่งคือสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพกายเเละจิต อันดับต่อมาคือความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งรวมไปถึงการได้พบปะกับเพื่อนๆ เเละชีวิตเเต่งงาน รองลงมาคือการมีงานทำ ไม่ตกงาน รองลงมาอีกคือรายได้ที่เรามี (เเต่ความพึงพอใจของเรามักจะลดลง ถ้าคนอื่นๆ ที่เรารู้จักส่วนใหญ่รวยกว่า) ส่วนปัจจัยที่ไม่ค่อยมีผลลัพธ์กับความพึงพอใจในชีวิตของคนสักเท่าไรได้เเก่การศึกษา (ถ้าเปรียบเทียบระหว่างคนที่มีรายได้เท่าๆ กัน) เเละการมีลูกหรือไม่มีลูก
เราสามารถเห็นได้ว่าความสุขระยะสั้นเเละความสุขระยะยาวนั้นมีหลายตัวเเปรที่คล้ายๆ กัน (เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม) เเละที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว (เช่น รายได้เเละการมีงานทำ)
เเล้วความสุขระยะยาวมากล่ะ คืออะไร
ความสุขระยะยาวมาก
ความสุขระยะยาวมากในที่นี้หมายถึง Eudaimonic well-being หรือความหมายเเละวัตถุประสงค์ของชีวิต (Meanings and Purposes) ซึ่งเป็นมิติของความสุขที่มีระยะเวลาที่ยาวมาก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าก่อนที่ชีวิตเราจะหาไม่นั้น คนเราเกือบทุกคนต้องการที่จะมองย้อนกลับไปดูอดีต เเละสามารถบอกกับตัวเองว่าชีวิตของเรามีความหมายของมันนะ เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่าเลยนะ เป็นต้น
เเล้วปัจจัยอะไรบ้างล่ะที่เป็นตัวแปรสำคัญของความสุขระยะยาวมากของคนเรา
ส่วนใหญ่เเล้วตัวเเปรสำคัญๆ ของความสุขระยะยาวมากมักจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันกับสังคม ยกตัวอย่างเช่น ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานอาสาสมัครเพื่อคนส่วนรวม (volunteering) การเข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ (religiosity) เเละการได้เป็นพ่อเป็นเเม่คน (ถึงเเม้ว่าความสุขระยะสั้นที่ได้จากการเลี้ยงดูลูกตัวเองมักจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมชนิดอื่นๆ ก็ตาม)
ท้ายที่สุดเเล้วมันก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละคนนะครับว่าเขาให้ความสำคัญกับความสุขมิติไหนมากกว่ากัน เเต่ทางที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นการหาชีวิตที่มีจุดสมดุลของความสุขในเเต่ละมิติให้เจอ
ภาพประกอบ: narissara k.
อ่านเพิ่มเติม:
- Kahneman, D., Krueger, A.B., Schkade, D.A., Schwarz, N. and Stone, A.A., 2004. A survey method for characterizing daily life experience: The day reconstruction method. Science, 306(5702), pp.1776-1780.
- Powdthavee, N., 2010. The happiness equation: The surprising economics of our most valuable asset. Icon Books Ltd.