×

เวลาปรับ…ความสัมพันธ์เปลี่ยน ทำไมเพื่อนที่เคยสนิทถึงไม่สนิทเหมือนเก่า

30.09.2019
  • LOADING...
Reference Group

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ทำไมเพื่อนคนไทยที่เจอกันที่เมืองนอกถึงสนิทกัน คุยและโทรหากันตลอดเวลาตอนอยู่ต่างประเทศ แต่พอกลับไปทำงานที่เมืองไทยแล้ว พวกเขาส่วนใหญ่ถึงกลับไม่ได้สนิทสนมเหมือนกับเมื่อก่อน
  • ทำไมคนที่เราเคยตกหลุมรักสมัยยังเด็ก พอเจออีกทีกลับพบว่าพวกเขาไม่ได้หล่อเหลาหรือสวยงามเท่าที่เคยจำได้
  • สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Perception ที่เรามีกับคนคนนั้นเปลี่ยนไป มาจากว่า Reference Group หรือกลุ่มที่เราใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว 

ระหว่างที่ผมและภรรยากำลังดูรายการเรียลิตี้ของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘Terrace House’ อยู่นั้น ภรรยาของผมก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า

 

“ทำไมคนในรายการนี้ถึงต้องตามจีบคนในบ้านเดียวกันเอง ทั้งๆ ที่ข้างนอกบ้านก็ยังมีคนอื่นๆ ที่อาจจะน่าสนใจมากกว่านี้ น่าจะเหมาะสมกว่าคนในบ้านเดียวกันอีกตั้งหลายคน”

 

สำหรับใครที่ไม่เคยดูรายการนี้ ผมขอเล่าให้ฟังแบบย่อๆ ว่า Terrace House เป็นรายการของ Netflix ที่จับผู้ชายสามคนมาอยู่บ้านเดียวกันกับผู้หญิงอีกสามคน เป็นรายการที่ไม่มีสคริปต์ และทั้งหกคนสามารถออกไปนอกบ้านได้ตามปกติ เพียงแต่พวกเขาจะมีกล้องคอยถ่ายติดตามอยู่ตลอดเวลา

 

เมื่อได้ยินคำถามนั้น ผมก็แอบคิดในใจว่า ‘เออ จริงด้วยเนอะ’

 

คำถามของภรรยาผมทำให้ผมนึกถึงคำถามที่ผมเคยตั้งเอาไว้กับตัวเองเมื่อนานมาแล้ว นั่นก็คือ “ทำไมเวลาที่คนไทยมาเรียนต่างประเทศกันเป็นครั้งแรก สิ่งแรกๆ ที่พวกเราหลายคน (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนก็ตาม) ขวนขวายหากันก็คือเพื่อนคนไทยด้วยกันเอง 

 

แล้วทำไมเพื่อนคนไทยที่เราเจอกันเกือบทุกวันที่นี่ สนิทกันที่นี่ คุยและโทรหากันตลอดเวลาที่นี่ แต่พอกลับไปทำงานที่เมืองไทยกันแล้ว พวกเขาส่วนใหญ่ถึงกลับไม่ได้สนิทสนมเหมือนกับตอนที่อยู่ด้วยกันที่ต่างประเทศ (คือก็อาจจะยังสนิทกันอยู่ แต่สนิทไม่เท่ากับแต่ก่อน)

 

ผมคิดว่ามันคงจะมีหลายคำตอบสำหรับคำถามนี้ และคำตอบที่ป๊อปที่สุดและฟังดูสมเหตุสมผลที่สุดก็คงจะเป็น “ก็งานมันรัดตัว มันไม่เหมือนกับสมัยตอนที่เราเป็นนักเรียนนี่” ซึ่งก็คงจะจริงนะครับ 

 

แต่ถึงแม้ว่างานจะรัดตัวสักเพียงไหน ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนก็ยังมีเวลาได้แฮงเอาต์กับเพื่อนร่วมงานมากกว่าเพื่อนที่เราเคยสนิทด้วยสมัยที่เรายังเรียนที่ต่างประเทศอยู่ จริงไหมครับ

 

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่ามันน่าจะมีคำตอบเชิงจิตวิทยาสำหรับคำถามที่ผมเขียนไว้ข้างบน นั่นก็คือ “คนเราใช้การเปรียบเทียบในการตัดสินใจหลายๆ เรื่องในชีวิต ทั้งๆ ที่ตัวเราเองอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ”

 

ยกตัวอย่างคนที่คุณเคยเจอในชีวิตของคุณนะครับ 

 

คุณยังจำเพื่อนนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นสมัยมัธยมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย ที่คุณเคยชอบหรือตกหลุมรักได้ไหมครับ 

 

คุณอาจจะจำได้ว่าคนคนนั้นช่างหล่อเหลา หรือช่างสวยเซ็กซี่ มากกว่าทุกๆ คนที่คุณเคยได้เจอมา 

 

แต่พอมาถึงวันนี้แล้ว วันที่คุณอาจจะได้มาเจอกันอีก (หรือส่องเขาตามเฟซบุ๊ก) คุณกลับพบว่าเขาคนนั้นไม่ได้หล่อหรือสวยอย่างที่คุณเคยจำได้ ทั้งๆ ที่หน้าตาหรือรูปร่างของเขาแทบจะไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมเลย

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Perception ที่เรามีกับคนคนนั้นเปลี่ยนไป มาจากว่า Reference Group หรือกลุ่มที่เราใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว 

 

จากที่เคยเปรียบเทียบกับคนกลุ่มเล็กๆ (ห้องเรียน หรือคณะที่เราเรียน) ก็กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ขึ้น (ที่ทำงาน เพื่อนของเพื่อนที่ทำงาน ลูกค้า)

 

และด้วยการเปลี่ยนของ Reference Group ของเรานี่เอง คนที่เราอาจจะเคยเห็นว่าหล่อหรือสวยเมื่อเทียบกันกับคนอื่นๆ ใน Reference Group เก่าของเรา อาจจะไม่หล่อหรือสวยเท่าคนอื่นๆใน Reference Group ใหม่ของเราก็ได้ (และด้วยเหตุผลที่ว่า Reference Group ในช่วงวัยทำงานนั้นมักจะใหญ่กว่าในวัยเรียนมาก โอกาสที่เราจะเจอคนที่หล่อกว่า สวยกว่า รวยกว่า นิสัยดีกว่าคนที่เราเคยชอบอยู่ก็จะมีค่อนข้างสูงนะครับ)

 

ส่วนเพื่อนคนไทยที่เราเจอเมืองนอกก็เหมือนกัน ตอนที่ไปเรียนต่างประเทศใหม่ๆ เราอาจจะเห็นว่าคนใน Reference Group ใหม่ (ซึ่งอาจจะเป็นคนจากชาติอื่นเกือบหมด) ไม่ค่อยมีอะไรที่เหมือนกันกับเราเลย แค่คิดในเรื่องเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกับเราแล้ว แต่คนไทยด้วยกันเองน่าจะมีอะไรที่เหมือนกับเรามากกว่าคนต่างชาติเยอะ จึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่คนเราส่วนใหญ่มักจะถูกดึงดูดให้ไปคบหาและสนิทสนมกับคนไทยด้วยกันเองมากกว่าคนต่างชาติ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ากลุ่มคนไทยเป็น Reference Group ที่เราคุ้นเคยมากกว่า

 

แต่พอเราจบกลับมาทำงานที่ไทยปุ๊บ กลุ่ม Reference Group ของเราก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือใหญ่กว่าเดิม เพื่อนๆ ที่เราอาจจะเคยสนิทด้วยที่เมืองนอก เรากลับพบว่าที่เมืองไทยนั้นมีคนอย่างพวกเขาเป็นกระบุง แถมอาจจะทำงานที่เดียวกันอีกด้วย (ซึ่งทำให้สะดวกที่จะเจอกว่าอีกเป็นกอง) อีกอย่างหนึ่งคนที่เราเคยเจอกันที่ต่างประเทศที่อาจจะมีบุคลิกภาพบางอย่างที่เราไม่ชอบ แต่เป็นอะไรที่เรายอมมองข้ามเพียงเพราะว่าเรามีอยู่กันแค่ไม่กี่คน แต่พอกลับมาอยู่เมืองไทยแล้วเรากลับรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องทนกับคนคนนั้นอีกต่อไป เพราะตัวเลือกที่ไทยมันเยอะเสียเหลือเกิน ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยในการอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ลงทุนกับมิตรภาพที่เราเคยมีที่ต่างประเทศหลังจากที่เรากลับมาอยู่ที่ประเทศเดียวกันแล้ว

 

และมันก็ยังสามารถช่วยในการอธิบายได้อีกว่า ทำไมคนใน Terrace House ถึงจีบกันเอง ทั้งๆ ที่ข้างนอกบ้านยังมีคนอีกเป็นร้อยเป็นพันที่อาจจะเข้ากันได้กับพวกเขามากกว่า 

 

คำตอบมันมาจากการตั้งค่าว่าใครเป็นคนที่อยู่ใน Reference Group ของเรานั่นเอง

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising