×

คู่มือนักกินกับรีวิวร้านอาหารที่มีตั้งมากมาย แล้วเราจะเชื่อใครดี?

18.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เชฟมากฝีมือกรรมการผู้ตัดสินจากรายการ Top Chef Thailand เจ้าของร้านอาหาร Le Du เคาะคีย์บอร์ดเขียนหนังสือเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ THE STANDARD เป็นที่แรก และให้ความเห็นต่อ Michelin Guide (มิชลิน ไกด์) ฉบับกรุงเทพฯ ที่กำลังจะมาถึงว่า คุ้มค่างบประมาณ 150 ล้านบาทมาก พร้อมเชื่อว่าจะนำสิ่งดีๆ มาให้กับวงการอาหารของประเทศไทย
  • ตอนนี้ประเทศไทยมีคู่มือนักกินเยอะมาก ทั้งที่เป็นระดับสากลอย่าง Michelin Guide กับ Asia’s 50 Best Restaurants และไกด์บุ๊กระดับท้องถิ่นอีกหลายฉบับ หลายคนอาจนึกสงสัยว่า “แล้วเราจะเชื่อใครดี?”

     ตอนนี้คนชอบกินของอร่อยทุกคนน่าจะใจจดใจจ่อกับการมาถึงของ Michelin Guide (มิชลิน ไกด์) ฉบับกรุงเทพฯ ที่ถือเป็น Michelin Guide ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งกำลังจะคลอดออกมาให้เราเห็นราวสิ้นปีนี้

     บอกตรงๆ ในฐานะที่เป็นเชฟคนหนึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผมเองก็รู้สึกตื่นเต้นเช่นเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมามีคนถามผมเยอะมากว่า “คิดว่าที่เราจ่ายเงินไป 150 ล้านบาทเพื่อเอามิชลินเข้ามาแค่ 5 ปี มันคุ้มกันไหม?”

     โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า “คุ้มมาก”

     ทำไมผมจึงคิดแบบนั้น? ผมว่าเราต้องมองตรงที่ภาพรวม และต้องยอมรับว่า ตอนนี้มีคนบางกลุ่มที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อกิน ตอนนี้เวลาที่หลายคนแพลนทริป คำถามแรกของพวกเขาคือ เราจะไปกินร้านไหนบ้าง? ต้องจองล่วงหน้าไหม? จองยากไหม? เราต้องยอมรับว่าเทรนด์ในการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

     ผมต้องขอซูฮกให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่อ่านเกมขาด ไม่ใช่แค่การเอามิชลิน ไกด์ เข้ามา แต่ตั้งแต่ตัดสินใจจัด Asia’s 50 Best Restaurants ที่กรุงเทพฯ ถึง 2 ปีซ้อนติดต่อกัน

     หลายท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเราได้อะไร? ท่านลองคิดว่า หากท่านเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรปหรืออเมริกา (เราพูดถึงนักท่องเที่ยวระดับกลางจนถึงระดับบน) ถ้าอยากมาเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นคนชอบรับประทานอาหารมาก ไกด์อะไรที่ท่านจะเข้าไปดู? คำตอบคือ Michelin Guide กับ Asia’s 50 Best Restaurants ถูกต้องไหมครับ?

รางวัลเหล่านี้ตัดสินโดยกลุ่มคนที่ต่างกัน ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ร้านที่ไม่อยู่ในไกด์ใดๆ เลย อาจจะเป็นร้านที่ท่านชอบมาก กินบ่อยมากๆ แล้วท่านก็โมโหและบ่นว่าคนพวกนี้ไม่มีตาหรืออย่างไร หรือพวกนี้ชิมไม่เป็น ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ แต่มันก็คือ ‘beauty of it’ ไม่ใช่หรือครับ?

     นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมสิงคโปร์จึงพยายามที่จะดึงให้ทั้ง 2 คู่มือนักกินดังกล่าวนี้ไปที่ประเทศของเขา โดยมีความพยายามล็อบบี้ต่างๆ นานา เพื่อให้ได้มิชลิน ไกด์ ไปก่อนบ้านเรา คำตอบคือ เพราะเขากลัวประเทศไทยไงครับ เพราะในด้านของการท่องเที่ยว ประเทศไทยเราชนะเขาทุกด้าน ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ สถานบันเทิงยันสตรีทฟู้ด และถ้าเมืองไทยมีทั้ง Michelin Guide กับ Asia’s 50 Best Restaurants ใครจะไปเที่ยวประเทศเขากันล่ะ?

     แล้วเวลานักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางเข้ามาบ้านเราเพื่อที่จะลิ้มรสอาหาร เขาก็ต้องนอนโรงแรม ต้องนั่งแท็กซี่ไปที่ร้านใช่ไหมครับ? บางมื้อก็กินอาหารข้างทาง แล้วบ่ายๆ ก็ต้องไปนวดไทย

     เพราะฉะนั้น เงินไม่ได้ไหลเข้าสู่แค่ธุรกิจร้านอาหารนะครับ แต่เข้าทั้งระบบเลย ไหนจะยังเรื่องที่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารจะได้ยกระดับปรับตัวในเรื่องของคุณภาพของสินค้าและการให้บริการ แล้วเราจะบ่นกันทำไม มานั่งรอดูและลุ้นด้วยกันดีกว่าครับ ว่ามิชลิน ไกด์ จะทำให้ฟู้ดซีนในบ้านเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างไรบ้าง

     มาถึงอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อตอนนี้ประเทศไทยมีคู่มือในเรื่องการกินตั้งหลายฉบับ ทั้งระดับสากลอย่าง Michelin Guide กับ Asia’s 50 Best Restaurants และไกด์บุ๊กท้องถิ่นของประเทศไทยเราเองอย่าง BK Top Tables, Bangkok Best Restaurants หรือจะเป็น Thailand Tatler Best Restaurants ไหนจะยังรีวิวร้านอาหารที่มีอีกตั้งมากมาย หลายคนอาจจะนึกตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะเชื่อใครดี?”

    สำหรับประเด็นนี้ต้องมาเท้าความกันก่อนครับว่า แต่ละไกด์เขามีวิธีการให้คะแนนหรือวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป และคนที่ให้คะแนนก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ผลที่ตามมามันก็ย่อมที่จะออกมาไม่เหมือนกันครับ

     ดังนั้นถ้าถามอีกว่า “แล้วเราจะเชื่อใครดี?”

     ก็ทำไมไม่ลองเชื่อตัวท่านเองล่ะครับ

     อย่างที่บอกว่ารางวัลเหล่านี้ตัดสินโดยกลุ่มคนที่ต่างกัน ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน คนเราแต่ละคนชอบอะไรไม่เหมือนกัน ที่เขาบอกว่าอร่อย ท่านอาจจะบอกว่าไม่อร่อย ร้านที่ไม่อยู่ในไกด์ใดๆ เลย อาจจะเป็นร้านที่ท่านชอบมาก กินบ่อยมากๆ แล้วท่านก็โมโหและบ่นว่าคนพวกนี้ไม่มีตาหรืออย่างไร หรือพวกนี้ชิมไม่เป็น ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ แต่มันก็คือ ‘beauty of it’ ไม่ใช่หรือครับ?

     มันคือความสนุกที่เราคิดไม่เหมือนกับนักวิจารณ์มืออาชีพเหล่านั้น

     มันคือความสนุกที่เรานั่งคุยกับเพื่อนตอนนั่งกินข้าวด้วยกันว่า ร้านนี้อร่อยจริงหรือเปล่าตามที่เขาบอก ไม่ใช่หรือครับ?

     ที่ผมต้องการจะสื่อคือ อยากให้ทุกท่านยังสนุกกับการกินอาหาร ใช่ครับ ทุกคนอยากกินอาหารอร่อย แต่อาหารอร่อยของเราแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเป็นแบบนั้นจะไปซีเรียสกับมันทำไมล่ะครับ

     เอาไว้ให้คู่มือเหล่านี้เป็นเครื่องมือของท่านเวลาคิดอะไรไม่ออก อยากลองของใหม่ อยากโชว์สาว หรืออวดให้เจ้านายประทับใจดีกว่า อย่าลืมความสนุกของการกินอาหารนะครับ อย่าลืมความสนุกของบทสนทนากับเพื่อนร่วมโต๊ะ อย่าลืมว่าเราออกมากินอาหารที่ร้านต่างๆ ก็เพื่อที่จะมีความสุข

     กินอาหารให้อร่อยครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising