เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินกันอยู่แล้ว เกี่ยวกับ Customized Experience หรือประสบการณ์การปรับแต่ง ตัวอย่างแรกๆ เช่น แคมเปญรองเท้ากีฬาแบรนด์ดังที่นำเสนอลูกเล่นและรายละเอียดให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนได้ตามรสนิยม ตั้งแต่สีเชือกผูกรองเท้า หรือกระทั่งวัสดุที่ใช้ทำรองเท้าคู่นั้นๆ ถึงแม้ว่าราคาของรองเท้ากีฬาแบบปรับแต่งเองจะแพงกว่าปกติ แต่เรากลับรู้สึกคุ้มค่าเหลือเกิน เพราะทางจิตวิทยาแล้ว นี่คือความสุขของมนุษย์จากการได้ใช้อำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ หรือ Desire for Control
การปรับแต่ง หรือ Customization ทำให้ชีวิตในปัจจุบันมีขอบเขตการเลือกใช้สินค้าที่กว้างขึ้น เราได้ใช้รสนิยมในการสร้างสิ่งของที่ไม่เหมือนใคร และแสดงความชื่นชอบส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทและสื่อต่างๆ พยายามที่จะใช้ประสบการณ์การปรับแต่ง หรือ Customized Experience เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการค้าหรืองานบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ไม่ว่า Customized Experience เหล่านั้นจะมาในรูปแบบที่เห็นกันชัดๆ บอกกันโต้งๆ เหมือนการปรับแต่งรองเท้ากีฬา การสลักชื่อลงบนปากกา หรือจะมาในรูปแบบแฝงที่ชาญฉลาด อย่างการเก็บข้อมูลความชื่นชอบ รสนิยม ประวัติการใช้งานของเรา แล้วนำไปคัดกรองสารและบริการที่เราจะได้รับหลังจากนั้น
อีกตัวอย่างใกล้ๆ ก็เช่นเฟซบุ๊ก ที่แทบจะสอดแทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทั้งแบบรู้ตัว และไม่รู้ตัว นอกจากการใช้อัลกอริทึมแสดงโฆษณาบนนิวส์ฟีดตรงกับคำค้นที่เราค้นหา ล่าสุดอาจารย์เคลลี เบิร์นส์ (Kelli Burns) จากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา กล่าวว่าทางเฟซบุ๊กกำลังดักฟังเสียงผ่านไมโครโฟนของผู้ใช้ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่เราพูดคุยกัน และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ แม้ทางเฟซบุ๊กจะอ้างว่าใช้การดักฟังเสียงผ่านไมโครโฟนเพื่อให้ผู้ใช้โพสต์สถานะของตนเองได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องดักฟังอยู่ดี
หรืออย่างกรณีของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันฟังเพลงอย่าง SoundCloud ที่ล่าสุดได้เพิ่มส่วนที่ชื่อว่า The Upload หรือเพลย์ลิสต์ที่สร้างโดยอัตโนมัติอ้างอิงจากพฤติกรรมและรสนิยมการฟังเพลงของผู้ใช้งาน ยิ่งเราเลือกฟังเพลงของศิลปินต่างๆ ที่ชื่นชอบผ่าน SoundCloud มากเท่าไร ระบบอัลกอริทึมก็จะประมวลผลในการออกแบบเพลย์ลิสต์ได้ตรงรสนิยมของเรามากขึ้นเท่านั้น นี่คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวและความเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่ ซึ่งตอบโจทย์มากๆ กับผู้คนในยุค Generation Me Me Me โทรศัพท์ของฉัน เพลงของฉัน รสนิยมของฉัน
ข้อดีของ Customized Experience ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือ SoundCloud ทำให้คอนเทนต์ต่างๆ นั้นเสพง่ายขึ้น เพราะคอนเทนต์ที่เราได้เห็นหรือได้ยินนั้นได้รับการคัดสรรมาให้อยู่ภายใต้ความชอบของเราล้วนๆ พอมันตรงกับความสนใจ ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะเสพต่อ
และแน่นอนว่าประสบการณ์ปรับแต่งล้วนไปถึงแล้วทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ
เว็บไซต์ Artsy.net จากแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1.5 ล้านคนจากทุกแพลตฟอร์ม ก่อตั้งโดยคาร์เตอร์ คลีฟแลนด์ (Carter Cleveland) เป็นเว็บไซต์นำเสนอผลงานศิลปะจากศิลปินกว่า 50,000 คนให้กับผู้ที่สนใจ ทาง Artsy จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามรสนิยมในงานศิลปะ โดยระบุชื่อเรียกแนวนิยมทางศิลปะยุคก่อนๆ พร้อมผลงานตัวอย่างให้ผู้ใช้งานเลือกภาพที่ชอบตามรสนิยมของตัวเอง แล้ว Artsy จะทำการคัดงานศิลปะที่ใกล้เคียงทั้งสไตล์ แนวนิยม และยุคทางศิลปะมาให้ พร้อมข้อมูลของผลงานเหล่านั้น
นอกจากงานศิลปะที่มีให้เลือกชมทุกยุคทุกสมัยทุกสไตล์ ยังมีลิสต์ของนิทรรศการศิลปะ รวมถึงงานที่จัดแสดงแกลเลอรีในประเทศต่างๆ ที่อาจจะตรงใจเราอยู่ด้วย ที่เด็ดคือการเปิดประมูลผลงานศิลปะออนไลน์ และเปิดขายผลงานของศิลปินใหม่ๆ ผ่านเว็บไซต์ได้อีกทางหนึ่ง
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของการสร้างเว็บไซต์ศิลปะแห่งนี้ เพราะอย่างที่ทีมผู้ก่อตั้ง Artsy บอกเอาไว้ว่า ‘รสนิยมทางศิลปะจะมากจะน้อยนั้นไม่เกี่ยวกับกำลังซื้อ แต่รสนิยมทางศิลปะมันมาพร้อมการเรียนรู้ การมีความคิดเห็นส่วนตัวต่องานศิลปะ และความคาดหวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต’
ยิ่งเราใช้เวลากับสิ่งที่ชอบมากขึ้น ยิ่งช่วยพัฒนารสนิยมของเราต่อสิ่งนั้นๆ ให้ละเอียดอ่อนมากขึ้นตามไปด้วย นี่อาจจะเป็นจิตใต้สำนึกของเราที่ใช้ Desire for Control เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว แต่หากลองมองจากมุมที่กว้างกว่าเดิม Customized Experience อาจกำลังทำหน้าที่เป็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือจากนักเขียนที่เราชื่นชอบ พร้อมหัวเรื่องที่เราสนใจ จนทำให้เรานั่งจมอยู่ในที่แห่งนี้นานเสียจนไม่ได้ออกจากห้องไปดูหนังสือจากร้านหนังสืออื่นๆ และพลาดโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือแนวใหม่ หรือโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยสัมผัส ยิ่งถ้าเป็นข่าวสารสำคัญรอบตัว การออกจากห้องสมุดห้องเดิม แล้วลุกไปดูหนังสือจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าก็เป็นได้
ทุกวันนี้มนุษย์เราคัดเลือกสิ่งที่อยากเห็น อยากรู้ อยากอ่าน กันเป็นปกติอยู่แล้ว พอแพลตฟอร์มที่เราใช้กันเป็นประจำเริ่มสร้าง Customized Experience และทำหน้าที่ช่วยคัดกรองสิ่งที่เราจะได้เห็นตามรสนิยมเข้าไปอีก ผู้รับสารอย่างเราเองก็ต้องรู้จักปรับตัวที่จะอยู่ในยุค Generation Me Me Me อย่างใจกว้าง มองและคิดรอบด้านมากขึ้น เผื่อวันหนึ่งเราจะลองก้าวเข้าสู่ Generation We We We กันดูบ้าง