×

‘ขอโทษอีกกี่ครั้งก็ยังไม่สาแก่ใจ’ เมื่อคำขอโทษและการให้อภัยอาจไม่ใช่ทางออกสู่การปรองดอง

17.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปลายปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงเพื่อระงับความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศในเรื่องหญิงบำเรอ (Comfort Women) ชาวเกาหลี
  • ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังยอมออกมาขอโทษและแสดงความสำนึกผิดต่อการกระทำของญี่ปุ่นในอดีต นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่คำขอโทษของนายอาเบะก็ไม่ได้นำมาสู่ ‘การให้อภัย’ จากชาวเกาหลีใต้
  • การให้อภัยเป็นกระบวนการในการก้าวข้ามความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นการลดทอนอำนาจของผู้กระทำที่มีต่อจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ และทำให้เหยื่อเคารพตัวเองมากขึ้น
  • เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการให้อภัยคือการทำ ‘ความจริง’ ให้ปรากฏ การศึกษาพบว่าสิ่งที่เหยื่อต้องการมากไปกว่าสิ่งอื่นใด คือการล่วงรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดจึงต้องถูกกระทำ

Photo: JUNG YEON-JE, AFP

 

     ย้อนไปเมื่อปลายปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงเพื่อระงับความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศในเรื่องหญิงบำเรอ (Comfort Women) ชาวเกาหลี ซึ่งถูกลักพาตัวและใช้กำลังบังคับให้ทำงานใน ‘ซ่อง’​ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของเหล่าทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

     ข้อตกลงซึ่งถือว่าเป็นที่สิ้นสุดและเปลี่ยนแปลงไม่ได้นี้ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นรับรู้ถึงความรับผิดชอบและสำนึกผิดต่อการกระทำในอดีต โดยจะให้เงินจำนวน 1,000 ล้านเยน กับกองทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อเยียวยาหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่เกาหลีใต้ก็พร้อมยอมรับการสำนึกผิดนี้ และพร้อมร่วมมือกับความพยายามของญี่ปุ่นในการ ‘เยียวยา’ บาดแผลของหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้

     พร้อมกันกับการเยียวยาด้วยตัวเงิน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังยอมออกมาขอโทษและแสดงความสำนึกผิดต่อการกระทำของญี่ปุ่นในอดีต นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมญี่ปุ่นยังคงไม่ยอมรับอย่างสมบูรณ์ว่าราชการเป็นผู้ใช้กำลังบังคับเพื่อ ‘คัดเลือก’ หญิงเกาหลีใต้มาเป็นหญิงบำเรอ

 

Photo: JUNG YEON-JE, AFP

 

     แต่ข้อตกลงซึ่งมาพร้อมกับคำขอโทษของนายอาเบะก็ไม่ได้นำมาสู่ ‘การให้อภัย’ จากชาวเกาหลีใต้ จริงอยู่ที่รัฐบาล หญิงบำเรอ และประชาชนชาวเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งยอมรับคำขอโทษและการชดใช้จากญี่ปุ่น แต่หญิงบำเรอและประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบและชดเชยอย่างเป็นทางการ

     นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ยังคงมีการประท้วงหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลในทุกวันพุธ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1992 แม้ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว

     จะเห็นได้ว่า ‘คำขอโทษ’ ไม่ได้นำไปสู่ ‘การให้อภัย’​ เสมอไป ดังนั้นคำถามที่ต้องถามก็คือ แล้วเมื่อไรและภายใต้เงื่อนไขใดที่ผู้ถูกกระทำจะยอมให้อภัยการกระทำอันกดขี่และโหดร้ายของผู้กระทำ หรือในความเป็นจริงแล้วเราสามารถสร้างสังคมที่ปรองดองได้โดยไม่ต้องมีการให้อภัย

 

Photo: JUNG YEON-JE, AFP

 

‘ให้อภัย’ เรียกร้องเกินไปไหมเธอ

     จากงานวิจัยของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการให้อภัยพบว่า การให้อภัยคือการก้าวผ่านความรู้สึกโกรธหรือความไม่พอใจอันเกิดจากการถูกกระทำ เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องเอาจากผู้ที่ถูกกระทำมากกว่าผู้กระทำ นี่ก็เพราะบริบททางศาสนาและสังคมมักให้ค่า ‘การให้อภัย’ และ ‘การระงับการจองเวร’ ว่าเป็นเครื่องมือในการเยียวยาความเจ็บปวดที่ดีที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริง ‘การแก้แค้น’ อาจเป็นวิธีเยียวยาที่ดีที่สุดของคนบางคน

     การให้อภัยในระดับบุคคลว่ายากแล้ว การให้อภัยในการกระทำความผิดที่กินวงกว้างเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายจำนวนมากยิ่งยากกว่า เพราะเหยื่อแต่ละคนย่อมเลือกวิธีการเยียวยาความบอบช้ำไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับในกรณีข้อพิพาทเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ดังที่บางคนเลือกที่จะให้อภัย บางคนเลือกเรียกร้องคำขอโทษที่จริงใจต่อไป แต่กระนั้นการให้อภัยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ

     การให้อภัยในแบบนี้เป็นการให้อภัยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นการให้อภัยเพื่อเยียวยาจิตใจและสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง เปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อตัวเองจาก ‘เหยื่อ’ เป็น ‘ผู้รอดชีวิต’

     ฮาวเวิร์ด เซหร์ (Howard Zehr) ผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มองว่า การให้อภัยเป็นกระบวนการในการก้าวข้ามความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นการลดทอนอำนาจของผู้กระทำที่มีต่อจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ และทำให้เหยื่อเคารพตัวเองมากขึ้น

     เซหร์อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะในขณะที่ถูกทำร้าย เหยื่อจะสูญสิ้นตัวตนและการเคารพตัวเอง การให้อภัยหรืออย่างน้อยที่สุดการเลือกที่จะให้อภัยจึงทำให้เหยื่อรู้สึกว่าอย่างน้อยก็ได้ ‘เลือก’ ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อันเป็นการปลดปล่อยที่ดีที่สุด

     อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าการให้อภัยเป็นการกระทำที่ไร้เงื่อนไข เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือการทำ ‘ความจริง’ ให้ปรากฏ การศึกษาพบว่าสิ่งที่เหยื่อต้องการมากไปกว่าสิ่งอื่นใด คือการล่วงรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดจึงต้องถูกกระทำ ซึ่งความจริงที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือเหยื่อไม่ได้มีความผิดโดยตรงที่ต้องถูกทำร้าย

 

Photo: ED JONES, AFP

 

     ความต้องการที่สองคือ เหยื่อต้องการให้ประสบการณ์ของพวกเขาถูกถ่ายทอดบันทึกเป็นเรื่องราว นั่นจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดเกาหลีใต้จึงประท้วงการที่ญี่ปุ่นไม่ยอมบันทึกเรื่องหญิงบำเรอลงในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

     แต่ ‘ความจริง’ โดยปราศจากการ ‘ขอโทษ’ ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้อภัย ขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่การให้อภัยและการสมานฉันท์คือฝ่ายผู้กระทำก็ต้อง ‘ยอมรับ’ ว่าการกระทำผิดเหล่านั้นส่งผลให้เหยื่อเจ็บปวดเพียงใด

     แอฟริกาใต้คือประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเข้าสู่กระบวนการปรองดองหลังมีปัญหาการแบ่งแยกสีผิวกันมาเป็นเวลานาน

     ในปี 1996 แอฟริกาใต้ตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ของแอฟริกาใต้ เพื่อทำหน้าที่ค้นหาความจริง และโน้มน้าวให้ผู้กระทำความผิดยอมรับและขอโทษกับการกระทำที่โหดร้ายที่ผ่านมาของตัวเอง

     เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า ‘การให้อภัย’ กลายเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการสมานฉันท์ เพราะการให้อภัยไม่ใช่เรื่องเดียวกับการลืม แต่การให้อภัยเป็นการขจัดการครอบงำจากผู้กระทำ กำจัดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อเพื่อเรียกคืนความเคารพตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้อภัยเกิดขึ้นไม่ได้เมื่อปราศจากการขอโทษและการยอมรับความผิดในอดีตของผู้กระทำ

     เช่นนี้ก็อาจไม่แปลกที่สังคมไทยยังไม่มีการให้อภัยเกิดขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising