×

พลิกความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นโอกาส: 5 กลยุทธ์สำหรับผู้นำองค์กร ในปี 2025

07.07.2025
  • LOADING...

ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปสำหรับผู้บริหารและนักวางแผนกลยุทธ์องค์กร โดยเฉพาะในปี 2025 ที่โลกกำลังเผชิญกับการปรับสมดุลของขั้วอำนาจ การเลือกตั้งครั้งใหญ่ในหลายประเทศ รวมถึงสงครามการค้าระลอกใหม่และการพึ่งพาเทคโนโลยีที่สะท้อนการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงมากกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

รายงาน Top Geopolitical Risks 2025 ของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่เพียงสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือการลงทุนระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี แรงงาน และวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญคือ ผลกระทบเหล่านี้เชื่อมโยงกันแบบหลายมิติและไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการรับมือ

 

ในมุมมองของผม แทนที่จะมองความเสี่ยงเป็นอุปสรรค ผู้นำองค์กรควรเริ่มต้นจากการ ‘มองความเสี่ยงเป็นทรัพย์สิน’ (Treat risk as an asset) และใช้ความเสี่ยงเป็นแรงขับเคลื่อนในการจัดการเชิงกลยุทธ์ เพราะเมื่อองค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้ ไม่เพียงแค่จะช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอน แต่ยังช่วยสร้างความยืดหยุ่น ความเชื่อมั่น และความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

เพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผมขอแนะนำให้ผู้บริหารยกระดับการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลัก ขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมรับมือความผันผวน และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนแปลง โดยเน้น 5 แนวทางสำคัญ ดังนี้

 

1. เปลี่ยนความปั่นป่วนในเวทีโลกให้เป็นโอกาส ปรับซัพพลายเชนให้ยืดหยุ่น

 

เมื่อขั้วอำนาจและศูนย์กลางเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่าน การยึดติดกับโมเดลซัพพลายเชนเดิมอาจเป็นความเสี่ยงให้กับองค์กร ผู้นำจึงควรกระจายฐานการผลิตและซัพพลายเชนไปยังประเทศพันธมิตรที่มีเสถียรภาพ (Friendshoring) ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และละตินอเมริกา ปรับโครงสร้างซัพพลายเชนให้ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภาษี มาตรการกีดกันทางการค้า และเหตุการณ์ความขัดแย้งได้อย่างทันท่วงที

 

2. เปลี่ยนข้อจำกัดด้านกฎระเบียบให้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

 

แม้กฎระเบียบจะเพิ่มต้นทุนและความซับซ้อน แต่การมีระบบบริหารจัดการภาษีและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) ที่เข้มแข็งจะช่วยให้องค์กรสร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพิ่มความน่าเชื่อถือในการระดมทุนและขยายตลาด ใช้ Compliance เป็นข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์โดยเฉพาะในยุโรปและตลาดที่มีมาตรฐานต่างๆ ที่เข้มงวด เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ ESG เป็นต้น

 

3. เสริมภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยีด้วยโครงสร้าง IT ที่ยืดหยุ่นและปลอดภัย

 

โลกเทคโนโลยีในปี 2025 กำลังเป็นสนามแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำธุรกิจควรสร้างโครงสร้างพื้นฐาน IT ที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย และรวมศูนย์ เพื่อรับมือกับกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค คำนึงถึงความเสี่ยงทางการเมืองในการเลือกพาร์ตเนอร์ด้านเทคโนโลยี ลงทุนใน AI อย่างมีจริยธรรม พร้อมเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ และใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนดิจิทัล

 

4. ปรับแนวคิดซัพพลายเชนจากเน้นประสิทธิภาพสู่ความยั่งยืน

 

องค์กรควรจัดการซัพพลายเชนอย่างมีกลยุทธ์ โดยมองหาทรัพยากรทดแทน พร้อมกับการบริหารจัดการซัพพลายเชนแบบหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรใหม่ เพิ่มการพึ่งพาในประเทศหรือประเทศพันธมิตรเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศ ยกระดับความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับภัยพิบัติ ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และความผันผวนของพลังงาน ลงทุนพัฒนาคน เสริมทักษะให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานในอนาคต

 

แรงงานกำลังเผชิญแรงกดดันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และค่านิยมรุ่นใหม่ องค์กรที่มองไกลจึงควรลงทุนในระบบเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อเพิ่มทักษะให้ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต พร้อมทั้งควรออกแบบประสบการณ์พนักงานให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การทำงานแบบใหม่ ที่ทั้งตอบโจทย์ความต้องการและช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริม Global mobility สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างและมีจุดยืนต่อประเด็นสังคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคที่ค่านิยมหลากหลายมีอิทธิพลต่อความภักดีของพนักงาน

 

ทั้ง 5 กลยุทธ์ที่นำเสนอสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สร้างผลกระทบที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ผู้นำองค์กรจึงต้องวางกลยุทธ์การบริหารจัดการแบบองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่การปรับโครงสร้างซัพพลายเชน การเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและภาษี ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยี ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร

 

ท้ายที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่า องค์กรที่กล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อรับมือกับความเสี่ยง แต่เพื่อให้มองเห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น จะเป็นองค์กรที่สามารถก้าวข้ามวิกฤต และยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในโลกที่ไม่แน่นอนนี้

 

ภาพ: Nuthawut Somsuk/Getty Images 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising