×

26 เมษายน 1986 – โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2023
  • LOADING...
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระเบิด

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล หนึ่งในนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลโซเวียต ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ใกล้กับเมืองพริเพียตและชายแดนเบลารุส ทางตอนเหนือของยูเครน เกิดเหตุแท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 หลอมละลายที่ 2,000 องศาเซลเซียส และเกิดระเบิดขึ้น ฝุ่นกัมมันตรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และถูกกระแสลมพัดพาเถ้ากัมมันตรังสีไปบริเวณกว้างถึงทางตะวันตกของรัสเซีย ยูเครน เบลารุส ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ นานถึง 10 วัน มีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน 

 

ระหว่างเกิดเหตุ รัฐบาลโซเวียตยังไม่ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในเมืองพริเพียต เมืองต้นแบบที่รัฐบาลโซเวียตสร้างขึ้นในปี 1970 สำหรับบุคลากรชั้นนำกว่า 50,000 คนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร กระทั่งวันถัดมาถึงได้ออกประกาศให้ประชาชนอพยพ โดยให้นำข้าวของที่จำเป็นเท่านั้นติดตัวไป และไม่มีใครได้กลับมาอีกเลย

 

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยโรงไฟฟ้าครั้งนี้มีอย่างน้อย 600,000 คน แบ่งตามกลุ่มคนประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มกู้ชีพ, ทหารที่ทำงานด้านรังสี, นักดับเพลิง, เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 200,000-240,000 นาย, ประชาชนผู้อยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล 116,000 คน, ประชาชนอีก 220,000 คนที่อพยพหลังจากฝุ่นกัมมันตรังสีพัดไปถึงเขตเบลารุส ยูเครน และรัสเซีย นอกจากนี้ประชาชนอีกกว่า 5 ล้านคนยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับฝุ่นกัมมันตภาพรังสีในขณะนั้น

 

หนึ่งในผลกระทบสืบเนื่องคือ ปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะมะเร็งไทรอยด์ การที่รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยสถานการณ์จริงในทันที ทำให้ผู้คนหายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นกัมมันตภาพรังสีเข้าไปนานกว่าสัปดาห์

ส่งผลให้ลูกของคนที่ประสบกับเหตุการณ์ตรง ซึ่งจะมีอายุราว 30 ปีในปัจจุบัน มีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์สูงผิดปกติ 

 

ส่วนรุ่นลูกถัดมาของคนกลุ่มนี้ แม้จะยังไม่พบประวัติการป่วย แต่หลายคนมีภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าติดตามอาการ  

 

ในปี 2011 รัฐบาลยูเครนได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพื้นที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเป็นครั้งแรก ซึ่งแบ่งเป็นโซนคือ ระยะภายใน 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เรียกว่า Exclusion Zone ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี และโซนเข้าเมืองพริเพียต โดยมีการออกกฎและข้อจำกัดมากมาย เช่น ต้องไปกับทัวร์ที่รัฐบาลจัดหาให้ ต้องมีใบอนุญาตให้เดินทางเข้าไปได้ ห้ามออกนอกเส้นทางที่กำหนด และห้ามดื่มน้ำ อาหาร ห้ามวางของใดๆ ลงพื้น เพราะอาจสัมผัสกับอนุภาคของกัมมันตภาพรังสี 

 

แม้ทุกวันนี้สารกัมมันตภาพรังสีจะยังคงมีอยู่ในเขตเชอร์โนบิลในระดับที่ต่ำมากแล้ว แต่เพื่อเป็นการรับประกันถึงความปลอดภัยไปชั่วลูกชั่วหลาน ในปี 2010 รัฐบาลยูเครนได้เริ่มโครงการสร้างโดมที่ทำจากเหล็กและคอนกรีตปิดคลุมเตาครอบปฏิกรณ์หมายเลข 4 แทนอันเก่าที่เกิดการชำรุด ด้วยงบประมาณกว่า 1.5 พันล้านยูโร มีน้ำหนักถึง 36,000 ตัน ความสูง 108 เมตร สูงพอจะครอบเทพีเสรีภาพในสหรัฐอเมริกาได้ และมีอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี 

 

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าพื้นที่ปนเปื้อนอย่างเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีไปอีกนานกว่า 300 ปี

 

การระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลทำให้เกิดการแพร่กระจายของรังสีที่มีอนุภาคมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมะและนางาซากิถึง 100 เท่า นับเป็นหายนะจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงมากที่สุดในโลก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การอพยพย้ายถิ่น สิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising