×

ปี 2019 รัฐทุ่ม 3 แสนล้านเหวี่ยงแหกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2020 จับตาลงทุน 71 โครงการ 1.34 แสนล้านบาท

25.12.2019
  • LOADING...
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ปี 2562 รัฐตั้งเป้าอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจซึมหนักตามภาวะเศรษฐกิจโลก 
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้านบาท ถือว่าสอบตกถ้าดูจาก GDP ไตรมาส 3 ที่โตจากไตรมาส 2 เพียง 0.1%
  • ปี 2563 รัฐตั้งเป้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 71 โครงการ 1.34 แสนล้านบาท หวังไทยฟื้นและมีความพร้อมหากเศรษฐกิจโลกคลี่คลาย

เศรษฐกิจคือปัญหาใหญ่ของประเทศที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 ต้องเร่งพิสูจน์ตัวเองให้ได้ เพราะเชื้อไฟที่จะล้มรัฐบาลได้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องปากท้องของผู้คน

 

ภายใต้ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ถดถอยสะท้อนจากตัวเลขและเสียงบ่น คำถามคือรัฐบาลมองโจทย์นี้อย่างไร และจะแก้ปัญหาแบบไหน

 

เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น THE STANDARD พูดคุยกับระดับเพลย์เมกเกอร์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เพื่อสะท้อนมุมมองในภาพใหญ่ของทั้งปีที่ผ่านมาและตลอดทั้งปีที่กำลังจะมาถึง 

 

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงหลักคิดและวิธีการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า “โจทย์คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เพื่อหวังว่าในปีหน้า (2563) เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกคลี่คลาย ไทยจะได้อยู่ในจุดที่พร้อมในการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวอีกครั้ง”

 

ภายใต้หลักคิดนี้นำมาสู่ ‘ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 316,800 ล้านบาท’ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 งบประมาณ 33,000 ล้านบาท  

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในที่นี้จะขอพูดถึงมาตรการที่โด่งดังที่สุดคือการแจกเงินเที่ยวคนละ 1,000 บาท 13 ล้านคน

 

มาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ เฟสแรก รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวคนละ 1,000 บาท หรือเป๋าตัง 1 และสิทธิ์ขอเงินคืน (Cash Back) หรือเป๋าตัง 2 อีกคนละ 4,500 บาท จำนวน 10 ล้านคน 

 

ขณะที่ในเฟสที่ 2 เปิดให้ประชาชนสมัครใช้สิทธิ์เพิ่มอีก 3 ล้านคน พร้อมเพิ่มแรงจูงใจคนใช้เงินในเป๋าตัง 2 ในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท จะได้เงินคืน 20% เท่ากับว่าหากผู้ใช้สิทธิ์ในเป๋าตัง 2 เต็ม 50,000 บาท จะได้เงินคืนจากรัฐบาลถึง 8,500 บาท พร้อมทั้งมีการขยายอายุของมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562

 

เฟส 3 ให้การลงทะเบียนเพิ่มอีก 2 ล้านคน ให้สิทธิ์ได้แต่เป๋าตัง 2 ที่ต้องเติมเงินซื้อสินค้า และขยายเวลาของมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2563 และปลดล็อกให้ใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด

 

มาตรการนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่ามีลักษณะเหวี่ยงแห และสุดท้ายเงินไม่ได้กระจายไปถึงฐานรากตามความตั้งใจ ส่วนคนที่ไปลงทะเบียนส่วนใหญ่ก็ใช้เงินที่รัฐให้ฟรี 1,000 บาท มีสัดส่วนน้อยมากที่จะใช้เงินในกระเป๋าที่ 2 

 

ขณะที่ภาพรวมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 3.1 แสนล้านบาทถือว่าสอบตก 

 

เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่การขยายตัวต่อปีของไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.3% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดของปีนี้ และต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557

 

หากเมื่อเทียบการเติบโตต่อไตรมาสแล้ว พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 โตจากไตรมาส 2 เพียง 0.1% เท่านั้น

 

และนั่นจึงเป็นที่มาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2562 จำนวน 3 โครงการ  

 

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘โครงการบ้านดีมีดาวน์’ ที่รัฐจะสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) จำนวน 50,000 บาทต่อราย แต่ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากรจำนวน 100,000 ราย และผ่านเกณฑ์ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563

 

กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่ง (Momentum)ให้เศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ

 

ปี 2020 จับตาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 71 โครงการ 1.34 แสนล้านบาท

 

กระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 202

 

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยภาพรวมการก่อหนี้ใหม่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สินสาธารณะประจำปี 2563 ว่าจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ มูลค่ารวม 134,413.53 ล้านบาท จำนวน 71 โครงการ กระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น

 

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ และอื่นๆ รวมวงเงิน 48,256 ล้านบาท 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวงเงิน 40,367 ล้านบาท และภาคใต้ มีวงเงิน 13,398 ล้านบาท ฯลฯ

 

หากจำแนกรายสาขาจะพบว่าสาขาคมนาคมมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด 69% เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) จำนวน 31,654 ล้านบาท ในขณะที่สาขาพลังงานมีสัดส่วนรองลงมาคือ 21% เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 จำนวน 9,503 ล้านบาท ส่วนสาขาสาธารณูปการ 5% เช่น โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 4,057 ล้านบาท และสาขาอื่นๆ อีก 5% เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการ จำนวน 4,300 ล้านบาท 

 

“นี่คือภาพการลงทุนของปีหน้าที่จะเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนประเทศ สร้างความสมดุลทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้เราพึ่งโมเดลเดิมการส่งออกหนัก ส่วนเศรษฐกิจภายในของเราไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราจะมาเน้นเศรษฐกิจภายในหนัก เพราะถ้าภายในหนักหมายความว่าของส่งออกก็ดีขึ้นด้วย วันนี้เราส่งออกของต้นทางเยอะ เราต้องการของส่งออกที่มีมูลค่าสูง พูดง่ายๆ คือมีแบรนด์ของคนไทย” อุตตมกล่าว

 

อุตตมกล่าวด้วยว่า “ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการลงทุน จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ และจะกระตุ้นการลงทุนจากนอกประเทศให้เข้ามาในไทย และถ้าเราทำเรื่องฐานรากจริงจังก็จะไปช่วยเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง”

 

นี่คือภาพรวมของปัจจุบันและอนาคตในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2 

 

แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกถือว่าสอบตกไปแล้วหากวัดจากตัวเลข GDP ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นจากภาวะซบเซาได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้าเราคงได้มาตรวจข้อสอบกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising