×

7 เหตุการณ์ ‘ธุรกิจเปลี่ยนมือ’ เรียกเสียงฮือฮาประจำปี 2019

26.12.2019
  • LOADING...
เทคโอเวอร์ธุรกิจ

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • THE STANDARD รวบรวม 7 เหตุการณ์ ‘ธุรกิจเปลี่ยนมือ’ ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งล้วนแล้วแต่เรียกเสียงฮือฮาให้เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ‘ธุรกิจอาหาร’ ต่างเปลี่ยนมือกันเป็นว่าเล่น
  • ไล่มาตั้งแต่ Starbucks เปลี่ยนมือไปสู่ธุรกิจภายใต้เครือเจ้าสัวเจริญ, SCB ขาย SCB Life ให้ FWD กลายเป็นดีลขายธุรกิจประกันชีวิตใหญ่สุดในอาเซียน, สิงห์ใช้เงิน 1.5 พันล้าน เข้าฮุบ ‘ซานตา เฟ่’ ซึ่งมีอะไรมากกว่าแค่ ‘จับคู่เบียร์กับสเต๊ก’ หรือจะเป็น ธนาคารกรุงเทพเข้าซื้อธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซีย มูลค่า 9 หมื่นล้าน กลายเป็นธนาคารแรกของไทยที่ข้ามไปซื้อธนาคารในต่างประเทศ
  • แต่ที่แน่ๆ ต้องจับตา ‘Tesco’ ยักษ์ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของแดนผู้ดี ออกมายอมรับว่า อาจพิจารณาขายกิจการในไทยและมาเลเซีย โดยมีการประเมินว่า จะต้องใช้เงิน 2-2.75 แสนล้านเลยทีเดียว หากต้องการเป็นเจ้าของ

ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน กำลังซื้อที่อ่อนแรงลง ล้วนเป็นความท้าทายที่ ‘ธุรกิจ’ ต้องเผชิญมากขึ้นทุกวัน การฝ่าคลื่นมรสุมไปด้วยตัวคนเดียว อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด เพื่อให้ธุรกิจ ‘อยู่รอด’ ได้ บางครั้งจึงต้อง ‘เปลี่ยนมือ’ กันบ้าง

 

THE STANDARD รวบรวม 7 เหตุการณ์ ‘ธุรกิจเปลี่ยนมือ’ ที่ปรากฏในปี 2562 ซึ่งล้วนแล้วแต่เรียกเสียงฮือฮาให้เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ‘ธุรกิจอาหาร’ ต่างเปลี่ยนมือกันเป็นว่าเล่น

 

เมื่อเจ้าสัวเจริญ อยากขายกาแฟ Starbucks 

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

เริ่มด้วยหนึ่งในดีลใหญ่ช่วงครึ่งปีแรก เมื่อ Starbucks ตัดสินใจปิดฉากเส้นทางธุรกิจที่ปั้นเองกับมือกว่า 20 ปี โดยขายสิทธิ์บริหารร้านกาแฟเงือกเขียวทั้งหมด 372 สาขา (ณ วันที่ 23 พฤษภาคม) ให้กับ Coffee Concepts Thailand ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ Maxim’s Caterers Limited จากฮ่องกง และ F&N Retail Connection Co., Ltd. ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี 

 

เชื่อว่าดีลยักษ์นี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพราะลำพัง ‘บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) จำกัด’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ก็มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท เข้าไปแล้ว เผลอๆ การซื้อในครั้งนี้อาจต้องจ่ายเงินสูงถึง 15,000-16,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ 

 

ตัว Maxim’s Caterers Limited นั้นเรียกได้ว่า มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ Starbucks เป็นอย่างดี เพราะได้รับสิทธิ์การบริหารร้านปี 2543 หรือ 20 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่เปิด Starbucks สาขาแรกบนเกาะฮ่องกง ก่อนที่จะขยายออกไปใน กัมพูชา มาเก๊า สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมๆ แล้วกว่า 400 สาขา

 

การเข้าซื้อในครั้งนี้นับเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้กับอาณาจักรธุรกิจในเมืองไทยของเจ้าสัวเจริญ ภายหลังข่าวออกมา F&N ได้ร่อนจดหมายชี้แจงว่า การเข้าซื้อดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ล่าสุดของ F&N ในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในประเทศไทย ที่ F&N ได้ทำธุรกิจมากว่า 20 ปี ซึ่งมีพอร์ตสินค้าหลากหลายทั้ง ทีพอท ตราหมี และคาร์เนชั่น เป็นตราสินค้ากลุ่มนมข้นหวาน นมสเตอริไลซ์ และนมข้นจืด ตัว Starbucks เองก็ใช้สินค้าของ F&N อยู่แล้วด้วย

 

จะว่าไป ก็ไม่แปลกที่ยักษ์ใหญ่จะกระโดดเข้ามาสู่สงครามกาแฟในครั้งนี้ เพราะ ตลาดกาแฟนอกบ้านมีมูลค่าสูงถึง 38,000 ล้านบาท เติบโต 8% มากกว่าภาพรวมที่เติบโตราว 4% เท่านั้น ที่สำคัญอัตราการใช้บริการของคนไทยเฉลี่ย 300 แก้วต่อคนต่อปี ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น 400-500 แก้วต่อคนต่อปี หรือในยุโรปเฉลี่ย 600 แก้วต่อคนต่อปี ที่ผ่านมาผู้บริโภครู้จักกาแฟมากขึ้น ไม่ต้อง Educate ตลาดอีกแล้ว อีกทั้งวัยที่เริ่มกินกาแฟก็มีแนวโน้มน้อยลง ขณะนี้อยู่ที่ 18 ปี

 

ขณะเดียวกันการซื้อ Starbucks เข้ามาก็ดันรายได้และกำไรเติบโตได้ทันที ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุ ปี 2561 บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ 7,675,842,134 บาท กำไร 1,078,334,302 บาท ซึ่งเป็นปีแรกที่กำไรแตะหลัก ‘พันล้าน’ ทั้งหมดนี้มาจากพลังที่แข็งเกร่งของแบรนด์เงือกเขียว

 

TMB ควบรวม ธนชาต พลิก ‘ธนาคารขนาดกลาง’ ขึ้นเป็น ‘ธนาคารขนาดใหญ่’

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

ดีลนี้ไม่อาจเรียกได้เต็มๆ ว่าเป็น ‘ธุรกิจเปลี่ยนมือ’ ได้ก็จริง แต่ไม่พูดถึงเลยคงเป็นไปไม่ได้ สำหรับกรณีที่ธนาคารทหารไทย หรือ TMB และธนาคารธนชาต ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน

 

ตัวแทนผู้บริหารธนาคารทั้งสองแห่งระบุว่า การควบรวมกิจการของ TMB และธนชาต ซึ่งเดิมทีเป็น ‘ธนาคารขนาดกลาง’ จะทำให้เกิดธนาคารแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ และแข็งแกร่งกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ส่งผลให้มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท พร้อมฐานลูกค้ารวมกันราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ทับซ้อนกันระหว่างธนาคารทั้งสองแห่งไม่ถึงสัดส่วน 10%

 

ประโยชน์ของการควบรวมกันครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารแห่งใหม่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ และขยายตลาดได้มากขึ้น ช่วยให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิม นำจุดแข็งของผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย และรถยนต์ของธนชาตมารวมเข้ากับนวัตกรรมดิจิทัล และผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ถือเป็นจุดแข็งของ TMB เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างประโยชน์กับ Stakeholders ทุกฝ่าย และเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ฝ่ายบริหารระบุว่า ในระหว่างนี้คงไม่สามารถปลดพนักงานได้ แต่จะมีการปรับสกิลและเพิ่มทักษะให้กับพนักงานเพิ่มเติม ขณะที่หลังควบรวมกิจการกันแล้ว ธนาคารทั้งสองแห่งก็ยังจำเป็นจะต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเช่นเดิม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นคงไม่มีการปลดพนักงาน ซึ่งหลังรวมกิจการกันจะโอนย้ายบุคลากรของธนชาตไปอยู่กับธนาคารแห่งใหม่ ส่วนสาขาธนาคารเดิมที่อยู่ในตำแหน่งใกล้กันอาจจะต้องพิจารณาคงไว้ให้เหลือเพียงสาขาเดียว โดยทั้งคู่มีจำนวนสาขาล่าสุดรวมกันที่ประมาณ 900 แห่ง และมีจำนวนบุคลากรรวมกันกว่า 19,000 คน

 

คาดว่าดีลประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2564 เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ค่อนข้างมีความซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร หลังเสร็จสิ้นทุกอย่างจะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ปัจจุบันยังไม่แน่นอนว่าจะใช้ชื่ออะไรกันแน่

 

SCB ขาย SCB Life ให้ FWD ดีลขายธุรกิจประกันชีวิตใหญ่สุดในอาเซียน

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

เรียกว่าพลิกบทบาทจากเจ้าของมาเป็นตัวแทนขาย หลังจากที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ขายธุรกิจประกันชีวิตทั้งหมดในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCB Life ให้กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte. Ltd.) ทุนยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงด้วยมูลค่า 9.27 หมื่นล้านบาท นับเป็นดีลขายธุรกิจประกันชีวิตใหญ่สุดในอาเซียน

 

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวในวันแถลงข่าวว่า SCB ยังคงอยู่ในธุรกิจประกันชีวิตต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากเจ้าของมาเป็นตัวแทนขาย ซึ่งต่อไปจะนำจุดแข็งที่มีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

 

ดีลนี้จบลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดย SCB แจ้งว่า ได้รับเงินจากการขายหุ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 92,700 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดกำไรจากธุรกรรมการขาย (หลังหักภาษี) จำนวน 11,000 ล้านบาท โดยผลของกำไรจะถูกบันทึกในรอบบัญชีไตรมาส 3 ปี 2562

 

นอกจากนี้ธนาคารยังจะทยอยรับเงินจำนวน 17,700 ล้านบาท เป็นรายได้ตลอด 15 ปี สำหรับการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตตลอดช่วงระยะเวลาความร่วมมือในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร โดยกลุ่ม FWD มีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อและรีแบรนด์บริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตภายใต้การอนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

MK ซื้อ ‘แหลมเจริญซีฟู้ด’ เมื่อร้านสุกี้อยากขายอาหารทะเลบ้าง!

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

เย็นวันที่ 6 กันยายน 2019 มีดีลใหญ่เกิดขึ้น เมื่อ MK แบรนด์สุกี้คุ้นหู แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้ใช้เงิน 2,060 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้นของ ‘แหลมเจริญซีฟู้ด’ โดยหลังจากนี้จะเข้าเป็นหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 65% ว่ากันว่านี่ถือเป็นดีลซื้อกิจการร้านอาหารเป็นครั้งแรกของ MK หลังจากเข้า IPO ไปเมื่อ 6 ปีก่อน พร้อมเงินทุนหลักหลายพันล้านบาท

 

MK แจ้งว่าเป้าหมายของการซื้อก็เพื่อ ‘ขยายธุรกิจร้านอาหาร’ คาดว่าดีลนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ปี 2562 หลังทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เมื่อได้ ‘แหลมเจริญซีฟู้ด’ เข้ามาอยู่ในพอร์ตจะมีขนาดเท่ากับ 12.2% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทฯ และเมื่อนับรวมขนาดรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 6 เดือนก่อนวันที่เข้าทำรายการนี้ ขนาดของรายการนี้จะเท่ากับสัดส่วน 13.5%

 

แต่สำหรับเหตุผลที่แท้จริงนั้น ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และยังเป็นผู้ก่อตั้ง MK เล่าว่า ที่ผ่านมา MK หาหนทางเติบโตมาโดยตลอด ซึ่งรวมไปถึงการเข้าไปร่วมลงทุน จนได้มีโอกาสคุยกับแหลมเจริญซีฟู้ดเมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งพบว่ามีวัฒนธรรมและนิสัยใจคอที่เข้ากันได้ อีกทั้งระบบของบริษัทสามารถรองรับ 26 สาขาที่มีอยู่ได้สบาย สามารถขยายสาขาได้อีกเยอะ จึงตัดสินใจร่วมลงทุน 

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 ‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

แม้จะไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกได้ เพราะดีลคาดว่าจะเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม แต่ฤทธิ์บอกกลยุทธ์ธุรกิจคร่าวๆ ซึ่งจะเข้าไปช่วยทำให้แหลมเจริญซีฟู้ดแข็งแรงขึ้น โดยจะเข้าไปซินเนอร์จี้ในทุกด้านทั้ง การเทรนนิ่งพนักงาน การตลาด รวมถึงระบบโลจิสติกส์ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการทำร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล  

 

ด้วยประสบการณ์สร้างแบรนด์ MK มากว่า 30 ปี ทำให้ MK มีความรู้และประสบการณ์ แบรนด์ไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว มีกลไกทำให้เกิด ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมาแหลมเจริญซีฟู้ดสร้างแบรนด์แบบธรรมชาติ หลังจากนี้ MK จะเข้าไปช่วยเร่งโต โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยทั้งหมด จะทำได้เร็วขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของทีมงาน

 

“ซีฟู้ดเป็นอาหารที่คนไทยกินอยู่แล้ว เห็นได้จากมีร้านอยู่เต็มไปหมด แต่ความน่าสนใจของแหลมเจริญซีฟู้ด คือเป็นร้านที่มีเครือข่าย ซึ่ง MK คิดอยู่แล้วว่าเหมาะกันมาก และไม่เข้ามาแย่งลูกค้ากัน ที่สำคัญนี่เป็นอาหารของคนไทย ซึ่งสามารถนำไปต่างประเทศแล้วบอกว่าไทยซีฟู้ดได้”

 

ขณะเดียวกัน ผู้ก่อตั้ง MK ระบุว่า จะทำทุกรูปแบบเพื่อให้ธุรกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% เป็นอย่างน้อย ต่อไปจะมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเยอะขึ้น ทั้งการซื้อแฟรนไชส์ เข้าลงทุนกิจการร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการสร้างแบรนด์ใหม่

 

โดยหลักๆ แล้ว MK จะจับลูกค้าระดับกลาง และจะยังไม่ลงไปเล่นใน ‘สตรีทฟู้ด’ ด้วยการเชนร้านอาหารสิ่งที่ต้องระวังคือ ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งหากตั้งราคาไม่สูงพอ ธุรกิจจะไม่มีกำไรมากพอที่จะทำให้ความปลอดภัยดีขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะคงคุณภาพดีๆ ในราคาที่เหมาะสมได้ 

 

สิงห์ ฮุบ ซานตา เฟ่ มีอะไรมากกว่าแค่ ‘จับคู่เบียร์กับสเต๊ก’

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

‘ธุรกิจอาหาร’ ถือเป็นธุรกิจที่ยักษ์ใหญ่หลายๆ รายของไทยกำลังต้องการเจาะเข้ามาสร้างอาณาจักร ด้วยอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องกินทุกวัน ดังนั้นแม้การแข่งขันจะสูง แต่โอกาสก็มีมากไปด้วย เช่นเดียวกับ ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ หรือ ‘สิงห์’ ที่เรารู้จักกันดี ก็เป็นอีกรายที่กำลังปั้นธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

 

‘อาหาร’ เป็นขาธุรกิจที่ 6 ต่อจาก 1. ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 2. กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 3. ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4. อสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์ เอสเตท 5. ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอด ซัพพลายเชน ซึ่งสิงห์กำลังให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอยู่ภายใต้ ‘ฟู้ด แฟคเตอร์’ ซึ่งมี ปิติ ภิรมย์ภักดี ที่มีแพสชัน ความรัก และความหลงใหลในอาหารเป็นผู้ดูแล

 

ก่อนหน้านี้ปิติเคยให้สัมภาษณ์ในงาน THAIFEX ที่ผ่านมาว่า เตรียมงบลงทุนกว่า 5,000-8,000 ล้านบาท สำหรับขยายธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ภายใน 3 ปี จะต้องมีรายได้หลักแตะ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งยังวางเป้าหมายที่ต้องการรายได้ 10,000 ล้านบาท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

(คนกลาง) ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด บริษัทลูกในเครือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่

 

แม้ปิติจะเคยบอกว่า การเข้าซื้อกิจการไม่ใช่เป้าหมายหลักในการขยายธุรกิจอาหาร เพราะ ‘ฟู้ด แฟคเตอร์’ มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้าน EST.33, ร้าน Farm Design และร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji อยู่ในพอร์ตอยู่แล้ว แต่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจทุ่ม 1,500 ล้านบาท เข้าเป็นเจ้าของแบรนด์สเต๊กยอดนิยม ‘ซานตา เฟ่’ ที่มีสาขาในประเทศไทยมากกว่า 117 แห่ง

 

ดีลนี้สะท้อนนัยเชิงกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญไว้มากมาย ที่ไม่ใช่แค่การจับเบียร์มาคู่กับสเต๊กเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้ฟู้ด แฟคเตอร์ ตัดสินใจทุ่มเงินเข้าซื้อกิจการของเคที เรสทัวรองท์ เป็นเพราะว่ามีทั้งโนว์ฮาว และแบรนด์ร้านสเต๊กที่ครอบคลุมกว่า 117 แห่ง (57% เป็นของเคทีเอง อีก 43% เป็นแฟรนไชส์) รวมถึงร้านอาหารอีสาน ซึ่งทั้งสองเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีอยู่ในพอร์ตธุรกิจเดิมของฟู้ด แฟคเตอร์ เลย 

 

ที่สำคัญ ‘สเต๊ก’ ยังเป็นหมวดหมู่อาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยมากๆ ซึ่งคู่แข่งรายใหญ่ๆ ในตลาด ณ วันนี้ก็มีแค่ประมาณ 2-3 รายเท่านั้น รวมถึงยังมีโอกาสปูพรมขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย หลังประเดิมที่กัมพูชาไปแล้ว 

 

แต่ใจความใหญ่ที่สุดคือการที่สามารถ Synergy ภายในบริษัท และการทำธุรกิจแบบต้นน้ำยันปลายน้ำแบบครบวงจรด้วยแบรนด์ในเครือของบริษัททั้งหมด อย่างเช่น ตอนนี้ร้านสเต๊กซานตา เฟ่ บางแห่งเริ่มนำซอส Todd เข้าไปเสิร์ฟในบางเมนูเรียบร้อยแล้ว

 

Minor ซื้อ BonChon ถึงเวลาขาย ‘ไก่ทอด’ กับเขาบ้างแล้ว!

 

เทคโอเวอร์ธุรกิจ

 

ถัดจาก 2 ดีลใหญ่ในวงการอาหารไม่นานมากนัก ดีลที่ 3 ก็เกิดขึ้น คราวนี้เป็นคิวของ ‘ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ ให้ ‘เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)’ เข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าของ และดําเนินกิจการร้านอาหาร BonChon ในประเทศไทย โดยใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

 

เหตุที่ดีลนี้น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาถึง ‘ไมเนอร์’ จะมีร้านอาหารภายใต้พอร์ตของ ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ กว่า 2,200 สาขา กระจายตัวใน 26 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตา เช่น The Pizza Company, The Coffee Club, Riverside, Benihana, Thai Express, Swensen’s, Sizzler, Dairy Queen, Burger King ฯลฯ 

 

แต่ไมเนอร์ไม่เคยมีร้านที่มี ‘เมนูไก่ทอด’ อย่างจริงจังแม้แต่ร้านเดียว นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ไมเนอร์กระโดดเข้าสู่ ‘สงครามไก่ทอด’ อย่างเป็นทางการ 

 

ผู้บริหารไมเนอร์ให้เหตุผลกับ THE STANDARD ว่า ไก่ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่คนไทยให้ความนิยมมากที่สุด และตลาดไก่ยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2561 ‘ตลาดไก่’ เติบโตถึง 229% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่าตลาดอื่นๆ ที่ไมเนอร์ทำธุรกิจอยู่ทั้งสิ้น

 

ไมเนอร์ประเมินว่า BonChon สามารถขยายสาขาเป็น 150-200 สาขาในอนาคตได้สบายๆ ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ที่อยู่ในพอร์ต โดยที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเพียง 44 สาขา ไม่รวมอีก 2 สาขาที่กำลังจะเปิดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นของไมเนอร์ทั้งหมด

 

 

ที่สำคัญการเข้าซื้อทำให้ไมเนอร์มีรายได้และกำไรจาก BonChon ทันที อีกเหตุผลคือต้องการให้ BonChon เข้ามาต่อจิ๊กซอว์ ‘ธุรกิจเดลิเวอรี’ ซึ่งไมเนอร์กำลังบุกหนัก อย่างสังเกตได้ ยอดขายเดลิเวอรีของ BonChon เติบโตเป็นอย่างมาก หากสาขาไหนที่ให้บริการส่งถึงบ้านก็อาจถึงขั้นทำให้ยอดขายของร้านอาหารที่อยู่ใกล้เคียงกันลดลงไปเลยก็มี

 

แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของไมเนอร์ในขณะนี้คือ ต้องการเจรจากับผู้ได้รับสิทธิ์ Master Franchise เพื่อขอสิทธิ์ในการขยาย BonChon ไปทั่วประเทศ หากการเจรจาเป็นไปตามที่ไมเนอร์คาดหวัง ‘สงครามไก่ทอด’ ในเมืองไทยต้องร้อนระอุขึ้นอีกแน่นอน

 

ธนาคารกรุงเทพเข้าซื้อธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซีย มูลค่า 9 หมื่นล้าน

 

ธนาคารกรุงเทพ

 

ดีลใหญ่สุดท้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และไม่พูดถึงไม่ได้ คือการที่ธนาคารกรุงเทพทำสัญญาซื้อขายหุ้น โดยมีเงื่อนไขกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด) และพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค (แอสทร่า) เพื่อถือหุ้นในธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ในอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วน 89.12% มูลค่าราว 2,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 81,017 ล้านบาท คาดว่าจะทำธุรกรรมเสร็จสิ้นในปี 2563 หลังจากนั้นจะทำเรื่องซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 10.88%

 

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายจะถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตาทั้ง 100% โดยประเมินมูลค่าเบื้องต้น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 90,909 ล้านบาท โดยการซื้อขายหุ้นทั้งหมดจะใช้เงินทุนภายในของธนาคาร ซึ่งเพียงพอกับการซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาทั้ง 100% โดยไม่เพิ่มเงินทุนจากผู้ถือหุ้น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นดีลการซื้อหุ้นธนาคารในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด

 

“การซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซียครั้งนี้เป็นกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารกรุงเทพ ที่จะขยายการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจและปริมาณประชากรของประเทศอินโดนีเซียเติบโตอย่างมาก รวมถึงเทรนด์การขยายตัวของสังคมเมืองค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันธุรกิจของเพอร์มาตาอยู่ในช่วงขาขึ้น กำไรดี เงินสำรองดี เมื่อทั้งสองธนาคารรวมกัน เราจะสามารถเพิ่มการเติบโตได้ต่อเนื่อง” ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวบนเวทีแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหมายข่าวด่วนที่ส่งเที่ยงและแถลงเย็นเลยทีเดียว

 

ชาญศักดิ์ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของธนาคารกรุงเทพคือธุรกิจองค์กร (มีสัดส่วน 40% ของธุรกิจทั้งหมด) ขณะที่จุดแข็งของธนาคารเพอร์มาตามีฐานลูกค้าทั้งรายย่อย เอสเอ็มอี และธุรกิจองค์กรรวม 3.5 ล้านราย มีสาขา 332 แห่ง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย และมีใบอนุญาตเป็นธนาคารท้องถิ่น รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเพิ่มทั้งเครือข่าย ทำให้การขยายธุรกิจระหว่างกัน และการเติบโตดียิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ทางธนาคารกรุงเทพยังมองว่าการซื้อธนาคารเพอร์มาตาจะเสริมโอกาสการขยายกิจการในทั้งสองประเทศ (ไทยและอินโดนีเซีย) ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจไทย GDP ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเติบโตแบบทรงๆ การขยายธุรกิจไปยังอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจเติบโตกว่าไทย ดังนั้นเมื่อรวมทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกันจะเป็นโอกาสการขยายธุรกิจมากขึ้นไปด้วย 

 

จับตาดีลใหญ่ ‘Tesco Lotus’ จะขายกิจการในไทย

 

Tesco Lotus

 

อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งดีลขายกิจการที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือการที่ ‘Tesco’ ยักษ์ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของแดนผู้ดี ออกมายอมรับว่า อาจพิจารณาขายกิจการในไทยและมาเลเซีย

 

ขณะนี้การตรวจสอบอยู่ในช่วงเริ่มต้น และไม่ได้ให้รายละเอียดของกระบวนการขาย รวมถึงยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของ Tesco ไทยหรือมาเลเซีย และไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีการทำธุรกรรมใดๆ เกิดขึ้น

 

มีการประเมินกันว่า หากดีลนี้เกิดขึ้นจริงต้องใช้เงิน 2-2.75 แสนล้านในการเข้าซื้อ ซึ่งนับๆ ดูแล้วมีไม่กี่รายที่พอจะเข้าซื้อได้

 

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นอีกหนึ่งดีลยักษ์ที่ส่งสัญญาณให้เห็นแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะได้เจอเหตุการณ์ ‘ธุรกิจเปลี่ยนมือ’ ที่เรียกเสียงฮือฮากันอีกกี่ครั้งกันแน่! 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising