×

เขื่อนโนวาคาคอฟกาของยูเครนถูกโจมตีพังเสียหาย เร่งอพยพประชาชนหวั่นเกิดน้ำท่วมใหญ่

06.06.2023
  • LOADING...

วันนี้ (6 มิถุนายน) เกิดเหตุเขื่อนโนวาคาคอฟกา ทางตอนใต้ยูเครนถูกโจมตีพังเสียหาย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างจนทางการต้องสั่งเร่งอพยพประชาชน ซึ่งทั้งยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ที่ก่อเหตุโจมตีเขื่อนแห่งนี้

 

ผู้บัญชาการกองกำลังทางตอนใต้ของยูเครนกล่าวว่า กองกำลังรัสเซียได้โจมตีเขื่อนโนวาคาคอฟกาในภูมิภาคเคอร์ซอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองกำลังของรัสเซียสามารถยึดครองไว้ได้ โดยภาพจากโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นการระเบิดอย่างรุนแรงรอบๆ เขื่อน และกระแสน้ำที่ไหลทะลักออกมาจากจุดที่แนวกั้นน้ำแตกออก 

 

กองทัพยูเครนเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการกำลังเร่งประเมินขอบเขตความเสียหาย รวมถึงความเร็วและปริมาณน้ำที่ไหลทะลักออกมา ด้านสำนักข่าว AFP รายงานว่า ทางการเร่งอพยพประชาชนบางส่วนแล้ว โดยระบุว่ามีประชาชนราว 16,000 คนอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำดนิโปร ขณะที่ตอนนี้มีหมู่บ้านหลายแห่งที่เผชิญกับน้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางการประเมินว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขื่อนอาจเจอกับน้ำท่วมระดับอันตรายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ

 

สำนักข่าว TASS ของรัสเซียรายงานว่า เขื่อนแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากการถูกกระหน่ำยิง ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองโนวาคาคอฟกา ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองไว้ได้นั้น กล่าวว่า “นี่เป็นเหตุก่อการร้าย” หรือบอกเป็นนัยว่ากองกำลังยูเครนเป็นผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าว ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง

 

ทางฝั่งของยูเครนโต้ว่า รัสเซียเป็นฝ่ายที่ทำการโจมตีเขื่อนแห่งนี้ เพื่อหวังจะสกัดการโต้ตอบกลับของยูเครน โดย มิคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า “เป้าหมายของผู้ก่อการร้ายนั้นชัดเจน นั่นคือการสร้างอุปสรรคขัดขวางการโต้กลับของกองกำลังทหาร” ส่วนประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุดังกล่าวในวันนี้ พร้อมระบุว่า “นี่คือฝีมือของผู้ก่อการร้ายชาวรัสเซีย”

 

เขื่อนโนวาคาคอฟกามีความสูงร่วม 30 เมตร และมีความยาว 3.2 กิโลเมตร สร้างขึ้นในปี 1956 บนแม่น้ำดนิโปร โดยมีปริมาณกักเก็บน้ำเทียบเท่ากับทะเลสาบเกรตซอลต์ (Great Salt Lake) ในรัฐยูทาห์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทะเลสาบเกลือที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า เขื่อนแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ที่ส่งน้ำไปยังไครเมีย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียด้วย

 

ภาพ: Maxar Technologies / Handout via Reuters 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising