หากพูดถึงงานสตรีทอาร์ต หนึ่งในศิลปินแถวหน้าที่มักจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ คงหนีไม่พ้นชื่อของ Banksy ศิลปินสตรีทอาร์ตชาวอังกฤษสุดลึกลับที่ฝากผลงานอันมีเอกลักษณ์และทรงพลังไว้ตามกำแพง หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ มากมาย และการที่เขาไม่เปิดเผยใบหน้าหรือรูปลักษณ์ต่อสังคมอาจเป็นเพราะการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างกราฟฟิตี้ตามที่สาธารณะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ แต่อีกนัยหนึ่งการที่เขาไม่เปิดเผยรูปพรรณสัณฐานของตัวเองก็อาจเป็นเพราะอยากให้ผู้คนสนใจความหมายที่แท้จริงของงานศิลปะมากกว่าตัวของเขาเอง
Banksy เริ่มต้นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขาครั้งแรกด้วยการพ่นสีกราฟฟิตี้บนกำแพงตึกในบ้านเกิดที่เมืองบริสตอลในปี 1990 ร่วมกับเพื่อนของเขาอีก 2 คนอย่าง Kato และ Tes ในนามของกลุ่ม Bristol’s DryBreadz Crew (DBZ) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปินที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสดนตรีและศิลปะอันเดอร์กราวด์ในเมืองบริสตอล
แง่มุมส่วนใหญ่ที่ Banksy มักจะบอกเล่าออกมาผ่านผลงานศิลปะคือ การเสียดสีแง่มุมทางสังคม ระบอบทุนนิยม การเมือง สงคราม หรือกระทั่งการเรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพ แต่กระนั้นผลงานของเขาก็เต็มไปด้วยอารมณ์ขันเฉพาะตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ชื่อของ Banksy ได้กลายเป็นที่พูดถึงในหน้าข่าวเกี่ยวกับงานศิลปะแทบจะตลอดเวลา และหนึ่งในเรื่องราวที่สุดแสนจะแสบสันของศิลปินผู้ลึกลับคนนี้คือ การทำลายภาพ Girl With Balloon ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของตัวเองทิ้ง หลังจากที่เสร็จสิ้นการประมูลไปด้วยราคาถึง 1 ล้านปอนด์ ซึ่งหลายคนที่ได้ยินข่าวนี้เป็นครั้งแรกคงอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าศิลปินคนนี้เป็นอัจฉริยะ หรือคนบ้าที่ทำงานศิลปะอยู่เหนือกฎเกณฑ์สังคมกันแน่?
ไม่เพียงแค่เรื่องราวสุดอื้อฉาวนี้เท่านั้นที่ Banksy ได้ทำลงไป ครั้งหนึ่งเขาเคยขายผลงานศิลปะของตัวเองที่มีเพียงแค่ชิ้นเดียวในราคา 10 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สนใจจะสามารถซื้อได้ เงื่อนไขของการซื้อขายผลงานชิ้นนี้คือ การเขียนเรียงความเพื่ออธิบายความหมายของศิลปะส่งเขา
ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมาไม่ใช่แค่สิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของ Banksy เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสมัยใหม่เช่นเดียวกัน และยังทำให้มูลค่าของชิ้นงานกระโดดขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
ถึงกระนั้นผลงานศิลปะส่วนใหญ่ของเขาก็มักจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน นั่นก็เพราะ Banksy เป็นสตรีทอาร์ทิสต์ เพื่อให้คนธรรมดาสามารถเข้าถึงผลงานของเขาได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน และด้วยความเป็นธรรมชาตินี้เอง ที่เขาอาจอยากให้ผลงานของตัวเองผุกร่อนไปตามกาลเวลามากกว่าจะกลายเป็นสิ่งที่เอาไว้ประดับในพิพิธภัณฑ์ Exhibition ส่วนใหญ่ของเขาจึงเป็นงานที่ทุกคนและผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียเงินแม้แต่นิดเดียว
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผลงานของเขาไม่เคยไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เสียทีเดียว ในปี 2005 Banksy ได้เดินทางเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ทั้งในนิวยอร์กและลอนดอน เพื่อแอบติดภาพวาดล้อเลียนเพิ่มเข้าไปโดยที่พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ทันรู้ตัว
ไม่เพียงแค่ผลงานอย่างกราฟฟิตี้เท่านั้นที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Banksy เพราะนอกจากผลงานเหล่านั้นแล้ว เขายังเคยสร้างวีรกรรมอีกมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานกราฟฟิตี้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปลอมธนบัตร 10 ปอนด์ โดยใช้รูปเจ้าหญิงไดอานาแทนรูปควีนเอลิซาเบธ เพื่อเป็นการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิง และแก้คำว่า Bank of England เป็น Banksy of England จนทำให้ระบบทางการเงินของอังกฤษเกิดความสับสนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนเจ้าตัวต้องรีบระงับโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ หรือการเข้าไปขโมยซีดีอัลบั้ม Paris ของ Paris Hilton ในร้านขายซีดี แล้วนำมาแต่งรูปปกพร้อมกับแก้ไขชื่อเพลงรวมถึงอาร์ตเวิร์กข้างในใหม่ อีกทั้งยังร่วมงานกับ Danger Mouse ในการรีมิกซ์เพลงขึ้นมาเพลงหนึ่งชื่อ That’s Hot ที่มีความยาวถึง 40 นาทีแทนเพลงในอัลบั้ม จากนั้นจึงเอาไปเปลี่ยนสลับกับซีดีของจริงในร้าน HMV กว่า 500 แผ่น
แม้วีรกรรมดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับงานกราฟฟิตี้ แต่ผลงานเหล่านั้นก็เป็นสิ่งยืนยันว่าศิลปะของ Banksy ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่เพียงแค่กำแพงอย่างเดียว แต่สำหรับตัวเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ เพลง หรือกระทั่งกำแพง ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างกัน และนั่นก็เป็นสิ่งตอกย้ำถึงอัจฉริยภาพและความทะเยอทะยานในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ไม่ได้หยุดยั้งเพียงแค่กรอบที่เรียกว่ากำแพง แต่ทุกที่ล้วนสามารถแสดงออกถึงตัวตนและงานศิลปะได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นมากกว่ากัน
กลับมาสู่กระแสถกเถียงร้อนๆ ในพื้นที่โซเชียลมีเดียของไทยในช่วงนี้ ที่เนื่องจากเร็วๆ นี้กำลังจะมีงานที่ชื่อว่า The Art of Banksy: ‘Without Limits’ ที่ MOCA BANGKOK ในระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2022 ซึ่งทางผู้จัดบอกว่าเป็นนิทรรศการโชว์ผลงาน Banksy ครั้งแรกในประเทศไทย
ทว่าแฟนคลับหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายในงานอย่างการเก็บค่าเรียกเข้าชม (ยังไม่นับรวมถึงประเด็นที่ว่ามีผลงานออริจินัลกี่ชิ้น และไม่ใช่ออริจินัลอีกกี่ชิ้น และได้รับอนุญาตจากการแสดงผลงานจากศิลปินแล้วหรือไม่?) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานมากที่สุด ว่าแท้จริงแล้วการจะจัดนิทรรศการครั้งนี้ควรค่าแก่การสนับสนุนหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแฟนผลงานของ Banksy รวมไปถึงคนทั่วไปในสังคมแล้วว่าจะคิดเห็นหรือต่อยอดทางปัญญาจากเรื่องนี้อย่างไร
อ้างอิง:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Banksy
- https://www.facebook.com/mocabangkok/photos/a.213061605474714/5435502833230539
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_Rat_Girl_Treme_New_Orleans_01.jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_Raingirl_Corner.jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_Looters_New_Orleans.jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Season%27s_Greetings,_Banksy_(3).jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_or_not%3F_-High_Rd_-Tottenham_-London-24Sept2009.jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_graffiti_on_Newman_Street_-_One_Nation_Under_CCTV.jpg
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksy_Hitchhiker_to_Anywhere_Archway_2005.jpg
- https://commons.wikimedia.org/w/index.php?search=Banksy+&title=Special:MediaSearch&go=Go&type=image
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Banksys_flower-throwing_protester._(17801207806).jpg