×

โนโมโฟเบีย เรื่องของคนติดมือถือ กับ 5 เคล็ดลับบำบัดใจของคนติดเทคโนโลยี

03.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • วิธีบำบัดอาการเสพติดมือถือมีหลายวิธี เช่น กำจัดขอบเขตการเล่น กลับเข้าสู่ยุคอะนาล็อก หันมาหยิบจับหนังสือกระดาษแทนการอ่านข่าวสารออนไลน์ หรือกำหนดเขตแดนปลอดเทคโนโลยี งดใช้มือถือ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

ในยุคที่มนุษย์เสพติดเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบาย และสมาร์ทโฟนนั้นตอบสนองได้ทุกสิ่ง ทั้งอัปเดตข่าวสาร ส่งอีเมล คุยโทรศัพท์ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ สารพัดอย่างที่เทคโนโลยีจะเสกสรรให้เราได้ เผลอตัวเป็นต้องหยิบจับมือถือขึ้นมาปัดซ้ายปัดขวาสักสองสามที รู้สึกตัวทีไรเราก็เอาแต่รูดหน้าจอเกือบตลอดเวลา ไม่ได้เงยหน้าเจรจาพูดคุยกับคนตรงหน้า หรือสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างที่เคย แม้จะรู้ตัวว่ากิริยาแบบนี้มิใช่เรื่องดีเท่าไร ทั้งยังนำพาให้เราสมาธิสั้น แถมบุคลิกภาพเสีย และก่อให้เกิดโรคมากมาย แต่ใจหนอใจก็ยังไม่สามารถหยุดมือ จนการใช้มือถือเกิดพอควร กลายเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า ‘โนโมโฟเบีย’ (Nomophobia) หรือ ‘อาการติดโทรศัพท์มือถือ’

 

หลังจากหน่วยงานภาครัฐ ‘สธ.’ หรือกระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศเตือนประชาชนถึงภัยของการติดโทรศัพท์มือถือ ว่ามีผลร้ายต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งภาวะนิ้วล็อก โรคเกี่ยวกับสายตา อาการปวดเมื่อยคอบ่าไหล่จากการก้มมองมือถือ รวมไปถึงภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ง่าย THE STANDARD นำวิธีแก้ภาวะเสพติดเบื้องต้นมาให้ ด้วยคำแนะนำดีๆ จาก พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย (Vital Life Wellness) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 

วางแผนการใช้มือถือด้วยเทคโนโลยี

คุณรู้หรือเปล่าว่าวันหนึ่งตัวเองใช้มือถือบ่อยแค่ไหน? ก่อนเข้าสู่การบำบัด อย่างแรกเลยคุณต้องรู้จักตนเอง สำรวจพฤติกรรมการใช้มือถือและนำมาวางแผนการใช้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่ง พญ.วรรณวิพุธ ก็ให้คำแนะนำตรงส่วนนี้ว่า “เมื่อคุณติดเทคโนโลยีมาก ก็ให้เทคโนโลยีนั่นแหละช่วยจัดการ” ในโทรศัพท์มือถือมีแอปพลิเคชันมากมาย หนึ่งในนั้นมีแอปฯ ซึ่งเตือนเราด้วยว่า ‘วันนี้คุณใช้มือถือมากน้อยแค่ไหน’ หรือ ‘นานแค่ไหนแล้วนะ’ ลองโหลดแอปฯ จำพวกนี้มาใช้ เพื่อจำกัดขอบเขตปริมาณการใช้ของตัวเอง THE STANDARD ลองไปหาแอปพลิเคชันประเภทนี้มาให้แล้ว เช่น Checky และ QualityTime ลองดู

 

 

 

โหมดแจ้งเตือนทั้งหลายน่ะปิดซะ ใจจะได้ไม่พะวง

หนึ่งพฤติกรรมที่ทุกคนเป็นยามมีโทรศัพท์ใกล้ตัวคือ หยิบมันขึ้นมาเพื่อเช็กข่าวสาร ‘เอ๊ะ! มีอะไรอัปเดตบ้าง’ หรือ ‘ใครโพสต์อะไรใหม่ มีอะไรใหม่บ้าง’ จิตใจหนอช่างพะว้าพะวัง ยิ่งตอนเห็นแอปฯ โซเชียลทั้งหลายแจ้งเตือนว่าคนนั้นโพสต์อันนี้ คนนี้คอมเมนต์แบบนั้น โอ้! มือช่างไว คว้ามือถือหยิบขึ้นไปปัดแล้ว ฉะนั้นวิธีการที่ทำให้คุณใจสงบ ลดละเลิกโลกโซเชียลได้ง่ายขึ้นคือ การปิดแจ้งเตือนไปให้หมด หลงเหลือไว้เฉพาะบางแอปพลิเคชันที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนอันไหนปิดได้ปิด ตัดได้ตัด แล้วจิตใจจะสงบขึ้น

 

 

 

กลับเข้าสู่ยุคอะนาล็อก

คุณหมอแนะนำว่า ถ้าไม่อยากเสียสายตาและทำลายสุขภาพไปมากกว่านี้ ต้องสร้างเขตแดนปราศจากเทคโนโลยีในทุกๆ วัน โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ต้องไม่มีการเปิดมือถือ หรือหยิบจับมันขึ้นมาเด็ดขาด หนึ่ง ก็เพื่อให้คุณนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ สอง คือช่วยรักษาสภาพจิตใจและดวงตาในระยะยาว ยิ่งใครที่ชอบอ่านหนังสือ อ่านข่าว อ่านนิยาย ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หันมาหยิบจับกระดาษ กลับมาอ่านเรื่องราวจากหนังสือให้มากขึ้น สายตาก็ฝ้าฟางน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น ช่วยพัฒนาอารมณ์และสมองให้ดี มีประสิทธิภาพ ไม่กลายเป็นคนสมาธิสั้น และบุคลิกหลุกหลิก

 

 

 

หากิจกรรมทำกับเพื่อน โดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง

เทคโนโลยีทำให้เราติดต่อกันง่ายขึ้น แต่พบปะกันน้อยลง เจอหน้ากันทีก็เอาแต่ก้มหน้ามองจอมือถือ จนบางทีเราเองยังสงสัยเลยว่า เอ๊ะ! นัดเพื่อนมาเจอกัน แต่ทำไมไม่ได้คุยกัน หรือมันคุยกันผ่านแอปฯ ถึงไม่คุยกับเรา เพราะฉะนั้นเมื่อคุณอยากแก้อาการติดมือถือหรือมีเพื่อนติดมือถือ ถ้าอยากปฏิสัมพันธ์กันก็ต้องหากิจกรรมที่ไม่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องนั่นก็คือ กีฬากลางแจ้ง อะไรดีล่ะ เยอะแยะไปหมด ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน กีฬาทางน้ำ เซิร์ฟบอร์ด ว่ายน้ำ เจ็ตสกี ฯลฯ สารพันอย่าง ชวนกันไปเล่น รับรองว่าได้ทั้งเหงื่อ ทั้งสุขภาพ ได้กราฟปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงเป็นสีเขียวเหมือนชาวซิมส์แน่นอน (เพราะเอามือถือลงสนามไม่ได้ พังหมด)

 

 

 

ติดหนักมาก ทำอย่างไรก็ไม่อยู่ เข้าไปเลยจ้า กลุ่มบำบัด

“ในกรณีที่ติดมากจนไม่ไหวแล้ว ชีวิตนี้ขาดแล้วเหมือนจะตาย ราวกับมนุษย์ขาดอากาศ ปลาขาดน้ำ หมอแนะนำให้เข้ากลุ่มบำบัด” พญ.วรรณวิพุธ กล่าว

 

ในเมืองไทยเราแม้จะไม่มีกลุ่มบำบัดโรคโนโมโฟเบียอย่างชัดเจน แต่ก็สามารถรับการบำบัดกับจิตแพทย์ได้ ลองเข้าไปปรึกษาคุณหมอว่าเรามีอาการแบบนี้หรือมีพฤติกรรมแบบนี้ คุณหมอจะช่วยรักษาตามวิธีทางการแพทย์ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือการรักษาแปลกพิสดารใดๆ เลย แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเสียเท่านั้น สำหรับใครที่คิดว่าไม่ต้องถึงมือหมอหรอก ตัวฉันยังเอาอยู่ แนะนำให้ลองดูคอร์สตามสปาใหญ่หรือรีสอร์ตแบบ Wellness เขามีคอร์ส Digital Detox บำบัดอาการของผู้เสพติดเทคโนโลยีโดยเฉพาะ แม้จะแก้ได้ไม่หมด แต่ก็ทำให้คุณลดละเลิกการหยิบมือถือตลอดวันได้ชะงัดนักแล

 

อย่างไรเสียการบำบัดอาการเสพติดใดๆ จะไม่สามารถเห็นผลได้ หากปณิธานของคุณไม่แข็งแกร่งพอ เริ่มจากง่ายๆ ก่อน คืนนี้ลองปิดมือถือแล้วหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ใช้นาฬิกาปลุกแทนมือถือ ถ้าทำได้นี่ก็ถือเป็นก้าวแรกของการบำบัดอาการโนโมโฟเบียแล้ว

 

Photo: Shutterstock, Giphy

FYI

โนโมโฟเบียไม่ใช่แค่ส่งผลทางกายภาพ แต่ร้ายแรงกว่านั้น

พญ.วรรณวิพุธ อธิบายให้ฟังว่า “จริงๆ อาการติดมือถือ นอกจากจะส่งผลต่อปัญหาทางกายภาพ เช่น อาการตาแห้ง ตาล้า นิ้วล็อก คอบ่าไหล่เมื่อย ปวดตึง ยังมีอาการอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น อาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่หลับไม่ลึก รู้สึกง่วงตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติม: พิษร้ายของการเล่นมือถือก่อนนอน) เรื่องของปฏิสัมพันธ์หรือการเข้าสังคม ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในภายหลัง และถ้าเราใช้มือถือบ่อยๆ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังส่งผลกระทบต่อสมอง อาจก่อให้เกิดมะเร็งสมองได้ง่ายขึ้น แม้ประเด็นนี้ยังมีการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลาว่าส่งผลหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรละเลยและมองข้าม

 

วิธีดูตัวเองง่ายๆ ว่ามีอาการติดมือถือหรือเปล่า

  • หยิบมือถือมาเช็กทุก 5-10 นาที
  • กระวนกระวายใจเมื่อโทรศัพท์มือถือไม่อยู่ข้างตัว
  • มีอาการวิตกกังวล ใจเต้นแรง ไม่เป็นอันทำอะไร เมื่อลืมมือถือออกจากบ้าน

 

ถ้าคุณมีอาการแบบนี้แค่ 1-2 ข้อ ก็เข้าข่ายเสพติดมือถือแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X