×

อุทิศทั้ง ‘ใจ’ และ ‘เวลา’ เพื่อสิ่งที่รัก นิรุตต์ โลหะรังสี ไกด์หนุ่มชื่อดัง ผู้เป็นไอดอลจากห้องเรียนสายอาชีวะ

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2019
  • LOADING...
นิรุตต์ โลหะรังสี

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • นิรุตต์ โลหะรังสี สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา 4 สมัยซ้อน และมัคคุเทศก์ชื่อดังผู้เป็นที่ต้องการตัวที่สุดคนหนึ่งของวงการ กับเรื่องราวการอุทิศทั้ง ใจและ เวลาเพื่อค้นหาตัวเอง และเรียนรู้สิ่งที่รักในงานสายท่องเที่ยว และเมื่อเขายิ่งรักก็ยิ่งต้องพยายาม 

ช่วงสมัยที่เรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ผมมักจะได้ยินคำถามจากคนรอบตัวเสมอว่า จะเรียนต่ออะไร จะไปทางไหน ซึ่งตอนนั้นผมอยากจะตอบผู้ใหญ่ทุกคนว่า เราไม่รู้ ถามว่าเราชอบอะไร และเหมาะกับทางไหน ก็ยังไม่รู้ คือผมเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง ในขณะที่คนรอบตัว ญาติพี่น้องก็ประสบความสำเร็จทางด้านการเรียน จึงมีแรงกดดันจากการถูกเปรียบเทียบ บวกกับวิธีคิดของผู้ใหญ่รอบตัวที่เป็นคนต่างจังหวัดในสมัยนั้น ซึ่งมักจะมีค่านิยมกันว่า เรียนจบมาก็ต้องรับราชการ หรือทำงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่การงานเป็นคนใหญ่คนโต เป็นหน้าเป็นตาให้กับวงศ์ตระกูล นั่นคือค่านิยมของที่บ้านผมในสมัยนั้น” 

 

นิรุตต์ โลหะรังสี เล่าถึงเรื่องราวในสมัยที่เขายังเป็นเด็กวัยรุ่นและไม่รู้ว่าจะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างไรดี น้ำเสียงนั้นแจ่มชัดราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน หากนั่นคือเมื่อสมัยราว 20 ปีล่วงมาแล้ว ณ ตอนนี้ เขาเป็นมัคคุเทศก์ชื่อดัง ซึ่งหลายๆ คนน่าจะรู้จักเขาดีในฐานะของ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา’ 4 สมัยซ้อน ซึ่งนอกจากอยุธยาที่เป็นบ้านเกิดของเขาแล้ว อีกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ก็คือที่ทำงานของชายหนุ่มด้วยเช่นกัน ไกด์หนุ่มคนนี้ได้เล่าถึงเส้นทางการศึกษาผ่านรั้วอาชีวะ ที่ซึ่งทำให้เขาค้นหาตัวเองจนเจอ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ เป็นคนที่มีความสามารถสร้างอาชีพ ชื่อเสียง ความสำเร็จให้กับตนเอง รวมถึงทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น สมการเป็น ‘อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติคนหนึ่ง

 

ผมเลือกเรียนระดับ ปวช. ในสาขาภาษาต่างประเทศก่อน สารภาพตรงๆ ครับว่า เหตุผลคือเพราะสมัยนั้นคนเรียนสายนี้กันน้อย ผมมองว่าตัวเองเป็นคนเรียนไม่เก่ง เราเลือกเพราะคิดว่า ถ้าไปเรียนบัญชีแข่งกับคนที่เรียนเก่งๆ ผมคงสู้เขาไม่ไหว ก็เลยเลือกเรียนทางด้านนี้ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้หรอกว่าชอบหรือเปล่าเสียด้วยซ้ำ ถามว่าชอบไหม ก็ไม่ได้ชอบ แต่ถามว่าชอบอะไร ก็ไม่รู้เหมือนกัน นั่นคือตัวผมในวันนั้น เราก็ค่อยๆ เรียนไป เพื่อให้มันจบ ระหว่างที่เรียนไปก็เริ่มมองว่า แล้วเราจะไปต่อทางไหนดี แต่โชคดีที่การเรียนภาษาต่างประเทศอย่าง ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ ก็เป็นพื้นฐานที่ดีให้ตัวผมนำมาต่อยอดได้” 

 

นิรุตต์ โลหะรังสี

นิรุตต์ โลหะรังสี 

สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 4 สมัยซ้อน

และมัคคุเทศก์ชื่อดัง

 

เช่นเดียวกับวัยรุ่นหลายๆ คนที่ต้องลองผิดลองถูก กว่าจะรู้จักรู้ใจตนเองว่าชอบอะไร แล้วอยากจะมุ่งชีวิตไปทางไหน นิรุตต์ไม่ได้รีบร้อน หลังจากเรียน ปวช. อยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตวาสุกรี  (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ) เขาตัดสินใจเรียนต่อระดับ ปวส. ที่สถาบันเดิม โดยคราวนี้เลือกสาขาการท่องเที่ยวด้วยเห็นว่าเป็นสาขาที่น่าจะต่อยอดและสอดคล้องกับภาษาที่เรียนมาได้มากที่สุด 

 

การเรียนสาขาการท่องเที่ยวในอยุธยาสมัยก่อนไม่ได้บูมมากเหมือนอย่างทุกวันนี้ครับ คนอยุธยาสมัยก่อน ถ้าอยากเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน ก็จะเลือกเรียนอย่างอื่น ซึ่งรองรับกับนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ เช่น บัญชี ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วย่อมมีงานทำค่อนข้างแน่นอน แต่สายงานด้านการท่องเที่ยวกลับเป็นสายที่ไม่ได้รับความสนใจเลย

 

ตอนที่ผมตัดสินใจเลือกเรียน ปวส. ทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อจะมาเป็นมัคคุเทศก์ ผมจึงได้รับเสียงต่อต้านจากคนรอบตัวเยอะมาก คือสมัยนั้นมันคือสิ่งที่คนไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะทำงานหรือทำอาชีพอะไร แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะไปได้ไกลสักแค่ไหน คนรอบตัวผมคัดค้านหมดเลยว่า อย่าเรียนเลย เรียนไปแล้วก็ต้องไปเป็นขี้ข้าเขา งานบริการมันไม่มียศถาหรือตำแหน่งสูงๆ จนเราสามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปในจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ นี่คือการรับรู้และค่านิยมของผู้ใหญ่ในยุคนั้น แต่ผมก็บอกผู้ใหญ่ที่บ้านว่า ให้เชื่อผมเถอะว่าเรียนจบมาแล้วจะมีงานทำให้ดู

 

แม้จะไม่มั่นใจในตัวเองนัก แต่คำพูดที่เปล่งบอกผู้ใหญ่ที่บ้าน ซึ่งแนะแนวด้วยความห่วงใยตามค่านิยมในสมัยนั้น กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้นิรุตต์หันมามุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก และพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าเขาทำได้ ประสบความสำเร็จ มีอาชีพการงานที่มั่นคงได้ 

 

เมื่อได้ฟังคำสบประมาท คำที่คอยบอก คอยดูถูกมาตลอดตั้งแต่ยังเด็กว่า มันไม่ได้เรื่องหรอก มันไม่เวิร์กหรอก จนผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ผมไม่เชื่อ มันน่าจะมีอาชีพอะไรที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จได้ โดยไม่จำเป็นต้องวัดจากค่านิยมของคน มันอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า ดังนั้น เมื่อผมลั่นคำพูดนั้นออกไปแล้ว ก็เลยเป็นแรงผลักดันให้ตัวผมเองต้องทำให้ได้

 

นิรุตต์รู้ดีว่า การตัดสินใจเลือกในครั้งนั้น ย่อมจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางทั้งชีวิตของเขา ซึ่งไม่ว่าอย่างไร เขาก็ต้องลองทุ่มเทดูให้สุดตัว 

พอตัดสินใจได้ ก็ถามตัวเองว่า แล้วเราจะทำอะไรต่อไปเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ผมมองในเรื่องของคุณสมบัติว่าคนเป็นมัคคุเทศก์ต้องมีความสามารถอะไรบ้าง ก็ต้องพูดเก่ง มีความรู้ งานบริการต้องดี ซึ่งเชื่อไหมครับว่า สมัยตอนที่เริ่มเรียน ปวส. ปี 1 ผมไม่มีคุณสมบัติอะไรสักอย่างดังที่ว่ามา ไม่มีเลย ผมมองเห็นข้อเท็จจริงข้อหนึ่งว่า ถ้าเราเรียนจบไปโดยที่ยังคงเป็นตัวเองอย่างนี้อยู่ ต่อไปผมจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างยากลำบากแล้ว เพราะครอบครัวผมเองก็ไม่ได้มีฐานะอะไรมากมาย ก็เลยคิดว่า เราต้องพยายามปรับตัวเข้าหาสิ่งที่ตัวเองเลือกดู ดังนั้น ผมก็เลยตัดสินใจลองเต็มที่ดูกับสิ่งที่ผมเลือกเรียน ซึ่งผมไม่ได้รักมาตั้งแต่แรก

 

จากที่เคยเป็นคนที่พูดพรีเซนต์ไม่เก่ง ขาดความมั่นใจในตนเอง เมื่อตระหนักดีแล้วว่า ถ้าเป็นไกด์จะต้องไม่รุ่งแน่ นิรุตต์จึงได้พยายามฝึกฝนตัวเองในทุกโอกาสที่มี เริ่มตั้งแต่การฝึกพรีเซนต์หน้าชั้นเรียน ซึ่งเจ้าตัวอาสาในทุกโอกาส แม้ระยะแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ ตะกุกตะกักจนถึงขั้นที่เจ้าตัวบอกว่า เลวร้ายเพราะถูกทั้งเพื่อนหัวเราะเยาะ และอาจารย์ก็ตำหนิ แต่เมื่อตั้งใจจริง แล้วไม่ย่อท้อ เขาใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น ทั้งเรื่องของการฝึกพูดสื่อสารและปรับปรุงบุคลิกภาพ จนได้รับโอกาส เมื่อมีอาจารย์จากวิทยาเขตอื่นมาทัศนศึกษาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นักศึกษาสาขาการท่องเที่ยวจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ดูแล นิรุตต์ยอมรับว่า เขาไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ สำหรับงานนี้ แต่ด้วยความตั้งใจจริงและร้องขอโอกาสเพื่อจะพัฒนาตัวเอง จึงทำให้เขาได้รับโอกาสนี้มาในที่สุด 

 

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองจับไมค์เป็นมัคคุเทศก์จริงๆ จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 30-40 นาทีที่เครียดมาก ซึ่งผมทำใจยอมรับเลยว่า เราจะต้องล้มเหลวแน่ๆ เพราะเราไม่มีพื้นฐานอะไร มีแค่อย่างเดียวคือใจล้วนๆ แต่ผมรู้สึกว่า เราต้องก้าวข้ามผ่านความกลัวให้ได้ เพราะถ้าก้าวข้ามไม่ได้ ก็จะไม่ได้เริ่มต้นอะไรสักอย่าง จำได้ว่า ระหว่างที่ผมพูดบรรยายถึงวัดราชบูรณะ รู้สึกประหม่ามาก พูดด้วยน้ำเสียงโมโนโทน มันเลวร้ายมาก หลังจากที่ผมพูดจบและวางไมค์ ก็บอกกับคณะอาจารย์ว่า ต้องขออภัยทุกท่านด้วย เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม พอผมวางไมค์เสร็จ ทุกคนก็ปรบมือให้ อาจารย์บางคนถึงกับเดินมาตบหลังเพื่อให้กำลังใจผม” 

 

เมื่อได้รับรางวัลเป็นเสียงปรบมือจากความพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะเอาชนะความกลัว นิรุตต์ก็ได้รับโอกาสอีกหลายครั้งตามมา จนพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ แล้วความรักความชอบในอาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเริ่มขึ้นจริงๆ เมื่อตอนไหน THE STANDARD ส่งคำถาม 

ก็เหมือนกับการที่ผู้ชายเราชอบผู้หญิงสักคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงในสเปกเรา คือตัวผมเองในตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกครับว่าเรามีสเปกแบบไหน แต่พอได้อยู่ใกล้ชิดกัน เราได้เห็นบางสิ่งบางอย่าง แล้วเราก็ชอบจนอยากจะจีบเขา นั่นก็คือผมกับงานด้านการท่องเที่ยว ที่ผมรู้สึกว่าผมอยากจะเก่งทางด้านนี้ให้ได้มากกว่านี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมละทิ้งทุกอย่างเพื่อพัฒนาตัวเอง และเรียนรู้งานทางด้านนี้จนละทิ้งชีวิตวัยรุ่นไปเลย” 

 

ระหว่างที่เรียนในระดับ ปวส. นิรุตต์ทุ่มเทอย่างหนักในการพัฒนาตนเองในสาขาอาชีพนี้ ตั้งแต่หัดเขียนสคริปต์การพูด ฝึกพูดพรีเซนต์ในโทนเสียงที่น่าฟัง และเมื่อมีคณะทัวร์ของคณาจารย์จากต่างจังหวัดมาที่อยุธยา เขาก็อาสาเป็นไกด์นำเที่ยวแทบทุกครั้ง นอกจากนี้ยังสมัครไปฝึกงานที่บริษัททัวร์ท้องถิ่น โดยแม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนสักบาท แต่ชายหนุ่มก็ถือว่า เพื่อเป็นโอกาสอันดีให้ได้เรียนรู้ ซึ่งนั่นทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้อย่างมากมาย 

 

เมื่อเรียนจบ ปวส. ชายหนุ่มตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ​ เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ระหว่างเรียนนั้นเอง ทางรายการ แฟนพันธุ์แท้ ซึ่งเพิ่งออกอากาศเป็นปีแรก กำลังทำเทปเพื่อค้นหา สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระนครศรีอยุธยาและต้องการหาผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปร่วมรายการ ด้วยความที่ชายหนุ่มเป็นชาวพระนครศรีอยุธยาโดยพื้นเพ และมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอดีตเมืองหลวงแห่งนี้ค่อนข้างแน่น จึงได้รับการติดต่อให้ทดสอบเข้าร่วมรายการ และเขาทำได้สำเร็จ 

 

ผลก็คือ นิรุตต์ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาถึง 4 สมัยซ้อน ซึ่งชายหนุ่มเองก็ยอมรับว่า ชื่อเสียงที่ได้รับจากรายการนี้ก็มีส่วนช่วยเขาในอาชีพมัคคุเทศก์อยู่ไม่น้อย เพราะทำให้เขาเป็นที่รู้จัก ได้รับความไว้วางใจ และเป็นที่ต้องการในฐานะไกด์ ซึ่งงานที่เขาทำไม่ได้มีเพียงแค่นำทัวร์ในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงนำทัวร์ต่างประเทศด้วย 

 

นิรุตต์ โลหะรังสี

ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้บอกกับนักศึกษารุ่นน้อง 

ก็มักจะพูดว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องใช้ ใจและทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา  

เราถามเขาว่า คุณสมบัติซึ่งคนเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีและจะประสบความสำเร็จเช่นเขาควรจะมีนั้นได้แก่อะไรบ้าง คำตอบที่นิรุตต์ให้กับเราช่างน่าคิดไม่น้อย 

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม ทุกอาชีพล้วนมีองค์ประกอบของความสำเร็จอยู่นะครับ แต่ถ้าจะให้อธิบายออกมาเป็นข้อๆ ก็ดูจะเป็นหลักการไปหน่อย ผมอยากจะตอบอย่างนี้ครับ ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้บอกกับนักศึกษารุ่นน้อง ก็มักจะพูดว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องใช้ ‘ใจ’

 

คือสมมติว่า เราจะเป็นมัคคุเทศก์ ก็ต้องใช้ ใจคิดว่า เราทำงานร่วมกับใครบ้าง ทำงานให้กับบริษัทนี้ แล้วบริษัทต้องการอะไร แล้วถูกใจบริษัทมากน้อยแค่ไหน เราทำอย่างไรก็ได้ให้บริษัทไม่โดนตำหนิกลับมา ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้ามีความประทับใจ และไม่ด่าบริษัท หรือทำให้บริษัทได้รับคำชมก็ยิ่งดี ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้ากลับมาที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือใช้ ใจมองในแง่ที่เป็นเจ้าของบริษัท นอกจากนี้ยังต้องใช้ ใจมองในมุมของลูกค้าว่า ถ้าเราจ่ายเงินไปแล้ว ไม่ว่าจะหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสน เราต้องการอะไร เราคาดหวังอะไร ใช้ ใจทำความเข้าใจเขาก่อนว่า งานต้องการอะไร แล้วเราจะไม่ตั้งคำถามว่า แล้วเราอยากทำอะไร เมื่อนั้นเราจะทำงานตามโจทย์ ไม่ได้ทำงานตามใจตัวเอง เพราะเราไม่ใช่ศิลปินที่เราจะแผ่รัศมีออกมาด้วยความต้องการของเราเอง แต่เราจะทำในสิ่งที่สมควรทำ

 

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมเชื่อว่า การจะทำอะไรทุกอย่างนั้นเราสามารถ Learning by Doing ผมไม่เคยกลัวการทำผิดพลาด เพราะเราจะได้เรียนรู้ทุกครั้งที่ลงมือทำ ผมเชื่อว่า มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวของคำว่าประสบความสำเร็จ แต่เชื่อว่าความสำเร็จมันจะต้องเกิดจากการที่เราใช้ ใจเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

 

ทุกวันนี้นิรุตต์ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เขาเป็นมัคคุเทศก์ชื่อดังผู้เป็นที่ต้องการในวงการ ทั้งยังเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์ และบ่อยครั้งที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายแนะแนวสอนน้องๆ อาชีวะรุ่นหลัง เมื่อถามว่า เขาพอจะมีคำแนะนำให้กับเด็กรุ่นใหม่หรือคนที่กำลังเลือกเส้นทางเดินชีวิตของตัวเองบ้างไหม คำตอบที่ไกด์หนุ่มชื่อดังอดีตสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ 4 สมัย ฝีมือชนคนสร้างชาติผู้นี้ให้คำตอบกับเราก็คือ 

ผมมองว่า ยุคสมัยมันได้เปลี่ยนไปแล้วนะครับ อย่างในยุคของผมเนี่ย เรามักจะถูกผู้หลักผู้ใหญ่บอกกันว่า คุณต้องทำสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้ คุณจึงจะประสบความสำเร็จ ในสมัยนั้นมักมีค่านิยมและมองกันว่า การเรียนสายอาชีพไม่ได้ดีเท่าเรียนสายสามัญ แต่อย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ผมไปประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างบ่อย เชื่อไหมครับว่า คนฝรั่งเศสเรียนจบสายวิชาชีพกันเยอะมาก อาจจะเยอะพอๆ กับสายสามัญด้วยซ้ำ คือเมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยึดติดกับกรอบของค่านิยมที่บอกว่า เรียนอันนี้มันดี เรียนอันนี้โก้ เรียนไปแล้วเชิดหน้าชูตา คุณก็จะสามารถโฟกัสเบ่งบานเป็นดอกไม้ในแบบฉบับที่คุณเป็น ดังนั้น สำหรับคนที่เรียนอาชีวะ ไม่จำเป็นต้องยอมรับคำปรามาส ไม่มีใครดูถูกคุณ ยกเว้นคุณดูถูกตัวคุณเองว่า คุณสู้เขาหรือใครไม่ได้ ผมเชื่อว่า ทุกอาชีพมันอยู่ที่ตัวเรา เราจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา

 

นิรุตต์ โลหะรังสี

อย่าเพิ่งถอดใจง่ายๆ ขอให้คุณได้มุ่งมั่นกับมันก่อน 

และถ้าคุณค้นพบว่า คุณเริ่มชอบเริ่มรักมัน คุณก็ยิ่งต้องพยายามให้มากขึ้น

ฟังดูแล้วทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในภาพยนตร์โฆษณาชุด ชงด้วยเลิฟเสิร์ฟด้วยรัก ของมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนที่เรียนสายอาชีวะ ผู้มุ่งมั่นเช่นเดียวกับตัวเขา ต่างกันก็เพียงแต่คนละสายงานเท่านั้น 

 

 

 

ก็เหมือนกันนั่นแหละครับ ในการจะทำงานอะไร เราจะเลือกแต่เฉพาะส่วนดีๆ ของสิ่งที่เราชอบไม่ได้ และที่สำคัญก็ขึ้นอยู่กับการให้เวลากับสิ่งนั้นๆ ด้วย คือถ้าหากว่า คุณอยู่กับกาแฟมากๆ คุณจะรู้จักกาแฟดีกว่าใครในโลก และชงกาแฟได้อร่อย ถ้าคุณอยากรู้ว่า คุณสำเร็จหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนี้คุณใช้เวลากับมันขนาดไหน หรือถ้าหากว่า คุณทำไปแล้วรู้สึกไม่ชอบ รู้สึกท้อ คุณลองดูอีกสักทีได้ไหม ให้โอกาสทั้งเราและสิ่งเหล่านั้นไปพร้อมๆ กัน อย่างคุณอาจจะไม่ชอบงานไกด์ก็ได้ เพราะไม่ชอบบริการใคร ถ้าคุณลองทำ คุณอาจจะไม่ชอบครั้งที่ 1 แต่ไม่ได้หมายความว่า ครั้งที่ 2, 3, 4 คุณจะไม่ชอบ บางทีคุณอาจจะเริ่มมองเห็นแง่งามของมัน และเปลี่ยนใจชอบก็ได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งถอดใจง่ายๆ ขอให้คุณได้มุ่งมั่นกับมันก่อน และถ้าคุณค้นพบว่า คุณเริ่มชอบเริ่มรักมัน คุณก็ยิ่งต้องพยายามให้มากขึ้น

มูลนิธิเอสซีจี

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา คนโดยมุ่งเน้นที่เด็กและเยาวชนเป็นหลัก จึงได้จัดทำโครงการ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติเพื่อมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่จบ ม.3 และเลือกเรียนต่อในสายอาชีพ ได้แก่ ประเภทวิชาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และคหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนชอบและถนัด โดยทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน ทั้งนี้ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี จะได้รับการส่งเสริมทั้งด้านศักยภาพ ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคน เก่งและดีอีกด้วย      
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising