‘ซีรีส์วาย’ ของไทยไม่ได้ปังแค่ในไทยเท่านั้น แต่ Nikkei Asia ออกรายงานที่ระบุว่า กระแสกำลังดังไกลไปทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลไทยเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกระแส K-Pop ที่ทางเกาหลีใต้ผลักดันได้สำเร็จ
ตามรายงานระบุว่า แฮชแท็ก #ThaiNuma พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเกือบทุกครั้งที่ ไบร์ท วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน นักแสดงดังจากซีรีส์เรื่อง เพราะเราคู่กัน 2gether The Series พูดอะไรบางอย่างระหว่างงานมีตติ้งออนไลน์ตุลาคม 2021 ที่จัดขึ้นเพื่อแฟนชาวไทยและญี่ปุ่น แฮชแท็ก #BrightWinJAPAN กลายเป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในขณะนั้น
ไบร์ทและวินมีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคนบน Instagram พวกเขายังจัดพบปะและทักทายแฟนๆ ที่ได้เจอหน้ากันแบบไม่ใช่ออนไลน์ในกรุงปักกิ่ง โตเกียว โซล นิวยอร์ก และลอนดอนในปี 2020
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘รักแห่งสยาม’ สู่ ‘กระแสวายฟีเวอร์’ ย้อนสำรวจเส้นทางความรักของ LGBTQ+ บนโลกภาพยนตร์และละครไทย
- ซีรีส์วายและการส่งเสียงเพื่อ LGBTQ+ สรุป 7 ข้อสำคัญจากไลฟ์ของครูลูกกอล์ฟ
“ซีรีส์วายของไทยได้รับความนิยมเพราะใครๆ ก็สนุกไปกับเรื่องราวได้” วินบอกกับ Nikkei Asia โดยมีไบร์ทอยู่เคียงข้าง “ละครสามารถดึงดูดทุกคนได้โดยไม่คำนึงถึงอายุหรือเพศ เพราะเรื่องราวไม่ซับซ้อน”
หลังจากที่ ไอ มิซูทากะ โปรดิวเซอร์และทีมของ TV Asahi ใช้เวลาหลายเดือนในการเจรจากับ GMMTV ทั้งคู่ก็บรรลุข้อตกลงในปี 2020 ซึ่งช่วงนั้นเกิดโควิดกลายเป็นจิ๊กซอว์ที่เข้ามาประกอบกันพอดี โดยการระบาดทำให้ผู้คนติดทีวีที่บ้านมากขึ้น
โดยในขณะที่ความต้องการบริการสตรีมวิดีโอกำลังเฟื่องฟู เพื่อโปรโมตละคร TV Asahi ได้จัดนิทรรศการในเมืองสำคัญๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยดึงดูดผู้เข้าชมกว่า 30,000 คน นอกเหนือจากการรับชมทางทีวีหรือผ่านบริการสตรีมมิง
ในปี 2020 ของซีรีส์วายของไทยติดอันดับที่ 1, 2 และ 4 โดยมี 6 ใน 10 อันดับแรกของละครยอดนิยมของ Rakuten TV เป็นเรื่องราวซีรีส์วายรวมถึงผลงานจากจีนและเกาหลีใต้
“เมื่อมองย้อนกลับไป ปี 2020 เป็นปีแรกของการเติบโตของ BL” Kim Kyoungeun ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อละครเอเชียของ Rakuten Group กล่าว โดยจำนวนผู้ที่ซื้อซีรีส์วายบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าจากปีที่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือจากกลุ่มผู้ซื้อหลักคิดว่าจะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ในความเป็นจริงกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นวัยรุ่นหรืออายุน้อยกว่า หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นกลุ่มลูกค้านอกตลาด กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า
แม้กระแสนิยายชายรักชายจะก่อกำเนิดขึ้นในแดนซามูไร สาเหตุที่เนื้อหาไม่ได้รับความสนใจมากนักในญี่ปุ่น จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการขาดความตระหนักในเรื่องเพศในหมู่ผู้ผลิตละคร
ขณะที่ไทยนั้นซีรีส์วายเป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาวเป็นหลัก โดย Nikkei Asia มองว่า ไทยยอมรับชุมชน LGBTQ มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียส่วนใหญ่
โดยรายงานของรัฐบาลไทยระบุว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวเด่นที่มีศักยภาพส่งออกสูงและเป็นที่นิยมในภูมิภาค มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 10 ในปี 2020 คิดเป็นมูลค่ารวมมากว่า 3 หมื่นล้านบาท
เมื่อ 29-30 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วมจำนวน 10 ราย เกิดการนัดหมายเจรจาธุรกิจรวมกว่า 158 นัดหมาย ทำรายได้ทะลุเป้ากว่า 360 ล้านบาท
ในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีส์วายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
“ซีรีส์วายได้กลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทย เราต้องการทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” โอมและนนน นักแสดงจากซีรีส์ดัง Bad Buddy แค่เพื่อนครับเพื่อน กล่าว
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Media-Entertainment/Thailand-s-boys-love-dramas-stealing-hearts-around-the-world
- https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/43419
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP