ทุกคนอาจจะต้องการเพียงแค่ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายสุดท้ายกับคนที่เรารัก ได้ทานอาหารที่เราชอบ หรือได้ไปยังสถานที่ที่เราอยากไป ใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่าและมีความสุขที่สุด แต่มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในเมียนมาที่กำลังประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง เนื่องจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ สภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากรัฐบาลเผด็จการของเมียนมาปิดประเทศเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ
บ้านตะวันลับ ‘Twilight Villa’ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2010 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้นในสังคมเมียนมา ปัจจุบันมีผู้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ราว 120 คน ส่วนใหญ่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากพื้นที่ของบ้านมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงทำให้มีผู้สูงอายุต้องรอการเข้าพักอาศัยกว่า 100 คน
Tin Hlaing หญิงชราวัย 75 ปี ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งตัว แทบจะไม่สามารถพูดสื่อสารได้เลย เธอถูกลูกหลานทอดทิ้งและปล่อยให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพังอยู่ข้างถนน ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าและพามาส่งยังบ้านตะวันลับเเห่งนี้ในเมืองย่างกุ้ง
Khin Ma Ma รองหัวหน้าผู้ดูเเลบ้านแห่งนี้กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tin Hlaing ก็เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ในบ้านหลังนี้ ตอนที่เราพบเธอ เธอมีอาการงุนงงและไข้ขึ้นสูง หลังจากที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างถนนเป็นเวลานาน”
เรื่องราวของ Tin Hlaing คล้ายคลึงกับผู้สูงอายุจำนวนมากในเมียนมาที่กำลังประสบปัญหานี้ สังคมเมียนมากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสหประชาชาติประเมินว่า ประชากรกว่า 9% ของเมียนมามีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เเละจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 25% ภายในปี 2050
Khin Ma Ma ยังเล่าให้ฟังอีกว่า “เคยมีหญิงชราชาวเมียนมาคนหนึ่งถูกโยนออกมานอกรถ ใกล้กับกองขยะ เราพบเธอในสภาพที่มีบาดแผลเต็มตัวจากการโดนหนูกัดแทะ เราช่วยชีวิตเธอไว้ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา”
“ในบางครั้งเราพบเพียงกระดาษโน้ตเล็กๆ ในกระเป๋าสตางค์ที่จดเพียงเเค่ชื่อและอายุของพวกเขาเอาไว้ นั่นคือทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขา พอเราถามเขาก็ไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้เลย
“ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ควรจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและควรมีการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด”
ทำได้เเค่เพียง ‘รอคอย’
หลังจากที่สังคมเมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการยาวนานกว่า 50 ปี แม้ว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยจะลดลง แต่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานบริการด้านสาธารณสุข สวัสดิการของผู้สูงอายุภายในประเทศ การปิดประเทศเป็นเวลานาน ทำให้เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
Janet Jackson เจ้าหน้าที่ประจำเมียนมาขององค์กร UNFPA (United Nations Population Fund) กล่าวว่า “สภาวะทางเศรษฐกิจของเมียนมาบังคับให้คนภายในประเทศจะต้องทำงานอย่างหนักต่อไป แม้พวกเขาจะอายุมากแล้วก็ตาม”
การก้าวเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา สร้างความหวังให้แก่ชาวเมียนมาไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลพลเรือนนี้ยังให้ความสำคัญกับสวัสดิการของผู้สูงอายุน้อยมาก มีการจัดตั้งโครงการช่วยเหลือเพียงโครงการเดียวเท่านั้น ที่ให้เบี้ยเลี้ยงแก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนเงิน 10,000 จ๊าดต่อเดือน (ราว 230 บาท) เท่านั้น
โดยทั่วไปผู้สูงอายุควรจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากครอบครัว แต่เพราะความยากจน ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ 2 หลัก รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง ยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างรายได้และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเมียนมามากขึ้น ทำให้คนจำนวนมากละทิ้งเครือญาติของตนเอง เนื่องจากมองเห็นว่า คนเหล่านี้เป็นภาระสำหรับพวกเขา
บ้านตะวันลับหลังนี้จึงเป็นทุกอย่างของผู้สูงอายุที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยหรือสถานพยาบาลยามป่วยไข้ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่พึ่งสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่ความตายจะมาเยือนพวกเขา
Hla Hla Shwe หญิงสูงอายุวัย 85 ปี ผู้ใช้ชีวิตในบ้านพักคนชราอีกแห่งหนึ่ง ที่มีผู้ดูแลเป็นพระในเมืองย่างกุ้งกล่าวว่า “พวกเราไม่มีที่ไหนจะให้ไปแล้ว เราจึงมาอยู่ที่นี่เพื่อรอให้ความตายมาเยือน”
“ที่แห่งนี้ทำให้พวกเรารู้สึกเหงาน้อยลง ขอบคุณเงินบริจาคและทุกความช่วยเหลือจากทุกคน ที่ทำให้บ้านหลังนี้ยังคงเปิดอยู่ต่อไปได้”
“ที่แห่งนี้ทำให้ฉันนึกถึงคืนวันเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น… ฉันคิดถึงครอบครัวของฉัน”
ถ้าในวันนี้เรายังมีโอกาสที่จะสามารถใช้เวลาอยู่กับคนเรารัก โดยเฉพาะ ‘ครอบครัว’ ของเราได้ โปรดอย่าลังเลใจที่จะเลือกใช้โอกาสนั้นเลย
Photo: Ye Aung THU/AFP
อ้างอิง:
- www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/for-old-folks-left-to-die-at-myanmar-s-roadsides-and-cemeteries–8713820
- www.newindianexpress.com/world/2017/aug/01/twilight-villa-a-home-for-myanmars-rapidly-aging-population-1636630.html
- www.yahoo.com/news/twilight-villa-home-myanmars-abandoned-elderly-033222691.html