×

‘ป้องปราม-การทูตเชิงบังคับ’ บทบาทกองทัพจีนยุคใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีรุ่นที่ 5

19.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปี 2015 จีนได้ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพใหม่ทั้งหมด ศูนย์กลางในการบริหารงานอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลางแต่เพียงหน่วยงานเดียว โดยมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด
  • บริบทในสังคมระหว่างประเทศช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นและเเรงผลักดันจากภายในประเทศ ทำให้มหาอำนาจอย่างจีนหันมาพัฒนากองทัพอย่างจริงจัง และเพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง
  • พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะใช้กองทัพในกิจการระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการ ‘ป้องปราม’ (deterrence) และ ‘การทูตเชิงบังคับ’ (Coercive diplomacy) ด้วยการสาธิตอำนาจมากกว่าปฏิบัติการด้วยกำลัง

     ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร และกำลังทวีความสำคัญในบริบทระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

     THE STANDARD พาคุณมาทำความเข้าใจทิศทางการเมืองโลก ผ่านงานเขียนชิ้นใหม่เกี่ยวกับแสนยานุภาพทางทหารและบทบาทของกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ ของ ศาสตราจารย์ ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ศ.ดร. จุลชีพ เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงโครงสร้างด้านความมั่นคงของจีนที่ถูกใช้นับตั้งแต่จีนมีการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในปี 1949 จนกระทั่งปี 2015 ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพครั้งใหญ่ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง

     ก่อนการปฏิรูป หน่วยงานด้านความมั่นคงของจีนจะประกอบไปด้วย กระทรวงความมั่นคงสาธารณะและกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ กองกำลังตำรวจติดอาวุธ กองกำลังชาวบ้านและกองกำลังปลดแอกประชาชน (People’s Liberation Army) หรือ PLA ที่กำกับดูแลกองกำลังเหล่าต่างๆ ของประเทศ โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงเหล่านี้ จะอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลางจากพรรคคอมมิวนิสต์ คณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง

     เดือนธันวาคม ปี 2015 จีนได้ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพใหม่ทั้งหมด ศูนย์กลางในการบริหารงานอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการกลาโหมส่วนกลาง แต่เพียงหน่วยงานเดียว โดยมีประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด การปฏิรูปในครั้งนี้จะทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมกองทัพจีนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ตัวเลขงบประมาณทางด้านกองทัพของจีน เพิ่มขึ้นราว 30 เท่า จาก 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็น 1.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 คิดเป็นสัดส่วน 1.3 ต่อจีดีพี

Photo: AHN YOUNG-JOON/AFP

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนหันมาพัฒนากองทัพอย่างจริงจัง

     การรบกับเวียดนามเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เติ้งเสี่ยวผิงและพรรคคอมมิวนิสต์ทราบดีว่ากองทัพจีนขณะนั้นอ่อนแอ แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจจีนที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ทำให้ผู้นำจีนตัดสินใจเลือกที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก และให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพและการป้องกันประเทศเป็นอันดับสุดท้าย ตามนโยบายสี่ทันสมัย

     คำถามสำคัญคือ อะไรที่ทำให้มหาอำนาจอย่างจีนหันมาพัฒนากองทัพอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1990 ทั้งที่บริบทสงครามเย็นจบลงไปแล้ว?

 

 

     ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญจากภายนอกประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้นำจีน ในการปรับยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัย ด้วยการเพิ่มงบประมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

     การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองในยุโรปตะวันออก ในปี 1989 หลังคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ล่มสลายลง ประกอบกับความพ่ายแพ้ของผู้นำโลกฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตในช่วงยุคสงครามเย็น จนเป็นเหตุให้แตกสลายลง ประเทศสภาพโซเวียตที่จีนใช้ถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกาหายไป สร้างความกังวลใจให้แก่จีนเป็นอย่างมาก และเกรงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อเสถียรภาพของจีนในด้านต่างๆ ทำให้จีนจะต้องเร่งพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ

     การสิ้นสุดลงของสงครามเย็นทำให้การต่อสู้ของมหาอำนาจต่างอุดมการณ์จบลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจโลกจากระบบโลกแบบสองขั้ว (Bipolar System) มาเป็นระบบโลกแบบขั้วเดียว (Unipolar System) ภายใต้การนำของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่พุ่งทะยานขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ระบอบการปกครองเเบบคอมมิวนิสต์ของจีนอ่อนแอลงอย่างมากในช่วงเวลานี้ อีกทั้งจีนยังเห็นว่า ระบบโลกควรจะเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลกันของมหาอำนาจต่างๆ ภายใต้ระบบโลกหลายขั้ว (Multipolar System) มากกว่า

     ความเข้มเเข็งของสหรัฐอเมริกาในด้านต่างๆ ในฐานะผู้นำโลกและการปฏิวัติในกิจการทหาร (Revolution in Military Affairs) ของประเทศนี้ ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาพัฒนากองทัพให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการรบมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้จีนจะต้องเร่งพัฒนากองทัพของตนให้เเข็งแกร่งทัดเทียมมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ให้ได้โดยเร็ว

     นอกจากนี้สาเหตุสำคัญที่มาจากภายในประเทศเองก็มีผลต่อการตัดสินของผู้นำจีนไม่น้อย ความล้าหลังและล้าสมัยของขีดความสามารถทางด้านการทหารของจีนและการดำเนินนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศภายใต้นโยบายสี่ทันสมัยประสบความสำเร็จ ชาวจีนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงหันมาพัฒนาระบบด้านความมั่นคงของประเทศมากยิ่งขึ้น

     อีกทั้งผลประโยชน์แห่งชาติจีนที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับความต้องการสร้างการยอมรับและเสียงสนับสนุนจากกองทัพตั้งแต่ประธานาธิบดีรุ่นที่ 3 อย่าง เจียงเจ๋อหมิน ทำให้จีนเริ่มทุ่มงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถกองทัพและเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

 

Photo: FRED DUFOUR/AFP

 

จีนปฏิรูปกองทัพเต็มรูปแบบ

     กองทัพจีน ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ไม่เพียงแต่พัฒนากองทัพในแง่ของยุทธวิธีการรบ ปฏิรูปสถาบันและบุคลากรให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ยังพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพในด้านการพัฒนาอาวุธภายในประเทศและจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซีย และให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศของประเทศอีกด้วย

     เมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจากการพัฒนาวิทยาการภายในประเทศของตนเอง และมีแพลนจะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้พลังนิวเคลียร์ในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 จีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 4 ลำ และกำลังพัฒนาเครื่องบินล่องหนที่ตรวจจับได้ยากอีกด้วย จะเห็นได้ว่า จีนกำลังพัฒนาขีดความสามารถด้านการทหารของตนอย่างก้าวกระโดดภายใต้การนำของสีจิ้นผิง

     ตัวเลขงบประมาณทางด้านกองทัพของจีน เพิ่มขึ้นราว 30 เท่า จาก 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็น 1.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 คิดเป็นสัดส่วน 1.3 ต่อจีดีพี

     โดย ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและระบบบัญชีของจีนแตกต่างจากตะวันตก ทำให้การประเมินตัวเลขงบประมาณทางทหารต่างกัน ตะวันตกอาจประเมินตัวเลขงบประมาณทางทหารของจีนไว้สูง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นภัยคุกคาม (Threat) ของจีน และจีนเองอาจประกาศงบประมาณทางทหาร ไม่ให้สูงเกินไปและต่ำกว่าจริง เพื่อลดความหวาดระแวงและความกังวลของประเทศต่างๆ ทั้งเพื่อนบ้านและมหาอำนาจอื่นๆ

ตะวันตกอาจประเมินตัวเลขงบประมาณทางทหารของจีนไว้สูง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นภัยคุกคาม (Threat) ของจีน และจีนเองอาจประกาศงบประมาณทางทหาร ไม่ให้สูงเกินไปและต่ำกว่าจริง เพื่อลดความหวาดระแวงและความกังวลของประเทศต่างๆ ทั้งเพื่อนบ้านและมหาอำนาจอื่นๆ

Photo: AAMIR QURESHI/AFP

 

บทบาทกองทัพจีนในกิจการระหว่างประเทศ

     จีนในฐานะมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียที่กำลังเร่งฟื้นฟู พัฒนาประเทศในด้านการทหารอย่างจริงจัง และมีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบัน จีนส่งผู้ช่วยทูตทหารที่เป็นผู้ช่วยเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบร้อยประเทศ และมีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างชาติพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีการซ้อมรบร่วมกัน และร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในนามองค์การสหประชาชาติและต่อต้านโจรสลัดแถบโซมาเลีย

     ปฏิบัติการทางทหารของจีนในกิจการระหว่างประเทศกำลังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะในพื้นที่พิพาทที่ผูกโยงอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติของจีน เเสนยานุภาพที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ประเทศที่ขัดแย้งกับจีนอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และบางประเทศในอาเซียน หวาดระเเวงจีนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

     ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปกองทัพจีนทำให้ ‘คณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง’ เป็นศูนย์กลางอำนาจและองค์กรนำบังคับบัญชาทุกเหล่าทัพ ภายใต้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคซึ่งเป็น ‘ผู้บัญชาการทหารสูงสุด’ ของกองทัพจีน และเป็นแกน (core) ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน

     พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะใช้กองทัพในกิจการระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการ ‘ป้องปราม’ (deterrence) และ ‘การทูตเชิงบังคับ’ (Coercive diplomacy) ด้วยการสาธิตอำนาจมากกว่าปฏิบัติการด้วยกำลัง และจีนต้องการขยายขีดความสามารถทางทะเล เพื่อเป็นมหาอำนาจทางทะเล (Maritime Power) ทัดเทียมมหาอำนาจอื่นในอนาคต

     การปฏิรูปกองทัพและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีน อาจจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเชื่อมต่อโลกของประเทศภายในภูมิภาคนี้ อย่างเช่น ไทย ไม่มากก็น้อย

FYI
  • นโยบายสี่ทันสมัย เป็นนโยบายปฏิรูปประเทศของจีนในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง โดยเปิดประเทศรับวิทยาการจากภายนอก เพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก โดยเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านการป้องกันประเทศ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising