×

ผู้ค้าออนไลน์เตรียมตัว! สรรพากรเตรียมเก็บภาษีออนไลน์ 15% ใครโดนบ้างไม่ชัดแต่เปิดฟังความเห็น

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กรมสรรพากรเตรียมเปิดรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่เล็งเก็บภาษีออนไลน์สูงสุด 15% สำหรับผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้มากว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ประกอบการประเภทใดจะเข้าข่ายต้องจ่ายภาษีออนไลน์บ้าง เนื่องจากต้องรอให้ร่างกฎหมายผ่านมติ ครม. ก่อน และสรรพากรเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ภายใน 11 กรกฎาคมนี้

     ดูเหมือนจะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับแนวคิดในการจัดเก็บภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร ที่ล่าสุดเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ…. ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้

     สำหรับร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรดังกล่าว เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรกำหนดให้ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร ทำให้สินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาทจากต่างประเทศผ่านไปรษณีย์เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากร โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เช่น

     กำหนดให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ค้าขายได้รับเงินได้หรือผลกำไรในไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในไทย

     กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมิได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินได้อันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา 15% และนำส่งกรมสรรพากร

     กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งขายสินค้าโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แก่ผู้ซื้อที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

     กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการนั้น

     กำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

     ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com เคยให้ความเห็นเรื่องการจัดเก็บภาษีออนไลน์กับ The Standard ว่า เนื่องจากในระยะหลังๆ การค้าออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการและแบรนด์สินค้าจำนวนไม่น้อยทำเงินจากการขายของออนไลน์เป็นหลัก 100-200 ล้านบาท นอกจากนี้เม็ดเงินโฆษณาผ่านบริษัทต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ก็มีจำนวนมหาศาล ยังไม่นับรวมยอดดาวน์โหลดแอปฯ หรือการซื้อเพลง และเกม ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้รั่วไหลไปสู่บริษัทต่างประเทศผ่านบัตรเครดิต และไม่เคยมีการเก็บภาษีกับบริษัทพวกนี้มาก่อน เพราะถือเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

     “ผมก็มองว่ามันแฟร์กับประเทศของเรา ไม่ใช่ว่าจะมาหวังดูดอย่างเดียว แล้วตอนนี้ภาคธุรกิจในไทยเองก็กำลังเทไปทางออนไลน์กันหมด ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ก็อยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ไม่กี่บริษัทคือกูเกิลและเฟซบุ๊ก และเขาเองก็มีความพยายามพัฒนาบริการออกมากินเวลาของคนให้มากที่สุดเช่นกัน เฟซบุ๊กเองซื้อทั้งอินสตาแกรมและ WhatsApp ส่วนกูเกิลก็มีทั้งยูทูบและจีเมล กลายเป็นว่าทีวีและทุกอย่างกำลังจะตาย แต่เงินกำลังไหลออกนอกประเทศไปเรื่อยๆ

     “เช่นเดียวกันกับอีคอมเมิร์ซบางรายที่โตขึ้นมหาศาล รัฐจึงมีความคิดออกมาตรการจัดเก็บภาษี ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่เข้าท่าคือ การจัดการกับภาคธุรกิจรายใหญ่ที่มียอดขายและรายได้มากมายให้เข้ามาอยู่ในระบบ และส่วนที่ไม่เข้าท่าคือ การลงมาจัดการกับภาค SMEs ขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่สิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับคือนโยบายเชิงส่งเสริมมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ บางคนที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ก็รู้สึกเกรงกลัวสรรพากร กลายเป็นว่าแทนที่จะเกิดนโยบายในเชิงบวกก็กลับกลายเป็นนโยบายที่ฉุดคนให้รู้สึกเกรงกลัวมากกว่า

     “ผมว่าเราอยู่ในโครงสร้างที่บิดเบือนกันมานาน ในความเป็นจริง นโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์ควรจะมีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เราคุ้นเคยกับการไม่เสียภาษีมาโดยตลอด ถ้ามองเรื่องความถูกต้อง นโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็อยากให้ปรับมุมมองกันใหม่ ไม่ใช่ไปสนับสนุนการซื้อของหนีภาษี ซึ่งเป็นการสนับสนุนคนทำผิดกฎหมายอยู่ เช่นเดียวกัน ภาครัฐเองก็ควรมีการอะลุ่มอล่วยกับ SMEs ขนาดเล็ก หรือดำเนินนโยบายในเชิงบวกออกมาเพื่อเป็นการส่งเสริมเขา”

     ส่วนความชัดเจนในเรื่องนี้ THE STANDARD พยายามติดต่อไปที่ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อสอบถามว่าตัวอย่างของผู้ประกอบการประเภทไหนบ้างที่จะต้องเสียภาษีนี้ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ เนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ฯ ยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ และขอให้รอความชัดเจนหลังนำเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้ง

     ทั้งนี้นายประสงค์ เคยให้สัมภาษณ์กับคมชัดลึกว่า “เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ถ้ามีธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซื้อหรือขายสินค้าหรือให้บริการโดยเงินโอนในไทย แม้เขาไม่อยู่ในไทย ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียภาษี อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ต่างๆ”

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X