×

หุ่นยนต์คือเพื่อนหรือภัยคุกคาม? คุยกับเซบาสเตียน กาญง มันสมองเบื้องหลังหุ่นยนต์ Pepper

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แม้ว่า Pepper หุ่นยนต์ต้อนรับของ SoftBank จะประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพการทำงานมากเท่าที่ควร เนื่องจากต้องใช้เวลาเรียนรู้ผ่านการพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งาน และมีข้อจำกัดในการตอบคำถาม ทำให้หลายคนมองว่าหุ่นยนต์ประเภท social robot ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่สามารถพูดคุยเป็นเพื่อนกับผู้คนในชีวิตประจำวันและทำงานบริการแทนคนได้เต็มรูปแบบ
  • SoftBank พยายามหาทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาความสามารถของ Pepper ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์ออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถออกแบบการใช้งานของ Pepper ได้ด้วยตัวเอง โดยมีบริษัท Hoomano เป็นผู้พัฒนา
  • เซบาสเตียน กาญง หัวหน้าบริษัท Hoomano ประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ของ Pepper ให้กับ SoftBank อธิบายว่า คนญี่ปุ่นมองว่าหุ่นยนต์จะช่วยกู้วิกฤติการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ชาวตะวันตกมองว่าหุ่นยนต์เป็นภัย เพราะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด และกลัวถูกแย่งงาน เพราะมีอัตราว่างงานในประเทศสูง

     ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน SoftBank Group บริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นได้เปิดตัว Pepper หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่พูดคุยโต้ตอบเหมือนมนุษย์ออกสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลกเป็นครั้งแรก โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพ Aldebaran Robotics จากฝรั่งเศสเป็นผู้พัฒนา (ปัจจุบันคือบริษัท SoftBank Robotics ภายใต้ SoftBank Group) หุ่นยนต์ Pepper เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับแคมเปญโฆษณาว่าหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้ พูดได้หลายร้อยภาษา ที่สำคัญหุ่นยนต์ตัวนี้จะเข้ามาพลิกโฉมอนาคตของการทำงานและการใช้ชีวิตในไม่ช้า

     ทันทีที่ SoftBank เริ่มจำหน่าย Pepper ช่วงกลางปี 2015 ก็สร้างแรงกระเพื่อมไปยังวงกว้าง บริษัทสามารถเจาะตลาดแรงงานญี่ปุ่นในหลายสาขาธุรกิจ และกลายเป็นความหวังของสังคมญี่ปุ่นที่ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

     Pepper ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับและบริการลูกค้าตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า และธนาคาร ท่ามกลางเสียงตอบรับที่ครึกครื้นจากคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ บริษัท Alibaba และ Foxconn ได้ประกาศร่วมลงทุนกับ SoftBank เพื่อดันยอดจำหน่ายหุ่นยนต์ 1,000 ตัวต่อเดือน และเตรียมขยายสู่ตลาดต่างประเทศ

     จนกระทั่งปี 2016 ทางบริษัทส่งออก Pepper ไปประเดิมตลาดนอกประเทศที่ไต้หวันเป็นแห่งแรก โดยให้ภาคธุรกิจเช่าซื้อบริการเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์แก่ผู้บริโภคทั่วไปแต่อย่างใด

     ขณะเดียวกัน กระแสหุ่นยนต์และ AI เริ่มมาแรงในจีน สื่อมวลชนและนักวิชาการต่างจับตามองว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของ social robot ที่หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในสังคม ไม่ใช่แค่ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่จนแล้วจนรอด SoftBank ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเจ้าหุ่นยนต์หน้าตาน่ารักตัวนี้ยังไม่สามารถพูดคุยสนทนาได้เหมือนกับคนจริงๆ และต้องพึ่งแท็บเล็ตที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการบนตัวของ Pepper กลายเป็นว่าร้านค้าและบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นไม่รู้จะทำอะไรกับมันและตั้งทิ้งไว้เฉยๆ เว็บไซต์ TechCruch รายงานว่า (1 พฤษภาคม 2560) SoftBank พยายามพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ควบคุมและออกแบบการใช้งานของ Pepper ตามความต้องการของผู้ใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

     SoftBank สร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติอีกครั้ง (20 พฤษภาคม 2560) ด้วยการประกาศนำเงินระดมทุนรอบแรกจากกองทุน Vision Fund ซึ่งร่วมกับบริษัทเทคฯ ชั้นนำ อาทิ Apple, Foxconn, Qualcomm ฯลฯ ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเทคโนโลยีทั่วโลก เช่น Internet of Things, โทรคมนาคม, เทคโนโลยีชีวภาพ, ฟินเทค, โมบายล์แอปพลิเคชัน, หุ่นยนต์ และ AI

     ในอนาคต การมีหุ่นยนต์อยู่เป็นเพื่อนในบ้านหรือทำงานแทนเราจะเป็นแค่ความฝันหรือภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวัง The Standard ได้พูดคุยกับ เซบาสเตียน กาญง (Sebastien Cagnon) วิศวกรด้านซอฟต์แวร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาซอฟต์แวร์อันแรกของ Pepper ตั้งแต่ยังเป็นโปรเจกต์ลับของบริษัท Aldebaran Robotics ปัจจุบันทำงานเป็นหัวหน้าบริษัท Hotelo ประจำประเทศญี่ปุ่น (สำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งกำลังออกแบบซอฟต์แวร์ Interactive Intelligence ให้กับ Pepper

 

 

คุณเริ่มสนใจหุ่นยนต์ตั้งแต่เมื่อไร

     ผมเป็นวิศวกรที่ชอบทำงานกับหุ่นยนต์ ปกติแล้ววิศวกรคนอื่นๆ จะชอบประดิษฐ์อุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ หรือวิดีโอเกม แต่ผมคิดว่าหุ่นยนต์เจ๋งกว่ากันเยอะ (หัวเราะ) มันสนุกมาก โดยเฉพาะเวลาที่ได้ออกแบบโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเกี่ยวกับหุ่นยนต์ มันยากและท้าทายเอามากๆ แต่การออกแบบโมบายล์แอปพลิเคชันซับซ้อนกว่านั้น ดังนั้นเวลาที่หุ่นยนต์เคลื่อนไหวไปตามโปรแกรมที่คุณออกแบบแล้วเห็นผู้คนมองกันอย่างตื่นเต้นและหลงรักมัน นั่นคือรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับคนบ้าหุ่นยนต์อย่างผม

 

บริษัท Hoomano มีส่วนร่วมในการพัฒนาหุ่นยนต์ Pepper อย่างไรบ้าง

     Hoomano พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับ Pepper ของ SoftBank ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประเภท social robot ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนในชีวิตประจำวัน แต่หลายบริษัทที่ซื้อหุ่นยนต์ไปใช้ในภาคธุรกิจยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านวิศวกรรม ไม่รู้ว่าควรจะใช้งานอย่างไร ตอนนี้ผมกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าบริษัทสามารถ customize รูปแบบการใช้งานของ Pepper และ social robot ตัวอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน เป้าหมายสูงสุดของเราคือการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริงและสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า

 

ความท้าทายของการออกแบบหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่โต้ตอบกับมนุษย์ได้คืออะไร

     Pepper เป็นหุ่นยนต์ที่พูดคุยโต้ตอบกับคนและรับคำสั่งผ่านเสียง แต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่สามารถตอบคำถามคุณได้ทุกข้อ คุณต้องฝึกฝนให้มันเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์ กำหนดขอบเขตของบทสนทนาก่อน เราจึงติดตั้งแท็บเล็ตบนตัว Pepper เพื่อช่วยให้คนเข้าใจว่ามันสามารถพูดอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นมันจะสับสนกับคำถามและล้มเหลว เพราะหุ่นยนต์ประเภทนี้มีข้อจำกัดในการสนทนา การนำการออกแบบเข้ามาใช้จะยิ่งช่วยให้คนพูดคุยกับหุ่นยนต์ได้อย่างราบรื่น หุ่นยนต์ทุกตัวจะต้องผ่านการทดสอบกับผู้ใช้งานมากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนออกจำหน่าย ขณะเดียวกันผู้ใช้งานเองก็ต้องเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดของหุ่นยนต์เช่นกัน

 

คนส่วนใหญ่เริ่มกังวลว่าหุ่นยนต์จะเป็นภัยคุกคาม คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

     ผมไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เรามาไกลกว่าเดิมมากแล้ว ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนเลิกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าหุ่นยนต์ทำอะไรได้บ้าง และพัฒนาโปรเจกต์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมือนกับที่ว่าเราพัฒนาให้ Pepper ตอบคำถามง่ายๆ เช่น โทรทัศน์อยู่ตรงไหน หรือมีสินค้านี้ในสต็อกหรือเปล่า คุณแค่ต้องโฟกัสกับการพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์เท่านั้น

 

หรือจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะคนญี่ปุ่นชื่นชอบและคุ้นเคยกับหุ่นยนต์กันมาก

     ผมมองว่าเป็นเรื่องของความแตกต่างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพราะอัตราว่างงานในญี่ปุ่นถือว่าต่ำมาก ญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านอาหารหรืออาชีพเก่าแก่ คนญี่ปุ่นถึงต้องการหุ่นยนต์เข้ามาทำงาน ในทางกลับกัน อัตราว่างงานกลับสูงมากในประเทศแถบตะวันตก ไม่แปลกที่พวกเขาจะกลัวตกงาน อีกอย่างชาวตะวันตกคุ้นเคยกับหนังฮอลลีวูดที่นำเสนอภาพของหุ่นยนต์ที่เป็นตัวร้าย เช่น หุ่นสังหารใน Terminator หรือ A.I. ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ แม้แต่บิล เกตส์ ซีอีโอ Microsoft ก็เคยพูดแบบนั้นใช่ไหมครับ ขณะที่ญี่ปุ่นเขามีการ์ตูนอย่าง Doraemon และ Astro Boy ซึ่งหุ่นยนต์พวกนี้คอยช่วยเหลือคนและเป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์

 

คุณคิดอย่างไรกับไอเดียของบิล เกตส์ ที่เสนอให้เรียกเก็บภาษีจากหุ่นยนต์ที่ทำงานแทนมนุษย์ แล้วหุ่นยนต์ต้องได้รับค่าจ้างเหมือนกับมนุษย์หรือเปล่า

     การจ่ายค่าจ้างให้กับหุ่นยนต์เหมือนกับการเช่าซื้อหุ่นยนต์มากกว่า เท่ากับว่าคุณจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ ไม่ใช่ตัวหุ่นยนต์จริงๆ เพราะมันไม่จำเป็นต้องใช้เงิน

 

แล้วเป้าหมายต่อไปของการพัฒนา Pepper คืออะไร

     โจทย์ที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับเราในตอนนี้คงเป็นการอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจได้อย่างไร เนื่องจากมันมีราคาแพง หุ่นยนต์ Nao ราคา 8 พันยูโร (ประมาณ 3 แสนกว่าบาท) หุ่น Pepper ราคา 20,000 ยูโร (ประมาณ 7.7 แสนบาท)* คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง บ่อยครั้งที่บริษัทผลิตหุ่นยนต์ถูกฟ้องร้องด้วยกรณีที่ว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถใช้งานได้จริง และคนอื่นก็จะไม่ซื้อ ดังนั้นในฐานะนักพัฒนา เราต้องระมัดระวังกันมากขึ้นและมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาได้จริง ทุกโปรเจกต์ที่ทำจะต้องประสบความสำเร็จ ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นธุรกิจนิช (niche) ในตลาดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก

 

*หมายเหตุ: เป็นราคาซื้อขาย ไม่ใช่ราคาเช่าซื้อ คาดว่ารวมค่าบริการพื้นฐานและค่าประกันรายเดือน (ระยะเวลา 3 ปี) แล้ว

 

อ้างอิง:

     – www.ald.softbankrobotics.com

     – www.goo.gl/N4863r

     – www.goo.gl/KFXQUW

     – www. hoomano.com

     – www.softbank.jp/en/corp/group/sbr/

     – www.goo.gl/boeGS2

     – www.goo.gl/goEMx1

 

FYI
  • Hoomano เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศสที่มุ่งเน้นการให้บริการด้าน Robotic Solution ก่อตั้งโดย ซาเวียร์ บาสแซต์ (Xavier Basset) ปัจจุบันบริษัทได้ออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ Nao และ Pepper ของ SoftBank ให้มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับมนุษย์ได้
  • Nao เป็นหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ตัวแรกของบริษัท Aldebaran Robotics (ปัจจุบันคือ SoftBank Robotics) ผลิตขึ้นในปี 2006 มีจุดเด่นคือหน้าตาเป็นมิตร สูง 58 เซนติเมตร ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นหุ่นผู้ช่วยและเพื่อนของมนุษย์โดยเฉพาะ ในปี 2016 มีการทดลองใช้หุ่นยนต์ Nao ในการสำรวจพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการด้านปฏิสัมพันธ์ของเด็กออทิสติกในโรงเรียนเด็กออทิสติก กรุงปารีส ปัจจุบัน Nao ถูกพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 5
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising