×

“จงหาจุดที่คุณจะเป็น monopoly ในตลาด” ยอด ชินสุภัคกุล แห่ง wongnai กับการอยู่รอดในโลกออนไลน์

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • 4 ปีที่ผ่านมา wongnai.com มีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 2 เท่า
  • ยอด ชินสุภัคกุล ผู้ก่อตั้ง wongnai.com บอกว่า ถ้าอยากอยู่รอดโดยไม่ต้องแข่งจนเหนื่อยจำเป็นต้องทำ 2 สิ่งคือ หาความแตกต่างหรือจุดเด่นของตัวเองให้เจอ และจงเป็นเบอร์หนึ่งหรือ monopoly ในบางตลาด
  • 90 เปอร์เซ็นต์ คือสัดส่วนรายได้ที่ได้จากค่าโฆษณาของ wongnai.com ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูงที่สุดในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีแผนเพิ่มรายได้ในช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะ food delivery และ mobile payment ด้วยการจับมือกับ LINE MAN และ Alipay
  • ข้อได้เปรียบของสื่อดิจิทัลคือสามารถวัดผลและผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ได้ ใช้ต้นทุนไม่เยอะ การทดลองและปรับตัวอยู่เสมอของธุรกิจและคนทำงานเป็นเรื่องสำคัญ

     ถ้าคิดว่า wongnai.com เป็นแค่แพลตฟอร์มสำหรับหาร้านอาหารอร่อยๆ บอกได้เลยว่าคุณกำลังเข้าใจผิด

     ยอด ชินสุภัคกุล ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง wongnai.com คิดไว้ใหญ่กว่านั้นมาก

     ในงานแถลงข่าวทิศทางของ Wongnai (วงใน) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา วงในประกาศจับมือกับ LINE MAN และ Alipay เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านบริการส่งอาหาร การจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (เน้นกลุ่มคนจีนที่มาเที่ยวประเทศไทย) และมีเป้าหมายที่จะเป็น ‘ไลฟ์สไตล์ แพลตฟอร์ม’ ที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

     ปัจจุบัน wongnai.com มีบริการ 5 กลุ่มหลักคือ ร้านอาหาร บิวตี้และสปา ดีล บริการสั่ง-ส่งอาหาร และแนะนำวิธีทำอาหาร

     ในอนาคตอันใกล้มีแผนจะเพิ่มบริการในส่วนต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว หรือบริการค้นหาเซอร์วิสต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ เช่น ร้านตัดสูท ร้านซ่อมรถ เป็นต้น  

     “ไม่ว่าเราจะทำโปรดักต์อะไรขึ้นมา สำคัญที่สุดเลยคือ ‘Make something that you want to use’

     “ส่วนปัจจัยที่สองที่สำคัญกว่าคือมีตลาดหรือเปล่า มีคนที่ต้องการใช้เยอะแค่ไหน ใหญ่พอไหม มี business model หรือ advertiser สนใจมาลงโฆษณาหรือเปล่า แล้วมีคู่แข่งในตลาดแค่ไหน”

     ด้วยวิธีคิดแบบ ‘ทำในสิ่งที่คนต้องการ’ และ ‘มองหาโอกาสทางธุรกิจ’ ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมา วงในมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 2 เท่า

     ท่ามกลางสมรภูมิออนไลน์ที่กำลังดุเดือดในทุกวันนี้ ยอดบอกว่า ถ้าอยากอยู่รอดโดยไม่ต้องแข่งจนเหนื่อย คุณจำเป็นต้องทำ 2 สิ่งคือ

     หนึ่ง ต้องหาความแตกต่างหรือจุดเด่นของตัวเองให้เจอ

     และสอง จงเป็นเบอร์หนึ่งหรือ monopoly ในบางตลาด

     นี่คือสิ่งที่ยอด ชินสุภัคกุล คิดและกำลังจะทำให้เกิดขึ้นจริง

บางทีเราก็ต้องลงทุนและพยายามที่จะทดลองหลายๆ แบบ เพราะข้อได้เปรียบของสื่อดิจิทัลคือ มันสามารถวัดผลได้

 

ในวงการสื่อตอนนี้มีสื่อต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งในมุมหนึ่งก็คือคู่แข่งของ wongnai.com เพราะมีคอนเทนต์เหมือนกันคือ อาหาร บิวตี้ ฯลฯ คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้อย่างไร

     ถ้ามองสถานการณ์โดยรวม แน่นอนว่ามีสื่อเกิดขึ้นในออนไลน์เยอะมาก แต่ว่ามีสื่อที่ใหญ่จริงๆ ที่ disrupt วงการสื่อได้หรือยัง ก็ไม่มี เพราะไซส์ของแต่ละที่ก็ยังเล็กมากเมื่อเทียบกับช่องโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อ traditional media อาจเป็นไซส์หนึ่งในร้อยหรือหนึ่งในพันของสื่อเก่าๆ เหล่านั้น ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เสพสื่อดิจิทัลมากกว่าสื่อเก่าหรือ traditional media ค่อนข้างเยอะ ครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นเขาใช้เวลาในแต่ละวันเสพสื่อดิจิทัล ไม่ว่าจะผ่านโทรศัพท์มือถือหรือเว็บไซต์ เพราะฉะนั้นผมมองว่า ออนไลน์ยังมีโอกาสโตได้อีกเยอะมาก

 

แต่ขณะเดียวกันคู่แข่งของ wongnai.com ก็เยอะขึ้น

     จริงๆ ไม่เยอะนะครับ เพราะว่าวงในมองตัวเองเป็นสื่อ แต่เราเป็นสื่อที่มี user generated content หรือ UGC ค่อนข้างเยอะ เรียกว่ามากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ UGC คือรีวิวที่มาจากผู้ใช้บริการจริง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของร้านอาหารหรือบิวตี้เซอร์วิสก็ตาม หรือแม้แต่ในส่วนการสอนทำอาหารที่เราเปิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งตอนนี้อาจจะเป็น editorial content (เนื้อหาที่ทำโดยทีมงาน) เป็นหลัก แต่ในอนาคตเราก็จะปล่อยให้คนรีวิวสูตรเข้ามา มันก็จะเป็นระบบที่โตได้ด้วย UGC มากกว่าที่จะเป็น editorial content อย่างเดียว อันนี้คือจุดแตกต่างระหว่างวงในกับสื่อที่ทำคอนเทนต์คล้ายๆ เราเจ้าอื่นๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดถึงคู่แข่งมากนัก เพราะเรายืนอยู่ในสถานการณ์ที่ทั้งตลาดยังมีโอกาสโตได้อีกเป็น 10 เท่า เพราะฉะนั้นแทนที่คุณจะคิดแข่งกันเอง คุณแข่งกันเปิดตลาด ขยายตลาดให้มันใหญ่ขึ้นดีกว่า

 

คำว่า ‘ตลาด’ ที่พูดถึงหมายถึงอะไร

     จำนวนคนใช้ ความถี่ในการใช้ รวมถึงพวกอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโฆษณา ออนไลน์หรือออฟไลน์ หรือจะเป็นอีคอมเมิร์ซก็ตาม มันก็ยังมีโอกาสที่จะโตอีกมาก

 

ถ้าบอกว่า wongnai.com ไม่ได้มองว่าสื่อที่ทำคอนเทนต์เชิงไลฟ์สไตล์เป็นคู่แข่ง แล้วคิดว่าใครเป็นคู่แข่ง

     คู่แข่งที่โหดที่สุดของเราจริงๆ คือเฟซบุ๊กกับอินสตาแกรม เพราะหากเรามองว่าคนจะหาข้อมูลร้านอาหารจากที่ไหน ก็มีคนส่วนหนึ่งที่ดูจากอินสตาแกรมแล้วไปกินตาม หรือคนที่เจอในเฟซบุ๊กแล้วไปกินตาม คือเขาไม่ได้ใช้เว็บไซต์ในลักษณะของ wongnai.com หรือแอปพลิเคชันวงใน แต่กลายเป็นว่าคนดูจากอินสตาแกรมแทน ผมมองว่าคู่แข่งของเราคือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เป็น UGC เหมือนๆ กัน ที่อาจจะไม่ได้เฉพาะทางแค่อาหาร แต่ก็มีเรื่องอาหาร เรื่องไลฟ์สไตล์อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งคนก็อาจจะไปเสพสื่อหรือแพลตฟอร์มเหล่านั้นแทน

     ถ้ามองในมุมมองของเม็ดเงินโฆษณา เช่น ร้านอาหารที่อยากจะมาลงโฆษณาก็อาจจะวิ่งไปลงที่เฟซบุ๊กก่อนที่จะมาลงโฆษณาที่เรา แน่นอนว่าเฟซบุ๊กไม่ได้มองว่าเราเป็นคู่แข่ง แต่เราก็ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ดีกว่าเฟซบุ๊ก ให้มันค้นหาร้านเจอได้ดีกว่าเฟซบุ๊ก ให้คนมาลงโฆษณากับเรา ไม่ใช่ลงแค่เฟซบุ๊กอย่างเดียว

 

นอกจากการร่วมมือกับ Alipay และ LINE MAN แล้ว wongnai.com จะแตกไลน์บริการอื่นๆ นอกจากร้านอาหารและบิวตี้ที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะแตกไลน์ใหม่ๆ คุณตัดสินใจจากอะไร

     เราพยายามจะหาสิ่งที่เรียกว่า product market fit คืออะไรที่คนต้องการใช้ เวลาเราจะทำโปรดักต์อะไร สำคัญที่สุดคือ ‘Make something that you want to use’ แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นเราต้องมองว่าอะไรที่คนอยากจะใช้แล้วเขาไม่มีให้ใช้ อย่างที่เราทำบิวตี้ เราก็ดูว่าตอนนี้มันยังไม่มีวิธีดีๆ ที่จะหาร้านทำผม ทำเล็บใกล้ๆ ตัว ยังไม่มีบอกว่า ranking star อันดับหนึ่งคือที่ไหน และอาจจะยังไม่มีคอนเทนต์รีวิวที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อที่คนจะได้รีวิวและค้นหาสิ่งเหล่านี้

     เช่นเดียวกัน ล่าสุดเราทำบริการที่เกี่ยวกับการสอนทำอาหาร เพราะรู้สึกว่าเราทำบทความหรือรีวิวเกี่ยวกับสูตรอาหารแล้วได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แสดงว่ามันมีความต้องการที่จะดู อ่าน ค้นหาสูตรอาหาร หรือต้องการที่จะฝึกทำอาหาร เราก็ทำในสิ่งที่คนต้องการ

     อย่างที่สองที่สำคัญกว่าคือ คนต้องการใช้หรือเปล่า มีตลาดหรือเปล่า คนที่ต้องการใช้เยอะแค่ไหน มี business model หรือมี advertiser สนใจมาลงโฆษณาหรือมาทำงานร่วมกับเราไหม แล้วมีคู่แข่งในตลาดแค่ไหน

ต้องหาบางแง่มุมที่เป็น monopoly ให้ได้ เราถึงจะมีโพสิชันที่แข็งแกร่งในสายตาของ advertiser และผู้ใช้งาน

 

จะแตกไลน์บริการหรือคอนเทนต์อะไรเพิ่มในอนาคตอีกไหม

     ปีหน้าเราก็มองไว้หลายอย่าง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไร ถ้าให้ยกตัวอย่างสิ่งที่เราทำได้ เช่น เนื้อหาแนวท่องเที่ยว รีวิวโรงแรม รีวิวสถานที่ท่องเที่ยว รีวิวร้านอาหาร หรือพวกเซอร์วิสต่างๆ เช่น ร้านซ่อมรถ ร้านตัดสูท ร้านซ่อมท่อ ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า คือข้อมูลพวกนี้มันไม่ได้หากันง่ายๆ และเราไม่ได้ต้องการแค่ข้อมูลพื้นฐานอย่างเบอร์โทรศัพท์ แต่เราต้องการรู้ว่าร้านไหนที่อยู่ใกล้เราบ้าง ร้านไหนที่คนไปใช้บริการแล้วไม่ผิดหวัง คือเรื่องเหล่านี้มีกลุ่มคนที่สนใจและสามารถทำให้คอนเทนต์และบริการเหล่านี้ขยายออกไปได้เรื่อยๆ

 

แต่ว่าคอนเทนต์อย่างอาหาร บิวตี้ และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์ที่คุณพูดมาก็เป็นสิ่งที่หาได้ตามเว็บไซต์อื่นๆ ไม่ใช่หรือ

     อย่างที่บอก เรามองว่าหนึ่งคือ มีคนต้องการใช้ แล้วคนต้องการใช้มีเยอะแค่ไหน เป็นล้านคนหรือเปล่า ถ้ามีคนใช้เป็นล้านคน แน่นอนว่ามันมีธุรกิจอยู่ตรงนั้น

     ข้อสองคือ ต้องมองสภาพตลาดว่าโตขึ้นอยู่หรือเปล่า แล้วก็ต้องดูว่าคู่แข่งมีมากน้อยแค่ไหน คู่แข่งที่อยู่ในตลาดทำได้ดีระดับที่เราพอใจแล้วหรือยัง คือมันก็มีหลายตลาดที่เรารู้สึกว่าเขาทำได้ดีในระดับที่เราพอใจแล้ว เช่น เรื่องท่องเที่ยว เรารู้สึกว่ามี agoda.com อยู่แล้ว ซึ่งมันค่อนข้างดีเลย เราจึงยังไม่เข้าไป เพราะว่าความจริงตลาดท่องเที่ยวมันใหญ่มาก แทบจะใหญ่กว่าร้านอาหารนะ แต่ที่เรายังไม่เข้าไป เพราะรู้สึกว่ามีคู่แข่งที่ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว เราก็ต้องหาจุดว่าทำอย่างไรให้มันแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ แต่บางตลาดยกตัวอย่าง โฮมเซอร์วิส ถ้าคุณจะหาช่างไฟ Google แค่บอกว่าช่างไฟอยู่ที่ไหน แต่มันไม่มีใครที่มารวบรวมข้อมูล มารีวิว มาทำให้เราคอนเน็กต์ระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการได้อย่างชัดเจน เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ใช้งานและผู้ให้บริการเข้ามาเจอกันคล้ายๆ กับมาร์เก็ตเพลซเท่าที่เรามองเห็น ยังไม่มีใครที่ทำแบบนั้นได้ดีพอ เพราะฉะนั้นมันก็มีจุดที่เราคิดว่าสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้

 

4 ปีที่ผ่านมา wongnai.com โตขึ้นปีละ 2 เท่า ถ้าให้วิเคราะห์ คิดว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ wongnai.com โตเร็วขนาดนี้

     คือมันไม่มีเคล็ดลับความสำเร็จ ถ้าให้ตอบ ผมคิดว่าผมและองค์กรของเรามีสิ่งหนึ่งคือความอดทนและความไม่ยอมแพ้ เพราะวงในเองก็ผ่านช่วงเวลาทั้ง low และ high มาเยอะ ช่วงแรกๆ แทบไม่มีคนใช้ ไม่มีเงินทุน ติดลบหลายล้านบาท แต่เราก็พยายามต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ตลาดมันพร้อม มีคนใช้สมาร์ตโฟนมากขึ้น มีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น มีคนเข้ามาให้เงินทุน ผ่านมาถึงจุดนั้นเราก็เริ่มโตแบบก้าวกระโดดจนมาถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเราแทบไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าคนอื่น นอกจากความไม่ยอมแพ้

 

เว็บไซต์ wongnai.com ทำให้คนใช้งานอยากเข้ามารีวิวอย่างไร

     เรามีทีม community manager ที่ไปคุยกับยูสเซอร์ตลอดว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็พายูสเซอร์ไป offline event ด้วย เพราะฉะนั้นคนที่เป็นท็อปยูสเซอร์ของวงในเขามีสิทธิ์ได้ไปกินตามร้านต่างๆ เป็นอีเวนต์ เป็น tasting event เป็นเวิร์กช็อปอะไรต่างๆ ทุกสัปดาห์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราทำอยู่ตลอดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกๆ และในขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ออฟไลน์ ด้านออนไลน์เองเราก็ต้องมั่นใจว่าคอมมูนิตี้นี้มีความแน่นแฟ้น มันก็ต้องมีระบบต่างๆ ที่ช่วยเหลือคอมมูนิตี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บบอร์ด คอมเมนต์ ไลก์ หรือการคุยกันผ่าน personal message มันก็ต้องมีฟีเจอร์เหล่านี้ที่ช่วยให้คอมมูนิตี้เกิดขึ้นได้

ทุกวันนี้เรามองได้ไกลไม่เกิน 18 เดือน ถ้าไกลกว่านั้นก็ไม่มีความแม่นยำแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เซตเทรนด์โลกใบนี้

 

ตอนนี้รายได้หลักๆ ของ wongnai.com มาจากไหน

     จากโฆษณา ซึ่งโฆษณาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโฆษณาจากร้านอาหารทั่วไป โฆษณาจากร้านอาหารดังๆ ที่มีสาขา และโฆษณาจากแบรนด์และเอเจนซีใหญ่ๆ

     ถ้าเทียบเป็นสัดส่วน สมัยก่อนจะเป็นร้านอาหารหรือร้านที่มีสาขาเยอะที่สุด แต่ว่าตอนนี้โฆษณาจากแบรนด์และเอเจนซีเริ่มแซงและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามกระแสของโลกที่เอเจนซีและแบรนด์ต่างๆ มาลงที่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นเม็ดเงินในส่วนแบรนด์และเอเจนซีเพิ่มมากขึ้นในรอบ 2 ปีหลังสุด และเพิ่มขึ้นหลายเท่า

 

สัดส่วนรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้จากโฆษณากี่เปอร์เซ็นต์

     โฆษณาน่าจะประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็จะมี transaction (ซื้อของ-สั่งอาหาร) เล็กน้อย แล้วก็มีดีลที่ได้จากสปอนเซอร์เล็กน้อย จัดงาน จัดอีเวนต์อะไรต่างๆ คือรายได้จากออฟไลน์ก็จะมีบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะเท่าไร

 

แล้วสัดส่วนรายได้ที่อยากให้เป็นในอนาคตเป็นอย่างไร การจับมือกับ LINE MAN หรือ Alipay คือการเพิ่มรายได้ในช่องทางอื่นๆ ใช่หรือไม่

     LINE MAN ตอนนี้โมเดลรายได้ที่รวมอยู่ในก้อนโฆษณา 90 เปอร์เซ็นต์นั้นยังไม่เป็นก้อนที่แยกออกมา แต่ในอนาคตเราอยากจะมีรายได้อย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น จัดโปรเจ็กต์กับ LINE MAN และ Alipay ปีนี้มันน่าจะเริ่มมี transaction revenue ส่วนในอนาคตนอกจากรายได้จากโฆษณา เราก็มองไปที่รายได้ประเภท transaction fees ต่างๆ ที่น่าจะเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น

 

การจับมือกับ LINE MAN และ Alipay จะมาซัพพอร์ตตลาดเมืองไทยในอนาคตอย่างไร

     ถ้าพูดถึง Alipay ผมมองว่าประเทศไทยก็น่าจะเป็นคล้ายๆ กับประเทศจีนได้ในอนาคต ไม่ใช่ว่าคนจีนมาใช้ Alipay ที่ประเทศไทย แต่คนไทยเองก็น่าจะใช้ mobile payment มากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะมันสะดวกกว่า แล้วก็มีสิทธิประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งมันก็เหมือนกับบัตรเครดิตที่มีส่วนลดตามร้านค้าต่างๆ ยกตัวอย่าง ถ้าผมใช้ mobile payment สักยี่ห้อหนึ่ง ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วเขาลด 5 บาท ทุกคนก็สวิตช์มาใช้ mobile payment เพราะว่ามันลด 5 บาท ฉะนั้นถ้าใช้วิธีนี้ก็สามารถที่จะเจาะตลาดใหญ่ได้มากแล้ว เพราะมันสะดวกกว่า ไม่ต้องมานั่งแลกเหรียญ ซื้อบัตรให้ยุ่งยาก ทุกวันนี้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เราต่อคิวแลกเหรียญนานกว่านั่งอีก แต่ถ้ามี mobile payment แค่สแกนก็จบ สะดวก สะสมแต้มได้ ลดราคาได้ เงินเหลือก็เอาไปลงทุนต่อได้โดยที่ไม่ต้องไปแบงก์ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอนาคตตรงนั้นน่าจะมาเมืองไทยแน่

     Food delivery ก็ใกล้เคียงกัน ผมมองว่าตอนนี้มันก็แค่เริ่มต้น คนเพิ่งจะเริ่มรู้ว่าฉันสามารถสั่งอาหารอย่างอื่นให้มาส่งได้ด้วยนะ ไม่ใช่แค่พิซซ่ากับไก่ทอดเท่านั้น ลองมองอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผมว่าคนรุ่นใหม่ก็คงไม่ได้ยึดติดกับการสั่งแค่ฟาสต์ฟู้ดหรือพิซซ่าอีกต่อไป แต่คิดว่าฉันสามารถสั่งอาหารทุกอย่างเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นตลาด transaction ในส่วน food delivery ก็น่าจะใหญ่ขึ้นอีกเป็นสิบเท่า ซึ่งผมคิดว่า mobile payment กับ food delivery น่าจะขยายตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้แน่นอน

 

ทุกวันนี้เราควรมองวิธีหารายได้มากกว่าการพึ่งโฆษณาใช่ไหม

     ใช้สำนวนภาษาอังกฤษนะ สาเหตุหนึ่งที่วงในพยายามสร้างช่องทางรายได้ที่หลากหลาย เพราะผมไม่อยากเอาไข่ทั้งหมดมาอยู่ในตะกร้าใบเดียว หรือถ้ามองในมุมการปลูกต้นไม้ ตอนนี้เรามีต้นไม้ใหญ่ที่เป็นโฆษณา แต่ในขณะที่ต้นไม้ใหญ่ออกดอกออกผลให้เรา เราก็แอบปลูกต้นเล็กๆ ไว้หน่อย ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าต้นไม้ที่เราปลูกใหม่จะโตหรือไม่โต แต่ถ้าเกิดต้นไม้ต้นใหญ่ของเราหยุดโตหรือตาย อย่างน้อยเรายังมีต้นที่สอง ต้นที่สามที่คอยออกผลมาให้เรากินในอนาคตได้ บางทีเราก็ต้องลงทุนและพยายามที่จะทดลองหลายๆ แบบ เพราะข้อได้เปรียบของสื่อดิจิทัลคือมันสามารถทำ transaction ได้ มันสามารถวัดผลได้ มันสามารถที่จะ merge ระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ได้ และในเมื่อมันทำได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทดลอง

ตลาดมันขยายตัวอยู่ สมมติว่ามีพายอยู่ก้อนหนึ่ง แล้วทุกคนกำลังมาแบ่งกินพายก้อนนี้

แต่พายก้อนนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องกังวลเรื่องคู่แข่งขนาดนั้น

 

วันนี้ตลาดออนไลน์กำลังโต คนก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างสื่อที่เป็นองค์กร สื่ออิสระที่เป็นเพจ หรือที่เป็นบุคคลอย่างอินฟลูเอนเซอร์ถ้ารายได้หลักมาจากโฆษณา แสดงว่าตัวหารเยอะมาก คุณคิดว่า wongnai.com จะแข่งกับสถานการณ์นี้อย่างไร

     ผมมองสองเรื่อง อย่างแรกคือ ตลาดมันขยายตัวอยู่ เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องกังวลเรื่องคู่แข่งขนาดนั้น เพราะทุกคนสามารถชนะได้พร้อมกันหมด สมมติว่ามีพายอยู่ก้อนหนึ่ง แล้วทุกคนกำลังมาแบ่งกินพายก้อนนี้ แต่พายก้อนนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถมีส่วนแบ่งที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องไปขโมยหรือแย่งชิงพายของคนอื่น อันนี้คือข้อที่หนึ่ง

     ข้อที่สองคือ วงในเองพยายามจะหาพื้นที่ที่จะเป็น monopoly ในตลาด พยายามไปอยู่ในตลาดที่ไม่ต้องแข่งกับคนอื่นในบางแง่มุม เช่น ร้านอาหาร เราก็พยายามจะไปอยู่ในจุดที่เรามีข้อมูลร้านอาหารมากที่สุด เรามีข้อมูลร้านอาหารทั่วประเทศไทย ถ้าอยากจะค้นหาร้านอาหารแถวนี้ว่าร้านไหนอร่อย คุณต้องใช้วงใน ไม่ไปใช้แพลตฟอร์มอื่น เราต้องหาแง่มุมในทุกๆ ธุรกิจที่เราเข้าไป อย่าง food delivery เราก็อยากจะมีร้านอาหารมากที่สุด มีรีวิวมากที่สุด มีเซอร์วิสที่ดีที่สุด มันต้องหาบางแง่มุมที่เป็น monopoly ให้ได้ เราถึงจะมีโพสิชันที่แข็งแกร่งในสายตาของ advertiser และผู้ใช้งาน ไม่อย่างนั้นเราก็จะวิ่งแข่งกันโดยที่ไม่ได้มีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่น ก็วิ่งแข่งกันจนเหนื่อย

 

ถ้าบอกว่าเราต้องหาจุดที่เป็น monopoly ในตลาด คุณมองภาพ wongnai.com ในอนาคตอย่างไร

     อยากเป็น super lifestyle platform ที่สามารถคอนเน็กต์คุณเข้ากับสิ่งดีๆ ได้ทุกๆ อย่าง เพื่อทำให้ชีวิตของผู้ใช้งานดีขึ้น สะดวกขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะเป็นในอนาคต ซึ่งตอนนี้เราอาจจะคอนเน็กต์คุณให้กับร้านอาหารดีๆ การสั่งอาหาร หรือในเรื่องของบิวตี้บ้าง คอนเน็กต์คนจีนเข้ากับร้านของคนไทย และเริ่มคอนเน็กต์คุณเข้ากับสูตรอาหารที่ดีๆ แต่ในเชิงไลฟ์สไตล์ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมมากที่เราจะช่วยให้ชีวิตของคุณดีขึ้น ซึ่งเราก็อยากจะเป็นตัวแทนตรงนั้น

     คือเราไม่ใช่สำนักข่าว เราไม่ใช่อีคอมเมิร์ซ แต่เราเป็นแพลตฟอร์มที่จะคอนเน็กต์คุณเข้ากับสิ่งต่างๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น

 

ถ้าเป็นในมุมของสื่อที่พยายามปรับตัวมาออนไลน์ คุณคิดว่าสื่อเหล่านี้จะอยู่รอดอย่างไร

     ต้องมีจุดที่แตกต่าง คือมันมีสิ่งที่เรียกว่า differentiation point หรือบางคนเรียกว่า competitive advantage คือสุดท้ายมันต้องมีโพสิชันที่แตกต่างกัน โพสิชันของคุณในสายตานักอ่านคืออะไร ถ้ามันเหมือนกับเจ้าอื่นเป๊ะๆ มันก็แข่งกันแบบเลือดสาด นึกออกไหม ก็แข่งกันเข้าไป ใครเร็วกว่า ใครเขียนได้โหดกว่า ใครเอาสาวน่ารักมาเป็นหน้าปกอะไรแบบนี้ คือมันก็แข่งกันด้วยแท็กติก ไม่ได้แข่งกันในเรื่องของ long term มันแข่งกันว่าบทความของใครเร็วกว่า ใครเขียนในแง่มุมที่แตกต่างได้มากกว่า ซึ่งมันไม่สนุกหรอกในเกมนั้น

     สิ่งที่ต้องทำให้ดีก็คือ positioning ของคุณในสายตาผู้บริโภคแตกต่างจากอีกเจ้าหนึ่งหรือเปล่า ข้อดีของเราคือเป็นเรื่องที่เรียลกว่า บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่สนุกกว่า มีแง่มุมในด้านนี้ตลอดเวลา เป็นเอกลักษณ์ของเรา ซึ่งคนอื่นทำไม่ได้ก็ว่าไป เพราะฉะนั้นแต่ละที่ก็ควรจะต้องมีจุดที่มันแตกต่างกัน อย่างที่ผมบอก ต้องหาจุดที่คุณจะเป็น monopoly ในบางตลาด ในบางแง่มุมใช่ไหม สมมติเล่นๆ นะ ถ้าเกิดคุณเป็นสำนักข่าวที่ติสต์ที่สุด คือเขียนเรื่องอาร์ทิสต์ทุกชิ้น มีภาพประกอบที่เป็นภาพวาด คุณก็อาจจะจับกลุ่มที่เป็นอาร์ทิสต์ได้ทั้งหมด คุณก็เป็น monopoly ในตลาดนั้น ก็อยู่ได้ เป็นต้น

 

หลายคนบอกว่าสื่อเก่าจะตาย ในมุมของคนที่ทำสื่อดิจิทัลมาตลอด คุณมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

     ผมไม่ได้มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นนะ ผมคิดว่ามันไม่ได้หมายความว่าสื่อเก่าจะต้องตาย เพียงแต่ว่าสื่อเก่าต้องปรับตัว ในเรื่องของวิธีการทำงาน ในเรื่องของ cost structure ต่างๆ คือที่นิตยสารอาจจะโดนก่อนก็เพราะว่าต้นทุนเขาค่อนข้างสูง คอนเทนต์อาจจะไม่สามารถส่งไปอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้ง่าย อย่างเช่น ถ้าเป็นรายการโทรทัศน์ คุณทำคอนเทนต์ ทำรายการดีๆ ออกมา แต่คุณไปปล่อยในสื่ออื่นๆ ที่เป็นสื่อใหม่ ก็ยังโอเคอยู่ แต่นิตยสารมันเป็นรูปแบบของรูปเล่ม จะเอามาใส่ในดิจิทัลคอนเทนต์เป็นไฟล์ pdf มันก็ไม่สะดวก ส่วนคนที่จะมานั่งพลิกเป็นหน้าๆ ในนิตยสารคงไม่ค่อยมีแล้ว ก็เลยอาจจะโดนก่อนสื่ออื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายคนที่ทำสื่อเก่าต้องนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำคอนเทนต์ อย่ายึดติดกับแพลตฟอร์ม ปรับตัวได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาว่าต้องตายทุกราย คือให้มองว่าเราไม่ได้เป็นคนทำรายการโทรทัศน์ คนทำหนังสือ หรือคนทำสื่ออะไร แต่เราเป็นคนทำคอนเทนต์

 

ทุกวันนี้เวลาวางแผน คุณมองไกลแค่ไหน 3 ปี 5 ปี หรือเท่าไร

     มองได้ไกลไม่เกิน 18 เดือน ซึ่ง 18 เดือนนี่คือแม็กซิมัมที่คิดว่าพอจะมีความแม่นยำอยู่บ้าง ถ้าไกลกว่านั้นก็ไม่มีความแม่นยำแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เซตเทรนด์โลกใบนี้ คนที่เซตเทรนด์โลกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา อยู่ที่จีน ถึงคุณจะพยายามคาดการณ์อย่างไร แต่ถ้ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกว่าจะออกฟีเจอร์ตัวใหม่ คนก็เฮตามกันไปใช้ หรือ Google บอกจะทำสิ่งนี้ คนก็เฮเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะฉะนั้นคุณทำนายอนาคตมากที่สุดได้แค่ 12-18 เดือน

ผมคิดว่าเราแทบไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าคนอื่น นอกจากความไม่ยอมแพ้

 

คุณมีเป้าหมายจะเอาวงในเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2019 มองภาพวงในหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างไร

     นี่ไง นี่คือจุดที่เราไม่รู้ เพราะว่าถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องรออีกประมาณ 2-3 ปี เพราะฉะนั้นคำตอบจริงๆ ก็คือผมยังมองไม่เห็นอนาคตไกลขนาดนั้น ระหว่างนี้ก็ต้องคิดและวางแผนว่าพอเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะทำอย่างไรต่อ แต่ว่าเราไม่อยากจะโม้ล่วงหน้าไปถึง 3 ปี เพราะมันก็ไม่จริงอยู่แล้ว อย่างที่ผมบอก ทุกวันนี้เรามองได้ไกลไม่เกิน 18 เดือน

     เราอยู่ในโลกที่ไดนามิก เพราะฉะนั้นโกลของผมถูกขยับขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถ้าถามถึงออริจินัลโกล จริงๆ อยากเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารอันดับหนึ่งของประเทศไทย มันถึงโกลนั้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องขยับโกลขึ้นไปเรื่อยๆ พอเข้าใกล้โกลนั้นปุ๊บก็รู้สึกว่าไม่พอ อยากทำมากกว่านั้นอีก ขยับโกลไปอีก ไม่พออีก อยากทำมากกว่านี้ ก็ขยับโกลไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันไม่เคยถึงฝั่งฝันสักที

     แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์คือหลักไมล์สำคัญที่ทำให้เรามีไซส์ที่ใหญ่มากขึ้น ก็อาจจะเข้าใกล้ความเป็น Tencent ประเทศไทยมากขึ้น นั่นคือหลักไมล์สำคัญของเรา

 

โจทย์ใหญ่ที่สุดของคุณในวันนี้คืออะไร

     โจทย์ใหญ่ของผมคือจะพาวงในไปในทิศทางใด จะโตไปในทิศทางไหน เราจะทำอย่างไรถึงจะเป็นบริษัทที่เป็น tech startup ที่เข้าตลาดหุ้นได้เป็นรายแรกๆ ในประเทศไทย ทำอย่างไรถึงจะเป็นธุรกิจที่มีไซส์ที่น่าสนใจสำหรับเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ถ้าประเทศไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 เราจะต้องเป็นหนึ่งในตัวอย่างให้ไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นมา สุดท้ายไทยแลนด์ก็ต้องสร้าง Tencent, Alibaba หรือไม่ก็ Baidu ของประเทศไทยให้ได้ และเราจะทำอย่างไรถึงจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ อันนี้คือโจทย์ใหญ่ของผม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X