×

นิวคาสเซิลคืนสู่ UCL ในรอบ 20 ปี! ถอดรหัสความสำเร็จอันน่าทึ่งของ ‘แม็กพายส์’

23.05.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • การตัดสินใจดึงตัว เอ็ดดี ฮาว และ แดน แอชเวิร์ธ มานั่งตำแหน่งผู้จัดการทีมและผู้อำนวยการสโมสร เป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้องของนิวคาสเซิลยุคใหม่
  • ถึงจะเป็นนกสาลิกาที่ตกถังน้ำมัน แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีกระสุนเงินใช้ได้ไม่จำกัด สิ่งที่ฮาวและแอชเวิร์ธทำร่วมกันคือ การพยายามหานักเตะที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้กับทีม
  • ฮาวได้ติดตั้งระบบการเล่นใหม่ที่มีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘The Swarm’ ให้กับนิวคาสเซิล ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมาช่วงพรีซีซันมหาโหด โดยไอเดียหลักก็คือ การขึ้นไปไล่และล่าบอลจากคู่แข่งแบบเป็น ‘ฝูง’ พยายามเข้าปะทะตัดเกมแบบมีจุดหมาย และพยายามสร้างเกมบุกหลากหลายมุม มีแพตเทิร์นการขึ้นบอลที่หลากหลาย

หากมีใครบอกว่าต้นฤดูกาล 2022/23 นิวคาสเซิลจะติด Top 4 และได้ไปแชมเปียนส์​ลีก บางทีคนคนนั้นอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากคนรอบข้างได้

           

แต่ถึงตอนนี้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด กำลังจะได้กลับไปเล่นฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดของยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากที่ทีมเสมอกับเลสเตอร์ ซิตี้ 0-0 ซึ่งทำให้แต้มเพียงพอต่อการจบฤดูกาลใน 4 อันดับแรก

 

จากทีมอันดับที่ 11 ในฤดูกาลที่แล้ว เหล่าขุนพล ‘แม็กพายส์’​ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เดี๋ยวเรามาลองถอดรหัสความสำเร็จอันน่าทึ่งของพวกเขาผ่านบทความชิ้นนี้ไปด้วยกัน

 

 

กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก

 

ย้อนกลับไปช่วงที่กลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบียในนาม PIF เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มทุนที่เข้ามาเทกโอเวอร์นิวคาสเซิลในเดือนตุลาคม ปี 2021 ต่อจาก ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของสโมสรคนเดิม ที่ติดอันดับเจ้าของสโมสรที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะไม่มีการลงทุนใดๆ เพื่อความสำเร็จของทีมเลย

 

ในช่วงเวลานั้นมีการจับตามองว่า นิวคาสเซิลจะถูกเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน? เพราะถึง PIF จะมาพร้อมกับทุนมากมายมหาศาลไม่รู้จบ แต่ในเกมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบมากมายนั้น ต่อให้มีเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จ (ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นได้ชัดจากกรณีของเชลซี หลังการเข้ามาของ ท็อดด์ โบห์ลี)

           

สิ่งแรกที่เจ้าของใหม่ทำ (ภายใต้การบริหารของ อแมนดา สเตฟลีย์ ผู้เจรจาเทกโอเวอร์และได้รับมอบหมายในการจัดการสโมสร) คือการหา ‘คนที่ใช่’ สำหรับการสร้างนิวคาสเซิลใหม่ขึ้นมาจากเถ้าถ่านก่อน

           

ในช่วงเวลานั้นมีการพูดถึงโค้ชระดับชั้นนำของวงการเป็นจำนวนมากที่ว่างงานอยู่และดูน่าสนใจ แต่คนที่สเตฟลีย์และฝ่ายบริหารของสโมสรตัดสินใจเลือกให้ทำหน้าที่นี้คือ เอ็ดดี ฮาว ผู้จัดการทีมคนรุ่นใหม่ฝีมือดีของอังกฤษ

           

แต่การแต่งตั้งฮาวก็นำมาซึ่งคำถามอยู่ไม่น้อย เพราะถึงจะเป็นหนึ่งในคลื่นลูกใหม่ที่มาแรง แต่อดีตผู้จัดการทีมบอร์นมัธเองก็ถูกมองว่าอาจมือไม่ถึงสำหรับงานนี้ และอาจเป็นแค่คนคุมทีม ‘ชั่วคราว’ ระหว่างที่รอเจอผู้จัดการทีมระดับท็อปที่เหมาะสำหรับทีมจริงๆ

           

ต่อมาเป็นคำถามเรื่องฝีมือ ฮาวพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็น ‘ตัวจริง’ ด้วยการพยายามประกอบร่างนิวคาสเซิลขึ้นมาใหม่จากศูนย์ เปลี่ยนทีมที่เล่นฟุตบอลแบบไร้ทิศทาง ไร้จิตวิญญาณ ให้ค่อยๆ กลายเป็นทีมที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งอาจจะยังเล่นได้ไม่สวยงามนัก แต่ความดุดัน ความแข็งแกร่ง และความใจสู้ คือสิ่งที่ถูกเติมเข้ามา

 

แต่ฮาวก็ไม่ได้เป็นแค่คนเดียวที่สำคัญ เพราะอีกคนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การที่นิวคาสเซิลไปดึงตัว แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการสโมสรคนเก่งของไบรท์ตัน มานั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสรของพวกเขาเอง ซึ่งแอชเวิร์ธได้รับการยกย่องในวงการจากการเป็นผู้อำนวยการสโมสรที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยม จากการทำให้ทีมเล็กๆ อย่างไบรท์ตันมีแนวทางและรากฐานที่ไปสู่ความสำเร็จ (ปัจจุบันคือได้เล่นรายการสโมสรยุโรปแน่นอนแล้ว)

           

และแอชเวิร์ธคือคนที่มีส่วนตัดสินใจสำคัญในการหาผู้เล่นเข้ามาเสริมทีม

 

 

Smart Buy ฉลาดซื้อ

 

ถึงจะเป็นนกสาลิกาที่ตกถังน้ำมัน แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีกระสุนเงินใช้ได้ไม่จำกัด เพราะกฎ Financial Fair Play มีส่วนในการควบคุมการใช้จ่ายเงินของสโมสรได้อยู่

           

สิ่งที่ฮาวและแอชเวิร์ธทำร่วมกันคือ การพยายามหานักเตะที่ดีและเหมาะสมที่สุด สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงแรกของทีมที่ชัดเจนว่ามีขุมกำลังที่ไม่ดีพอ

           

ตลาดการซื้อ-ขายรอบแรกของนิวคาสเซิลในยุคใหม่ของตลาดฤดูหนาวในปี 2022 พวกเขาไม่ได้ซื้อแบบหว่านแห แต่มีการเลือกนักเตะเข้ามาเสริมทีมด้วยกันทั้งหมด 5 คน ได้แก่ โจ วิลล็อก กองกลางดาวรุ่งจากอาร์เซนอล, คีแรน ทริปเปียร์ แบ็กขวาประสบการณ์สูงจากแอตเลติโก มาดริด, คริส วูด กองหน้าร่างยักษ์จากเบิร์นลีย์, บรูโน กิมาไรส์ กองกลางอนาคตไกลจากโอลิมปิก ลียง และ แดน เบิร์น ปราการหลัง สายเลือดชาวจอร์ดีที่มาจากไบรท์ตัน (ซึ่งแอชเวิร์ธรู้จักดี)

           

ผลปรากฏว่า ทั้ง 5 นักเตะมีส่วนทำให้นิวคาสเซิลค่อยๆ มีผลงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ 3 นักเตะที่กลายเป็นคนสำคัญในทีมอย่างทริปเปียร์ ที่มาเติมความเก๋าและความนิ่ง, กิมาไรส์ ห้องเครื่องที่มีความสำคัญที่สุดของทีม และเบิร์น ที่ช่วยขันชะเนาะเกมรับของทีมให้แข็งแกร่งขึ้น

           

นิวคาสเซิลจบฤดูกาลแรกในยุคใหม่ของพวกเขาด้วยอันดับที่ 11 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจประมาณหนึ่ง

           

และความสำเร็จนั้นถูกต่อยอดในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบที่ 2 ของพวกเขาในฤดูร้อน 2022 เมื่อทีมเดินหน้าต่อด้วยการคว้าตัว แมตต์ ทาร์เก็ต ฟูลแบ็กสารพัดประโยชน์, สเวน บอตแมน เสาหลักหินที่กลายเป็นคนค้ำยันแนวรับของนิวคาสเซิล ร่วมกับ นิค โป๊ป ผู้รักษาประตูมือกาว

           

นิวคาสเซิลยังได้ ‘สตาร์’ คนแรกของพวกเขาคือ อเล็กซานเดอร์ อิซัค กองหน้าดาวเด่นทีมชาติสวีเดนที่ย้ายมาจากเรอัล โซเซียดาด ด้วยค่าตัวสถิติสโมสรคือ 63 ล้านปอนด์ ซึ่งความจริงตอนแรกทีมเกือบจะถอดใจแล้ว เพราะค่าตัวที่ถูกตั้งไว้สูงถึง 80 ล้านปอนด์

           

แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในเกมที่นิวคาสเซิลสู้ยิบตาจนเสมอกับแมนฯ ซิตี้ ได้ 3-3 ในช่วงต้นฤดูกาล ซึ่งประธานสโมสร ยาเซียร์ อัล-รูมายยาน เข้ามาชมเกมพอดี และได้เห็นถึงความพัฒนาอย่างรวดเร็วของทีม และได้เห็นว่าถึง คัลลัม วิลสัน จะเป็นกองหน้าที่ยอดเยี่ยม แต่ก็มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บ จนทำให้เหลือทางเลือกแค่ คริส วูด

           

การสั่งให้เดินหน้าคว้าตัวอิซัคจึงเกิดขึ้นหลังเกมนั้น

           

ทั้งหมดนี้ร่วมกับนักเตะเดิมของทีมหลายรายอย่างวิลสัน, ฟาเบียน แชร์, ฌอน ลองสตาฟฟ์ และขวัญใจของทีมอย่าง มิเกล อัลมิรอน ช่วยกันเปลี่ยนแปลงนิวคาสเซิลให้กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งขึ้นแบบผิดหูผิดตา เป็นหนึ่งในทีมที่กล้าพูดได้ว่าดีที่สุดของอังกฤษตั้งแต่เริ่มปี 2022 จนถึงปี 2023 โดยแทบไม่มีนักเตะคนไหนเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าเลย

           

ถามว่าการมีเงินมีส่วนช่วยไหม? มีแน่นอน

           

แต่สิ่งที่ทำให้นิวคาสเซิลมาไกลขนาดนี้คือ การลงทุนที่ยอดเยี่ยมและเลือกตัวเลือกที่ถูกต้อง เหมาะสมกับทีม โดยที่การลงทุนทั้งหมดยังอยู่ในกฎ FFP (นิวคาสเซิลจ่ายค่าเหนื่อยนักฟุตบอลยังไม่เท่าทีมระดับท็อป 6 หรือแม้แต่เอฟเวอร์ตันในเวลานี้)

 

 

ระบบใหม่ ‘The Swarm’

 

ชื่อเสียงของ เอ็ดดี ฮาว ที่เป็นที่โจษจันกันในวงการฟุตบอลอังกฤษคือ การทำทีมเล่นฟุตบอลในสไตล์สวยงาม บอลจากเท้าสู่เท้า และเน้นการคอนโทรลเกม

           

แต่เมื่อมาคุมทีมนิวคาสเซิล ดูเหมือนฮาวจะค้นพบตัวตนใหม่อีกด้านของการเป็นผู้จัดการทีม ด้วยการเปลี่ยนแนวมาเป็นกุนซือเจ้าแท็กติกที่วางหมากการเล่นอย่างแยบยล ไม่เป็นผู้จัดการทีมที่อ่อนต่อโลก ซึ่งสะท้อนผ่านผลงานในทีมอย่างบอร์นมัธ ที่ตกชั้นเพราะยึดมั่นกับการเล่นสวยงามอย่างเดียว

 

จุดที่น่าสนใจคือ ระบบการเล่นใหม่ของนิวคาสเซิลมีพื้นฐานอยู่ที่ ‘เกมรับ’ และเกมรับของพวกเขานั้นไม่ได้หมายถึงการลงมาแพ็กเกมในแดนของตัวเองแล้วรอสวนกลับ

           

ในทางตรงกันข้าม นิวคาสเซิลจะพยายามไล่บีบคู่แข่งตั้งแต่แดนบน ไล่กันแบบดุดันจริงจัง ไล่จนทำให้คู่แข่งไม่สามารถเล่นได้หรือเล่นได้ยากที่สุด และเสียบอลกลับมาไวที่สุด

           

ระบบการเล่นแบบนี้ไม่ใช่ระบบที่ทำได้ง่าย หากแต่ต้องเกิดจากการฝึกซ้อมกันมาเป็นอย่างดี และใช้พลังกาย-พลังใจสูงมากที่จะสามารถเล่นเพรสซิงหนักในระดับนั้นได้

           

แต่ยากแค่ไหนนิวคาสเซิลก็ทำ โดยฮาวได้ติดตั้งระบบการเล่นใหม่ที่มีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘The Swarm’ ให้กับนิวคาสเซิลในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมาช่วงพรีซีซันมหาโหด โดยไอเดียหลักก็คือ การขึ้นไปไล่และล่าบอลจากคู่แข่งแบบเป็น ‘ฝูง’ พยายามเข้าปะทะตัดเกมแบบมีจุดหมาย และพยายามสร้างเกมบุกหลากหลายมุม มีแพตเทิร์นการขึ้นบอลที่หลากหลาย

           

ดังนั้นถึงการเล่นแบบนี้จะเหนื่อยยากแค่ไหน แต่การเตรียมทีมที่เข้มข้นในช่วงพรีซีซันทำให้สภาพร่างกายและจิตใจของนักเตะพร้อมที่จะต่อสู้ และยืนระยะในการต่อสู้ที่หนักหน่วงมาได้ตลอดทั้งฤดูกาล

           

โดยอีกจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ เกมรับของทีมที่แข็งแกร่ง ทะลวงประตูยากสุดๆ เพราะไลน์แบ็กโฟร์และผู้รักษาประตูเหนียวแน่นอย่างมาก และเป็นกลุ่มคนปิดทองหลังพระให้ทีม

 

 

ความหวัง ความผิดหวัง พลัง และสิ่งสำคัญที่สุด

 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิวคาสเซิลกลายเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมอย่างมากคือ ‘พลัง’ ของเหล่า ‘ทูนอาร์มี’ กองเชียร์ของพวกเขา

           

ทูนอาร์มีนั้นขึ้นชื่อลือชาในอังกฤษว่า เป็นแฟนบอลที่รักสโมสรมากที่สุดทีมหนึ่ง ทรงพลังมากที่สุด และคลั่งไคล้มากที่สุด เพียงแต่ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องทนทุกข์กับการมีเจ้าของสโมสรที่ไม่ให้การสนับสนุนทีม ทำให้นิวคาสเซิลกลายเป็นทีมที่ไร้ซึ่งความหวัง

           

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็กลายเป็นการจุดประกายให้พวกเขาฮึกเหิมอีกครั้ง และพลังจากกองเชียร์ที่มีความสุขกับการได้เห็นทีมที่รักต่อสู้กับทีมอื่นอย่างสุดชีวิต ก็ทำให้พวกเขายิ่งเชียร์แบบสุดหัวใจกันมากขึ้น

           

พลังที่ส่งแลกกันไปมาระหว่างนักฟุตบอลกับกองเชียร์ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นความหวังขึ้นมา

           

ภาพของทูนอาร์มีนับหมื่นที่เดินทางจากไทน์ไซด์ไปยึดจัตุรัสทราฟัลการ์ ใจกลางลอนดอน ในช่วงก่อนเกมนัดชิงลีกคัพกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นภาพที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่ถึงพวกเขาจะต้องพบกับความผิดหวังในวันนั้น (แพ้ต่อแมนฯ ยูไนเต็ด 0-2) แต่นิวคาสเซิลก็เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลัง เพราะพวกเขารู้ดีว่าทีมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด อย่างเช่น การติดกลุ่มไปรายการสโมสรยุโรป โดยเฉพาะในรายการใหญ่อย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

           

ในขณะเดียวกัน เอ็ดดี ฮาว รู้ดีว่าพลังอันยิ่งใหญ่นั้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง และงานของเขาคือ การพยายามทำให้ทีมยังคงรักษาสมาธิไปกับการทำหน้าที่ในสนาม ไม่อ่อนไหวไปกับเสียงเชียร์หรือเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นจากแฟนบอลที่พร้อมจะสวิงไปมาตลอดเวลา

           

นิวคาสเซิลต้องแบกรับความหวังและพลังของแฟนบอลแบบมีสติ เพราะฮาวรู้ดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะพาทีมไปสู่จุดสูงสุดเท่าที่จะไปได้คือ ‘ความสม่ำเสมอ’ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นิวคาสเซิลเป็นหนึ่งในทีมที่รักษามาตรฐานการเล่นเอาไว้ได้ตลอดทั้งฤดูกาล ต่อให้มีวันที่พลาด พวกเขาก็จะไม่สะดุดนาน จะรีบลุกขึ้นมาใหม่ เพื่อเดินหน้าต่อไป

           

ดังนั้นความสำเร็จด้วยการเป็น ‘Top 4’ นั้น แม้มันอาจจะดูเร็วมากสำหรับทีมที่เมื่อ 18 เดือนก่อนยังมองไม่เห็นอนาคตอยู่เลย แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ หากแต่เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

           

การกลับไปแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง จึงเป็นรางวัลตอบแทนที่เหมาะสมและคู่ควรกับความพยายามที่เหนื่อยยากมาตลอดทั้งฤดูกาล

           

แต่มันจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางของพวกเขา ในทางตรงกันข้าม มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการไปสู่ความยิ่งใหญ่เท่านั้น

           

นิวคาสเซิลยังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก และมีโอกาสจะเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอลอังกฤษอีกทีมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ถ้าพวกเขายังรักษาแนวทางที่ดีแบบนี้ไว้ได้ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising