×

5 คำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่จะทำให้ปี 2019 มีความสุขมากขึ้น

03.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ในความเป็นจริงเเล้ว คนอื่นๆ เขาไม่ได้เเคร์หรือเเยเเสอะไรกับเรามากอย่างที่เราคิด ฉะนั้นอย่าไปคิดมากว่าคนอื่นเขาจะเเคร์กับสิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราเป็นมากจนเครียดเกินไป
  • เวลาเห็นชีวิตคนอื่นบนโซเชียลมีเดีย อย่าไปปักใจเชื่อว่าชีวิตของคนอื่นเขาดีกว่าของเราเเค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเห็นในโลกโซเชียลเป็นเพียงสิ่งที่คนอื่นๆ เขาคัดกรองมาเรียบร้อยเเล้ว
  • ถ้าอยากจะทำอะไรสักอย่างที่อยากทำ เเต่ดูแล้วน่าจะทำได้ยาก อย่างเช่น เลิกบุหรี่ หรือไดเอต หนทางที่ดีที่สุดก็คือ Make Commitment หรือสร้างพันธะผูกพันที่จะทำให้ตัวเองดิ้นไม่หลุด

หลายคนเริ่มต้นปีใหม่ 2019 ด้วยการลิสต์ New Year’s Resolution ไว้อย่างยาวเหยียด ซึ่งแต่ละอย่างล้วนเป็นเรื่องท้าทาย และน่าทำให้สำเร็จ เพื่อเติมเต็มความสุขในชีวิตตลอดทั้งปี

 

แต่นอกเหนือจาก New Year’s Resolution ของใครของมันแล้ว นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยังให้คำแนะนำสำหรับทุกคนที่จะทำให้ปี 2019 มีความสุขมากขึ้นด้วย และนี่คือ 5 สิ่งที่คุณควรทำให้สำเร็จในปีนี้

 

1. ทำความเข้าใจ The Spotlight Effect

The Spotlight Effect ก็คือความเชื่อที่คนเรามี ว่ามีคนอื่นๆ ที่กำลังจ้องมองเราอยู่ เเละเเคร์ในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็อาจจะส่งผลทำให้เรากังวลเเละเเคร์มากจนเกินไปว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา

 

เเต่ในความเป็นจริงเเล้ว คนอื่นๆ เขาไม่ได้เเคร์หรือเเยเเสอะไรกับเรามากอย่างที่เราคิด (ส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าคนอื่นเขาก็มีสิ่งที่ต้องกังวลในชีวิตของเขาเองอยู่เเล้ว) เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดมากว่าคนอื่นเขาจะเเคร์กับสิ่งที่เราทำ หรือสิ่งที่เราเป็นมากจนเครียดเกินไป

 

2. ภาพที่เห็นบนโลกโซเชียลอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นคือ ควรทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับชีวิตของคนอื่น ไม่ใช่ True Representation ในชีวิตของพวกเขาจริงๆ เพราะสิ่งที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียเป็นเพียงสิ่งที่คนอื่นๆ เขาคัดกรองมาเรียบร้อยเเล้ว มันเป็นเพียงเเค่เสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเขา ที่เขาอยากจะให้คนอื่นๆเห็น (เเละบางทีมันอาจจะเป็นเพียงเเค่การสร้างภาพ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง อย่างเช่น เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น)

 

เพราะฉะนั้น คำแนะนำคือ อย่าไปปักใจเชื่อเวลาที่เราเห็นโพสต์ของคนอื่นว่าชีวิตของคนอื่นเขาดีกว่าของเราเเค่ไหน ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เรามีความรู้สึกเเย่กับชีวิตของตัวเอง หรืออย่าไปปักใจว่าเรากำลัง Missing Out หรือกำลังพลาดอะไรไปในชีวิตเพียงเพราะเราอาจจะไม่ได้โพสต์ในสิ่งที่คนอื่นโพสต์

 

3. ระวังเรื่อง Focusing Illusion

Focusing Illusion เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่เรากำลังพิจารณาว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุข

 

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรากำลังพิจารณาว่าควรจะลาออกไปทำงานที่ใหม่ที่ให้เงินเดือนสูงเเต่อยู่ไกลบ้าน และต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มไปอีกหนึ่งชั่วโมงดีไหม

 

โอกาสที่เราจะไปโฟกัสกับ ‘เงินเดือนที่สูงขึ้น’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของงานใหม่ที่ค่อนข้างจะเด่นชัดที่สุด ก็จะสูงกว่าที่เราจะไปโฟกัสกับ ‘การใช้เวลาอยู่บนถนนเพิ่มวันละ 2 ชั่วโมง’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของงานใหม่ที่ไม่เด่นเท่า เเละปัญหาของการให้น้ำหนักของการตัดสินใจไม่เท่ากันนี้ สามารถทำให้ประสบการณ์หลังที่เราเลือกงานไปเเล้วออกมาเเย่กว่าประสบการณ์ที่เราคิดว่าควรจะเป็นก่อนที่เราจะเลือกเยอะ

 

4. เอาของรักเป็นตัวประกัน

ถ้าอยากจะทำอะไรสักอย่างที่อยากทำ เเต่ดูแล้วน่าจะทำได้ยาก อย่างเช่น เลิกบุหรี่ หรือไดเอต หนทางที่ดีที่สุดก็คือ Make Commitment หรือสร้างพันธะผูกพันที่จะทำให้ตัวเองดิ้นไม่หลุด

 

ตัวอย่างเช่น อยากเลิกบุหรี่ใช่ไหม ก็เอาของที่เรารักที่สุด (อย่างเช่น กีตาร์สุดโปรด) ไปฝากไว้ที่เพื่อนสนิท พร้อมๆ กับบอกพวกเขาว่า “ถ้าเห็นเราสูบบุหรี่เพียงเเค่ครั้งเดียวในปีนี้ คุณเอาสิ่งที่ผมรักที่สุดนี้ไปทำลายได้เลยนะ”

 

หรือถ้าอยากไปเที่ยวไหนปลายปี เเต่กลัวไม่ได้ไป เพราะงานรัดตัว ก็ต้องจองตั๋วเเบบที่รีฟันด์ไม่ได้ไปเลยตั้งเเต่วันนี้

 

ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะว่าการสร้าง Pre-Commitment เป็นการสร้าง Potential Loss Conditions ให้กับตัวเราเองเเทนการไม่มีอะไรจะเสียเลย (เเละคุณก็รู้ว่าคนเราเกลียดการสูญเสียขนาดไหน)

 

5. ลงมือทำแม้สุดท้ายจะล้มเหลว

การเลือกที่จะทำในสิ่งที่อยากจะทำ ถึงเเม้ว่าทำเเล้วจะเฟล นั้นดีต่อความสุขของเรามากกว่าการเลือกไม่ทำในสิ่งที่อยากจะทำ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการหาเหตุผลมาอธิบายกับสิ่งที่ทำไปเเล้วเเต่ออกมาเฟล มันง่ายกว่าการหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่อยากทำเเต่ไม่ได้ทำเยอะมาก

 

Have A Happy 2019!

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X