×

จะปีไหนก็ทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จสักที? ผู้เชี่ยวชาญชี้ คนเราเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยาก แต่ก็มีวิธีที่ช่วยเปลี่ยนได้อยู่

13.01.2023
  • LOADING...
ทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จ

ช่วงปีใหม่ ไม่ว่าใครก็ต้องตั้งเป้าหมายประจำปีกันทั้งนั้น ทั้งฝึกทักษะใหม่ ออกกำลังกายให้ได้เสียที มีบ้านหลังแรก เรียนภาษาเพิ่ม หรือเล่นโซเชียลมีเดียน้อยลง แต่ไม่ว่าจะปีที่แล้ว ปีนี้ หรือจะปีไหน ก็ไม่เห็นจะทำได้สักที แล้วก็ท้อใจ ผลัดไปเป็นปีหน้าแทน ทำไมคนเราถึงทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จเสียที?

 

จากงานศึกษาของ ลิซ่า ลาฮีย์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบสถิติที่บ่งบอกถึงความเป็นจริงอันน่าตกใจว่า เมื่อแพทย์แจ้งผู้ป่วยโรคหัวใจว่าพวกเขาจะเสียชีวิตในไม่ช้า หากไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิต มีเพียง 1 ใน 7 เท่านั้นที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้สำเร็จ

 

จากงานศึกษาวิจัยตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาล้วนชี้ให้เห็นตรงกันว่า มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความดื้อรั้นต่อการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นเรื่องของความเป็นความตายก็ตาม ลาฮีย์ต้องการให้ผู้คนเข้าใจว่าความดื้อรั้นเหล่านั้นจะทำลายเป้าหมายใหม่ในปีใหม่ของเราได้อย่างไร เธอกล่าวว่า คนเราเข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างมันทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เราต้องให้เวลากับตัวเองมากกว่านี้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สำหรับลาฮีย์แล้ว สิ่งที่แย่ที่สุดของการกำหนดเป้าหมายใหม่ในช่วงปีใหม่นั้นไม่ใช่ว่าพวกเราทำมันไม่สำเร็จในปลายปี แต่เป็นการที่เรามักจะตำหนิตัวเองเมื่อเรารู้ตัวว่าเราทำมันไม่ได้ 

 

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเลยก็คือ หลายคนมักตั้งเป้าหมายในปีใหม่ว่าอยากลดน้ำหนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งปีแล้วเรายังคงมีความสุขกับการกินหมูกระทะอยู่ เรามักจะพูดกับตัวเองว่า “ทำไม่ได้หรอก ช่างมันเถอะ ก็เราชอบของอร่อยนี่” หรือ “เป้าหมายเดิม จะปีที่แล้ว ปีนี้ หรือปีหน้า ยังไงเราก็ทำไม่ได้ กินต่อเถอะ” ซึ่งนั่นทำให้พลังใจในการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองของเราลดฮวบโดยไม่รู้ตัว

 

ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราสามารถเอาชนะความรู้สึก “ช่างมันเถอะ ยังไงก็ทำไม่ได้” ออกไปจนได้ เราจะทำมันได้อย่างแน่นอน ลาฮีย์ยกตัวอย่างถึงคนที่ไม่เคยมีความคิดว่าอยากเลือกกินอาหารที่ดีหรืออยากออกกำลังกาย คนคนนี้พบว่า ระบบเผาผลาญทำงานช้าลงตามอายุ ความคิดเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองจะเริ่มเข้ามาวนเวียนอยู่ในหัว หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’ นั่นแหละ

 

และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงและไปถึงเป้าหมายให้ทันปลายปี ลาฮีย์ก็มีวิธีการแนะนำ ซึ่งทำได้ง่ายดายใน 4 ขั้นตอนเท่านั้น ลองหยิบกระดาษขึ้นมาสักแผ่น แบ่งกระดาษออกเป็น 4 ส่วน และให้เวลากับตัวเองสักหน่อย

 

ขั้นตอนที่ 1 ตั้งเป้าหมายว่าอยากทำอะไร อยากพัฒนาตัวเองในทางไหน และต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะสามารถทำได้สำเร็จ

 

ขั้นตอนที่ 2 มองกลับมาที่ตัวเองว่าตอนนี้เรามีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้เป้าหมายนั้นไม่สำเร็จเสียที ถึงจุดนี้เราจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

 

ขั้นตอนที่ 3 ขุดค้นลงไปในใจตัวเองว่าเพราะอะไรกันแน่เราถึงมีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคกับเป้าหมายของตัวเอง

 

ขั้นตอนที่ 4 สารภาพความรู้สึกทั้งหมดในใจออกมาว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเป้าหมายนี้ พฤติกรรมที่ทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จสักที

 

หลังจากที่ลาฮีย์ใช้แบบฝึกหัดนี้กับผู้คนที่ตั้งเป้าหมายและทำไม่สำเร็จเสียที เธอพบว่า ส่วนใหญ่ในส่วนที่ 4 ของแบบฝึกหัดมักจะไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับส่วนที่ 1 เธอพบว่า คุณแม่คนหนึ่งที่อยากออกกำลังกายให้มากกว่านี้ สารภาพความรู้สึกในส่วนที่ 4 ออกมาว่า เธอรู้สึกผิดที่จะต้องทิ้งให้ลูกอยู่บ้านตามลำพังในเวลาที่เธอออกไปออกกำลังกายที่ยิม สุดท้ายเธอก็ได้วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด

 

ถ้าคุณแม่ยังเข้าใจว่าที่ไม่ยอมไปออกกำลังกายอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้สักทีเพราะว่าขี้เกียจ การแก้ปัญหาก็น่าจะไม่พ้นการลากตัวเองไปออกกำลังกายหรือสมัครสมาชิกยิมราคาแพงเอาไว้ก่อน จะได้เสียดายเงินและรีบไปใช้บริการ แต่เมื่อเธอรู้ปัญหาที่แท้จริงแล้วว่าคือความเป็นห่วงลูก การแก้ปัญหาจึงเป็นการจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาอยู่กับลูกในช่วงเวลาที่เธอจะไปออกกำลังกายแทน

 

หลังจากนั้นคุณแม่ก็พบว่า เธอไปออกกำลังกายที่ยิมได้โดยไม่ต้องกังวลอะไร และลูกของเธอก็ไม่เหงาเมื่อต้องอยู่ที่บ้าน กลับสนุกขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมีพี่เลี้ยงเด็กคอยเล่นด้วยอยู่ตลอด เธอรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่ทั้งสามารถไปออกกำลังกาย ดูแลตัวเองได้ และสามารถดูแลลูกได้เป็นอย่างดี

 

ลาฮีย์กล่าวว่า ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้คนรู้สึกผิดหรือรู้สึกอับอายน้อยลงเมื่อทำตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ไม่สำเร็จ พวกเขาไม่ได้เป็นคนขี้เกียจอย่างที่เข้าใจผิดไป เพียงแค่แก้ปัญหาไม่ถูกจุดเท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ได้รับวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดแล้ว อะไรก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X