×

ยานยนต์พลังสะอาด เทรนด์การคมนาคมแนวใหม่แห่งโลกอนาคต

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ผู้นำและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, จีน, อินเดีย ต่างเริ่มวางแผนกำหนดทิศทางและเป้าหมายในอนาคตเกี่ยวกับการคมนาคมและการสัญจรภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหามลพิษทางอากาศ
  • รัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ารถยนต์ใหม่ รวมถึงยานพาหนะชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป
  • เนเธอร์แลนด์ต้ังเป้าหมายไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จะยุติผลิตและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยจะหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือก (โดยเฉพาะรถยนต์พลังไฟฟ้า) มากยิ่งขึ้น

     ปัจจุบันทุกประเทศต่างกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่นับวันจะร่อยหรอลงไปทุกที จึงทำให้หลายประเทศจำเป็นจะต้องนำเข้าน้ำมันและแก๊สในราคาสูง ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆในสังคม โดยเฉพาะภาคครัวเรือน

     อีกทั้งยังต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) โดยสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ในยานพาหนะประเภทต่างๆ ที่มีจำนวนมากเกินไป จนทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา

     นอกเหนือไปจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Agreements/Treaties) เช่น พิธีสารเกียวโต ข้อตกลงโคเปนเฮเกน และความตกลงปารีส ที่ผู้นำหรือตัวแทนจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จะมาประชุมหารือร่วมกันถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกันประหนึ่งห่วงโซ่นี้แล้ว ภายในแต่ละประเทศยังจะต้องเตรียมแผนจัดการต่อปัญหานี้ที่นานวันอาจจะรับมือได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

     ผู้นำและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศจึงเริ่มวางแผน กำหนดทิศทางและเป้าหมายในอนาคตเกี่ยวกับการคมนาคมและการสัญจรภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ล้วนส่งผลต่อคุณภาพ ความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และชั้นบรรยากาศโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

สหราชอาณาจักร

     รัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งเป้าจะยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รวมถึงยานพาหนะชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์เหล่านี้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

     รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จะจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพอากาศราว 11,000 ล้านบาท นำมาจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในการแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศ รวมทั้งยังจะจัดสรรงบประมาณอีกกว่า 8,700 ล้านบาทให้ทางการท้องถิ่นดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในเส้นทางที่ประสบปัญหาเรื่องควันพิษและมลภาวะทางอากาศอยู่แล้ว

     นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ยังได้ร่วมกันร่างแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่วันข้างหน้า (31 ก.ค.)

     ทางด้านนางเทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม ได้ออกมาย้ำจุดยืนของตนต่อเรื่องนี้ โดยตนจะทำตามนโยบายที่เคยได้ประกาศไปแล้วว่า “จะพยายามทำให้รถยนต์และยานพาหนะเกือบทั้งหมดบนท้องถนนในอังกฤษไม่สร้างมลพิษ (Zero emission) ให้ได้ภายในปี 2050”

     แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสหราชอาณาจักรมีผู้ใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก (รถยนต์พลังไฟฟ้า) เพียง 5% เท่านั้น ผู้ขับขี่หลายรายแสดงความกังวลใจต่อเรื่องของราคา รวมถึงจุดชาร์จไฟที่มีเพียง 12,000 จุดทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หากผู้ขับขี่ต้องการที่จะชาร์จไฟหลายคนพร้อมกัน

     สเตฟานี เบรนลีย์ (Stephanie Brinley) นักวิเคราะห์จากสถาบันจัดหาข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจชื่อดังของเกาะอังกฤษอย่าง IHS Markit เห็นสอดคล้องกับ คาร์ลอส ทาเวเรส (Carlos Tavares) หัวเรือใหญ่ของบริษัทผลิตรถยนต์ PSA Group ว่า ในปีที่ผ่านมาคนอังกฤษซื้อรถใหม่ถึง 2.7 ล้านคัน นับเป็นตลาดค้ารถที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ดังนั้น การจะยกเลิกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงอาจจะทำได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าหากรัฐบาลหรือนักการเมืองให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้จริงๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างพร้อมที่จะปรับตัว แต่อาจจะต้องอาศัยเวลาสักระยะ

 

 

เนเธอร์แลนด์

     นอกจาก ‘กังหันลม’ จะเป็นกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของประเทศนี้แล้ว ภาพที่ผู้คนต่างพากันใช้จักรยานในการเดินทาง ก็กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ใครหลายคนนึกถึงเมื่อได้ยินชื่อประเทศนี้ จนอาจจะเรียกได้ว่าเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีคนใช้จักรยานมากที่สุดในโลกก็ว่าได้

     ประเทศนี้ก็เป็นประเทศยุโรปอีกแห่งที่ต้ังเป้าหมายไว้ว่าจะยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง นับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป โดยจะหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น

     ในปัจจุบันพลเมืองชาวฮอลแลนด์นิยมเดินทางด้วยจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นส่วนใหญ่หากต้องเดินทางระยะไกล และมีผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียง 10% เท่านั้น

     แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งโครงการ ‘One Huge Living Lab for Smart Charging of Electric Vehicles’ ขึ้น เพื่อที่จะสนับสนุนให้ผู้ขับขี่ทุกคนหันมาใช้รถยนต์พลังงานสะอาดกันมากยิ่งขึ้น โดยเมืองสำคัญๆ อย่าง อัมสเตอร์ดัม, รอตเทอร์ดัม, กรุงเฮก และเมืองอื่นๆ อีกกว่า 325 เมือง ซึ่งต่างก็ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลเป็นอย่างดี

     โดยความพิเศษของโครงการนี้อยู่ตรงที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป นักศึกษา ข้าราชการ กลุ่มงานเอกชนต่างๆ เข้ามามีส่วนในการผลักดันและลดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมของประเทศร่วมกัน

     โดยจะมีการจัดตั้งจุดชาร์จไฟตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ในระยะแรกจะมีการทดลองใช้ วิเคราะห์ และประเมินผลร่วมกัน ที่สำคัญคือ พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายนั้น ถูกผลิตขึ้นจากพลังงานสะอาด อย่างพลังงานลมและพลังงานความร้อนที่ได้จากดวงอาทิตย์อีกด้วย ไม่แน่ว่าเนเธอร์แลนด์อาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้บนท้องถนนมีแต่รถยนต์พลังงานสะอาดก็เป็นได้

 

 

จีน

     ประเทศพี่ใหญ่แห่งทวีปเอเชียนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในโลก’ จึงทำให้จีนประสบปัญหาหมอกควันและอากาศเป็นพิษในหลายพื้นที่ จากการรายงานเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ครั้งล่าสุด (2012) พบว่า คนจีนเสียชีวิตจากการสูดอากาศที่มีคุณภาพต่ำสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี รองลงมาคือ อินเดียและรัสเซีย ตามลำดับ (ในขณะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตจากปัญหานี้เฉลี่ย 22,375 คนต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 33 คนต่อประชากร 1 แสนคน)

     จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน ทุ่มงบประมาณกว่า 735 ล้านดอลลาร์ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า

     การตั้งเป้าให้ผู้ขับขี่ใช้รถยนต์พลังงานสะอาด 100% เหมือนประเทศอื่นๆ อาจจะเป็นเป้าหมายที่ยากเกินไปสำหรับจีนในตอนนี้ รัฐบาลจึงตั้งเป้าเพียงว่าจะพยายามสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้รถยนต์ประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นราว 60% ของผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งหมด ภายในปี 2030

     นอกจากนี้ทางการจีนจะออกมาตรการจำกัดจำนวนรถยนต์ใหม่ที่ยังใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและการจราจรติดขัด

     ทั้งนี้ Xinhua News สำนักข่าวทางการของจีนยังระบุว่า ปัจจุบันจีนมีจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานทางเลือกนี้กว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับตอนต้นปี 2016 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีคมนาคมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดย Bloomberg New Energy Finance คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะใช้งบประมาณทั้งหมด (2016-2020) ราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในการผลักดันเรื่องนี้

 

 

อินเดีย

     หากพูดถึงประเทศจีนแล้ว แต่จะไม่กล่าวถึงอินเดียก็คงจะไม่ได้ เพราะนอกจากประเทศนี้จะมีจำนวนประชากรมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกันแล้ว อินเดียเองก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาอากาศเป็นพิษ

     จากรายงานการสำรวจมลภาวะทางอากาศในอินเดียของ Greenpeace (2017) พบว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีคนอินเดียเสียชีวิตจากปัญหามลพิษทางอากาศเฉลี่ยสูงถึง 1.2 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี อีกทั้งยังมีการกล่าวว่า การสูดอากาศที่อินเดียเพียงไม่กี่นาทีเท่ากับการสูบบุหรี่ 10 มวนต่อวันเลยทีเดียว

     รัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งแผนการ National Electric Mobility Mission Plan ขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะจำหน่ายรถยนพลังงานไฟฟ้าหรือรุ่นไฮบริดให้ได้ 6-7 ล้านคันต่อปี ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า และตั้งเป้าให้บนท้องถนนของอินเดียมีแต่รถที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ (Zero emission) 100% ภายในปี 2030

     อีกทั้งอินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นของตัวเอง จึงทำให้ราคารถยนต์ภายในประเทศไม่แพงมากนัก กลายเป็นสินค้าที่ชนชั้นกลางในอินเดียมีกำลังซื้อได้ ยิ่งถ้าหากครอบครัวใดตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์พลังงานสะอาดเป็นรถยนต์คันแรก ก็อาจจะยิ่งทำให้อินเดียแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศในการตอบรับและปรับตัวต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น

     การตัดสินใจสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แทนที่รถยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงแบบเก่าของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร อาจจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานภายในประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างเยอรมนีโดยตรง เนื่องจากในปีที่ผ่านมา เยอรมนีส่งออกรถยนต์ไปขายยังสหราชอาณาจักรสูงถึง 8 แสนคัน หรือคิดเป็น 20% ของรถยนต์ที่มีการซื้อขายกันในตลาดโลก แผนการในครั้งนี้อาจทำให้คนงานกว่า 6 แสนคนตกงาน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงต้องอาศัยการปรับตัวและระยะเวลาพอสมควร

     นอกจากประเทศที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, ไอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, นอร์เวย์, โปรตุเกส, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสเปน เป็นต้น ที่ผู้นำและคณะรัฐบาลเห็นความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ปรับกลยุทย์ในการบริหารจัดการประเทศด้านคมนาคมให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลกทุเลาลง

     สำหรับประเทศไทยเองที่อาจจะยังคงตื่นตัวต่อเรื่องนี้ช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่เราสามารถศึกษาและเรียนรู้จากแนวทางเหล่านั้นได้ โดยเริ่มต้นหันหน้าคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

 

Photo: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising