×

นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ในเทือกเขาแอนดีส เผยเป็นการค้นพบเหนือความคาดหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2020
  • LOADING...
สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Conservation International องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้ประกาศการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ 20 ชนิดในเขตเทือกเขาแอนดีสของประเทศโบลิเวีย รวมถึงมีการพบเห็นลักษณะของพืชและพันธุ์สัตว์หลายชนิดที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

สำหรับจุดที่ค้นพบคือหุบเขาซองโก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรุงลาปาซ เมืองหลวงของประเทศโบลิเวีย โดยหุบเขาดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ ‘หัวใจ’ ของภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งตัวหุบเขามีลักษณะภูมิประเทศที่สูงชัน ได้รับการอนุรักษ์อย่างดีให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ

 

การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในงานวิจัยอย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 ธันวาคม) โดยเป็นผลจากการลงพื้นที่สำรวจธรรมชาติในหุบเขาซองโกเป็นเวลา 14 วันในเดือนมีนาคม ปี 2017 ภายใต้การนำของ ทรอนด์ ลาร์เซน นักวิทยาศาสตร์ของ Conservation International

 

ลาร์เซนกล่าวว่าสรรพเสียงที่ได้ยินในหุบเขาซองโกล้วนเป็นการรังสรรค์จากธรรมขาติ จากแมลงทุกชนิด จากกบ จากเสียงนกร้อง จากเสียงกระทบสาดของชั้นน้ำตก ทุกสิ่งทุกอย่างในผืนป่าได้รับการปกคลุมอย่างแน่นหนาจากมอส กล้วยไม้ และต้นเฟิร์น

 

“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากมาย รวมถึงได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว” ลาร์เซนกล่าว

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบในพื้นที่แถบนี้มีทั้งงูพิษภูเขาหัวหอก (Mountain Fer-de-Lance Viper) งูธงโบลิเวีย (Bolivian Flag Snake) และกบลิลลิพุต (Lilliputian Frog) รวมถึงกล้วยไม้และผีเสื้อสวยงามหลายชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน


ลาร์เซนอธิบายว่างูพิษภูเขาหัวหอกนี้ถือเป็นงูพิษร้ายแรง และมีตัวตรวจจับความร้อนบริเวณหัวไว้สำหรับช่วยในการล่าเหยื่อ

 

ขณะที่ในส่วนของงูธงโบลิเวียนั้นได้ชื่อมาเพราะลักษณะตัวที่มีสีแดง เหลือง และเขียวตามสีธงชาติของประเทศโบลิเวีย โดยทีมงานสำรวจค้นพบงูดังกล่าวในพงหญ้าที่หนาแน่นในจุดที่สูงที่สุดของหุบเขาซองโก

 

ส่วนสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจที่ทีมงานค้นพบก็คือสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกอย่างกบลิลลิพุต โดยมีความยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร และมีร่างกายสีน้ำตาล ทำให้ง่ายต่อการอำพรางตัว รวมถึงมีพฤติกรรมชอบหลบซ่อนอยู่ในชั้นมอสและชั้นดินหนา แต่ทีมสำรวจค้นพบได้ด้วยการตามเสียงเรียกของเจ้ากบเหล่านี้

 

สำหรับชื่อลิลลิพุตนี้เป็นชื่ออาณาจักรลิลลิพุตจากวรรณกรรมเด็กแสนคลาสสิกเรื่องการเดินทางของกัลลิเวอร์ ซึ่งเป็นอาณาจักรของมนุษย์ตัวจิ๋วนั่นเอง

 

นอกจากสัตว์แล้ว พันธุ์พืชอย่างกล้วยไม้ป่าที่มีหลายขนาด หลายรูปร่าง และหลายเฉดสีก็เป็นอีกหนึ่งการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น กล้วยไม้ป่าสายพันธุ์ใหม่อย่าง Adder ที่บริเวณใจกลางดอกเลียนแบบรูปร่างของแมลงได้อย่างแนบเนียน ทำให้ช่วยอำนวยความสะดวกกล้วยไม้ในการผสมพันธุ์เกสร

 

แม้ว่าพันธุ์สัตว์และพืชที่ค้นพบจะเป็นสิ่งใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งหมดกลับเป็นสิ่งที่รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีในหมู่ชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ เช่น ต้นไผ่สายพันธุ์ใหม่ที่ทีมงานพบว่าเป็นสิ่งที่ชาวชนเผ่าพื้นเมืองใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและทำเครื่องดนตรีประเภทเป่ามาอย่างช้านาน

 

ทั้งนี้ นอกจากการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่แล้ว ทางทีมสำรวจยังได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เคยเชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้วอีก 4 ชนิดด้วยอย่าง กบตาปีศาจ (Devil-eyed Frog) ซึ่งมีร่างกายเป็นสีดำ ดวงตาสีแดงเข้ม โดยบันทึกระบุว่ามีการพบเห็นครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ปีก่อน จนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในถิ่นที่กบเหล่านี้อาศัยอยู่ ทำให้กบชนิดนี้ต้องย้ายถิ่นฐาน และไม่มีการพบเห็นอีกจนนักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่ากบชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

“เมื่อคิดว่าความพยายามเดินทางสำรวจค้นหาก่อนหน้าล้มเหลวมานับไม่ถ้วน เราไม่คิดว่าเราจะค้นเจอ (จนพบมัน) และเมื่อเราพบ มันทำให้เราประหลาดใจและตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่ามันยังไม่สูญพันธุ์ไป” ลาร์เซนกล่าว

 

ด้านสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบในหุบเขาซองโกและนักวิทยาศาสตร์คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วคือผีเสื้อเทพารักษ์ (Satyr Butterfly) ซึ่งมีการพบครั้งสุดท้ายเมื่อ 98 ปีที่แล้ว โดยผีเสื้อบังเอิญติดอยู่ในกับดักที่ใส่ผลไม้ที่สุกงอมไว้

 

ลาร์เซนกล่าวว่าสิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจไม่เคยมีการค้นพบที่ใดบนโลกมากขึ้น และสัตว์ป่าส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างจำเป็นต้องปรับตัว เพราะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หลายชีวิตกำลังอพยพขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูงเพื่อค้นหาสภาพอากาศที่เย็นสบาย ดังนั้นหากไม่รักษา ปกป้อง อนุรักษ์พื้นที่แนวป่าอย่างหุบเขาซองโกไว้ พวกสัตว์ป่าและพันธุ์พืชย่อมไม่มีหนทางหนีหรือโยกย้ายที่จะช่วยให้ปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปได้

 

ด้าน Conservation Interantional กล่าวว่าการสำรวจและค้นพบในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญที่ส่งเสริมสนับสนุนการปกป้องอนุรักษ์พื้นที่ป่า รวมถึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่จะมีส่วนช่วยวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในภูมิภาคที่พื้นที่ป่าไม่ได้เป็นเพียงถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจของคนพื้นเมืองที่ต้องดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาอาศัยป่าด้วยเช่นกัน

 

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

 

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X