×

ยอดขาย ‘รถใหม่’ ส่อฟื้นตัวปีหน้า แต่หนี้เสียยังน่าห่วง กสิกรไทย คาดตลาดเช่าซื้อปี 64 โต 3.7-4.5%

16.12.2020
  • LOADING...
ยอดขาย ‘รถใหม่’ ส่อฟื้นตัวปีหน้า แต่หนี้เสียยังน่าห่วง กสิกรไทย คาดตลาดเช่าซื้อปี 64 โต 3.7-4.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ปี 2563 ยอดขายรถยนต์ใหม่ปีนี้คาดว่าจะติดลบ 20% โดย 9 เดือนที่ผ่านมามียอดขายรถยนต์ใหม่ที่ 5.3 แสนคัน หดตัว 30% เมื่อเทียบปีก่อน ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวลง โดยไตรมาส 3/63 เติบโตเหลือ 3.5% ส่วนหนึ่งเพราะสินเชื่ออนุมัติใหม่ลดลง ทำให้ทั้งปี 2563 คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างเช่าซื้ออยู่ที่ 1.194 ล้านล้านบาท เติบโต 3.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ที่เติบโต 7.7%

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อยังไม่หดตัว เพราะพอร์ตสินเชื่อเดิมมีอยู่ 90% ของพอร์ตทั้งหมด และสินเชื่อใหม่คาดว่าอยู่ที่ระดับไม่เกิน 10% โดยสิ่งที่ต้องจับตามองคือ หนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นหลังมาตรการชะลอการชำระหนี้ โดยระยะแรกมีผู้เข้าโครงการ 54% ณ ไตรมาส 2/63 และไตรมาส 3/63 ลดลงมาที่ 31% เบื้องต้นคาดว่าความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถกลับมาชำระหน้ีได้ อาจมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 5-10% ของพอร์ต ขึ้นกับคุณภาพหนี้ของธนาคารแต่ละแห่ง

 

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าปี 2564 ยอดขายรถยนต์ใหม่จะฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 8.26-8.55 แสนคัน เพิ่มขึ้น 7-11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะหนุนการเติบโตยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อปี 2564 เติบโตในกรอบ 3.7-4.5%

 

โดยยังต้องจับตามองหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่อาจเพิ่มขึ้น เพราะสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ณ ไตรมาส 3/63 จากฐานข้อมูล ธปท. เป็น 9.18% จากระดับเฉลี่ย 7.2% ในช่วง 3 ปี ก่อนภาพปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่น่ากังวล ทั้งนี้ อัตราหนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อค่อนข้างต่ำ เพราะอยู่ที่ 1.6-2.0% ขณะที่สินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ 3.53% 

 

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อมีโอกาสทรงตัวถึงปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีผลต่อการกระตุ้นจำกัด โดยการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อจะเห็นการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน มีทั้งส่วนที่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และการเร่งขยายสินเชื่อใหม่ในตลาดที่แต่ละเจ้าอาจจะยังไม่เคยเข้าถึง แต่คาดว่าการแข่งขันด้านราคาอาจกลับมารุนแรงขึ้นในตลาดลูกค้าศักยภาพ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising