×

กสทช. ตรรกะแปลกประหลาดจริงหรือ ย้อนรอยการประมูล 4G จากวันนั้นถึงวันนี้

09.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ประเทศไทยสร้างสถิติระดับโลกจากการเปิดประมูล 4G เมื่อปี 2558 ทั้งเรื่องจำนวนชั่วโมงที่ใช้และราคาประมูลที่ได้
  • AIS และ TRUE เปิดเกมธุรกิจ 4G ด้วยการถือรายละสองใบอนุญาตทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งโจทย์ที่สำคัญคือการจ่ายงวดสุดท้ายของคลื่น 900 MHz ในปี 2562 ที่สูงถึงรายละกว่า 6 หมื่นล้านบาท
  • ความกดดันสูงสุดตกอยู่ที่ กสทช. เมื่อค่ายมือถือทั้งสองรายเสนอขอยืดระยะเวลาการจ่ายงวดสุดท้ายออกไป ขณะเดียวกัน นี่คือจุดวัดใจของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว

การประกอบธุรกิจทุกประเภทต่างมีความเสี่ยงในการดำเนินการทั้งสิ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกองค์กร สิ่งที่สำคัญคือธุรกิจจะทำอย่างไรเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นดังคาด

 

ยอมรับความจริง หรือขอเปลี่ยนกติกา? 

 

ประเด็นการชำระเงินค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่เป็นเรื่องร้อนที่สังคมให้ความสนใจ ไม่เพียงแต่การตั้งข้อสังเกตต่อภาคเอกชนเท่านั้น หากแต่ท่าทีของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับทำให้นักวิชาการและบางฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่านี่เป็นการอุ้มคนรวยช่วยเอกชนหรือไม่ THE STANDARD ขอย้อนเวลากลับไปวินาทีแรกที่คลื่น 4G เริ่มถูกเคาะประมูลเมื่อ 3 ปีก่อน

 

AIS – TRUE เดิมพันใหญ่ ประมูล 4G ควักแสนล้านชิงสองใบอนุญาต

การประมูลคลื่น 4G ของประเทศไทยเมื่อปี 2558 ซึ่งประกอบด้วยสองคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz สร้างสถิติระดับโลกทั้งจำนวนชั่วโมงที่ผู้เข้าร่วมประมูลอดตาหลับขับตานอนหลายสิบชั่วโมงและตัวเลขการประมูลที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยคลื่น 1800 MHz ใช้เวลาถึง 33 ชั่วโมง และผู้ที่คว้าใบอนุญาตไปคือ AIS ด้วยราคาสุดท้ายเกือบ 4.1 หมื่นล้านบาท และ TRUE ซึ่งเสนอราคาสุดท้ายเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนการประมูลคลื่น 900 MHz ใช้เวลาประมูลถึง 87 ชั่วโมง ซึ่งดุเด็ดเผ็ดมันอย่างที่สุด เนื่องจากบรรดาค่ายมือถือต่างกลัวตกรถไฟขบวนสุดท้ายและดันราคาประมูลไปสูงมากชนิดที่เซียนในวงการอ้าปากค้าง โดยมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาต 2 รายคือ JAS Mobile (บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด) ซึ่งเคาะราคาสุดท้ายประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท และ TRUE ที่คว้าใบอนุญาต 4G ใบที่สองที่ราคาราว 7.6 หมื่นล้านบาท รวมการประมูลทั้งสองคลื่น 4 ใบอนุญาต ประเทศไทย ‘สมควรจะ’ ได้รับเงินเพื่อนำไปพัฒนาและสร้างประโยชน์แก่ชาติได้ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท

 

แต่เรื่องไม่ง่ายขนาดนั้น เมื่อ JAS Mobile นำโดย พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ประกาศทิ้งไพ่ ไม่จ่ายเงินค่าประมูล 4G ที่ตนเองได้เคาะราคาประวัติศาสตร์ไป โดยให้เหตุผลสำคัญเรื่องข้อจำกัดของผู้ร่วมทุนจากประเทศจีน ซึ่งทำวงการโทรคมนาคมสั่นสะเทือน รวมถึงผลกระทบไปที่ กสทช. ซึ่งอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สิ่งที่ทำได้คือการยึดเงินประกัน 644 ล้านบาทของ JAS ไป โดยที่ทางผู้บริหารของ JAS ยังให้ข้อมูลเองว่าไม่ได้สะดุ้งสะเทือนกับฐานะทางการเงินของบริษัทนัก

 

สุดท้าย AIS เปิดเกมเหนือเมฆด้วยการเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ที่ JAS ทิ้งไปนี้ ซึ่งการประมูลรอบ 2 ไม่มีคู่แข่ง เคาะครั้งเดียวจบที่ราคากว่า 7.5 หมื่นล้านบาท โดยที่ JAS เป็นคนออกเงินค่าจัดประมูลนี้ 7 ล้านบาท เป็นการ ‘จบเรื่อง’ ที่ทำให้ กสทช. โล่งอก หลังจากที่ถูกสังคมตั้งคำถามและกดดันอย่างหนัก

 

 

สิ่งที่เป็นความจริงและสังคมรับรู้ตรงกันคือทั้ง AIS และ TRUE ต่างเต็มใจเข้าร่วมประมูล 4G ไม่ได้เกิดจากการบังคับโดยใครหรือองค์กรใด และราคาประมูลที่ต่างเสนอซึ่งเป็นต้นทุนในอนาคตของธุรกิจก็เป็นราคาที่ทั้งสององค์กรเคาะจากห้องประมูลเอง แต่ละแบรนด์จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 1.1 แสนล้านบาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)

 

ทุกครั้งที่ค่ายมือถือทั้งสองแบรนด์นำเงินไปจ่ายค่าใบอนุญาตก็จะเป็นข่าวเสมอ เนื่องจากมูลค่าแต่ละครั้งจำนวนมหาศาล ซึ่ง กสทช. หน่วยงานเจ้าของเรื่องก็หน้าชื่นตาบาน ยืนยันเรื่องความสามารถในการแข่งขันและเชื่อมั่นสถานะทางการเงินของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมมาโดยตลอด สำหรับการจ่ายเงินใบอนุญาต 4G คลื่น 1800 MHz ดูจะไม่เป็นปัญหานัก เนื่องจากทั้งสองค่ายต่างชำระเงินก้อนใหญ่ถึง 50% ของราคาประมูลไปแล้วในงวดแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งควักเงินกันรายละกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท และจ่ายงวดถัดไปต่อเนื่องตามกำหนด จะเหลืองวดสุดท้ายในสิ้นปีนี้ที่ประมาณรายละ 1.1 หมื่นล้านบาท

 

 

สิ่งที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ร้อนทั้งค่ายมือถือ ร้อนทั้ง กสทช. และร้อนไปถึงรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รับรู้เรื่องนี้มาโดยตลอดคือการชำระเงินใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายค่าใบอนุญาตแตกต่างออกไปจากคลื่น 1800 MHz โดยจะแบ่งเป็น 4 งวด ซึ่งงวดที่ 1-3 มูลค่าจะเป็นหลักพันล้านบาท ถือว่าภาระเบากว่าในช่วงปีแรกๆ แต่จะต้องจ่ายส่วนที่เหลือถึงรายละกว่า 6 หมื่นล้านบาทในงวดสุดท้ายคือปี 2563 ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการโทรคมนาคมไทย จึงไม่แปลกที่ทั้ง AIS และ TRUE ต่างก็ขยับตัวเมื่อสบโอกาสในการลดต้นทุนทางการเงินที่ต้องแบกรับได้

 

 

สิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา AIS และ TRUE ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 นี้ออกไป โดยให้เหตุผลว่าราคาประมูลนั้นสูงเกินจริงและถูกบิดเบือน ซึ่งอ้างถึงการที่ JAS เคาะดันราคาประมูลไปจนสูงกว่าที่ควร นอกจากนี้ยังต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม โดยขอแบ่งค่างวดสุดท้ายออกไปเป็นอีก 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 จะชำระงวดละประมาณ 8 พันล้านบาท และงวดสุดท้ายจะชำระส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณรายละกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และทั้งสองแบรนด์ขอให้ยกเว้นการเก็บค่าดอกเบี้ยด้วย

 

เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนเผือกร้อนที่โยนกันไปมา โดย กสทช. ชี้แจงว่าไม่มีอำนาจในการจัดการตามที่ AIS และ TRUE ร้องขอ ขณะเดียวกันก็เปิดทางว่าอาจจะเป็นไปได้ถ้าใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งความกดดันก็กลับไปที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายทันที ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้

 

ต่อมามีความเห็นจากทาง กสทช. เรื่องแนวคิดให้แบ่งชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ออกไปเป็น 3-5 งวด งวดละเท่าๆ กันแทน พร้อมกับคิดดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มดังขึ้นจากท่าทีที่ค่อนข้าง ‘ชัดเจน’ ของ กสทช. ต่อเรื่องนี้ จนเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. มีมติรับลูกให้ขยายการจ่ายเงินงวดสุดท้ายออกไปอีก 5 งวด งวดละเท่าๆ กันคือ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวมดอกเบี้ยแล้ว กสทช. หมายมั่นปั้นมือและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 27 มีนาคม 2561

 

รัฐบาลอ่านเกมออก ตีกลับข้อเสนอ กสทช. วัดใจอุ้มหรือไม่

สีหน้าของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. หลังจากที่ออกห้องประชุมคณะรัฐมนตรีไม่สู้ดีนัก เขายอมรับว่ารัฐบาล ‘ตีกลับ’ แนวคิดพักชำระหนี้ 3 ปีแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและการยืดงวดชำระใบอนุญาต 4G แก่ AIS และ TRUE โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เนื่องจากมีบางองค์กรออกมาคัดค้าน และรัฐบาลก็ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ารัฐบาลไฟเขียวเรื่องดังกล่าว สังคมจะฟันธงว่าเป็นการอุ้มภาคเอกชนทันที เรื่องนี้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ

 

และล่าสุดเมื่อ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เผยแพร่บทความ ‘กสทช. กับตรรกะประหลาดเพื่ออุ้มผู้ประกอบการ 4G’ ก็หนีไม่พ้นที่ กสทช. จะเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะดร.สมเกียรติวิจารณ์ตรงๆ ไปที่ผลประกอบการของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั้งสองแบรนด์ โดยมองว่า AIS ฐานะทางการเงินก็ยังเข้มแข็ง มีกำไรปี 2560 ถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ TRUE ก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น แม้จะมีกำไรที่ 2.3 พันล้านบาทก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าทั้งสององค์กรจะยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ดี ไม่กระทบกับความเชื่อมั่น และทั้งสองแบรนด์ก็เต็มใจที่จะเข้าร่วมประมูลและรับทราบถึงความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูลอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด

 

 

นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังตั้งคำถามเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช. เสนอคิดกับทั้ง AIS และ TRUE ที่ 1.5% โดยมองว่าอัตราดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเอาไว้ในเงื่อนไขการประมูลที่ผู้ที่ชำระล่าช้าต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ 15% หากเก็บในอัตราใหม่ที่ กสทช. เสนอจะทำให้รัฐเสียส่วนต่างของดอกเบี้ยไปถึง 3 หมื่นล้านบาท ค่อนข้างชัดเจนว่าประธาน TDRI ยิงหมัดตรงเข้าหน้าเลขาธิการ กสทช. อย่างชัดเจน และเหน็บว่า กสทช. มีตรรกะที่ ‘แปลกประหลาด’

 

ล่าสุด วันจันทร์ที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กสทช. แถลงข่าวด่วนเรื่องดังกล่าวและปฏิเสธว่าไม่ได้จะอุ้มหรือตั้งใจช่วยเหลือเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการเสนอความเห็นเท่านั้น  

 

โดย กสทช. มีความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลงวดสุดท้ายออกไปเป็น 3-5 งวด และควรชำระอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็ขอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วย ขณะเดียวกันก็ตอบกลับความเห็นของดร.สมเกียรติอย่างเผ็ดร้อน

 

“ถ้าตรรกะนี้ใช้ไม่ได้ เลอะเลือนไป ก็ทำตามตรรกะของนักวิชาการไป ส่วนเรื่องโทรคมนาคม จะไม่ช่วยก็ไม่ขัดใจ ถึงปี 2563 ก็นำแบงก์การันตีไปขึ้นเงินเท่านั้นเอง ขอให้ทุกคนที่มีเหตุผลดีส่งไปยัง ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เอง ไม่ต้องส่งมาที่ผม ผมไม่ได้เป็นคนชง ไม่ได้อุ้มโทรคมนาคม” ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าว


เรื่องนี้จึงกลายเป็นโจทย์ยาก และทุกฝ่ายต่างจับตาดูวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 10 เมษายน 2561 ก่อนหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ว่ารัฐบาลจะสามารถแตะเบรกอุณหภูมิเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือว่าเรื่องการ ‘อุ้ม-ไม่อุ้ม’ จะร้อนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นหลักปฏิบัติของธุรกิจอื่นต่อมาด้วยหรือไม่ที่สามารถต่อรองกับเงื่อนไขต่างๆ จากภาครัฐตามที่ตนต้องการได้ ท่ามกลางประเด็นหนักๆ ทั้งเรื่องความโปร่งใสของคนใกล้ตัว การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และหลายต่อหลายเรื่องที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จะต้องตอบกับสังคมให้ชัดเจน

 

สัจจะจึงเป็นเครื่องชี้วัดคุณธรรมของผู้นำ จะรัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจก็ตามที

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan, Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising