×

วังน่านิมิต-ฟื้นประวัติศาสตร์ที่ขาดหายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำทีมโดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ บอกเล่าเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในมุมแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะด้านฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน
  • คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการ ส่งสารสำคัญ การอนุรักษ์ทำได้ทั้งกับสิ่งที่มีอยู่ และสิ่งที่หายไปแล้ว
  • ชวนชมเรื่องราวและภาพถ่ายโบราณของอาคารในวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
  • นำเสนอเนื้อหานิทรรศการด้วยเทคโนโลยีที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ให้เข้ากับปัจจุบัน

ในเดือนมิถุนายนนี้มีนิทรรศการพิเศษที่ THE STANDARD ไม่อยากให้ใครพลาด นิทรรศการนี้จะพาผู้ชมย้อนกลับไปรู้จักอดีตบางช่วงตอนของกรุงรัตนโกสินทร์ที่เคยเต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา แต่ตรงข้ามกับปัจจุบันที่เงียบเหงา และคล้ายจะเป็นเพียงเงาอยู่ในชีวิตประจำวันอันเร่งรีบของผู้คน ทั้งที่รอยอดีตนั้นทับซ้อนอยู่บนเส้นสัญจรอันจอแจ และเป็นพื้นที่ที่ยังคงถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

‘วังน่านิมิต’ นิทรรศการชื่อแปลกตา ด้วยสะกดตามอย่างการเขียนแบบโบราณในพระนิพนธ์ ตำนานวังน่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ หรือ ‘วังหน้า’ อดีตพระราชวังที่รุ่งเรืองด้วยอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์​ เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้น พร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2325 ตราบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ.​ 2428

 

นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ จัดแสดงที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ​ ระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน 2561

 

หลายคนอาจถามว่า แล้ววังหน้าที่จบสิ้นไปแล้วกว่าร้อยปีจะเกี่ยวเนื่องกับปัจจุบันของเราอย่างไร คุณจะรู้สึกเขยิบเข้าใกล้วังหน้ามากขึ้นหรือไม่ หากได้รู้ว่าวังหน้าในอดีตนั้นกว้างใหญ่มาก มีอาณาเขตครอบคลุมสถานที่หลายแห่งในปัจจุบัน ซึ่งอาจอยู่หรือเคยอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณเสียด้วยซ้ำ

 

จากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถัดมาสู่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด แนวกำแพงโบราณบนถนนพระจันทร์ และครึ่งหนึ่งของสนามหลวงด้านทิศเหนือ ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ของวังหน้าในอดีต

 

สิ่งปลูกสร้างของวังหน้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและหมู่พระวิมาน และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่า วัดพระแก้ววังหน้า ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา

 

อดีตของวังหน้าส่วนที่จับต้องได้มีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันไม่น้อย เพียงแต่เราอาจไม่ทันสังเกต แต่ประวัติศาสตร์อีกส่วนที่ไม่มีอยู่แล้ว ด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของกาลเวลาต่างหาก ที่ถ้าไม่มีการส่งต่อ นับวันก็จะยิ่งเลือนหาย ทั้งที่คุณค่าและความหมายทางประวัติศาสตร์ยังคงครบบริบูรณ์ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด และนี่เองคือหนึ่งในประเด็นหลักที่นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ต้องการสื่อสารกับผู้ชม

 

คณะทำงานจาก​กรมศิลปากร นำโดยสำนักสถาปัตยกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักพิพิธภัณฑ์ ร่วมกับทีมภัณฑารักษ์ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้สืบค้นและรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นเอกสารและภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตลอดจนจากนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรูปสันนิษฐานของสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบันของช่วงรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องรัชกาลที่ 5 นำมาตีความและใช้ของคุ้นเคยสำหรับคนยุคนี้อย่างเทคโนโลยีเป็นสื่อนำเสนอ เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเป็นสำคัญ

 

แต่ก่อนจะลงลึกไปกับเนื้อหาของนิทรรศการ THE STANDARD จะพาไปค้นลึกถึงที่มาของนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ และเหตุผลที่เราไม่ควรพลาดชมนิทรรศการนี้ โดย คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ซึ่งปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ช่วยราชการที่สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และเกี่ยวข้องโดยตรงกับนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ ได้ให้โอกาสสัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของการต่อลมหายใจให้โบราณสถานที่ค่อยๆ ถูกลืมเลือนนี้

 

คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’

Photo: นวลตา วงศ์เจริญ

 

“วังหน้าเป็นพระราชวังที่สำคัญมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์​ เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช เช่น สมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นที่ประทับของ Second King (พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2) หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ซึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ วังหน้าถือว่ามีอำนาจและบทบาทเยอะมาก แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้ ถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้ แล้วเราจะรู้ความสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจความเป็นกรุงเทพฯ​ ก็ต้องเข้าใจหน้าที่ของวังหน้าด้วย”

 

คุณใหม่ย้อนถึงที่มาของโครงการศึกษาเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) นี้ว่า เป็นโครงการที่กรมศิลปากรเคยดำเนินการมาแล้ว และเป็นโครงการที่มีข้อมูลน่าสนใจมาก จึงคิดว่าอยากจะสานต่อ “เราก็ไม่เคยทราบว่า เมื่อก่อนมันใหญ่โตถึงขนาดนี้ ความเป็นมาของวังหน้าเป็นอย่างไร ทำไมสถาปัตยกรรมที่เราเห็นทั้งหมดถึงคล้ายกับสมัยอยุธยา เราก็คิดว่า ขอเอาโครงการนี้มาทำต่อได้หรือเปล่า จะทำให้มันเข้าถึงคนได้ง่าย โดยการใช้เครื่องมือที่ร่วมสมัย ใช้เทคโนโลยีที่เด็กเข้าใจให้มันสนุก มีสีสัน ทำให้รู้สึกว่า เป็นของที่ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

“ในเนื้อหาของนิทรรศการ เราจะพูดถึงสถาปัตยกรรมในเขตวังหน้าที่ไม่มีอยู่แล้ว เช่น พลับพลาสูง มีหลายคนรวมทั้งภัณฑารักษ์ที่พูดว่า เมื่อก่อนหากันนาน 5 ปี พยายามหาภาพเก่าของพลับพลาสูงอย่างไรก็ไม่เจอ ไม่ทราบว่าหน้าตาแบบไหน แต่แล้วก็หาเจอ เขาก็ตกใจกันว่า ไม่เคยได้เห็นมาก่อน แต่ทีมงานก็ไปเจอจากหนังสือ Unseen Siam ของริเวอร์บุกส์ มีนิทรรศการที่จัดไว้ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ พอเราเจอรูปจากหนังสือ เราก็ เอ๊ะ นี่ก็คืออันที่เราหานี่ สำหรับคนที่ชอบภาพถ่ายเก่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เราได้เห็นว่า รายละเอียดของตึกเป็นอย่างไร พลับพลาสูงสวยอย่างไร พระที่นั่งคชกรรมประเวศสวยอย่างไร”

 

พลับพลาสูงตั้งอยู่บนแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

Photo: www.facebook.com/wangnaproject

พระที่นั่งคชกรรมประเวศ

Photo: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ 002 หวญ 41-26

 

ความโดดเด่นของพระที่นั่งคชกรรมประเวศคือ เป็นอาคารเดียวในวังหน้าที่มีเครื่องยอดทรงปราสาท ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ และจะสร้างขึ้นในพระราชวังหลวงเท่านั้น “รัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นเสมือนพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 จึงสร้างสถาปัตยกรรมที่มีฐานานุศักดิ์เป็นยอดปราสาทเหมือนของพระมหากษัตริย์ได้” คุณใหม่อธิบายเพิ่มเติม

 

หนึ่งในสารหลักที่นำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้คือ แนวทางการอนุรักษ์ คุณใหม่อธิบายว่า “ถ้าเราพัฒนาด้านอนุรักษ์ตึกอย่างเดียวมันไม่พอ การจะอนุรักษ์มันมีหลายส่วน ส่วนหนึ่งคือ การอนุรักษ์ตัวอาคารหรือสิ่งที่จับต้องได้ อีกส่วนคือ ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจว่า เมื่อก่อนสร้างตึกนี้ขึ้นมาเพราะอะไร ทำไมถึงวางผังอย่างนี้ คนไทยมีความเชื่อเยอะมากเกี่ยวกับการวางผัง มีความรู้สึกของคนเยอะ เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่เราสั่งสมไว้”

 

สิ่งที่น่าสนใจมากอีกประการของนิทรรศการนี้คือ การนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ คุณใหม่อธิบายในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ “เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่เข้าใจกันดี ทุกคนมีไอแพด ไอโฟน ทุกคนเข้าใจว่า มันเป็นเครื่องมือที่สามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดต่อไปในอนาคตได้ ใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันก็กลับขึ้นมาใหม่ได้ สร้างความสัมพันธ์กับคนได้ มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเข้าถึงได้อย่างสนุกและมีความร่วมสมัย”

 

นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ มีทั้งหมด 3 ภาค ภาคแรกจัดแสดงที่ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งพื้นที่ขนาดกำลังเหมาะของห้องจัดแสดงสัมพันธ์กันดีกับการนำเสนอประเด็นที่คิดมาแล้วอย่างหมดจด ภาพรวมใหญ่ของอดีตพระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงเวลาสิ้นสุดในรัชกาลที่ 5 ถูกย่อยให้กระชับรับได้ง่ายตั้งแต่ปากทาง

 

จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’  

 

ก่อนนำสู่พื้นที่ถัดไปที่นำเสนอประเด็น ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่เกิดขึ้นกับวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องให้เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2

 

เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ผังของวังหน้าในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ซ้อนทับกับผังเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ถูกทำให้น่าตื่นตาขึ้นด้วยการนำเสนอผ่าน Interactive Map เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยมือโดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยตรงระหว่างรับชมงาน  ด้วยการเคลื่อนไหวมือสัมพันธ์กับตัวจับสัญญาณ ภาพขยายของสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีอยู่แล้ว เช่น พระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพลับพลาสูง ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แสดงถึงฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดินก็จะเคลื่อนมาอยู่ตรงหน้า เป็นภาพใหญ่เห็นรายละเอียด ต้องการชมหน้า หลัง ซ้าย ขวา ก็เพียงขยับมือเท่านั้น

 

ถัดลึกเข้ามาด้านใน เป็นส่วนจัดแสดงที่ขยายความเกี่ยวกับพระที่นั่งคชกรรมประเวศ และพลับพลาสูงให้เข้าใจแจ่มชัดมากขึ้น

 

พระที่นั่งคชกรรมประเวศในวังหน้า ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว

ห้องข้อมูลสำหรับผู้ชมนิทรรศการค้นคว้าเรื่องวังหน้าเพิ่มเติม

 

นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งกันไว้เป็นห้องข้อมูล หรือ Reading Room จัดแสดงเอกสารอ้างอิง ตำรา ภาพถ่ายโบราณ ที่เกี่ยวกับวังหน้าในแง่มุมต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ของวังหน้ากับผังเมืองกรุงเทพฯ หลักปรัชญาและคติความเชื่อทางพราหมณ์และพุทธศาสนาในการวางผังเมือง หลักฐานานุศักดิ์ทางงานสถาปัตยกรรมไทย ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมได้

 

ตำแหน่งที่ตั้งวังหน้าสัมพันธ์กับผังเมืองกรุงเทพฯ

แดงชาด คือหนึ่งในสีหลักของนิทรรศการ มีที่มาจากสีในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในวังหน้า  

รูปแบบตัวอักษรของชื่อนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ มีที่มาจากลายมือของหมอบรัดเลย์ที่แปลหนังสือ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา

 

‘วังน่านิมิต’ ภาคแรกจะจัดแสดงที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายนนี้ ส่วนภาคที่ 2 เป็นการจัดแสดงข้อมูลที่ใช้ในการสร้างงานนิทรรศการ รวมถึงข้อมูลวังหน้าที่น่าสนใจต่างๆ รวมไว้ในช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปสืบค้นได้ที่ www.wangnaproject.space ส่วนภาคที่ 3 คือการยกนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ที่เสร็จสิ้นจากการจัดที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ แล้ว ไปจัดแสดงอีกครั้งบนพื้นที่จริง คือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม   

 

หากนับถึงปีปัจจุบันใน พ.ศ. 2561 กรุงรัตนโกสินทร์ก่อตั้งมาแล้ว 236 ปี บรรพบุรุษหลายชั่วอายุ เกิด อยู่ โรยรา และจากไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แม้ลมหายใจมนุษย์จะสั้นและมีวันสิ้นสุด แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นหลังคือ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ที่แฝงฝังอยู่ในผลงานสร้างสรรค์ของคนรุ่นก่อน ทั้งส่วนที่ยังหยัดยืนผ่านกาลเวลา และทั้งส่วนที่เป็นเพียงความทรงจำ ซึ่งจะยังคงมีชีวิตอยู่เสมอ ตราบเท่าที่การส่งผ่านความรู้จากรุ่นสู่รุ่นดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันหยุด  

FYI
  • โครงการนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยีโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลผ่านงานสถาปัตยกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการกับผู้คน กระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X